สิว

ปัญหาผิวเรื่องใหญ่ของหลายคนไม่ว่าจะเพศอะไรคงหนีไม่พ้นเรื่องของ “สิว” ปัญหาเรื้อรังที่จัดการได้ยาก ทำลายความมั่นใจ พอหายแล้วก็ยังทิ้งรอยสิวและหลุมสิวไว้อีกนาน หลายคนอยากมีผิวขาว ดูมีสุขภาพดี จึงหมั่นรับประทานวิตามินซี และวิตามินบำรุงผิวอื่น ๆ แต่ไม่ว่าจะดูแลผิวอย่างไรก็ยังมีสิวขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แบบไม่ทราบสาเหตุ และหากดูแลรักษาสิวไม่ดีก็อาจเกิดริ้วรอยตามมาได้ จริง ๆ แล้วสาเหตุของการเกิดสิวนั้นมีอะไรบ้าง สิวแบ่งออกเป็นกี่ประเภทและควรรักษาอย่างไร

สารบัญบทความ

สิวคืออะไร


สิว (Acne) คือภาวะความผิดปกติที่รูขุมขนและต่อมไขมันจากสาเหตุต่าง ๆ จนทำให้เกิดการอุดตันและทำให้เกิดสิวตามมา อย่างที่เราทราบกันดีว่าสิวมีหลายประเภท ในบางรายอาจเกิดเป็นสิวอักเสบ สิวหัวช้าง สิวหัวหนอง สิวผด หรือสิวไม่มีหัว โดยสิวมักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า หลัง หน้าอก คอ ไหล่ หรือต้นแขน สิวสามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ และมักพบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

สาเหตุและปัจจัยของการเกิดสิว

สิวเกิดจากอะไร
  1. ฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น โดยเฉพาะฮอร์โมนแอนโดรเจนในเพศชาย โดยฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นทำให้ต่อมไขมันใหญ่ขึ้นและผลิตไขมันมากขึ้น เมื่อไขมันที่ถูกผลิตออกมาทางผิวหนังผสมกับแบคทีเรียหรือสิ่งสกปรกภายนอกผิวหนังก็จะทำให้เกิดการอุดตัน เกิดเป็นสิวฮอร์โมน สิวอักเสบ สิวหัวหนอง บวม นูน เป็นตุ่มแดง นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในสตรีตั้งครรภ์ ช่วงมีประจำเดือน หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome หรือ PCOS) สามารถทำให้เกิดสิวได้เช่นกัน 
  2. กรรมพันธุ์ พบว่าหากคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ เคยเป็นสิวมากในช่วงวัยรุ่น อาจส่งผลให้ลูกมีสิวมากในช่วงวัยรุ่นเช่นกัน 
  3. อาหาร อาหารบางชนิด เช่น อาหารทอด อาหารมัน ช็อกโกแลต นม และอาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดสิวในบางรายได้ ทั้งนี้ควรหมั่นสังเกตตัวเอง
  4. เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์บางอย่างที่เราใช้ ไม่ว่าจะใช้บริเวณใบหน้าหรือลำตัวอาจมีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง มีสีหรือน้ำหอม หรือแม้กระทั่งยาสระผม ก็สามารถทำให้เกิดสิวได้
  5. ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น
  6. การใช้ยาบางชนิด เช่น  สเตียรอยด์
 
ปรึกษาเรื่องสิวกับแพทย์ผิวหนังที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีค่าจัดส่งยา

สิวเกิดที่บริเวณใดได้บ้าง

1. สิวที่หน้าผาก 

สิวขึ้นหน้าผากพบได้บ่อยเนื่องจากเป็นส่วนที่มีเหงื่อออกเยอะ และเป็นบริเวณที่มีรูขุมขนและเป็นแหล่งผลิตน้ำมันบนใบหน้าเยอะจึงมีความมันมากกว่าบริเวณอื่นบนใบหน้า บางคนมีผมหน้าม้าหรือลูกผมอาจทำให้สิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่อยู่กับเส้นผมหรือฝุ่น ควัน มลภาวะ มาสัมผัสบริเวณหน้าผากได้เช่นกัน

2. สิวที่คาง

สิวขึ้นคางเป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้ เนื่องจากคางเป็นจุดที่ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามาก นอกจากนี้บริเวณคางยังเป็นจุดที่สัมผัสกับมือของเราบ่อยโดยไม่รู้ตัว เช่น การเท้าคาง การเกา หรือเสียดสีกับหน้ากากอนามัย จึงทำให้เกิดสิ่งสกปรกสะสมจนทำให้สิวขึ้นคางได้ในที่สุด

3. สิวที่คอ

สิวที่คอมักเกิดจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ดูแลเส้นผม รวมถึงเหงื่อไคล สิ่งสกปรกที่เกาะอยู่กับเส้นผม ทำให้เมื่อเส้นผมสัมผัสคลออยู่บริเวณคอจึงทำให้เกิดสิวที่คอได้ หรือในบางคนอาจเกิดจากการแพ้ฝุ่นและมลภาวะทางอากาศได้เช่นกัน เนื่องจากคอของเราเป็นส่วนอยู่บริเวณนอกร่มผ้า จึงทำให้มีสิวผดขึ้นได้ง่าย

4. สิวที่แก้ม

สิวที่แก้มเรียกได้ว่าเป็นบริเวณที่หลายคนมักเป็นสิวรุนแรง เนื่องจากแก้มมักเป็นจุดที่สัมผัสกับหลายสิ่ง ทั้งเส้นผม หน้ากากอนามัย ปลอกหมอน โทรศัพท์มือถือ ดังนั้นผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย หรือมีสิวที่แก้มบ่อยควรหมั่นเปลี่ยนหรือซักผ้าขนหนูสำหรับเช็ดหน้ารวมถึงปลอกหมอนทุกอาทิตย์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดสิวที่แก้ม

5. สิวที่จมูก

สิวที่บริเวณจมูกหรือที่หลายคนเรียกว่า “สิวเสี้ยน” นั้นคือเส้นขนที่จับตัวกับต่อมไขมันและสิ่งสกปรกต่าง ๆ จนทำให้เกิดจุดขาว ๆ ลักษณะคล้ายสิวขึ้นที่บริเวณปลายจมูก

6. สิวที่ปาก

สิวที่ปากหรือสิวบริเวณรอบ ๆ ริมฝีปากสามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับสิวบริเวณอื่น ๆ แต่สิวที่ปากโดยมากมักเกิดจากคราบอาหารหรือการดูแลความสะอาดไม่ดีพอ นอกจากนี้สิวที่ปากสามารถเกิดจากการแพ้ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลช่องปากต่าง ๆ ลิปสติก หรือการใส่หน้ากากอนามัยได้ด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่คุณผู้หญิงที่อยู่ในช่วงใกล้มีประจำเดือน หรืออยู่ในช่วงมีประจำเดือน อาจพบว่ามีสิวที่ปากได้บ่อยเนื่องจากฮอร์โมนในช่วงนี้นั่นเอง

7. สิวที่หลัง

สิวที่หลังเรียกได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตของหลายคน แผ่นหลังเป็นส่วนหนึ่งที่มีความมันและยากต่อการดูแลและทำความสะอาด เป็นส่วนที่มีเหงื่อออกง่าย อยู่ในร่มผ้าและเกิดการอับชื้นได้บ่อยจึงเป็นจุดที่ทำให้เกิดสิวที่หลังได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากฮอร์โมนและกรรมพันธุ์ได้เช่นกัน

ประเภทของสิว

ประเภทของสิว

1. สิวหัวดำ

สิวหัวดำ (Blackheads) เป็นสิวหัวเปิดประเภทหนึ่งที่สามารถมองเห็นหัวสิวได้ สิวหัวดำเกิดจากน้ำมันส่วนเกินและเซลล์ที่ตายแล้วอุดตันที่รูขุมขนแล้วทำปฏิกิริยา Oxidation ทำให้หัวสิวกลายเป็นสีดำ

2. สิวหัวช้าง

สิวหัวช้าง (Nodule) คือลักษณะสิวเป็นก้อนนูนขนาดใหญ่ ไม่มีหัว เมื่อกดจะรู้สึกเจ็บมาก สิวหัวช้างเกิดจากการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่เจริญเติบโตบริเวณผิวหนังซึ่งสิวหัวช้างรักษาได้ยากกว่าสิวประเภทอื่น ๆ

3. สิวอักเสบ

สิวอักเสบ (Inflammatory acne) คือ สิวอุดตัน โดยมีแบคทีเรีย Cutibacterium acnes หรือที่รู้จักกันในชื่อ Propionibacterium acnes (P.acnes) เจริญเติบโตอยู่ในตุ่มสิว P.acnes จะดึงเม็ดเลือดขาวเข้ามาในตุ่มสิว ทำให้เกิดการอักเสบ และยังมีเอนไซม์ช่วยในการย่อยน้ำมัน (Sebum) ในตุ่มสิวให้กลายเป็นกรดไขมันที่มีฤทธิ์ส่งผลให้เกิดสิวอักเสบอีกด้วย

4. สิวหัวขาว

สิวหัวขาว (Whiteheads) คือสิวที่มีตุ่มนูนเล็ก ๆ สีขาวหัวปิด ซึ่งเกิดจากการอุดตันของน้ำมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้ว หากปล่อยไว้อาจกลายเป็นสิวอักเสบได้

5. สิวผด

หลายคนเข้าใจว่าสิวผด (Acne aestivalis) คือสิวประเภทหนึ่ง จริง ๆ แล้วสิวผดจัดเป็นผื่นประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นจากแสงแดดหรืออาการแพ้ มีลักษณะเป็นผดผื่นเม็ดเล็ก ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมากบนใบหน้า บางคนอาจมีอาการคันร่วมด้วย สิวผดมักไม่มีหนอง เมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกสากเหมือนเม็ดทราย

6. สิวหัวหนอง


สิวหัวหนอง (Pustules) คือสิวที่มีลักษณะเป็นตุ่มแดงขนาดใหญ่ บวม มีหนอง สิวหัวหนองเกิดจากการติดเชื้อที่รูขุมขนจึงเกิดเป็นตุ่มหนอง

วิธีรักษาสิว

สิวที่ไม่รุนแรง

ในกรณีที่เป็นสิวในระดับเล็กน้อยไม่รุนแรง เช่น สิวผด สิวอุดตัน สามารถทายารักษาสิว เช่น กลุ่ม Benzoyl Peroxide หรือยาทากลุ่ม Retinoid เพื่อบรรเทาอาการสิวเบื้องต้นได้ 

สิวอักเสบปานกลาง – มาก 

สำหรับสิวที่มีการอักเสบในระดับปานกลางถึงมากสามารถใช้ยาทาปฏิชีวนะแต้มเฉพาะจุดที่เป็นร่วมด้วย ไม่ควรใช้เฉพาะยาปฏิชีวนะเดี่ยว ๆ เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการดื้อยาได้ หากเป็นสิวในระดับรุนแรงแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะหรือกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอชนิดรับประทานร่วมด้วย

 

ปรึกษาวิธีการรักษาสิวกับแพทย์ผิวหนังที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีค่าจัดส่งยา

การดูแลตนเองเมื่อเป็นสิว

  1. รักษาความสะอาดใบหน้าหรือส่วนที่เกิดสิวให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้เกิดการหมักหมมของเหงื่อและความมัน หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าในช่วงที่เป็นสิวมากเพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันและทำให้สิ่งสกปรกสะสมได้ 
  2. ทายา ครีมรักษาสิว หรือรับประทานยารักษาสิวตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ
  3. ไม่ซื้อยาฮอร์โมน ยาคุมกำเนิด หรือยาสเตียรอยด์มารับประทานเองโดยเด็ดขาด

ปรึกษาเรื่องยารักษาสิวกับเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน ไม่มีค่าปรึกษา !

วิธีป้องกันสิว

 

  1. ดูแลรักษาความสะอาดใบหน้าหรือส่วนที่เกิดสิว ให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้เกิดการหมักหมมของเหงื่อและความมัน นอกจากอาบน้ำทั้งเช้าและเย็นแล้วยังควรอาบน้ำทำความสะอาดหลังออกกำลังกายทันทีเพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรก

  2. พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับร่างกาย รวมถึงผิวพรรณ ขณะที่นอนหลับร่างกายจะมีการซ่อมแซมระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย มีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาแทนที่เซลล์เก่าในร่างกาย ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ลดรอยคล้ำใต้ดวงตา ผิวสว่างกระจ่างใส ตรงข้ามกับคนที่นอนดึกหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ผิวหนังจะเกิดริ้วรอยและสิวได้ง่าย ผิวไม่สดใส ไม่เต่งตึง

    การนอนหลับที่ดี คือ การนอนหลับที่ครบทั้งระยะเวลาและคุณภาพ แม้เราจะนอนครบ 6-8 ชั่วโมงแต่เข้านอนดึกมากเกินไป หรือนอนหลับไม่สนิม ย่อมไม่ดีต่อสุขภาพแน่นอน ซึ่งช่วงเวลาที่ควรเข้านอนมากที่สุด คือ ตั้งแต่ 20.00-22.00 น.
     
  3. รับประทานผักผลไม้ อยากมีผิวสุขภาพดี แน่นอนว่าอาหารมีผลอย่างมาก นอกจากการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว สิ่งที่ควรเน้นเลยก็คือ ผักและผลไม้ที่มีแร่ธาตุและวิตามิน ควรรับประทานให้หลากหลาย แต่ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันในปัจจุบันอาจทำให้การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละวันเป็นเรื่องยาก สามารถเสริมได้ด้วยการรับประทานวิตามินและอาหารเสริมที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้ ควรมีแพทย์และเภสัชกรคอยให้คำแนะนำอย่างชัดเจน 

  4. ออกกำลังกาย ลองสังเกตว่าเวลาเราออกกำลังกายผิวหน้าของเราจะดูดีเปล่งปลั่งขึ้น เคล็ดลับผิวสุขภาพดีก็คือการออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดี ผิวพรรณก็เปล่งปลั่งสดใส นอกจากนี้เมื่อเราออกกำลังกาย ร่างกายจะขับของเสียออกมาพร้อมกับเหงื่อ เมื่อร่างกายขับของเสียออกมาแล้ว ผิวพรรณก็สดใสตามมาเช่นกัน

  5. หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด เนื่องจากการใช้ยารักษาสิวบางชนิดอาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด ควรทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน สำหรับวิธีการเลือกครีมกันแดดนั้น ควรเลือกครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB มีค่า Sun protection factor (SPF) มากกว่า 30 ขึ้นไป อีกทั้งควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า Protection grade of UVA (PA) ที่เหมาะสมขึ้นกับสถานที่และกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน โดยค่า PA สูงสุดคือ 4 ระดับ ซึ่ง PA++++ คือมีค่าประสิทธิภาพการป้องกันรังสียูวีเอสูงที่สุด นอกจากนี้ยังควรเลือกครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพในการกันน้ำและกันเหงื่อด้วย เพื่อให้อยู่กับผิวหนังได้นานยิ่งขึ้น
ป้องกันสิวด้วยครีมกันแดด eucerin

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิว 

เป็นสิวแบบไหนจึงควรทานยา? 

โดยทั่วไปการรักษาสิวจะเริ่มต้นด้วยการใช้ยาทาแต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีความรุนแรงของสิวตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไป แพทย์อาจจะพิจารณาเพิ่มยาในรูปแบบรับประทาน

โดยยารักษาสิวรูปแบบรับประทานนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักที่แพทย์มักจะพิจารณาให้ใช้ ได้แก่ ยากลุ่มยาปฏิชีวนะ หรือ Antibiotic ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้รับประทานเมื่อผู้ป่วยใช้ยาทาแล้วไม่ดีขึ้นหรือมีอาการติดเชื้อ เช่น สิวมีอาการบวมแดง มีหนอง 

อีกกลุ่มคืออนุพันธุ์ของกรดวิตามินเอในรูปแบบรับประทาน แพทย์จะพิจารณาจ่ายเมื่อสิวมีอาการระดับรุนแรง เช่น มีสิวอักเสบแดง สิวหนอง สิวหัวช้างจำนวนมาก และมีการอักเสบอยู่นานหรือรักษาด้วยยากลุ่มอื่นแล้วไม่ดีขึ้น ทั้งนี้การรับประทานยาเพื่อรักษาสิวจำเป็นต้องผ่านตรวจวินิจฉัยจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเท่านั้น

สรุปเรื่องสิว

 สิวทำลายความมั่นใจและหากดูแลรักษาไม่ถูกต้องอาจลุกลามและทิ้งร่องรอยเอาไว้ ยากต่อการรักษา การรักษาสิวนั้นควรรักษาให้ตรงจุดโดยผู้เชี่ยวชาญ 

ปรึกษาปัญหาสิวและผิวหนังกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่แอป BeDee ทีมแพทย์และเภสัชกรคุณภาพพร้อมให้คำแนะนำและจัดส่งยาถึงมือทุกวัน สะดวก ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

 

Content powered by BeDee expert

ภญ.นันทวรรณ ภักดีประพันธ์

เภสัชกร

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

  1. Dessinioti, C.; Katsambas, A.D. The role of Propionibacterium acnes in acne pathogenesis: Facts and controversies. Clin. Dermatol. 2010, 28, 2–7.
  2. Lavers, I. (2014). Diagnosis and management of acne vulgaris. Nurse Prescribing, 12(7), 330–336. https://doi.org/10.12968/npre.2014.12.7.330
  3. Draelos, Z. Novel topical therapies in cosmetic dermatology. Curr. Probl. Dermatol. 2000, 12, 235–239.
[Bangkok Hospital Headquarters] ชุดตรวจสุขภาพ Executive Female Check Up (NON EST) อายุ 40-50 ปี หญิง
฿17,300 ฿45,541
บทความที่เกี่ยวข้อง

เมื่อพูดถึง Active Ingredient หรือส่วนผสมออกฤทธิ์หลักในกลุ่มครีมบำรุงผิวแล้ว “AHA” น่าจะเป็นหนึ่งในส่วนผสมหลักที่อยู่ในสกินแคร์ ครีมบำรุงผิวที่มักจะได้ยินในช่วงนี้ บางคนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า AHA เป็นกรดที่ฟังดูแล้วน่าจะรุนแรง สารบัญบทความ AHA คืออะไร

Key Takeaways สิวอักเสบเกิดจากแบคทีเรีย Cutibacterium Acnes หรือ Propionibacterium Acnes (P.acnes) เจริญเติบโตอยู่ในตุ่มสิว ควรรักษาความสะอาดใบหน้า ใช้ผลิตภัณฑ์อ่อนโยน ไม่แกะ บีบ หรือสัมผัสบริเวณที่เป็นสิวอักเสบ สิวอักเสบมักมีอาการบวมแดง ปวดสิว เจ็บส