ติดเกม

Key Takeaways

  • ติดเกม คือ ภาวะของผู้ที่เล่นเกมจนทำให้เกิดผลกระทบทางลบในด้านต่าง ๆ ของชีวิต เช่น การเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์ทางสังคม และสุขภาพกายและจิตใจ
  • การติดเกมอาจส่งผลให้เด็กมีสมาธิสั้นลง หรือมีพฤติกรรมไม่ดีอื่นๆตามมา เช่น การโกหกเพื่อให้ได้เล่นเกม
  • หากสังเกตเห็นว่าลูกเริ่มมีอาการติดเกมสามารถปรึกษาจิตแพทย์ได้ทันที
สารบัญบทความ

รู้จัก “โรคติดเกม” คืออะไร?

โรคติดเกม (Gaming Disorder หรือ Gaming Addiction ) คือ ภาวะของผู้ที่มีพฤติกรรมเล่นเกมจนทำให้เกิดผลกระทบทางลบในด้านต่าง ๆ ของชีวิต เช่น การเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์ทางสังคม และสุขภาพกายและจิตใจ ปัญหาการติดเกมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้โรคติดเกมเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชตั้งแต่ปี 2018

ติดเกม แก้ยังไง? ปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก เป็นส่วนตัว

อาการแบบไหนเรียก “ติดเกม”

เช็กลิสต์ อาการติดเกม ดังนี้ 

  • หมกมุ่นกับการเล่นเกมจนไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การเล่นเกมติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ไม่สามารถหยุดเล่นได้จนส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน หรืออื่น ๆ 
  • เมื่อไม่ได้เล่นเกมจะรู้สึกเครียด หงุดหงิด โมโห วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
  • ต้องการเล่นเกมมากขึ้นเรื่อย ๆ 
  • ไม่สามารถลดหรือเลิกเล่นเกมได้
  • ไม่สนใจกิจกรรมอื่น ๆ ที่เคยทำแล้วมีความสุขในอดีต
  • ใช้การเล่นเกมเพื่อบรรเทาอารมณ์เชิงลบ เช่น ความรู้สึกผิดหรือความสิ้นหวัง
  • โกหกเรื่องระยะเวลาที่ใช้ในการเล่นเกม
  • อาจมีพฤติกรรมเชิงลบอื่น ๆ เช่น การขโมยเงินเพื่อมาเล่นเกม 
  • สัมพันธภาพกับคนรอบข้างลดน้อยลง หรือเลือกมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนภายในเกมเท่านั้น

สาเหตุของปัญหาการติดเกมเกิดจากอะไร?

ติดเกม สาเหตุ

สาเหตุการติดเกมสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยทางสังคม และปัจจัยทางจิตวิทยา ดังนี้

ปัจจัยด้านจิตวิทยา

  • ความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ (Low Self-Esteem) พฤติกรรมการติดเกมอาจเกิดจากการที่เด็กมีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ แต่เมื่อได้เล่นเกมเด็กอาจได้รับการชื่นชม ได้รับการยอมรับจากผู้เล่นคนอื่น ๆ หรือเล่นแล้วได้รับรางวัล ได้รับชัยชนะ จึงทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ได้รับการยอมรับจากการเล่นเกมมากกว่าชีวิตจริง
  • ปัญหาในชีวิตประจำวัน อาการติดเกมอาจเกิดจากที่เด็กต้องการหนีปัญหาในชีวิจตริง เมื่อได้เล่นเกมจึงทำให้รู้สึกว่าได้หนีจากปัญหาเหล่านั้น ทำให้เด็กรู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทำให้รู้สึกพอใจและมั่นใจ

ปัจจัยทางสังคม

  • การเลี้ยงดูจากครอบครัว หลายครั้งปัญหาเด็กติดเกมมักเกิดจากวิธีการเลี้ยงดูของครอบครัว เช่น พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ไม่มีการทำกิจกรรมร่วมกัน พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการติดเกมของลูกได้ หรือเด็กขาดความรักความอบอุ่น ถูกเลี้ยงให้โตมาเพียงลำพัง จึงทำให้เด็กเลือกที่จะเล่นเกม
  • การยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ปัญหาการติดเกมในเด็กหรือหมู่วัยรุ่นสามารถเกิดได้จากพฤติกรรมในกลุ่มเพื่อน เช่น เพื่อน ๆ ในกลุ่มอาจจะเล่นเกมกันหมดทุกคนหากเราไม่เล่นเกมก็อาจไม่ได้รับการยอมรับหรือเป็นคนที่แปลกแยกจากเพื่อน
  • การที่เด็กไม่มีเพื่อนในชีวิตจริง อาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กเลือกที่จะสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลในเกม หรือหาเพื่อนในเกมเพื่อทดแทน

พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องรู้! อาการติดเกมมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชอย่างไร

อาการติดเกมในเด็กยังสามารถนำไปสู่ความเกี่ยวข้องกับโรคจิตเวชได้เช่นกัน โดยโรคทางจิตเวชที่มีความเกี่ยวข้อง มีดังต่อไปนี้

  • โรคซึมเศร้า (Depression) เด็กที่มีภาวะซึมเศร้าอาจใช้การเล่นเกมเป็นวิธีการหลีกหนีความรู้สึกเศร้าหรือความว่างเปล่า
  • โรคสมาธิสั้น (Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder, ADHD) เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นอาจพบว่าการเล่นเกมเป็นวิธีที่สามารถให้ความพึงพอใจได้ทันทีและทำให้รู้สึกมีสมาธิ อย่างไรก็ตามการเล่นเกมมากเกินไปอาจทำให้เด็กที่มีสมาธิสั้นมากขึ้นและมีปัญหาในการจัดการกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการติดเกมมีอะไรบ้าง?

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมติดเกม มีดังนี้

1. พัฒนาการและพฤติกรรมของเด็ก

ข้อเสียของการติดเกม คือ การเล่นเกมมากเกินไปอาจทำให้เด็กมีปัญหาในการจดจำและมีสมาธิลดลง รอไม่ได้ ต้องการอะไรที่รวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ในด้านพฤติกรรมการติดเกมออนไลน์ อาจทำให้เด็กมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมในชีวิตจริง เช่น การเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงในเกม การโกหกเกี่ยวกับเวลาที่ใช้ในการเล่นเกม หรือการขโมยเงินเพื่อซื้อไอเท็มในเกม เป็นต้น

2. สุขภาพ

การนั่งเล่นเกมเป็นเวลานานอาจทำให้เด็กมีปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ตาแห้ง นอนไม่หลับ และปัญหาทางสายตา การเล่นเกมมากเกินไปอาจทำให้เด็กมีปัญหาการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ หรือนอนหลับไม่เป็นเวลา ส่งผลให้มีปัญหาทั้งสุขภาพกายและใจ เช่น อ่อนเพลีย หงุดหงิด โรคอ้วนหรือมีปัญหาในการเรียนรู้

3. การเรียน

การติดเกมอาจทำให้เด็กละเลยการเรียน ทำให้ผลการเรียนแย่ลง และขาดความสนใจในการทำการบ้านหรือการศึกษา

4. ด้านสังคม

การใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกมอาจทำให้เด็กขาดการติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูง ทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง นอกจากนี้การติดเกมอาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น มีอารมณ์รุนแรง ใช้คำหยาบคาย หรือการแยกตัวออกจากกลุ่มสังคม

5. ด้านจิตใจ

การติดเกมอาจทำให้เด็กมีความเครียดและวิตกกังวล เนื่องจากความต้องการที่จะทำคะแนนสูงขึ้นหรือต้องการชนะ นอกจากนี้การแยกตัวออกจากสังคมและขาดการติดต่อกับเพื่อนฝูงอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

วิธีการรักษาอาการติดเกมทำอย่างไร?

วิธีรักษาการติดเกม

วิธีรักษาอาการติดเกมสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน โดยทั่วไปวิธีบำบัดติดเกมมีดังนี้

  • การบำบัดพฤติกรรมและความคิด Cognitive Behavioral Therapy (CBT) จิตบำบัดแบบ CBT เป็นการบำบัดที่ช่วยให้เด็กเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความคิดที่ไม่เหมาะสม โดยการเรียนรู้วิธีการจัดการกับความคิดที่เกี่ยวกับการเล่นเกมและการควบคุมพฤติกรรมของตนเอง
  • การบำบัดแบบครอบครัว (Family Therapy) การมีส่วนร่วมของครอบครัวในการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากครอบครัวคือบุคคล เป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได 
  • การรักษาด้วยยา (Medication) ในกรณีที่พบว่ามีปัญหาทางจิตเวชอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวลหรือสมาธิสั้น แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาร่วมกับการบำบัดอื่น
  • การบำบัดแบบกลุ่ม (Group Therapy) การเข้าร่วมกลุ่มบำบัดที่มีผู้ที่มีปัญหาเดียวกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกำลังใจ

ติดเกมป้องกันอย่างไร?

วิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเกมสามารถทำได้ดังนี้

  • กำหนดเวลาเล่นเกมที่ชัดเจน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  • ส่งเสริมให้หากิจกรรมอื่น ๆ ทำ เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย พบปะเพื่อนฝูง หรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว
  • ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หากรู้สึกว่าลูกไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาคลินิก
  • ผู้ปกครองควรติดตามพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิด สร้างบรรยากาศในครอบครัวที่อบอุ่น และทำกิจกรรมร่วมกัน

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับติดเกม

1. การติดเกมทำให้เด็กมีสมาธิสั้นหรือไม่?

การติดเกมไม่ได้ทำให้เด็กมีสมาธิสั้นโดยตรง แต่การใช้เวลากับเกมมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมาธิได้ การเล่นเกมทำให้เด็กคุ้นเคยกับการกระตุ้นที่รวดเร็ว และเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิอยู่กับที่นาน ๆ อาจรู้สึกเบื่อหน่ายและขาดสมาธิได้ 

 

ในบางครั้งอาการสมาธิสั้นอาจเป็นผลมาจากปัญหาอื่น ๆ เช่น การนอนไม่พอ ความเครียด หรือปัญหาในการเรียนรู้ หากสังเกตเห็นว่าลูกมีอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นสมาธิสั้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

2. ติดเกมทำให้เด็กมีอารมณ์รุนแรงก้าวร้าวหรือไม่?

การติดเกมอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เหตุผลที่การติดเกมอาจเชื่อมโยงกับพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น การเลียนแบบพฤติกรรมในเกม เนื่องจากเกมบางประเภทอาจมีเนื้อหาที่รุนแรง หรือส่งเสริมพฤติกรรมก้าวร้าว เด็กอาจเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้นในชีวิตจริง 

 

นอกจากนี้การเล่นเกมเป็นเวลานานอาจทำให้เด็กเกิดความเครียดและอารมณ์หงุดหงิด ซึ่งอาจนำไปสู่การแสดงออกทางพฤติกรรมที่รุนแรง ประกอบกับการที่เด็กขาดทักษะในการจัดการอารมณ์ ทำให้เมื่อเกิดความไม่พอใจหรือผิดหวัง อาจแสดงออกด้วยการใช้ความรุนแรงก้าวร้า

ติดเกมอย่าปล่อยไว้เพราะลูกอาจมีอาการอื่นซ่อนอยู่ ปรึกษาจิตแพทย์ได้ทุกวัน 

ติดเกมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในปัจจุบันโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น การใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกม อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต การเรียน และความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้

 

ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เป็นส่วนตัวสูง พร้อมจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

Content powered by BeDee Expert

ธนวินท์ มีลาภอุดมชัย

นักจิตวิทยาคลินิก

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

บทความที่เกี่ยวข้อง

Key Takeaways Introvert คือคนที่มักจะชอบการเก็บตัว รู้สึกสบายใจเมื่อได้อยู่คนเดียวหรือทำงานคนเดียว Introvert เกิดขึ้นได้จากพันธุกรรม สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู และประสบการณ์ บางคนที่มีบุคลิกภาพผสมระหว่าง Introvert และ Extrovert เรียกว่า Ambivert สารบัญบ

โรคไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่พบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน บางคนที่เราเห็นยิ้มแย้ม อารมณ์ดี แต่ก็อาจจะป่วยด้วยกลุ่มโรคทางจิตเวช ที่เรียกว่า Smiling depression ได้เช่นกัน    ด้วยสังคมปัจจุบันที่มีความเครียดสูง ปัจจ