เมื่อพูดถึง Active Ingredient หรือส่วนผสมออกฤทธิ์หลักในกลุ่มครีมบำรุงผิวแล้ว “AHA” น่าจะเป็นหนึ่งในส่วนผสมหลักที่อยู่ในสกินแคร์ ครีมบำรุงผิวที่มักจะได้ยินในช่วงนี้ บางคนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า AHA เป็นกรดที่ฟังดูแล้วน่าจะรุนแรง สารบัญบทความ AHA คืออะไร
สะเก็ดเงินเกิดจากอะไร อัปเดตวิธีรักษาและการดูแลตัวเอง
Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังอีกประเภทหนึ่งที่สร้างความรำคาญและสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิต บางคนที่ไม่เข้าใจก็คิดว่าสะเก็ดเงินเป็นโรคติดต่อรุนแรงซึ่งทำให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินรวมถึงคนในครอบครัวอาจวิตกกังวลได้ มารู้จักโรคสะเก็ดเงิน วิธีรักษาสะเก็ดเงิน และการป้องกันที่ถูกต้องเลย
สะเก็ดเงิน (Psoriasis) คืออะไร
โรคสะเก็ดเงิน หรือ โรคเรื้อนกวาง (Psoriasis) คือ โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นผื่นคันหนา นูน แดง มักมีลักษณะเป็นวงกลมและมีสะเก็ด มีขุย สามารถพบได้ทั้งบริเวณลำตัว แขน ขา ข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ บริเวณที่มีการเสียดสีบ่อย รวมถึงสะเก็ดเงินที่หัวซึ่งพบได้บ่อย เป็นต้น ผู้ป่วยสะเก็ดเงินมักมีอาการคันร่วมด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าโรคสะเก็ดเงินจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ก็ไม่ใช่โรคติดต่อแต่อย่างใด ปัญหาที่พบได้บ่อยคือสะเก็ดเงินอาจสร้างความรำคาญใจ ทำให้สูญเสียความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
โรคสะเก็ดเงินเกิดจากอะไร
แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคสะเก็ดเงินแต่ปัจจัยพื้นฐานของการเกิดโรคสะเก็ดเงินนั้นเป็นผลจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและความผิดปกติของพันธุกรรมซึ่งทำให้เซลล์ผิวหนังมีการเจริญเติบโตที่เร็วกว่าคนทั่วไปร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
- โรคเครียด
- พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนไม่หลับ
- น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์
- การดื่มเหล้า
- สารเคมี
- การติดเชื้อแบคทีเรียที่คอ เช่น สเตปโตคอคคัส (Streptococcus)
- การใช้ยารักษาบางชนิด เช่น ยารักษาอาการทางจิตเวชบางประเภท ยาลดความดันโลหิตชนิดต้านเบต้า (Beta-blockers) และยาลิเทียม เป็นต้น
- บริเวณที่เกิดสะเก็ดเงินมักเป็นผิวหนังบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อย หรือเกิดจากการแกะเกา ขูด กด
ปรึกษาอาการสะเก็ดเงินกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่มีค่าจัดส่งยา
ประเภทของสะเก็ดเงิน และบริเวณที่เกิด
โรคสะเก็ดเงินสามารถแบ่งได้หลายประเภทดังนี้
- สะเก็ดเงินผื่นหนา (Plaque psoriasis) ผื่นสะเก็ดเงินประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นผื่นหนา สีแดงหรือสีชมพู มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่น้อยกว่า 1 เซนติเมตรถึงมากกว่า 10 เซนติเมตร มีขอบชัดเจน มีขุยสีขาวหรือเงินด้านบนผื่น เป็นผื่นสะเก็ดเงินที่พบบ่อยมากที่สุด มักพบบริเวณที่เกิดการเสียดสีบ่อย เช่น ลำตัว แขน ขา ข้อศอก หัวเข่ารวมถึงสะเก็ดเงินที่หัว
- สะเก็ดเงินตุ่มหนอง (Pustular psoriasis) ผื่นสะเก็ดเงินประเภทนี้จะมีตุ่มหนองอักเสบ บวม แดงเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยมักมีอาการคัน ในบางรายหากอาการรุนแรงอาจมีไข้ร่วมด้วย
- สะเก็ดเงินซอกพับหรือข้อพับ (Inverse psoriasis) มีเป็นผื่นสะเก็ดเงินขึ้นเป็นหย่อม ไม่มีขุย มักพบบริเวณข้อพับแขน ขา รักแร้ ขาหนีบ แนวร่องก้น ใต้ราวนม
- สะเก็ดเงินขนาดเล็ก (Guttate psoriasis) มักพบผื่นสะเก็ดเงินเป็นตุ่มแข็งเล็ก ๆ รูปทรงคล้ายหยดน้ำ ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร สามารถพบได้ทั่วทั้งร่างกาย ข้างลำตัว แขน ขา พบในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 30 ปี ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินในกลุ่มนี้มักมีประวัติติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนหรือติดเชื้อสเตปโตคอคคัส (Streptococcus) มาก่อน 2-3 สัปดาห์
- สะเก็ดเงินผื่นแดงลอกทั้งตัว (Erythrodermic psoriasis) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินกลุ่มนี้มักเคยมีอาการของสะเก็ดเงินผื่นหนา (Plaque psoriasis) มาก่อน สะเก็ดเงินผื่นแดงลอกทั้งตัวมีลักษณะเป็นผื่นแดง คันและปวดมาก มีขุยปรากฎขึ้นเกือบทั้งตัวของผู้ป่วย มีทั้งที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันระยะสั้น ๆ ไปจนถึงระยะยาว ในบางรายหากอาการรุนแรงอาจมีไข้ร่วมด้วย
- สะเก็ดเงินที่เกี่ยวข้องกับโรคเซ็บเดิร์ม (Sebopsoriasis) คือโรคสะเก็ดเงินที่หัว คิ้ว ร่องแก้ม ใบหน้า ใบหู หรือหน้าอก ซึ่งสะเก็ดเงินประเภทนี้มีสาเหตุและเกี่ยวข้องกับโรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis)
- สะเก็ดเงินมือเท้า (Palmoplantar psoriasis) มีผื่นผิวหนังอักเสบนูนหนาขึ้นมา อาจมีรอยแตกทำให้รู้สึกเจ็บได้ มีขุย มีขอบ มีรูปทรงเป็นหยักโค้งชัดเจน มักเกิดขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือในบางรายอาจลามมาหลังฝ่ามือหรือหลังฝ่าเท้าได้
- เล็บสะเก็ดเงิน (Psoriatic nails) สามารถพบได้ในทุกรูปแบบของโรคสะเก็ดเงิน สะเก็ดเงินที่เล็บนั้นเกิดได้เล็บมือและเล็บเท้า ซึ่งเมื่อเกิดสะเก็ดเงินที่เล็บขึ้นจะทำให้เล็บมีรูปร่างผิดแปลกไป เล็บร่อน เป็นหลุม เล็บหนา หรือเล็บเปลี่ยนสีได้
อาการของสะเก็ดเงิน
อาการสะเก็ดเงินนั้นอาจแตกต่างกันความรุนแรงและระยะของโรคในแต่ละบุคคลรวมถึงบริเวณที่เกิดสะเก็ดเงิน โดยทั่วไปแล้วโรคสะเก็ดเงินมักมีอาการดังนี้
- มีผื่นผิวหนังอักเสบนูนหนาขึ้นมา มีขอบ มีรูปทรงเป็นหยักโค้งชัดเจน
- ผื่นหนาเกาะกันเป็นแผ่นแข็ง
- มีขุยบริเวณด้านบนผื่นหนา
- ผื่นสะเก็ดเงินมีสีเข้ม อาจพบเป็นสีแดง สีชมพู สีม่วง และมีขุยด้านบนเป็นสีเงิน
- บริเวณผื่นสะเก็ดเงินมีอาการคัน ระคายเคือง แห้ง แตก แสบร้อน
- ผื่นสะเก็ดเงินมักเป็น ๆ หาย ๆ ระยะการเกิดโรคตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์จึงทุเลาลงและกลับมาเป็นใหม่อีกครั้ง
- บางรายอาจมีอาการบวดระบมบริเวณผื่นสะเก็ดเงินและอาจมีไข้ร่วมด้วย
ปรึกษาอาการสะเก็ดเงินกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ไม่มีค่าจัดส่งยา
โรคสะเก็ดเงิน ติดต่อไหม?
หลายคนมักสงสัยว่าโรคสะเก็ดเงิน ติดต่อไหม โรคสะเก็ดเงิน ติดต่อทางไหน ซึ่งจากข้อมูลพบว่าสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อเนื่องจากสะเก็ดเงินไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมและใช้ชีวิตประจำวันกับคนรอบข้างได้อย่างไม่มีปัญหา
การตรวจและวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน
การตรวจและการวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงินโดยทั่วไปนั้นมีแนวทางดังนี้
- ซักถามประวัติผู้ป่วย แพทย์จะซักถามข้อมูลการเกิดผื่นหรือความผิดปกติของผิวหนัง ระยะเวลาและความรุนแรงอาการที่เกิดขึ้น รวมถึงโรคประจำตัว ประวัติบุคคลในครอบครัวว่าเคยเป็นโรคสะเก็ดเงินมาก่อนหรือไม่ สภาพแวดล้อม กิจกรรมที่ทำ อาหาร ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ เช่น สบู่ แชมพู หรือน้ำหอม เพื่อหาสาเหตุของการเกิดสะเก็ดเงิน
- การตรวจร่างกาย ในขั้นตอนนี้แพทย์จะตรวจดูตัวผื่นสะเก็ดเงินที่เกิดขึ้นเพื่อประเมินระยะและความรุนแรงของโรค
- การตรวจชิ้นเนื้อหรือการขูดผิวหนัง การตรวจในรูปแบบนี้คือแพทย์จะเก็บตัวอย่างผื่นสะเก็ดเงินเพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการซึ่งจะสามารถวินิจฉัยแยกประเภทของผื่นสะเก็ดเงินกับผื่นคันจากสาเหตุอื่น ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
รู้จักกับ ผื่นคันแต่ละประเภทและวิธีการรักษาผื่นคันอย่างถูกวิธี
ภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจขึ้นได้จากโรคสะเก็ดเงินมีดังนี้
- โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis)
- โรคทางตา เช่น โรคตาแดง (Conjunctivitis) เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) หรือม่านตาอักเสบ (Uveitis)
- ผิวหนังเปลี่ยนสี
- โรคอ้วน
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคเซลิแอค (Celiac) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Sclerosis) หรือโรคโครห์น (Crohn’s disease)
- โรคซึมเศร้า
Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
การรักษาสะเก็ดเงินด้วยยาทาภายนอก
- ยาทาคอติโคสเตียรอยด์ (topical corticosteroids) เป็นยาสเตียรอยด์ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบครีม ขี้ผึ้ง สารละลาย หรือโลชัน ใช้ทารักษาได้ง่าย ทั้งนี้การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์รักษาเป็นระยะเวลานานอาจทำให้ผิวหนังบาง ซีด ระคายเคืองได้ การใช้ยาสเตียรอยด์ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
- ยาทาแอนทราลิน (anthralin, dithranol) ยาทาสะเก็ดเงินประเภทนี้จะทำงานโดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ ข้อควรระวังคืออาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองและมีสีเข้มขึ้นได้
- น้ำมันดิน (tar) พบได้ในรูปแบบของแชมพู ครีม ขี้ผึ้ง หรือโลชัน ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ น้ำมันดินมีกลิ่นเหม็นและอาจทำให้เสื้อผ้าเลอะเปรอะเปื้อนได้ อาจไม่สะดวกต่อการใช้รักษา
- ยาทากลุ่ม calcineurin inhibitor เป็นยารักษาสะเก็ดเงินกลุ่มใหม่ มักใช้เป็นยาทาสะเก็ดเงินที่เกิดขึ้นบริเวณใบหน้า ข้อพับ
- ยาทากลุ่มอนุพันธ์วิตามินดี (Calcipotriol) ออกฤทธิ์ช่วยการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังให้เป็นปกติ ทั้งนี้การใช้ยากลุ่มนี้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ชำนาญการหรือเภสัชกรเท่านั้น
- ครีมหรือโลชันเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว จะช่วยลดอาการระคายเคียงผิว และทำให้ผิวอ่อนนุ่ม ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนต่อผิว และแนะนำให้ทาหลังอาบน้ำทันที
ปรึกษาเรื่องยารักษาโรคสะเก็ดเงินกับเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน ไม่มีค่าปรึกษา
การรักษาสะเก็ดเงินด้วยยารับประทานและยาฉีด
การเลือกใช้ยารับประทานหรือยาฉีดนั้น แพทย์จะพิจารณาจากพื้นที่การอักเสบของผื่นที่ผิวหนังต่อพื้นที่ผิวร่างกายทั้งหมด ในผู้ป่วยสะเก็ดเงินบางรายแพทย์อาจพิจารณารักษาสะเก็ดเงินด้วยการให้ยารับประทาน เช่น ยากลุ่มเรตินอยด์ (Retinoids) หรือยากดระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine)
สำหรับยาฉีดที่แพทย์อาจใช้ร่วมด้วยในการรักษาสะเก็ดเงิน เช่น ยาฉีดกลุ่มชีวโมเลกุล (Biologic agents) เพื่อช่วยกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
การฉายแสงอาทิตย์เทียม
การฉายแสงอาทิตย์เทียมเป็นวิธีการรักษาโรคสะเก็ดเงินอีกรูปแบบหนึ่ง แพทย์จะใช้
รังสีอัลตราไวโอเลต ได้แก่ การให้รังสีอัลตราไวโอเลต A (UVA) ร่วมกับการรับประทานยาเซอราเลน (Psoralen) เรียกว่าการบำบัดด้วยแสงแบบพูว่า (PUVA) สำหรับอีกวิธีหนึ่งคือการให้รังสีอัลตราไวโอเลต B (UVB) ฉายไปที่ผื่นสะเก็ดเงิน การรักษาด้วยการฉายแสงอาทิตย์เทียมได้ผลดีประมาณ 70 – 80% ขึ้นไป และยังพบผลข้างเคียงได้น้อย แต่ผู้ป่วยต้องทำการรักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน
การป้องกันและดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงิน
- หลีกเลี่ยงสบู่หรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ทำให้เกิดอาการผิวแห้ง ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวและให้ความชุ่มชื้น
- ทาครีมหรือโลชันที่ให้ความชุ่มชื้นแต่ยังอ่อนโยนต่อผิว ไม่ใส่สีหรือน้ำหอมเพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองมากกว่าเดิม ควรทาครีมทันทีหลังอาบน้ำแล้วซับให้หมาดเพราะจะช่วยให้ครีมซึมลงผิวได้ดียิ่งขึ้น
- กรณีเป็นสะเก็ดเงินที่หัวควรใช้ยาสระผมที่อ่อนโยนต่อหนังศีรษะหรือเลือกใช้แชมพูเด็ก
- หลีกเลี่ยงการแกะ เกา บริเวณที่เกิดผื่นสะเก็ดเงินเพราะอาจทำให้ลุกลามได้
- ทำจิตใจให้สบาย หลีกเลี่ยงความเครียด
- ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที / สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์
สะเก็ดเงินอาจทำให้หมดความมั่นใจ รีบปรึกษาด่วน
โรคสะเก็ดเงินแม้จะไม่ใช่โรคติดต่อแต่สร้างความรำคาญและอาจทำให้ผู้ป่วยความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน ปรึกษาหมอออนไลน์หรือปรึกษาเภสัชกร ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษา เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง พร้อมส่งสินค้าถึงมือ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
ภก. ธวัชชัย กิจการพัฒนาเลิศ
เภสัชกร
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
UpToDate. (n.d.). Www.uptodate.com. Retrieved November 21, 2023, from https://www.uptodate.com/contents/psoriasis-epidemiology-clinical-manifestations-and-diagnosis?search=psoriasis%20caurse&source=search_result&selectedTitle=2~150&usage_type=default&display_rank=2#H3
Jensen, P., & Skov, L. (2016). Psoriasis and Obesity. Dermatology, 232(6), 633–639. https://doi.org/10.1159/000455840