Key Highlight การทานยาคุมฉุกเฉินจะทำให้รอบเดือนเลื่อน อาจมาช้าหรือเร็วกว่าปกติประมาณ 1 อาทิตย์ และอาจทำให้มีเลือดออกกระปริบกระปรอย กินยาคุมฉุกเฉิน แล้วเมนส์ไม่มาเพราะการกินยาคุมฉุกเฉินจะทำให้รอบเดือนแปรปรวนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ห
คันช่องคลอด คันอวัยวะเพศหญิงเกิดจากอะไร มาดูสาเหตุ และวิธีรักษา
อาการ “คันช่องคลอด” หรือคันอวัยวะเพศหญิง เป็นปัญหาหนักใจของสาว ๆ หลายคน ด้วยอาการคันน้องสาวที่สร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวัน สร้างความไม่มั่นใจ แต่จะไปหาหมอหรือไปซื้อยาก็เขินอาย ไม่มั่นใจว่าควรกินยาหรือใช้ยาอะไรดี
อาการคันช่องคลอด
อาการคันช่องคลอด (Vaginal Itching) คืออาการคันอวัยวะเพศหญิงบริเวณช่องคลอด ซึ่งอาการคันช่องคลอดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งภายในและภายนอกช่องคลอด เริ่มตั้งแต่บริเวณเนินหัวหน่าว ขน แคมใหญ่ แคมเล็ก กลีบ บางรายมีอาการคันในช่องคลอด แสบคันช่องคลอด คันรอบช่องคลอด และอาจมีอาการตกขาว ติดเชื้อในช่องคลอด ปัสสาวะแล้วแสบร่วมด้วย
คันอวัยวะเพศหญิงภายนอก
อาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอกหรือคันนอกช่องคลอดนั้น คืออาการคันบริเวณหัวหน่าว ไรขน คันบริเวณกลีบ แคมเล็ก แคมใหญ่ หรือผิวหนังภายนอกอวัยวะเพศหญิงซึ่งมักเกิดจากการโกนขนบริเวณอวัยวะเพศ ความเครียด การสวมใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่รัดแน่น การระคายเคืองที่เกิดจากการแพ้น้ำยา สบู่ ผงซักฟอก
คันอวัยวะเพศหญิงภายใน
อาการคันช่องคลอดภายในคืออาการคันในช่องคลอดหรือภายในอวัยวะเพศ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือติดเชื้ออื่น ๆ ที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์ อาการคันในช่องคลอดมักพบร่วมกับตกขาวที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น ตกขาวสีเหลือง เป็นก้อนข้น ตกขาวสีเขียว มีกลิ่นเหม็นคาวมาก หรืออาจมีเลือดปะปนออกมาร่วมกับตกขาวได้เช่นกัน ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อวิเคราะห์ว่าติดเชื้อประเภทใด
ปรึกษาอาการคันช่องคลอดกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่มีค่าจัดส่งยา
คันช่องคลอดเกิดจากอะไร
โดยปกติแล้วภายในช่องคลอดของผู้หญิงนั้นจะมีภาวะสมดุลของเชื้อแบคทีเรียดี หรือ ที่เรียกว่าแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus species) อยู่แล้วเพื่อช่วยปรับสมดุลทำให้เกิดกรดอ่อน ๆ ภายในช่องคลอด ซึ่งเมื่อช่องคลอดขาดสมดุลซึ่งอาจเกิดจากเกิดติดเชื้อต่าง ๆ หรือการสวนล้างช่องคลอดด้วยน้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นอาจทำให้เกิดตกขาวและเกิดอาการคันตรงช่องคลอดภายใน และในบางรายอาจมีอาการคันอวัยวะเพศหญิงภายนอกหรือคันรอบช่องคลอดได้ ซึ่งอาการคันเหล่านี้มีสาเหตุแตกต่างกัน
สาเหตุของอาการคันช่องคลอดภายใน ได้แก่
- การติดเชื้อรา แคนดิด้า อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ผู้ป่วยจะมีอาการคันช่องคลอด มีตกขาวสีขาวข้น คล้ายแป้งเปียก ร่วมกับอาการคันในช่องคลอด
- การติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยหลายรายมักมีอาการคันอวัยวะเพศหญิงภายในช่องคลอดร่วมกับการมีตกขาวสีเหลือง สีเขียวมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โรคหนองในแท้ หนองในเทียม หูด เริม พยาธิในช่องคลอด โดยอาการคันช่องคลอดนี้อาจเกิดร่วมกับการมีตกขาวได้
สาเหตุของอาการคันช่องคลอดภายนอก ได้แก่
- การเสียดสีหรือระคายเคืองจากผ้าอนามัย กางเกงใน หรือน้ำยาซักชุดชั้นใน
- การโกนขนอวัยวะเพศ
- การสวมใส่เสื้อผ้ารัดแน่น
- โรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
- การติดเชื้อราบริเวณขาหนีบ
- โรคเริม (Genital herpes) ผู้ป่วยมักมีอาการแสบคันช่องคลอด
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- โรคมะเร็งปากช่องคลอด (Vulvar cancer)
- วัยทอง เนื่องจากเมื่อร่างกายเข้าสู่ช่วงวัยทองและขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้ผิวหนังและขนบริเวณอวัยวะเพศบางลง ช่องคลอดแห้ง ส่งผลให้เกิดอาการแห้ง ระคายเคืองและคันช่องคลอดได้ง่าย
- รับประทานอาหารประเภทหมักดองมากเกินไป
คันช่องคลอดแบบไหนควรรีบพบแพทย์
อาการคันช่องคลอดไม่ควรปล่อยเอาไว้เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติที่หากปล่อยไว้อาจลุกลามยากต่อการรักษา หากมีอาการเหล่านี้รีบปรึกษาแพทย์ด่วน
- ตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวมีสีเขียว สีเหลือง และมีกลิ่นเหม็นรุนแรงหรือเหม็นคาว
- คันช่องคลอด คันปากช่องคลอด คันอวัยวะเพศหญิงอย่างรุนแรง ต้องเกาจนผิวหนังเป็นขุย เป็นแผล แสบ หรือทำให้อวัยวะเพศบวมแดง แสบ
- ช่องคลอดเป็นแผล
- เจ็บอวัยวะเพศ
- เจ็บ ปวด เวลามีเพศสัมพันธ์
- ปัสสาวะติดขัด แสบ มีปัญหาในการปัสสาวะ
ปรึกษาอาการคันช่องคลอดหรือปัญหาสุขภาพสตรีกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่มีค่าจัดส่งยา
ทำอย่างไรเมื่อมีอาการคันช่องคลอด
เมื่อมีอาการคันช่องคลอดควรรีบปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองควบคู่กับการใช้ยารักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและช่องคลอดจากด้านหน้าไปด้านหลังด้วยน้ำเปล่าและซับให้แห้งทุกครั้ง
- ไม่ควรใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นเพราะจะทำให้ผิวหนังแห้งและคันมากขึ้น
- ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
- ไม่ควรสวนล้างบริเวณช่องคลอด
- ไม่ควรเกาบริเวณอวัยวะเพศ
- สวมเสื้อผ้าสบาย ๆ ไม่รัดแน่น หรือหนาจนไม่สามารถระบายอากาศได้
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์
วิธีรักษาอาการคันช่องคลอด
วิธีรักษาอาการคันอวัยวะเพศหญิงหรืออาการคันช่องคลอดขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเพราะอาจได้รับยาไม่ตรงกับสาเหตุและอาการของโรคควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อการรักษาที่ตรงจุด โดยทั่วไปแล้วแพทย์อาจรักษาอาการคันช่องคลอดด้วยวิธีดังนี้
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการคันช่องคลอดที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการคันช่องคลอดที่เกิดจากการติดเชื้อราและมีตกขาวร่วมด้วยรักษาด้วยยาเหน็บ เช่น Clotrimazole
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคทางเพศสัมพันธ์แพทย์อาจให้ยา เช่น ยาฉีดร่วมกับยารับประทาน
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการคันช่องคลอดภายนอกแพทย์อาจให้ยาแก้คันอวัยเพศหญิง ภายนอกในรูปแบบยาทา เช่น Clotrimazole cream หรือ Low-strength corticosteroid
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการคันช่องคลอดซึ่งเกิดจากการแพ้ หรือภูมิแพ้ แพทย์อาจพิจารณาให้ยารับประทานแก้แพ้ หรือ Anti-histamine
การป้องกันอาการคันช่องคลอด
- ล้างทำความสะอาดช่องคลอดและบริเวณอวัยวะเพศด้วยน้ำเปล่า ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นเพราะอาจทำให้ช่องคลอดเสียสมดุลได้
- หลังอาบน้ำหรือเข้าห้องน้ำควรซับบริเวณอวัยวะเพศให้แห้งอยู่เสมอ ควรใช้กระดาษทิชชูซับจากด้านหน้าไปด้านหลังและไม่ควรเช็ดย้อนกลับเพราะอาจทำให้สิ่งสกปรกจากก้นเข้าสู่บริเวณช่องคลอดได้
- ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด
- ไม่สวมเสื้อผ้ารัดแน่น ควรสวมใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ ระบายอากาศได้ดีเพื่อไม่ให้เกิดการอับชื้น
- เมื่อมีประจำเดือนควรเปลี่ยนผ้าอนามัยหรือแผ่นอนามัยทุก 4 ชั่วโมงหรือเร็วกว่านั้นหากประจำเดือนมามาก
- ใช้การเล็มขนบริเวณหัวหน่าวแทนการโกนหรือแว๊กซ์เพื่อลดอาการคัน ไม่ควรกำจัดขนบริเวณอวัยวะเพศออกทั้งหมดเพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ช่องคลอด
- หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคนเพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำเปล่าก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์
- ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับคันช่องคลอด
1. คันช่องคลอดรักษาหายไหม?
อาการคันช่องคลอดสามารถรักษาให้หายได้ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันช่องคลอดก่อนเพื่อการรักษาที่ตรงจุดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยปกติแล้วการรักษาอาการคันช่องคลอดจะเน้นการปรับพฤติกรรมและการใช้ยา เมื่อมีอาการคันช่องคลอดผู้ป่วยไม่ควรปล่อยไว้เพราะอาจทำให้อาการยิ่งลุกลามยากต่อการรักษามากยิ่งขึ้น
2. ยาที่ใช้รักษาอาการคันช่องคลอดมีอะไรบ้าง?
ยาเหน็บช่องคลอดเป็นยาที่แพทย์และเภสัชกรนิยมเลือกใช้รักษาเป็นอันดับแรกในกรณีผู้ป่วยมีอาการคันภายในช่องคลอด เนื่องจากยาออกฤทธิ์ที่บริเวณที่เป็นทำให้มีประสิทธิภาพการรักษาที่ดี และมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายารับประทาน เช่น Clotrimazole, Miconazole
- ยาทาภายนอก เหมาะกับผู้ที่มีอาการคันหรือมีผื่นบริเวณภายนอกช่องคลอด เช่น Clotrimazole, Miconazole
- ยารับประทาน เช่น กลุ่มยาฆ่าเชื้อที่ช่วยรักษาอาการคันอวัยวะเพศหญิงที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนยา Clotrimazole, Miconazole, และ Tioconazole จะใช้รักษาอาการคันอวัยวะเพศหญิงที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อรา
- นอกจากนี้ยังมีเจลที่มีส่วนประกอบสำคัญคือกรดแลคติก (lactic acid) และไกลโคเจน (glycogen) สำหรับทาช่องคลอดที่อักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เพื่อรักษาและป้องกันการเป็นซ้ำของภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ช่วยปรับและรักษาสมดุลความเป็นกรดในช่องคลอดเพื่อให้มีสภาวะเหมาะสมกับการเจริญของแบคทีเรียแลคโตบาซิลไล (lactobacilli) และช่วยบรรเทาอาการตกขาวที่สีและกลิ่นผิดปกติได้
3. คันช่องคลอดห้ามกินอะไรบ้าง?
โดยปกติแล้วผู้ที่มีอาการคันช่องคลอดหรือแม้แต่ในคนปกติก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทหมักดอง เช่น ปลาร้า หน่อไม้ดอง อาหารทะเลดองที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ควรรับประทานอาหารที่สด สะอาด ปรุงสุกแล้วเท่านั้น
สอบถามปัญหาอื่น ๆ กับคุณหมอ
คันช่องคลอดต้องรีบรักษา
อาการคันช่องคลอดอาจเกิดจากการติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือโรคทางเพศสัมพันธ์ที่รุนแรงกว่าที่คิด
จึงควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและวินิจฉัยเพิ่มเติมก่อนที่อาการจะลุกลามยากต่อการรักษาและสร้างความยากลำบากต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น
เขิน อาย ไม่กล้าคุยเรื่องน้องสาว ? เราเข้าใจผู้หญิง ปรึกษาหมอออนไลน์เรื่องปัญหาสุขภาพสตรีกับ พยาบาล และปรึกษาเภสัชกรบนแอป BeDee ได้ทุกวัน พร้อมสินค้าถึงมือ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
ภญ.กมลวรรณ พัดศรีเรือง
เภสัชกร
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Itchy vulva. Pruritus vulvae | DermNet. (n.d.). https://dermnetnz.org/topics/the-itchy-vulva
Vaginal itching and discharge – adult and adolescent: MedlinePlus Medical Encyclopedia. (n.d.). https://medlineplus.gov/ency/article/003158.htm