ติดเกม

Key Takeaways

  • ติดเกม คือ ภาวะของผู้ที่เล่นเกมจนทำให้เกิดผลกระทบทางลบในด้านต่าง ๆ ของชีวิต เช่น การเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์ทางสังคม และสุขภาพกายและจิตใจ
  • การติดเกมอาจส่งผลให้เด็กมีสมาธิสั้นลง หรือมีพฤติกรรมไม่ดีอื่นๆตามมา เช่น การโกหกเพื่อให้ได้เล่นเกม
  • หากสังเกตเห็นว่าลูกเริ่มมีอาการติดเกมสามารถปรึกษาจิตแพทย์ได้ทันที
สารบัญบทความ

รู้จัก “โรคติดเกม” คืออะไร?

โรคติดเกม (Gaming Disorder หรือ Gaming Addiction ) คือ ภาวะของผู้ที่มีพฤติกรรมเล่นเกมจนทำให้เกิดผลกระทบทางลบในด้านต่าง ๆ ของชีวิต เช่น การเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์ทางสังคม และสุขภาพกายและจิตใจ ปัญหาการติดเกมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้โรคติดเกมเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชตั้งแต่ปี 2018

ติดเกม แก้ยังไง? ปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก เป็นส่วนตัว

อาการแบบไหนเรียก “ติดเกม”

เช็กลิสต์ อาการติดเกม ดังนี้ 

  • หมกมุ่นกับการเล่นเกมจนไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การเล่นเกมติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ไม่สามารถหยุดเล่นได้จนส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน หรืออื่น ๆ 
  • เมื่อไม่ได้เล่นเกมจะรู้สึกเครียด หงุดหงิด โมโห วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
  • ต้องการเล่นเกมมากขึ้นเรื่อย ๆ 
  • ไม่สามารถลดหรือเลิกเล่นเกมได้
  • ไม่สนใจกิจกรรมอื่น ๆ ที่เคยทำแล้วมีความสุขในอดีต
  • ใช้การเล่นเกมเพื่อบรรเทาอารมณ์เชิงลบ เช่น ความรู้สึกผิดหรือความสิ้นหวัง
  • โกหกเรื่องระยะเวลาที่ใช้ในการเล่นเกม
  • อาจมีพฤติกรรมเชิงลบอื่น ๆ เช่น การขโมยเงินเพื่อมาเล่นเกม 
  • สัมพันธภาพกับคนรอบข้างลดน้อยลง หรือเลือกมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนภายในเกมเท่านั้น

สาเหตุของปัญหาการติดเกมเกิดจากอะไร?

ติดเกม สาเหตุ

สาเหตุการติดเกมสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยทางสังคม และปัจจัยทางจิตวิทยา ดังนี้

ปัจจัยด้านจิตวิทยา

  • ความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ (Low Self-Esteem) พฤติกรรมการติดเกมอาจเกิดจากการที่เด็กมีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ แต่เมื่อได้เล่นเกมเด็กอาจได้รับการชื่นชม ได้รับการยอมรับจากผู้เล่นคนอื่น ๆ หรือเล่นแล้วได้รับรางวัล ได้รับชัยชนะ จึงทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ได้รับการยอมรับจากการเล่นเกมมากกว่าชีวิตจริง
  • ปัญหาในชีวิตประจำวัน อาการติดเกมอาจเกิดจากที่เด็กต้องการหนีปัญหาในชีวิจตริง เมื่อได้เล่นเกมจึงทำให้รู้สึกว่าได้หนีจากปัญหาเหล่านั้น ทำให้เด็กรู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทำให้รู้สึกพอใจและมั่นใจ

ปัจจัยทางสังคม

  • การเลี้ยงดูจากครอบครัว หลายครั้งปัญหาเด็กติดเกมมักเกิดจากวิธีการเลี้ยงดูของครอบครัว เช่น พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ไม่มีการทำกิจกรรมร่วมกัน พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการติดเกมของลูกได้ หรือเด็กขาดความรักความอบอุ่น ถูกเลี้ยงให้โตมาเพียงลำพัง จึงทำให้เด็กเลือกที่จะเล่นเกม
  • การยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ปัญหาการติดเกมในเด็กหรือหมู่วัยรุ่นสามารถเกิดได้จากพฤติกรรมในกลุ่มเพื่อน เช่น เพื่อน ๆ ในกลุ่มอาจจะเล่นเกมกันหมดทุกคนหากเราไม่เล่นเกมก็อาจไม่ได้รับการยอมรับหรือเป็นคนที่แปลกแยกจากเพื่อน
  • การที่เด็กไม่มีเพื่อนในชีวิตจริง อาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กเลือกที่จะสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลในเกม หรือหาเพื่อนในเกมเพื่อทดแทน

พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องรู้! อาการติดเกมมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชอย่างไร

อาการติดเกมในเด็กยังสามารถนำไปสู่ความเกี่ยวข้องกับโรคจิตเวชได้เช่นกัน โดยโรคทางจิตเวชที่มีความเกี่ยวข้อง มีดังต่อไปนี้

  • โรคซึมเศร้า (Depression) เด็กที่มีภาวะซึมเศร้าอาจใช้การเล่นเกมเป็นวิธีการหลีกหนีความรู้สึกเศร้าหรือความว่างเปล่า
  • โรคสมาธิสั้น (Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder, ADHD) เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นอาจพบว่าการเล่นเกมเป็นวิธีที่สามารถให้ความพึงพอใจได้ทันทีและทำให้รู้สึกมีสมาธิ อย่างไรก็ตามการเล่นเกมมากเกินไปอาจทำให้เด็กที่มีสมาธิสั้นมากขึ้นและมีปัญหาในการจัดการกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการติดเกมมีอะไรบ้าง?

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมติดเกม มีดังนี้

1. พัฒนาการและพฤติกรรมของเด็ก

ข้อเสียของการติดเกม คือ การเล่นเกมมากเกินไปอาจทำให้เด็กมีปัญหาในการจดจำและมีสมาธิลดลง รอไม่ได้ ต้องการอะไรที่รวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ในด้านพฤติกรรมการติดเกมออนไลน์ อาจทำให้เด็กมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมในชีวิตจริง เช่น การเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงในเกม การโกหกเกี่ยวกับเวลาที่ใช้ในการเล่นเกม หรือการขโมยเงินเพื่อซื้อไอเท็มในเกม เป็นต้น

2. สุขภาพ

การนั่งเล่นเกมเป็นเวลานานอาจทำให้เด็กมีปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ตาแห้ง นอนไม่หลับ และปัญหาทางสายตา การเล่นเกมมากเกินไปอาจทำให้เด็กมีปัญหาการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ หรือนอนหลับไม่เป็นเวลา ส่งผลให้มีปัญหาทั้งสุขภาพกายและใจ เช่น อ่อนเพลีย หงุดหงิด โรคอ้วนหรือมีปัญหาในการเรียนรู้

3. การเรียน

การติดเกมอาจทำให้เด็กละเลยการเรียน ทำให้ผลการเรียนแย่ลง และขาดความสนใจในการทำการบ้านหรือการศึกษา

4. ด้านสังคม

การใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกมอาจทำให้เด็กขาดการติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูง ทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง นอกจากนี้การติดเกมอาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น มีอารมณ์รุนแรง ใช้คำหยาบคาย หรือการแยกตัวออกจากกลุ่มสังคม

5. ด้านจิตใจ

การติดเกมอาจทำให้เด็กมีความเครียดและวิตกกังวล เนื่องจากความต้องการที่จะทำคะแนนสูงขึ้นหรือต้องการชนะ นอกจากนี้การแยกตัวออกจากสังคมและขาดการติดต่อกับเพื่อนฝูงอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

วิธีการรักษาอาการติดเกมทำอย่างไร?

วิธีรักษาการติดเกม

วิธีรักษาอาการติดเกมสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน โดยทั่วไปวิธีบำบัดติดเกมมีดังนี้

  • การบำบัดพฤติกรรมและความคิด Cognitive Behavioral Therapy (CBT) จิตบำบัดแบบ CBT เป็นการบำบัดที่ช่วยให้เด็กเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความคิดที่ไม่เหมาะสม โดยการเรียนรู้วิธีการจัดการกับความคิดที่เกี่ยวกับการเล่นเกมและการควบคุมพฤติกรรมของตนเอง
  • การบำบัดแบบครอบครัว (Family Therapy) การมีส่วนร่วมของครอบครัวในการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากครอบครัวคือบุคคล เป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได 
  • การรักษาด้วยยา (Medication) ในกรณีที่พบว่ามีปัญหาทางจิตเวชอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวลหรือสมาธิสั้น แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาร่วมกับการบำบัดอื่น
  • การบำบัดแบบกลุ่ม (Group Therapy) การเข้าร่วมกลุ่มบำบัดที่มีผู้ที่มีปัญหาเดียวกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกำลังใจ

ติดเกมป้องกันอย่างไร?

วิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเกมสามารถทำได้ดังนี้

  • กำหนดเวลาเล่นเกมที่ชัดเจน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  • ส่งเสริมให้หากิจกรรมอื่น ๆ ทำ เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย พบปะเพื่อนฝูง หรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว
  • ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หากรู้สึกว่าลูกไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาคลินิก
  • ผู้ปกครองควรติดตามพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิด สร้างบรรยากาศในครอบครัวที่อบอุ่น และทำกิจกรรมร่วมกัน

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับติดเกม

1. การติดเกมทำให้เด็กมีสมาธิสั้นหรือไม่?

การติดเกมไม่ได้ทำให้เด็กมีสมาธิสั้นโดยตรง แต่การใช้เวลากับเกมมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมาธิได้ การเล่นเกมทำให้เด็กคุ้นเคยกับการกระตุ้นที่รวดเร็ว และเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิอยู่กับที่นาน ๆ อาจรู้สึกเบื่อหน่ายและขาดสมาธิได้ 

 

ในบางครั้งอาการสมาธิสั้นอาจเป็นผลมาจากปัญหาอื่น ๆ เช่น การนอนไม่พอ ความเครียด หรือปัญหาในการเรียนรู้ หากสังเกตเห็นว่าลูกมีอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นสมาธิสั้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

2. ติดเกมทำให้เด็กมีอารมณ์รุนแรงก้าวร้าวหรือไม่?

การติดเกมอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เหตุผลที่การติดเกมอาจเชื่อมโยงกับพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น การเลียนแบบพฤติกรรมในเกม เนื่องจากเกมบางประเภทอาจมีเนื้อหาที่รุนแรง หรือส่งเสริมพฤติกรรมก้าวร้าว เด็กอาจเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้นในชีวิตจริง 

 

นอกจากนี้การเล่นเกมเป็นเวลานานอาจทำให้เด็กเกิดความเครียดและอารมณ์หงุดหงิด ซึ่งอาจนำไปสู่การแสดงออกทางพฤติกรรมที่รุนแรง ประกอบกับการที่เด็กขาดทักษะในการจัดการอารมณ์ ทำให้เมื่อเกิดความไม่พอใจหรือผิดหวัง อาจแสดงออกด้วยการใช้ความรุนแรงก้าวร้า

ติดเกมอย่าปล่อยไว้เพราะลูกอาจมีอาการอื่นซ่อนอยู่ ปรึกษาจิตแพทย์ได้ทุกวัน 

ติดเกมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในปัจจุบันโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น การใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกม อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต การเรียน และความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้

 

ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เป็นส่วนตัวสูง พร้อมจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

Content powered by BeDee Expert

ธนวินท์ มีลาภอุดมชัย

นักจิตวิทยาคลินิก

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

บทความที่เกี่ยวข้อง

ในกระแสสังคมปัจจุบันนั้น มักมีอะไรมากมายที่ทั้งกดดันและสร้างความเครียดให้ทุกคนไม่เว้นวัน สอดคล้องกับสถิติขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ที่ชี้ว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5% และมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกๆวัน เช่นเดียวกับในสังคมไทยที่ในช่วงไม่กี่ปีมาน

แบบประเมินความเครียดเป็นเครื่องมือคัดกรองโรคเครียดรูปแบบหนึ่ง เวลาที่เราเครียดเรามักประเมินความเครียดในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็สังเกตจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่นนอนไม่หลับ, ปวดหัวเรื้อรัง, กรดไหลย้อน, ท้องอืด เป็นต้น หรือประเมินควา