ฝุ่น PM 2.5

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อคนในสังคมมาเป็นระยะเวลานาน ฝุ่นละออง PM 2.5 นี้เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากเราอยู่ในบริเวณที่สภาพอากาศมี ค่า PM เกินมาตรฐาน กลุ่มผู้สูงอายุและเด็กจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ฝุ่นแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจกระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ในบทความนี้จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ ฝุ่น PM 2.5 ให้มากขึ้น พร้อมทั้งวิธีดูแลตัวเองในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลภาวะอย่างในปัจจุบัน

สารบัญบทความ

ทำความรู้จักฝุ่น PM 2.5 คืออะไร

PM 2.5 หรือ Particulate Matter คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก สามารถล่องลอยอยู่ในอากาศ เมื่อเราสูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย ขนจมูกของเราไม่สามารถทำหน้าที่ช่วยกรองฝุ่นนั้นได้ แม้ฝุ่นในบางอนุภาคจะมีขนาดใหญ่ อย่างเช่น ฝุ่นควันบุหรี่ แต่ส่วนมากเราจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ฝุ่นอนุภาคเล็ก ๆ เหล่านี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาไซนัสอักเสบไอเรื้อรัง หรือผื่นคันตามร่างกายได้ในระยะยาว

ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากสาเหตุใด

ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศที่รุนแรง โดยเฉพาะปริมาณ PM 2.5 ที่ลอยอยู่ในอากาศ ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากอะไร มาดูกันได้เลย

 

  1. เกิดจากปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศ ปริมาณ PM 2.5 ที่มากขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดการรวมตัวกันของสารประกอบ โดยเฉพาะออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) รวมทั้งสารเคมีอื่น ๆ ทำให้ส่งผลเสียโดยตรงต่อมลภาวะทางอากาศที่ล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์
  2. เกิดจากการเผาไหม้โดยตรง ซึ่งฝุ่นควันจากการเผาไหม้สามารถปล่อยค่า PM 2.5 ได้สูงถึง 209,937 ตันต่อปี โดยเฉพาะการเผาในที่โล่งที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกพืช 
  3. การคมนาคมขนส่งที่มีการปล่อยค่า PM 2.5 ประมาณ 50,240 ตันต่อปี เนื่องจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในการขนส่งสินค้าทำให้มีการผลิตฝุ่นละอองเหล่านั้นมากขึ้น

 

นอกจากนี้ PM 2.5 ยังเกิดขึ้นได้จากกระบวนการทางอุตสาหกรรมสูงถึง 65,140 ตันต่อปี จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัย และมักจะเป็นผลมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของเราที่ทำให้เกิดปัญหามลภาวะในปัจจุบัน

PM 2.5 ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร

เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมาก จนทำให้เราหายใจรับฝุ่นพิษเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ที่ไหลเวียนเข้าสู่กระแสเลือดสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ในระยะยาว ดังนี้

ผลเสียต่อผิวหนัง

นอกจากฝุ่น PM 2.5 จะเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการหายใจแล้ว ฝุ่น PM 2.5 ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังได้อีกด้วย ซึ่งนั่นจะทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบและเกิดสารอนุมูลอิสระ ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังถูกทำลาย นอกจากนี้ผิวหนังภายนอกจะเกิดความหมองคล้ำ เกิดริ้วรอยจุดด่างดำ และอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกำเริบของโรคผิวหนังบางชนิดอีกด้วย เช่น อาการผิวแพ้ง่ายโรคผื่นแพ้อากาศ และ โรคลมพิษ เป็นต้น

ผลเสียต่อทางเดินหายใจ

อย่างที่ทราบกันว่า PM 2.5 ในอากาศ ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจ ยิ่งฝุ่นละอองมีขนาดเล็กมากเท่าไหร่ ยิ่งสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายของเราได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งฝุ่นพิษเหล่านี้จะเดินทางเข้าสู่ระบบหายใจได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหอบกำเริบ หากฝุ่นละอองสะสมอยู่ในร่างกายของเราไปเรื่อย ๆ อาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง และเกิดปัญหาโรคทางเดินหายใจเรื้อรังได้ในที่สุด

ผลเสียต่อประสาทและสมอง

ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กสามารถเข้าสู่กระแสเลือด จนเกิดการสะสมอยู่ภายในร่างกายของเราได้ ซึ่งค่าฝุ่นละอองที่สูงส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เลือดมีความหนืด มีอาการปวดหัวบริเวณท้ายทอยบ่อยขึ้น

 

รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองอาจเกิดการแข็งตัว เป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์อัมพาตได้จากการที่เส้นเลือดในสมองตีบเฉียบพลัน

ผลเสียต่อหัวใจและหลอดเลือด

อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดแข็ง ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ทั้งนี้การสูดฝุ่นพิษเข้าไปโดยไม่ได้รับการป้องกันในระยะหนึ่ง ส่งผลให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายเฉียบพลันได้ในที่สุด

ผลเสียต่อตา

ปริมาณ PM 2.5 ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดโรคกระจกตาอักเสบ และส่งผลให้กระจกตาถลอกได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากเมื่อมี PM 2.5 ในอากาศจำนวนมากเราอาจรู้สึกระคายเคืองจนเผลอขยี้ตา ทำให้กระจกตาอ่อนแอ เกิดโรคเยื่อบุตาอักเสบ รวมถึงมีอาการคันตา ตาแดง และเปลือกตาบวมขึ้นมาได้

 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 มีอะไรบ้าง พร้อมเช็กวิธีรักษา

 

รู้สึกมีอาการผิดปกติหรือกังวลเรื่อง PM 2.5 รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกรด่วน

ฝุ่นละออง PM 2.5 แบ่งเป็นกี่ระดับ

ค่า PM 2.5 เท่าไหร่ถึงอันตราย? เราสามารถตรวจสอบปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละวันได้เพื่อดูแลและป้องกันสุขภาพของตัวเอง โดยเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษของประเทศไทย (Air Quality Index, AQI) ซึ่งปริมาณฝุ่น PM2.5 แบ่งได้เป็น 5 ระดับ โดยใช้สีเป็นตัวเปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อร่างกาย ดังนี้

AQI
ค่า PM 2.5*
คุณภาพอากาศ
สี
คำแนะนำ
0-25
0-25
ดีมาก
ฟ้า
ทำกิจกรรมกลางแจ้งและเดินทางได้ตามปกติ
26-50
26-37
ดี
เขียว
ทำกิจกรรมกลางแจ้งและเดินทางได้
51-100
38-50
ปานกลาง
เหลือง
ทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ แต่ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ควรดูแลเป็นพิเศษ
101-200
51-90
เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ส้ม
หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีการระคายเคืองตา, หายใจลำบาก, ปวดศีรษะ, แน่นหน้าอก และอ่อนเพลีย ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
201 ขึ้นไป
91 ขึ้นไป
ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
แดง
งดการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีค่าฝุ่นมลภาวะสูง เตรียมอุปกรณ์หน้ากาก เพื่อป้องกันตัวเอง หากมีอาการทางสุขภาพ ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

*ค่า PM 2.5 ใช้หน่วยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³)

ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อมี PM 2.5

กลุ่มเสี่ยง PM 2.5

ฝุ่นละออง PM 2.5 สามารถแทรกซึมลึกเข้าไปในทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต หากสูดฝุ่นพิษเข้าไปโดยไม่ได้รับการป้องกัน ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคปอดและโรคหัวใจ ทั้งนี้ความรุนแรงอาจขึ้นอยู่กับความแข็งแรงและสุขภาพร่างกายของแต่ละบุคคล แล้วใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจาก PM 2.5 มากที่สุด

 

  • เด็ก เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาและเติบโต ระบบภูมิคุ้มกันโรคยังไม่สมบูรณ์เท่าผู้ใหญ่ ฝุ่น PM 2.5 ในอากาศจึงสามารถเดินทางเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและกระแสเลือดได้ง่ายมากขึ้นหากไม่ได้ป้องกันอย่างถูกวิธี อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดโรคร้ายแรงเมื่ออายุยังน้อย
  • หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจาก PM 2.5 ที่มีอนุภาคเล็กสามารถส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ จากการศึกษาพบว่า หากมีปริมาณ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มากเกินไป นอกจากจะส่งผลร้ายต่อคุณแม่แล้ว ยังมีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น การแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้
  • ผู้สูงอายุ หาก PM 2.5 เข้าไปในร่างกายของผู้สูงอายุ จะทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคหอบหืดได้ ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายผู้สูงอายุก็เริ่มเสื่อมสภาพ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันและระบบการทำงานของร่างกายถดถอยลง เมื่อต้องเผชิญกับเชื้อโรค และฝุ่นมลภาวะ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับปอด โรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจ เมื่อได้รับฝุ่นในปริมาณมาก อาจทำให้อาการกำเริบขึ้นมาได้

 

กลุ่มเสี่ยงอย่าชะล่าใจ หากเกิดอาการผิดปกติรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อมีฝุ่น PM 2.5 ควรดูแลตนเองอย่างไร

ดูแลตัวเองเมื่อเจอฝุ่น PM 2.5

ฝุ่นละออง PM 2.5 ของประเทศไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการป้องกันตนเอง เรามาดูวิธีดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง พร้อมสู้กับฝุ่นพิษเหล่านี้กัน

  • ทำความสะอาดที่อยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ

  • ปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ เพราะต้นไม้สามารถช่วยเพิ่มการดูดซับฝุ่นในอากาศได้ดีมากขึ้น

  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพราะน้ำจะช่วยเร่งการขับฝุ่น PM 2.5 ที่เล็ดลอดเข้ามาในกระแสเลือดให้ออกไปจากร่างกายในรูปแบบของปัสสาวะได้มากขึ้น 

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
    • อาหารที่มีสารซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) มีส่วนช่วยในการลดการอักเสบ และช่วยกำจัดสารพิษในร่างกาย พบมากในผัก เช่น บรอกโคลีและกะหล่ำปลี 
    • อาหารที่มีวิตามินเอ (Vitamin A) มีส่วนเสริมประสิทธิภาพการทำงานของปอด และกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น เช่น แครอท ผักบุ้ง และฟักทอง
    • อาหารที่มีวิตามินซี (Vitamin C) มีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ และช่วยลดการอักเสบของร่างกาย เช่น มะละกอ ฝรั่ง และสับปะรด 
    • อาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 (Omega 3) มีส่วนช่วยในการลดผลกระทบจาก PM 2.5 เนื่องจากโอเมก้า 3 (Omega 3) ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ทั้งหัวใจ ปอด สมองและหลอดเลือดจึงช่วยเสริมสร้างเกราะป้องกันให้กับร่างกายได้ เช่น ปลาทู ปลาแซลมอน และปลาช่อน

วิธีป้องกันฝุ่นละอองจิ๋ว PM 2.5

วิธีป้องกัน PM 2.5

ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่มีมากขึ้นทุกวัน ส่งผลกระทบต่อเราทั้งด้านการดำเนินชีวิตและด้านสุขภาพ หลังจากที่เราทราบวิธีการดูแลตัวเองไปแล้ว เรามาทำความเข้าใจกันต่อเกี่ยวกับการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ขนาดจิ๋วนี้ว่ามีวิธีป้องกันอย่างไรได้บ้าง

  • เช็กดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index, AQI) ก่อนออกไปทำกิจกรรมข้างนอก 
  • ควรเลี่ยงการออกนอกบ้านและทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่สูง 
  • งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับฝุ่นละอองได้ง่ายมากขึ้น
  • ล้างจมูกอย่างถูกวิธี เพื่อทำความสะอาดจมูก ลดโอกาสการติดเชื้อทางเดินหายใจ
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศ เพื่อกรองฝุ่น PM 2.5 ที่เล็ดลอดเข้ามาภายในบ้านหรืออาคาร การใช้เครื่องฟอกอากาศจะช่วยป้องกันสารก่อภูมิแพ้ จาก PM 2.5 ได้ 
  • ลดการเผาไหม้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคมนาคมขนส่งหรือการทำการเกษตร โดยพิจารณาถึงเหตุจำเป็นและให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
  • สวมหน้ากากอนามัยก่อนออกไปข้างนอก ซึ่งหน้ากากที่สามารถป้องกัน PM 2.5 ได้ดีที่สุดคือ หน้ากาก N 95 สามารถป้องกันอนุภาคฝุ่น PM 2.5 ได้สูงถึง 90-95%

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ PM 2.5

1. PM 2.5 มีขนาดเล็กแค่ไหน?

PM 2.5 มีขนาดเล็กถึง 2.5 ไมครอน เรียกว่าเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของผมเราหลายเท่า เล็กจนขนที่จมูกของเราไม่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ที่ผ่านเข้ามาได้เลย

2. ค่า PM 2.5 ไม่ควรเกินเท่าไหร่ จึงจะจัดว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ?

ค่า PM 2.5 ไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถึงจะปลอดภัยต่อสุขภาพและเหมาะกับการดำเนินชีวิต โดยหากเช็กจากดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index, AQI) ระดับฝุ่น PM 2.5 ไม่ควรเกินโซนสีเหลือง

3. ฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้ามาในบ้านได้หรือไม่?

ฝุ่นละออง PM 2.5 สามารถเล็ดลอดผ่านตามช่องต่าง ๆ ประตู หน้าต่าง หรือพื้นที่ว่างเข้าไปในตัวบ้านได้ จึงเป็นเหตุให้เราควรมีเครื่องฟอกอากาศหรือต้นไม้ฟอกอากาศมาช่วยเราจัดการกับฝุ่นพิษเหล่านี้

4. ฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้ามาในรถยนต์ได้หรือไม่?

ฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้าไปในรถยนต์ได้ แม้ในรถยนต์จะมีแผ่นกรองอากาศที่ติดอยู่กับเครื่องปรับอากาศอยู่ด้วย แต่ด้วยขนาดของ PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมาก จึงสามารถเล็ดลอดเข้ามาในรถยนต์ได้บางส่วน

5. ฝุ่น PM 2.5 สามารถป้องกันด้วยการใส่หน้ากากอนามัยทั่วไปได้หรือไม่?

หน้ากากอนามัยทั่วไปไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ จึงแนะนำให้ใช้หน้ากากชนิด N95 ซึ่งมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันฝุ่น PM 2.5

สรุป PM 2.5 ฝุ่นละอองพิษ

แม้ฝุ่น PM 2.5 จะมีขนาดเล็กจนถึงขั้นมองไม่เห็น แต่หากมีการรวมตัวกันในปริมาณมาก จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและร่างกายของเรา ดังนั้นในช่วงที่มีระดับ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน จึงไม่ควรมองข้ามการดูแลและป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดก่อนจะสายเกินแก้

 

ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกร ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษา เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

 

Content powered by BeDee Expert

ภญ.วรรณพร เกตุเลิศประเสริฐ

เภสัชกร

Inhalable Particulate Matter and Health (PM2.5 and PM10). (n.d.). California Air Resources Board. https://ww2.arb.ca.gov/resources/inhalable-particulate-matter-and-health

 

Particle Pollution and Health. (n.d.). New York State. https://www.health.ny.gov/environmental/indoors/air/pmq_a.htm

 

PM2.5. (2015, September 21). IQAir. https://www.iqair.com/th-en/newsroom/pm2-5

บทความที่เกี่ยวข้อง

Key Highlight    รังแคพบได้ทุกช่วงอายุทั้งเพศชายและหญิง แต่มักจะพบมากที่สุดในช่วงวัยรุ่นถึงผู้ใหญ่ รังแคอาจจะมีสาเหตุได้จากปัจจัยภายนอกได้แก่ การที่หนังศีรษะมีความมันหรือแห้งจนเกินไป การแพ้สารเคมีที่สัมผัสกับหนังศีรษะ  และอาจเกิดจากปัจจัยภายใน ซึ่งมั

Your Weight Your Way โปรแกรมกระชับสัดส่วนจากแอป BeDee คิดค้นร่วมกับ BDMS Wellness Center คลินิกสุขภาพด้านดูแลป้องกัน ฟื้นฟูสุขภาพ และเสริมสร้างสภาวะสุขภาพให้ผู้มารับบริการมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพ ที่จะช่วยให้คุณจัดการน้ำหนักได้อย่างตรงจุด ด้วยเทคโน