Key Takeaway นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ผู้สูบเสพติดการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ต่างจากบุหรี่ปกติ บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษเสพติดอันตรายเสี่ยงต่อการเกิดโรคถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ และมะเร็ง บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย สารบัญบทความ รู้จักบุหรี่ไฟฟ้าคืออะ
ปากกาลดน้ำหนักช่วยลดความอ้วนได้จริงหรือไม่? มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง
Key Takeaways
- ปากกาลดน้ำหนักเหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องลดน้ำหนัก หรือผู้ที่ไม่สามารถลดน้ำหนักการออกกำลังกายและคุมอาหารได้
- การใช้ปากกาลดน้ำหนักจำเป็นต้องปรึกษาและจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้นเพื่อความปลอดภัย
- ไม่ควรใช้ปากกาลดน้ำหนักเป็นวิธีหลักในการลดน้ำหนัก ควรออกกำลังกายและคุมอาหารควบคู่ไปด้วย
รู้จักปากกาลดน้ำหนักคืออะไร
ช่วงที่ผ่านมาหลายคนคงเห็นหรือได้ยินถึงตัวช่วยหรือนวัตกรรมในการลดน้ำหนักที่ชื่อว่า “ปากกาลดน้ำหนัก” จริง ๆ แล้วปากกาลดความอ้วนหรือที่หลายคนเรียกว่าปากกาผอมหรือปากกาจิ้มพุงนี้คืออะไร ปลอดภัยไหม และสามารถช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้จริงหรือไม่ ?
ปากกาลดน้ําหนัก คืออุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหนึ่งที่ใช้ในการฉีดเข้าร่างกายเพื่อช่วยในการลดน้ำหนัก ปากกาลดน้ำหนักจะบรรจุยาที่ชื่อว่า “Liraglutide” คือยาชนิดหนึ่งซึ่งจะช่วยควบคุมความอยากอาหารและทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ยี่ห้อของปากกาลดน้ําหนักที่นิยมใช้ในตลาด เช่น Saxenda และ Victoza
ปัจจุบันปากกาลดน้ำหนักได้ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ว่าปลอดภัย สามารถใช้ในการลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยการใช้ปากกาลดน้ำหนักควบคู่ไปกับการออกกำลังกายและการควบคุมอาหาร แต่สิ่งสำคัญ คือ การใช้ปากกาลดน้ำหนัก ควรอยู่ในการดูแล และสั่งจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงหรือความเสี่ยงต่อสุขภาพหากใช้ไม่ถูกต้อง
แบบไหนถึงเรียกว่าอ้วน วัดจากอะไร?
แล้วเมื่อไหร่ที่เราควรใช้ปากกาลดน้ำหนัก? โดยมาตรฐานทางการแพทย์แล้วเราใช้ค่าดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) เพื่อประเมินภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนในผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยมีวิธีการคำนวณคือ
ค่าดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว [กิโลกรัม] ÷ ส่วนสูง [เมตร] ยกกำลังสอง
ตัวอย่างเช่น ผู้หญิง น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร
ดัชนีมวลกาย (BMI) = 50 ÷ (1.60 * 1.60)
ดัชนีมวลกาย (BMI) = 50 ÷ 2.56
ดัชนีมวลกาย (BMI) = 19.5
ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) | การแปลผล |
ต่ำกว่า 18.5 | น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ |
18.5-22.90 | น้ำหนักปกติ สมส่วน |
23-24.90 | น้ำหนักเกินมาตรฐาน |
25-29.90 | อ้วนระดับ 1 |
มากกว่า 30 ขึ้นไป | อ้วนระดับ 2 |
BeDee Tips: รู้จักการลดน้ำหนักแบบ IF แต่ละรูปแบบ เหมาะกับใครบ้าง ? อ่านเลย
ปรึกษาเรื่องน้ำหนักเบื้องต้นกับ Weight Guru ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน ไม่มีค่าใช้จ่าย!
หลักการทำงานของปากกาลดน้ำหนักเป็นอย่างไร
หลักการทำงานของปากกาลดน้ำหนักหรือปากกาคุมหิวคือภายในปากกาจะบรรจุยาที่ชื่อว่า “Liraglutide” ซึ่งเป็นตัวยาที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน และเป็นยากลุ่มควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ ยาLiraglutide เป็นยาในกลุ่ม GLP-1 receptor agonists (glucagon-like peptide-1 receptor agonists) ที่ออกฤทธิ์โดยการเลียนแบบการทำงานของฮอร์โมน GLP-1 ในร่างกายซึ่งมีบทบาทในการควบคุมความหิวและทำให้ความอยากอาหารลดลง เมื่อฉีดยาเข้าสู่ร่างกายตัวยาจะเลียนแบบฮอร์โมน GLP-1 ซึ่งจะส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อลดความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้นและกินน้อยลง จนทำให้น้ำหนักตัวลดลง เป็นตัวช่วยในการลดน้ำหนักในผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน
นอกจากนี้ปากกาลดน้ำหนักสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน เนื่องจากตัวยาจะช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ซึ่งช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากรับประทานอาหาร ดังนั้นจึงมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีภาวะเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย บางคนจึงเรียกปากกาลดน้ำหนักว่ายาฉีดเบาหวานลดน้ําหนัก
อย่างไรก็ตามการใช้งานปากกาลดน้ำหนักจะได้ผลดีที่สุดเมื่อมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย เช่น การควบคุมอาหาร ทานอาหารคลีน การพักผ่อนที่เพียงพอ และการออกกำลังกายที่เหมาะสมเป็นประจำ นอกจากนี้ยังควรใช้ปากกาลดน้ำหนักที่จ่ายและควบคุมการใช้โดยแพทย์เท่านั้นเพื่อให้ได้รับโดสยาที่เหมาะสมและปลอดภัย
ปากกาลดน้ำหนักเหมาะกับใคร และใครบ้างที่ไม่ควรใช้
เช็กลิสต์ก่อนใช้! ปากกาลดน้ำหนักว่าเหมาะกับใคร และไม่เหมาะกับใครบ้าง ดังนี้
ผู้ที่เหมาะกับปากกาลดน้ำหนัก
- ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือมีโรคอ้วน ปากกาลดน้ำหนักเหมาะสำหรับผู้ที่มีค่า BMI สูงกว่า 27 หรือ 30 ขึ้นไป ซึ่งแสดงถึงภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนัก เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการลดน้ำหนัก ซึ่งการใช้ปากกาลดน้ำหนักอาจช่วยได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
- ผู้ที่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะมากจนไม่สามารถทำให้ออกกำลังกายได้
ผู้ที่ไม่ควรใช้ปากกาลดน้ำหนัก
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบในปากกาลดน้ำหนัก
- ผู้ที่มีประวัติภาวะน้ำตาลต่ำ
- ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต หรือโรคตับ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ปากกาลดน้ำหนัก
- ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ปากกาลดน้ำหนัก
- ผู้ที่วางแผนมีบุตร ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร การใช้ปากกาลดน้ำหนักในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอาจมีผลต่อทารกในครรภ์หรือเด็กทารก
- ผู้ที่มีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช การใช้ปากกาลดน้ำหนักอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหรือความผิดปกติทางจิตเวชอื่น ๆ ดังนั้นหากมีความกังวลเรื่องอาการทางจิตเวชควรหลีกเลี่ยงการใช้
- เด็กและวัยรุ่น การปากกาลดน้ำหนักในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี
เนื่องจากตัวยา Liraglutide อาจทำปฏิกิริยาต่อยา สมุนไพร วิตามิน หรืออาหารเสริมบางชนิด จนตัวยามีประสิทธิภาพลดลงหรือเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ ผู้ที่จะเริ่มใช้ปากกาลดน้ำหนักจึงควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาหรือผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ด้วย
BeDee Tips: ดูไอเดีย 10 เมนู อาหารลดน้ำหนัก อร่อย ทำง่าย อิ่มท้อง
ปากกาลดน้ำหนักวิธีใช้ทำอย่างไร ปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee ได้เลย
วิธีการใช้ปากกาลดน้ำหนักที่ถูกต้องควรใช้อย่างไร
วิธีใช้ปากกาลดน้ำหนักที่ถูกต้อง มีวิธีดังนี้
- ก่อนที่เริ่มใช้ปากกาลดน้ำหนักควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ทราบว่าร่างกายของเราเหมาะกับการใช้ปากกาลดน้ำหนักหรือไม่ แพทย์จะกำหนดขนาดยาและความถี่ในการใช้ตามสภาพร่างกายและเป้าหมายการลดน้ำหนัก
- อ่านฉลากและคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์
- ล้างมือให้สะอาดก่อนใช้ปากกาลดน้ำหนัก
- ตรวจสอบปากกาลดน้ำหนักว่าอยู่ในสภาพดี ไม่มีการชำรุดหรือหมดอายุ
- เขย่าปากกาเบา ๆ เพื่อให้ตัวยากระจายตัวอย่างทั่วถึง
- เลือกตำแหน่งฉีด โดยทั่วไปแล้วแนะนำให้ฉีดปากกาลดน้ำหนักเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนัง บริเวณหน้าท้อง ต้นขา หรือหลังแขน หลีกเลี่ยงการฉีดใกล้กับรอยแผลหรือบริเวณที่มีการระคายเคือง
- ทำความสะอาดบริเวณที่จะฉีดยาด้วยแอลกอฮอล์
- นำเข็มปากกาลดน้ำหนักจ่อกับผิวหนังและฉีดยาโดยกดปุ่มบนปากกาให้สุด
- ถือปากกาลดน้ำหนักค้างไว้ไว้อย่างน้อย 10 วินาทีเพื่อให้ตัวยาเข้าสู่ร่างกาย
- ดึงเข็มออกและทิ้งเข็มในถังขยะติดเชื้อ
วิธีเก็บรักษาปากกาลดน้ำหนักควรเก็บอย่างไร
นอกจากวิธีการใช้ที่ต้องรู้แล้ว อีกหนึ่งเรื่องสำคัญของปากกาลดน้ำหนักที่ต้องให้ความใส่ใจนั่นก็คือการเก็บรักษา ซึ่งการเก็บรักษาก็มีวิธีการเก็บที่ไม่ยาก ดังนี้
- ก่อนเปิดใช้: ควรเก็บปากกาลดน้ำหนักในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยเก็บไว้ในชั้นวางของตู้แช่ ไม่วางไว้ที่ประตูตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง
- หลังเปิดใช้: ปากกาลดน้ำหนักบางรุ่นสามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องไม่เกิน 25-30 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ควรอ่านฉลากอีกครั้ง ควรหลีกเลี่ยงการเก็บไว้ในที่อุณหภูมิสูงหรือมีแสงแดดจัด
- หลีกเลี่ยงการเก็บปากกาลดน้ำหนักในที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ในห้องน้ำ หรือที่ใกล้แหล่งน้ำ
- เก็บปากกาลดน้ำหนักให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ปากกาลดน้ำหนักมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้เมื่อใช้ปากกาลดน้ำหนัก ได้แก่
- อาการคลื่นไส้และอาเจียน
- ท้องเสียหรือท้องผูก
- ปวดศีรษะ
- เบื่ออาหาร
- อาจเกิดอาการแพ้ เช่น ผื่นคัน หายใจลำบาก หรือบวมที่หน้าและลำคอ ซึ่งเป็นอาการที่ต้องพบแพทย์ทันที
- อาจเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ หรือ Hypoglycemia ในผู้ที่มีโรคเบาหวาน
- มีอาการซึมเศร้าหรืออารมณ์แปรปรวน
ข้อควรระวังในการใช้ปากกาลดน้ำหนัก
ควรใช้ปากกาลดน้ำหนักด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ สิ่งที่ควรคำถึงเมื่อใช้ปากกาลดน้ำหนัก ได้แก่
- ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้:
- ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนเริ่มใช้ปากกาลดน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีประวัติการเจ็บป่วย หรือใช้ยารักษาโรคอื่น ๆ อยู่
- ใช้ตามคำแนะนำ:
- ปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาอย่างเคร่งครัด ห้ามเพิ่มหรือลดขนาดยาด้วยตนเอง
- เฝ้าระวังผลข้างเคียง:
- สังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังจากใช้ยา หากมีอาการผิดปกติหรือผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียนหรือคลื่นไส้มากเกินไป หรืออาการแพ้ ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ทันที
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว:
- ผู้ที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับ หรือโรคไต ควรระวังเป็นพิเศษ เพราะยาอาจส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะเหล่านี้
- การใช้ร่วมกับยาอื่น:
- หากกำลังใช้ยารักษาโรคอื่น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะปากกาลดน้ำหนักอาจมีปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นที่กำลังใช้อยู่
- ห้ามใช้ในผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร:
- หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ควรใช้ปากกาลดน้ำหนัก เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อทารกได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์:
- การดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างใช้ปากกาลดน้ำหนักอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง หรือทำให้การทำงานของยาลดลง
- ติดตามผลและปรับเปลี่ยนตามคำแนะนำของแพทย์:
- ควรติดตามผลการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ และปรับขนาดยาหรือหยุดใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้เกินระยะเวลาที่กำหนด:
- ปากกาลดน้ำหนักควรใช้ภายในระยะเวลาที่แพทย์กำหนด ห้ามใช้เกินกว่าระยะเวลาที่แนะนำ เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับปากกาลดน้ำหนัก
1. ปากกาลดความอ้วนราคาเท่าไหร่
โดยทั่วไปแล้วราคาปากกาลดน้ำหนักตามท้องตลาดจะมีราคาประมาณ 3,000 – 5,000 บาท / แท่ง สำหรับระยะเวลาในการใช้ปากกาลดน้ำหนักต่อหนึ่งแท่งนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่ใช้ในแต่ละบุคคลซึ่งจะแตกต่างกันไปตามร่างกายแต่ละคน แพทย์จะเป็นผู้แนะนำปริมาณยาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน
2. ยาฉีดลดน้ำหนักช่วยให้ผอมได้จริงหรือไม่
ปากกาลดน้ำหนักหรือที่หลายคนเรียกว่ายาฉีดลดน้ำหนักนั้นสามารถช่วยลดความอยากอาหารลงได้ จึงอาจทำให้น้ำหนักลดลง ปากกาลดน้ำหนักเหมาะสำหรับกลุ่มผู้ที่มีค่า BMI สูงกว่า 27 ผู้มีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามการใช้ปากกาลดน้ำหนักควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง ไม่ควรหาซื้อปากกาลดน้ำหนักมาใช้เองเพราะอาจทำให้ได้โดสยาที่ไม่เหมาะสมได้ อีกทั้งการฉีดปากกาลดน้ำหนักจะต้องมีการปรับขนาดของยาในระยะแรก ดังนั้นผู้ที่ใช้ปากกาลดน้ำหนักจึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ตลอดการใช้ยา
ปากกาลดน้ำหนัก ใช้ให้ปลอดภัยต้องปรึกษาแพทย์
ถึงแม้ว่าปากกาลดน้ำหนักจะมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้แต่ก็อาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน การใช้ปากกาลดน้ำหนักจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าปากกาลดน้ำหนักจะเหมาะสมกับร่างกายของเราโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว นอกจากนี้ควรซื้อปากกาลดน้ำหนักจากโรงพยาบาลที่เชื่อถือได้เท่านั้น
ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เป็นส่วนตัวสูง พร้อมจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
ระวีวรรณ ลาภพิเชษฐไพบูลย์
นักกำหนดอาหาร
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Victoza (liraglutide): Uses, Side Effects, Interactions, Pictures, Warnings & Dosing – WebMD. (n.d.). https://www.webmd.com/drugs/2/drug-153566/liraglutide-subcutaneous/details
Liraglutide (Subcutaneous route). (2024, May 2). https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/liraglutide-subcutaneous-route/proper-use/drg-20073828
What is Liraglutide? It is used in self injection pens for weight Loss. (n.d.). WebMed Pharmacy – FREE Next Day UK Delivery. https://webmedpharmacy.co.uk/blog/liraglutide-saxenda?srsltid=AfmBOoqCVDVJLKA5annEptrDM0OdjoJWpb10Bjlwj5CNx27r8V-A8z1b