Key Takeaways ตกขาวมีกลิ่นเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราในช่องคลอด ตกขาวมีกลิ่นอาจเกิดร่วมกับอาการคันช่องคลอด เจ็บ แสบขณะมีเพศสัมพันธ์ หากพบอาการตกขาวมีกลิ่นควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน สารบัญบทความ ตกขาวมีกลิ่น คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด? ในสภาวะป
เชื้อราในช่องคลอด แสบคันน้องสาว ตกขาวข้นหนืดต้องระวัง
Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
Key Takeaways
- การติดเชื้อราในช่องคลอดส่วนมากแล้วเกิดจากเชื้อรากลุ่ม Candida โดยเฉพาะเชื้อ Candida Albicans ซึ่งเป็นเชื้อราที่สามารถพบได้ในร่างกายตามปกติ
- เมื่อภูมิร่างกายต่ำซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุปัจจัย หรือความสมดุลของช่องคลอดเปลี่ยนไปจนทำให้เชื้อราเพิ่มจำนวนขึ้นจึงทำให้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด
- อาการที่พบได้ เช่น คันช่องคลอดและบริเวณอวัยวะเพศ มีตกขาวคล้ายแป้งเปียกหรือหนืดข้นคล้ายชีส ระคายเคืองหรือแสบในช่องคลอด
เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Yeast Infection) คืออะไร ?
โรคเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Yeast Infection) เกิดจากเชื้อรากลุ่ม Candida โดยเฉพาะเชื้อ Candida Albicans ซึ่งเป็นเชื้อราที่สามารถพบได้ในร่างกายตามปกติ เช่น ในช่องคลอด ปาก ลำไส้ และผิวหนัง แต่ในกรณีที่ภูมิร่างกายต่ำซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุปัจจัย หรือความสมดุลของช่องคลอดเปลี่ยนไปจนทำให้ปริมาณเชื้อราในช่องคลอดมีมากจนเกินไป อาจทำให้เกิดติดเชื้อราในช่องคลอดได้
BeDee Tips: ตกขาวสีเขียว สัญญาณที่บอกว่าคุณอาจกำลังติดเชื้อ อ่านเพิ่มเติมเลย
เชื้อราในช่องคลอดสาเหตุเกิดจากอะไร ?
เชื้อราในช่องคลอดเกิดจากเชื้อยีสต์กลุ่ม Candida ในภาวะปกติทั่วไปนั้นเชื้อยีสต์ที่มีปริมาณที่พอดีจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ในกรณีที่ร่างกายเกิดความผิดปกติบางอย่างจนทำให้เกิดเชื้อยีสต์ปริมาณมากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อราได้ โดยอาจเกิดจากปัจจัยดังนี้
- การเสียสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งทำให้แบคทีเรียชนิดดีลดลง
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ช่วงตั้งครรภ์ การใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด หรือในวัยหมดประจำเดือน
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
- การสวมเสื้อผ้าที่อับชื้น เช่น ชุดชั้นในที่รัดแน่นหรือไม่ระบายอากาศ
- การล้างช่องคลอดด้วยสารเคมี เช่น น้ำยาล้างที่มีสารระคายเคืองที่ทำให้สมดุลกรดด่างในช่องคลอดเปลี่ยนไป
อาการเชื้อราในช่องคลอดเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตตัวเองว่าบริเวณช่องคลอดและตกขาวของเรามีความผิดปกติ ตกขาวมีกลิ่นหรือไม่ เมื่อเกิดภาวะเชื้อราในช่องคลอดอาการที่พบได้ เช่น
- คันช่องคลอดและบริเวณอวัยวะเพศ
- มีตกขาวผิดปกติ ตกขาวเป็นก้อนแป้งเปียก หรือหนืดข้นคล้ายชีส
- รู้สึกระคายเคืองหรือแสบในช่องคลอด
- อาจมีอาการปวดหรือแสบเวลาปัสสาวะร่วมด้วย
- เจ็บปวดหรือระคายเคืองระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- บวมและแดงบริเวณช่องคลอด
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราในช่องคลอด
ผู้หญิงส่วนใหญ่อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการเกิดเชื้อราในช่องคลอดได้โดยไม่รู้ตัว สัญญาณที่บอกว่าเราอาจกำลังเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อรา เช่น
- ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคบางอย่าง เพราะจะทำให้เชื้อรามีโอกาสเติบโตมากขึ้น
- ผู้หญิงตั้งครรภ์หรือผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมน
- ผู้ที่เป็นเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น HIV ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
- ผู้ที่มักสวมเสื้อผ้าที่อับชื้น หรือสวมชุดชั้นในหรือกางเกงที่รัดแน่นเกินไป
- ผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์สวนล้างช่องคลอดที่มีสารเคมีรุนแรง
การวินิจฉัยเชื้อราในช่องคลอดทำอย่างไร ?
วิธีการวินิจฉัยนั้นแพทย์จะเริ่มจากการสอบถามประวัติอาการ ระยะเวลาที่เกิดอาการ พฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ จากนั้นแพทย์จะตรวจดูช่องคลอดภายนอกว่ามีอาการผิดปกติ บวม แดงหรือไม่ และเก็บตัวอย่างตกขาวและนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูยืนยันชนิดของเชื้อราก่อนจ่ายยารักษา ผู้ป่วยควรสังเกตตกขาวตัวเองว่ามีอาการผิดปกติ มีสีหรือกลิ่นที่เปลี่ยนไปหรือไม่เพื่อประกอบการตรวจวินิจฉัยของแพทย์
วิธีรักษาเชื้อราในช่องคลอดให้หาย
บ่อยครั้งเมื่อเกิดอาการผู้ป่วยมักมีคำถามว่าเชื้อราในช่องคลอดใช้ยาอะไรดี? สำหรับเชื้อราในช่องคลอดวิธีรักษาจะเน้นการรักษาโดยการใช้ยาเป็นหลัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการผู้ป่วยด้วย ยาที่ใช้รักษา เช่น
- ยาเม็ดรับประทานกลุ่มฟลูโคนาโซล (Fluconazole) เพื่อต้านเชื้อราในช่องคลอด
- ยาทาภายนอกรูปแบบครีมหรือเจล เช่น Clotrimazole
- ยาเหน็บช่องคลอด เช่น Miconazole
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไม่ควรหาซื้อยามาใช้หรือรับประทานเอง เพราะอาจทำให้ได้รับยารักษาไม่ตรงกับอาการ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
ปรึกษาหมอออนไลน์ ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก เป็นส่วนตัว
ส่งยาถึงที่ ไม่มีค่าจัดส่ง
การป้องกันเชื้อราในช่องคลอด
เชื้อราในช่องคลอดสาเหตุมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคควรปรับพฤติกรรมดังนี้
- ไม่ควรฉีดน้ำหรือสวนล้างช่องคลอด
- ควรเลือกใช้สบู่เฉพาะที่มีความเป็นกรดด่างที่เหมาะสม หรือล้างทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นด้วยน้ำเปล่าเฉพาะภายนอกเท่านั้น
- ดูแลรักษาร่างกายให้สะอาด อาบน้ำหลังออกกำลังกายเสร็จโดยเฉพาะผู้ที่มีเหงื่อมาก ไม่ปล่อยให้เกิดการหมักหมม
- ซับบริเวณจุดซ่อนเร้นและช่องคลอดให้แห้ง ไม่อับชื้นหลังเข้าห้องน้ำ
- ไม่ควรใช้เล็บหรือนิ้วมือเกาบริเวณอวัยวะเพศ
- สวมเสื้อผ้าสบาย ๆ ไม่รัดแน่น หรือหนาจนไม่สามารถระบายอากาศได้
- ซักทำความสะอาดชุดชั้นในเป็นประจำและตากให้แห้ง ควรตากให้โดนแดด
- เมื่อมีประจำเดือนควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3-4 ชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้นหากประจำเดือนมามาก
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเชื้อราในช่องคลอด
1. ผู้ที่ติดเชื้อราในช่องคลอดต้องรอกี่วันถึงจะหาย?
ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษานั้นขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคในแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นหลังได้รับยารักษาประมาณ 3-7 วัน ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมร่วมกับการรักษาด้วยยา หากมีอาการแย่ลงควรรีบปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
2. หากติดเชื้อราในช่องคลอดแล้ว คู่นอนควรรักษาด้วยหรือไม่?
โดยปกติแล้วไม่จำเป็นต้องรักษาคู่นอน เว้นแต่ว่าคู่นอนมีอาการผิดปกติแบบเดียวกัน เช่น หากมีอาการคัน บวม แสบบริเวณอวัยวะเพศ มีตกขาวข้น ยืด หรือปวดแสบขัดเวลาปัสสาวะ ควรรีบปรึกษาแพทย์
3. โรคเชื้อราในช่องคลอดรักษาเองได้ไหม?
การรักษาเชื้อราในช่องคลอดให้หายนั้นจำเป็นต้องตรวจดูชนิดของเชื้อรา ซึ่งวิธีการคือแพทย์จะเก็บตัวอย่างตกขาวและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ดังนั้นหากผู้ป่วยรักษาเชื้อราเองอาจได้รับยาที่ไม่ตรงกับประเภทของเชื้ออาจทำให้หายช้าและมีอาการเรื้อรังได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
เชื้อราในช่องคลอดต้องรีบรักษา ปรึกษาแพทย์ได้เลยที่นี่
เชื้อราในช่องคลอดสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันและอาจทำให้ขาดความมั่นใจ หากสังเกตว่ามีตกขาวผิดปกติ มีสี กลิ่น เปลี่ยนแปลง มีอาการคัน บวม แสบ บริเวณช่องคลอด ไม่ต้องเขินอาย ปรึกษาหมอออนไลน์ ปรึกษาพยาบาล หรือ ปรึกษาเภสัชกร ได้เลยที่นี่
BeDee พบหมอเฉพาะทางเครือ BDMS ได้ทันที ไม่ต้องรอ ส่งยาทั่วไทย มั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูล
สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
พญ. วิภาดา พิพัฒน์วัชรา
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Goje, O. (2023, March 6). Vaginal Yeast Infection (Candidiasis). MSD Manual Consumer Version; MSD Manuals. https://www.msdmanuals.com/home/women-s-health-issues/vaginitis-cervicitis-and-pelvic-inflammatory-disease/vaginal-yeast-infection-candidiasis#Prevention_v804088
Vaginal Yeast Infection. (n.d.). Harvard Health. https://www.health.harvard.edu/a_to_z/vaginal-yeast-infection-a-to-z
Yeast infection (vaginal) – Symptoms and causes. (2023, January 11). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/yeast-infection/symptoms-causes/syc-20378999