ตกขาวเป็นก้อนแป้ง
  • ตกขาวเป็นก้อนแป้งมักเกิดจากเชื้อรา ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระคายเคือง
  • หากมีอาการตกขาวเป็นก้อนแป้งควรรีบรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้เชื้อราแพร่กระจายไปส่วนอื่น ๆ ได้
  • ควรดูแลจุดซ่อนเร้นอย่างอ่อนโยน ซับให้แห้ง และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการจะหายสนิท
สารบัญบทความ

ตกขาวเป็นก้อนแป้งคืออะไร?

อาการตกขาวเป็นก้อนแป้ง คือ ตกขาวสีขาวที่จับตัวเป็นก้อนเหมือนแป้งเปียกหรือตกขาวเป็นก้อนใส ๆ หากมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมกับตกขาวเป็นก้อนแป้ง เช่น คันช่องคลอด แสบร้อนหรือเจ็บเมื่อปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ บริเวณช่องคลอดบวมแดง ตกขาวมีกลิ่นเหม็นหรือตกขาวมีสีเขียว จะแสดงถึงภาวะผิดปกติ อาการข้างต้นเหล่านี้มักเป็นอาการของการติดเชื้อราที่ช่องคลอด โดยเฉพาะเชื้อราประเภท Candida หรือ Candidiasis ซึ่งทำให้เกิดโรคเชื้อราในช่องคลอด 

 

หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอาการติดเชื้อราที่ช่องคลอดทันที

ตกขาวเป็นก้อนแป้งเกิดจากอะไร?

ตกขาวเป็นก้อนแป้งหรือตกขาวคล้ายแป้งเปียก เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิต แต่ที่พบบ่อยมักเกิดจากการติดเชื้อราในช่องคลอด โดยเฉพาะเชื้อรา Candida Albicans ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Candidiasis) การติดเชื้อรานี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

 

  • การใช้ยาปฏิชีวนะ : ยาปฏิชีวนะสามารถทำลายแบคทีเรียดีที่ช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อราในช่องคลอด เมื่อเราทานยาปฏิชีวนะจึงทำให้แบคทีเรียดีลดลง ในขณะที่เชื้อราเจริญเติบโตมากขึ้น
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ : ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรืออ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี หรือผู้ที่รับยากดภูมิคุ้มกันจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรามากขึ้น
  • ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง : การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างรอบเดือน การตั้งครรภ์ หรือการใช้ยาคุมกำเนิดทำให้สมดุลของแบคทีเรียและเชื้อราในช่องคลอดเปลี่ยนแปลงไป
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระคายเคือง : การใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น สบู่ที่มีสารเคมีรุนแรง หรือการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดที่มีสารเคมี อาจทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพกรดด่างในช่องคลอดเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรา
  • การมีเพศสัมพันธ์ : แม้ว่าการติดเชื้อราในช่องคลอดจะไม่ถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่การมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อราได้

อาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เมื่อตกขาวเป็นก้อนแป้งมีอะไรบ้าง?

เมื่อมีตกขาวออกมาเป็นก้อนหรือตกขาวเป็นก้อนแป้งอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วยได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา อาการแทรกซ้อนจากตกขาวเป็นก้อนแป้งที่พบได้ เช่น

  • อาการคัน บวมแดง หรือแสบร้อนในบริเวณช่องคลอดและบริเวณรอบ ๆ 
  • หากภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้อราอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะตามมาได้
  • การเจ็บปวดหรือไม่สบายเมื่อมีเพศสัมพันธ์เนื่องจากความระคายเคืองและการอักเสบในช่องคลอด
  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
  • ปวดท้องน้อย

เมื่อมีอาการตกขาวเป็นก้อนแป้ง รักษาอย่างไร?

ตกขาวเป็นก้อนแป้ง รักษา

วิธีรักษาตกขาวเป็นก้อนแป้งสามารถทำได้หลายวิธี อย่างไรก็ตามการรักษานั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและสุขภาพของผู้ป่วยด้วย ตกขาวเหนียวเหมือนแป้งเปียกรักษาด้วยวิธีการ เช่น

 

 

  • ยาต้านเชื้อรา

ยาต้านเชื้อราแบบใช้ภายนอก (Topical Antifungals) ที่มาในรูปแบบครีม หรือเจล ใช้ทาภายในช่องคลอด หรือยาเม็ดแบบรับประทาน (Oral Antifungals) ซึ่งมักใช้ในการรักษาตกขาวแป้งเปียกเชื้อราในช่องคลอด เรื้อรังหรือในรายที่มีอาการตกขาวแป้งเปียกคันรุนแรง

 

  • รักษาสุขอนามัยอย่างอ่อนโยน

รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ ไม่ใช้สบู่ที่มีสารเคมีรุนแรง สเปรย์หรือผ้าอนามัยที่มีสารเคมี หรือการสวนล้างช่องคลอดเพราะอาจทำให้ช่องคลอดระคายเคืองและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ

 

  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี

เลือกใส่กางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหรือกางเกงในที่คับหรืออับชื้น

 

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเชื้อราในช่องคลอดได้

 

  • ไม่ทานยาปฏิชีวนะโดยไม่มีข้อบ่งชี้เพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์ในช่องคลอดถูกทำลาย
  • ปรึกษาแพทย์

เมื่อมีตกขาวเป็นก้อนแป้งไม่ควรหาซื้อยารักษามาใช้เอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้งเพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ไม่เกิดอันตรายต่อร่างกาย และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อมีอาการตกขาวเป็นก้อนแป้ง

เมื่อมีอาการตกขาวเป็นก้อนแป้งควรดูแลตัวเอง ดังต่อไปนี้

  • รักษาสุขอนามัยอย่างอ่อนโยน

รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ ไม่ใช้สบู่ที่มีสารเคมีรุนแรง สเปรย์หรือผ้าอนามัยที่มีสารเคมี หรือการสวนล้างช่องคลอดเพราะอาจทำให้ช่องคลอดระคายเคืองและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ

 

  • ไม่ปล่อยให้บริเวณช่องคลอดอับชื้น

หลังเข้าห้องน้ำควรล้างทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดและอวัยวะเพศและซับให้แห้งทุกครั้ง ไม่ปล่อยให้อับชื้น

 

  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี

เลือกใส่กางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหรือกางเกงในที่คับหรืออับชื้น

 

  • หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด

เนื่องจากการใช้ผ้าอนามัยแบบแท่งอาจทำให้เกิดการระคายเคือง ควรเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นแทนการใช้แบบสอดในช่วงที่มีอาการตกขาวเป็นก้อนแป้ง และเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการอับชื้น

 

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

เช่น โยเกิร์ตที่มีแบคทีเรียชนิดดี (Probiotics) ซึ่งจะช่วยในการฟื้นฟูสมดุลแบคทีเรียในช่องคลอด

 

  • งดการมีเพศสัมพันธ์

การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีตกขาวเป็นก้อนแป้งและมีอาการคันอาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณช่องคลอดและเพิ่มการแพร่กระจายของเชื้อรา ควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการจะหายดี

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับตกขาวเป็นก้อนแป้ง

1. ตกขาวเป็นก้อนแป้งหายเองได้ไหม?

ตกขาวเป็นก้อนแป้งซึ่งเกิดจากเชื้อรานั้นโดยทั่วไปแล้วมักไม่หายเอง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาการอาจรุนแรงขึ้นหรือเกิดซ้ำได้ เมื่อมีตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวเป็นก้อนแป้งตกขาวเป็นแผ่นสีขาวมีก้อนสีขาวออกมาจากช่องคลอด สามารถปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก เป็นส่วนตัว ส่งยาและสินค้าถึงที่

2. ตกขาวเป็นก้อนแป้งอันตรายไหม

ในสภาวะปกตินั้นตกขาวจะมีลักษณะสีขาวใส ตกขาวเป็นวุ้นใส ๆ ไม่มีกลิ่น ไม่คัน แต่เมื่อไหร่ที่ตกขาวเป็นก้อนแป้ง หรือตกขาวสีขาวขุ่นมากขึ้น อาจเกิดจากเชื้อราได้ซึ่งจำเป็นต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไปเพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ตกขาวมีกลิ่น ปวดท้องน้อย หรือเจ็บแสบช่องคลอดได้

3. ตกขาวเป็นก้อนแป้งท้องไหม

ตกขาวเป็นก้อนแป้งมักเกิดจากการติดเชื้อราในช่องคลอด ไม่ใช่อาการที่บ่งชี้ถึงการตั้งครรภ์โดยตรง อย่างไรก็ตามผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์อาจมีโอกาสเกิดการติดเชื้อราในช่องคลอดมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดตกขาวที่ผิดปกติหรือเป็นก้อนแป้งได้

ตกขาวเป็นก้อนแป้งควรปรึกษาแพทย์

75 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงเกิดเชื้อราในช่องคลอดอย่างน้อย 1 ครั้งตลอดช่วงชีวิต ในขณะที่ 5-10 เปอร์เซ็นต์ยังมีการกลับเป็นซ้ำอีกด้วย ดังนั้นการตระหนักรู้ ป้องกัน และเข้าถึงการรักษาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

 

ปรึกษาหมอออนไลน์ นักกำหนดอาหาร พยาบาล และปรึกษาเภสัชกรแบบไม่มีค่าใช้จ่ายบนแอป BeDee ได้ทุกวัน พร้อมสินค้าถึงมือ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS 

 

 

Content powered by BeDee Expert

พญ. ไอริณ จริยะโยธิน

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

 

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการป่วยในช่วงมีประจำเดือนของผู้หญิงนั้นมีมากมาย หลายคนเรียกได้ว่าร่างกายรวนไปเลยก็ว่าได้ในช่วงมีเมนส์ ไหนจะต้องรับมือกับอาการ PMS ปวดท้อง ปวดหัว ยังมีอาการไข้ทับระดูอีก สำหรับใครที่เคยป่วยเป็นไข้ทับระดูน่าจะเข้าใจกันดีเลยว่าในช่วงนั้นร่างกายจะอ่อนแ

เมื่อพูดถึงอาการ ปวดท้องเมนส์ หรือ ปวดท้องประจำเดือนแล้ว เรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องเผชิญทุกเดือนเลยทีเดียว บางรายอาจจะมีอาการปวดเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย บางคนปวดรุนแรงจนถึงขั้นเป็นลม ต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนถึง