“ผื่นผ้าอ้อม” หรืออาการ “แพ้แพมเพิส” เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดหรือแม้แต่กลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องสวมใส่แพมเพิสแรกเกิดหรือสวมใส่แพมเพิสผู้สูงอายุเพื่อรองรับอาการปัสสาวะเล็ดเป็นเวลานาน อาการแพ้แพมเพิสสร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวันเป็น
อัปเดต! เคล็ดลับหน้าดูเด็ก ลดเรือนและป้องกัน “ริ้วรอย”
ใคร ๆ ก็อยากมีผิวขาวใส ดูเต่งตึง ดูมีสุขภาพดี เรื่องของ “ริ้วรอย” ก็น่าจะเป็นเรื่องหนักใจของหลายคน ไม่ว่าจะเป็นริ้วรอยรอบดวงตา รอยตีนกา รอยเหี่ยวย่น ผิวหย่อนคล้อย ริ้วรอยร่องแก้ม หน้าผากย่น ซึ่งพบได้ทั้งที่ใบหน้า ลำคอ มือและแขน เนื่องจากริ้วรอยคือสัญญาณแห่งวัย ยิ่งอายุมากขึ้น ริ้วรอยก็จะชัดเจนมากขึ้น ทำให้หลายคนเกิดความไม่มั่นใจ แม้เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ ในปัจจุบันจะช่วยจัดการปัญหาริ้วรอยและความหย่อนคล้อยของผิวหนังได้ แต่การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่มีส่วนช่วยป้องกันและลดการริ้วรอยได้ในระยะยาว
ริ้วรอย คืออะไร
“ริ้วรอย” (Wrinkles) คือ ปัญหาผิวที่เกิดขึ้นได้ตามอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 25 ปีเป็นต้นไป มีสาเหตุมาจากการอุ้มน้ำ และการผลิตคอลลาเจนและอีลาสตินของเซลล์ผิวลดน้อยลง ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น แห้งกร้าน และเกิดเป็นริ้วรอยหรือผิวหย่อนคล้อยตามมาได้ ริ้วรอยที่คนส่วนใหญ่มักสังเกตเห็นได้ เช่น รอยตีนกา ริ้วรอยรอบดวงตา หน้าผากย่น ร่องแก้ม เป็นต้น
สาเหตุที่พบได้บ่อยของการเกิดริ้วรอย
1. แสงแดด
แสงแดดเป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำร้ายผิวและทำให้เกิดริ้วรอยได้ เพราะในแสงแดดมีรังสียูวีเอ (UVA) ที่มีความยาวคลื่น 320-400 นาโนเมตร สามารถทะลุผ่านชั้นผิวหนังกำพร้าไปถึงชั้นผิวหนังแท้ ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ทำลายความยืดหยุ่นของเซลล์ ส่งผลให้เกิดความหย่อนคล้อย เกิดริ้วรอยก่อนวัย รอยเหี่ยวย่น ตีนกา และผิวดูหมองคล้ำ
นอกจากนี้ในแสงแดดยังมีรังสียูวีบี (UVB) ที่มีความยาวคลื่น 290-300 นาโนเมตร ถึงแม้ว่ารังสียูวีบีจะมีประโยชน์ในการช่วยสังเคราะห์วิตามินดี แต่การสัมผัสรังสีที่มากหรือนานเกินไปอาจทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น แสบร้อน แดง ไหม้เกรียม และเกิดรอยด่างดำได้
2. พักผ่อนไม่เพียงพอ
การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับร่างกาย รวมถึงผิวพรรณ ขณะที่นอนหลับร่างกายจะมีการซ่อมแซมระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย มีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาแทนที่เซลล์เก่าในร่างกาย ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ลดรอยคล้ำใต้ดวงตา ผิวสว่างกระจ่างใส ตรงข้ามกับคนที่นอนดึกหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ผิวหนังจะเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นได้ง่าย ผิวหย่อนคล้อย ดูหมองคล้ำไม่สดใส ไม่เต่งตึง
การนอนหลับที่ดี คือ การนอนหลับที่ครบทั้งระยะเวลาและคุณภาพ แม้เราจะนอนครบ 6-8 ชั่วโมงแต่เข้านอนดึกมากเกินไป หรือนอนหลับไม่สนิท ย่อมไม่ดีต่อสุขภาพแน่นอน ควรเข้านอนไม่เกิน 22.00 น. เพื่อให้ร่างกายหลั่ง “Growth Hormone” หรือฮอร์โมนที่ช่วยซ่อมแซมร่างกาย เผาผลาญไขมัน เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งและสมานแผลอย่างมีประสิทธิภาพ
3. อายุ
แน่นอนเลยว่าอายุเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดริ้วรอย สังเกตได้ชัดจากผิวหน้า เมื่อร่างกายคนเราอายุมากขึ้น ร่างกายจะผลิตอิลาสติน กรดไฮยาลูรอน หรือคอลลาเจนลดลง ส่งผลให้ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น เกิดความหย่อนคล้อย ไม่เต่งตึง ผิวแห้ง และเกิดริ้วรอยในที่สุด
เมื่อกรดไฮยาลูรอนในชั้นผิวหนังลดลง ส่งผลให้โครงสร้างของชั้นผิวหลวมตัวขึ้น ยึดเกาะกันได้ไม่ดีและอุ้มน้ำได้ลดลง ทำให้ผิวหนังหย่อนคล้อย ไม่กระชับ เกิดเป็นรอยเหี่ยวย่นและร่องลึกได้
4. บุหรี่และเหล้า
บุหรี่และเหล้า เป็นที่มาของสารอนุมูลอิสระที่ทำลายโครงสร้างผิวหนังโดยตรง เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่ และแอลกอฮออล์ในเหล้า มีส่วนทำให้คอลลาเจนในชั้นผิวเสื่อมสภาพลง ส่งผลให้ผิวขากความยืดหยุ่นและแก่ก่อนวัย
5. การขยับกล้ามเนื้อใบหน้าบ่อย ๆ
การขยับกล้ามเนื้อใบหน้าบ่อย ๆ หรือการแสดงสีหน้าซ้ำ ๆ เช่น หัวเราะ ยิ้ม ขมวดคิ้ว เลิกคิ้ว ทำให้เกิดริ้วรอยบนใบหน้า ซึ่งผิวที่ขาดความยืดหยุ่นหรือมีความหนาแน่นในชั้นผิวลดลง จะพบปัญหาริ้วรอยเหล่าได้ง่ายขึ้น ริ้วรอยที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนจากการแสดงสีหน้า เช่น รอยย่นหน้าผากหรือระหว่างคิ้วขณะกำลังคิด รอยตีนกาหรือร่องแก้มเวลายิ้ม
6. พันธุกรรม
พันธุกรรมอาจส่งผลต่อการเกิดริ้วรอยได้เช่นกัน เนื่องจากพันธุกรรมจะเป็นตัวกำหนดโครงสร้างและลักษณะผิวของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเกิดริ้วรอยเร็วหรือช้า บางหรือลึก แตกต่างกันออกไป
7. ความเครียด
เมื่อรู้สึกเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือที่เรียกว่า ฮอร์โมนความเครียด ซึ่งฮอร์โมนนี้ส่งผลต่อการสร้างเม็ดสี (Melanin) ทำให้ผิวหน้าหมองคล้ำ เกิดฝ้า กระ และจุดด่างดำ นอกจากนี้ฮอร์โมนคอร์ติซอลยังไปยับยั้งการสร้าง “โกรทฮอร์โมน” (Growth Hormone) หรือฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกาย ทำให้ผิวแห้ง เกิดริ้วรอย สิว และผิวหย่อนคล้อย
8. ผิวแห้ง
สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดผิวแห้ง เช่น การสครับหน้า การใช้สารทำความสะอาดที่รุนแรง การใช้ยาบางชนิด การไม่ทาสารให้ความชุ่มชื้นหรือมอยส์เจอร์ไรเซอร์ (Moisturizer) การอยู่ในที่อากาศแห้งหรือเย็นเป็นเวลานานๆ เช่น การอยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา ล้วนเป็นสาเหตุหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดริ้วรอยได้ง่าย
ปรึกษาวิธีการดูแลริ้วรอยกับแพทย์ผิวหนังที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเกินทาง
ริ้วรอยบนใบหน้าพบในบริเวณใดบ้าง
ริ้วรอยสามารถปรากฎได้ทั่วไปบริเวณใบหน้าและตามร่างกาย โดยริ้วรอยบริเวณใบหน้าที่พบเห็นได้บ่อย เช่น
- ริ้วรอยบริเวณหน้าผากและหว่างคิ้ว มักเกิดจากการแสดงสีหน้าอารมณ์ การขมวดคิ้ว นอกจากนี้หน้าผากยังเป็นส่วนที่มักจะโดนแสงแดดบ่อย จึงทำให้เกิดริ้วรอยได้ง่าย
- ริ้วรอยรอบดวงตาและรอยตีนกา สามารถสังเกตเห็นริ้วรอยบริเวณนี้ได้ตั้งแต่อายุยังน้อยเนื่องจากผิวรอบดวงตามีความบอบบาง และริ้วรอยจะชัดมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น
- ริ้วรอยบริเวณร่องแก้มและร่องน้ำหมาก มักเกิดจากแสดงสีหน้าหรือการยิ้ม โดยอาจจะพบร่องลึกตั้งแต่ข้างจมูกยาวลงมาจนถึงมุมปาก
- ุริ้วรอยที่คอ เป็นบริเวณที่หลายคนมักจะมองข้าม แต่มักจะพบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น เช่น หนังคอเหี่ยว คอย่นเป็นชั้น มักเกิดผิวขาดความยืดหยุ่น ความหนาแน่นลดลง จึงเกิดการหย่อนคล้อยขึ้น
ประเภทของริ้วรอย
ริ้วรอยแบบตื้น
ริ้วรอยแบบตื้นมักมีสาเหตุมาจากความแห้งบริเวณผิวหนังชั้นบนสุด สามารถเกิดขึ้นได้จากอายุที่มากขึ้น สภาพอากาศแห้งและเย็น การดื่มน้ำไม่เพียงพอ ผิวหนังขาดการบำรุงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น เป็นต้น
ริ้วรอยแบบลึก
ริ้วรอยแบบลึก เกิดจากกล้ามเนื้อหดตัว ทำให้ชั้นหนังแท้และหนังกำพร้าถูกดึงตัวเข้าหากันมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นริ้วรอยแบบลึกจะยิ่งชัดมากขึ้น และจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นในผู้ที่มีผิวแห้ง หรือผู้ที่แสดงสีหน้าบ่อย ๆ
9 วิธีลดริ้วรอย
1. การใช้ยาและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว (Moisturizer) เป็นประจำเป็นพื้นฐานสำคัญ และยังเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันริ้วรอยที่ง่ายและปลอดภัยที่สุด เนื่องจากผิวแห้งจะทำให้เกิดริ้วรอยได้ง่ายและชัดขึ้น นอกจากนี้อาจใช้ผลิตภัณฑ์ลบเลือนริ้วรอยที่มีสารที่จำเป็นสำหรับโครงสร้างผิว เช่น Bakuchiol, โคเอนไซม์ คิวเท็น (Coenzyme Q10), กรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic acid) เป็นต้น
สำหรับผู้ที่มีริ้วรอยเกิดขึ้นแล้ว สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ลดเลือนริ้วรอยชนิดต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย ได้แก่ ยากลุ่มเรตินอยด์หรืออนุพันธ์วิตามินเอ (Topical retinoids, Vitamins A derivatives) เช่น tretinoin, adapalene และสารกลุ่มกรดผลไม้ (Alpha hydroxy acids) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ลดเลือนริ้วรอยและจุดด่างดำ แต่อาจจะใช้ระยะเวลาหลายสัปดาห์ถึงเดือนจึงจะเห็นผลที่ชัดเจน ทั้งนี้การใช้ยาในช่วงแรกอาจมีอาการระคายเคืองผิว และผิวแห้งลอกได้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้
นอกจากนี้สิ่งควบคู่กันไปด้วย คือ ครีมกันแดด เพราะรังสียูวีจะกระตุ้นให้ผิวแห้งกร้านและเกิดริ้วรอย ดังนั้นจึงควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เหมาะกับสภาพผิวและมีค่า SPF สูง ควบคู่กับการบำรุงผิวเป็นประจำทุกวัน
2. การทำทรีตเมนท์
การทำทรีตเมนท์เป็นวิธีการลดริ้วรอยด้วยเครื่องมือเฉพาะหรือฉีดสารบำรุงเพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน อิลาสติน และกรดไฮยาลูโรนิคในชั้นผิว ทำให้โครงสร้างภายในของผิวกลับมาแข็งแรงยืดหยุ่น ทรีตเมนท์ที่นิยมในปัจจุบัน เช่น การทำ Microdermabrasion, การทำไฮฟู (High-Intensity Focused Ultrasound; HIFU) การใช้คลื่นวิทยุ (Radiofrequency therapy) การยกกระชับด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์ และการฉีดเมโส (Mesotherapy)
3. การฉีดฟิลเลอร์
การฉีดฟิลเลอร์ คือ การฉีดกรดไฮยาลูโรนิคเข้าไปที่ผิวหนังเพื่อแต่งเติมบริเวณผิวหนังที่ยุบตัวเป็นร่องริ้วรอยตื้นขึ้น เมื่อฉีดฟิลเลอร์แล้วผิวจะดูเต่งตึงขึ้น ผิวอุ้มน้ำได้ดีขึ้น ทำให้ร่องริ้วรอยดูจางลง
ข้อควรระวังของการฉีดฟิลเลอร์ คือ ควรเลือกฉีดฟิลเลอร์กับแพทย์ที่มีความผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากการฉีดฟิลเลอร์โดยผู้ที่ขาดความเชี่ยวชาญอาจทำให้เกิดอันตรายหรือใบหน้าผิดรูปได้
4. การฉีดโบท็อกซ์
การฉีดโบท็อกซ์ เป็นวิธีการลดริ้วรอยที่เห็นผลได้ชัดเจนที่สุด เนื่องจากโบท็อกซ์จะเข้าไปหยุดการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีด ทำให้ผิวหนังที่เคยถูกดึงยึดไว้ด้วยกันคลายออก ริ้วรอยดูตื้นขึ้นอย่างชัดเจน
ข้อควรระวังในการฉีดโบท็อกซ์ คือ การเลือกยี่ห้อของโบท็อกซ์ที่เชื่อถือได้ ผ่านการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และควรฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัยและได้ผลดีที่สุด
5. การทำเลเซอร์
การทำเลเซอร์ เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ กระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ สร้างคอลลาเจน และสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างในชั้นผิว ทำให้ผิวมีความยืดหยุ่น เรียบเนียน เต่งตึง ลดริ้วรอยและรอยเหี่ยวย่นได้ เลเซอร์ลดริ้วรอยที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เช่น YAG, CO2 Laser, Fractional laser, Intense pulsed light (IPL) เป็นต้น
สิ่งที่ควรระวังในการทำเลเซอร์ คือ หลังการทำเลเซอร์อาจรู้สึกระคายเคืองผิว แสบ แดง ลอก ควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและกันแดดตามที่แนะนำอย่างต่อเนื่อง บางรายอาจมีแผลหากมีอาการมากขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาเพิ่มเติม
6. การปรับท่านอน เปลี่ยนพฤติกรรม
ท่านอน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดริ้วรอยที่ใบหน้าได้ เนื่องจากการนอนตะแคงหรือนอนคว่ำจะทำให้เกิดการกดทับบริเวณใบหน้า ส่งผลให้เกิดริ้วรอยได้ง่ายขึ้น ท่านอนที่ลดโอกาสการเกิดริ้วรอยคือ การนอนหงาย
นอกจากนี้ปลอกหมอนยังมีส่วนทำให้เกิดริ้วรอยบนใบหน้าได้อีกด้วย ดังนั้นควรเลือกใช้ปลอกหมอนที่ทำมาจากผ้าเนื้อนุ่ม ลดแรงกดเสียดสี เช่น ผ้าไหม เพื่อลดรอยยับบริเวณใบหน้า
7. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ไม่ใช่แค่การทำทรีตเมนท์หรือใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเท่านั้น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หรือการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างผิวสวยและต้านการเกิดริ้วรอย อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณสูง เช่น ถั่วพีแคน บลูเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ โกจิเบอร์รี่หรือเก๋ากี้ ราสเบอร์รี่ กะหล่ำปลีแดง บีทรูท ผักขม วอเตอร์เครส พริกหวานแดง มะละกอ บร็อคโคลี่ เป็นต้น
8. การพักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยลดและป้องกันริ้วรอยได้ เนื่องจากร่างกายจะมีเวลาในการซ่อมแซมระบบต่าง ๆ สร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาแทนที่เซลล์เดิมที่เสื่อมสภาพ ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ลดรอยคล้ำใต้ดวงตา ผิวสว่างกระจ่างใส ตรงข้ามกับผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอหรือนอนดึก ผิวหน้าจะเกิดริ้วรอยได้ง่าย ดูหมองคล้ำไม่สดใส ไม่เต่งตึง
9. การงดบุหรี่ และแอลกอฮอลล์
การงดบุหรี่และเหล้า จะช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระที่จะไปทำลายโครงสร้างผิวหนังโดยตรง ลดการสลายของคอลลาเจนในชั้นผิว ทำให้ผิวมีสุขภาพดีไปนาน ๆ
วิธีป้องกันริ้วรอย
- หลีกเลี่ยงแสงแดด เพราะแสงแดดคือตัวการหนึ่งของการเกิดริ้วรอย ควรทาครีมกันแดดเป็นประจำเพื่อป้องกันรังสี UVA และ UVB
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ผิวแห้ง เมื่อผิวแห้งจะทำให้เกิดริ้วรอยได้ง่ายขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการล้างหน้าด้วยน้ำอุ่น ดื่มน้ำให้เพียงพอ ทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องแอร์หรือที่อากาศแห้งและเย็นจัดเป็นเวลานาน ๆ
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ผิวหน้าเหี่ยวย่น เช่น การแสดงสีหน้ามากเกินไป การขมวดคิ้ว การย่นหน้าผาก การนอนคว่ำหรือนอนตะแคง การถูหน้าแรง ๆ เป็นต้น
- ไม่เครียด นอกจากความเครียดจะทำให้เกิดฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดริ้วรอยแล้วยังทำให้ใบหน้าดูหม่นหมอง ไม่สดใสอีกด้วย
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับริ้วรอย
การแต่งหน้ามีผลกับริ้วรอยไหม?
การแต่งหน้าไม่ได้ทำให้เกิดริ้วรอยได้โดยตรง แต่การใช้เครื่องสำอางค์อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดริ้วรอยได้ เช่น การแพ้เครื่องสำอางจนทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวแห้งตึง หรือการล้างทำความสะอาดเครื่องสำอางด้วยสารทำความสะอาดที่รุนแรงหรือไม่เหมาะกับผิวหน้าจนทำให้ผิวหน้าแห้งกร้าน เกิดริ้วรอยได้
ล้างหน้าบ่อยเกินไป ทำให้มีริ้วรอยเพิ่มขึ้น จริงไหม?
การล้างหน้าไม่ได้เป็นสาเหตุหลักในการเกิดริ้วรอย แต่การล้างหน้าบ่อย ๆ หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่ไม่เหมาะกับผิวหน้า อาจทำให้ผิวหน้าสูญเสียความชุ่มชื่น เกิดผิวแห้งและเป็นริ้วรอยได้ง่าย
มีริ้วรอยตอนอายุเท่าไรจึงเรียกว่าริ้วรอยก่อนวัย?
โดยทั่วไปริ้วรอยจะเริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 25 ปี โดยอาจจะเริ่มจากรอยจาง ๆ เวลาขยับใบหน้าหรือลำคอ และจะเริ่มชัดขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นริ้วรอยก่อนวัยอันควรก็จะหมายถึง ผู้ที่มีริ้วรอยแสดงให้เห็นก่อนอายุ 25 ปี ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยกระตุ้นตามที่กล่าวมาข้างต้น
สอบถามเรื่องปัญหาผิวอื่น ๆ กับคุณหมอที่แอป BeDee
สรุปเรื่องริ้วรอย
การเกิดริ้วรอยหรือความหย่อนคล้อย ถูกกระตุ้นจากหลายปัจจัยเช่น อายุ แสงแดด ความแห้งของผิว ถึงแม้ปัจจุบันจะมีหลากหลายวิธีที่ช่วยจัดการริ้วรอยไม่ว่าจะเป็นการบำรุงผิว การฉีดสารต่าง ๆ ร่วมกับการปรับพฤติกรรม หรือการทำทรีตเมนท์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง สิ่งสำคัญคือควรมั่นใจว่าแพทย์และคลินิกที่ใช้บริการมีความเชี่ยวชาญ ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้
BeDee มีทีมแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญและเภสัชกร พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการจัดการริ้วรอย สะดวก ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
ภก.นัทพล มะลิซ้อน
เภสัชกร
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
1.Wrinkles. Available at URL: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/wrinkles/symptoms-causes/syc-20354927. Accessed on 27 Aug 2023.
2.Treatments to Reduce Wrinkles. Available at URL: https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/8411-treatments-to-reduce-wrinkles. Accessed on 27 Aug 2023.
3.Wrinkle creams: Your guide to younger looking skin. Available at URL:
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/wrinkles/in-depth/wrinkle-creams/art-20047463. Accessed on 27 Aug 2023.