“ผื่นผ้าอ้อม” หรืออาการ “แพ้แพมเพิส” เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดหรือแม้แต่กลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องสวมใส่แพมเพิสแรกเกิดหรือสวมใส่แพมเพิสผู้สูงอายุเพื่อรองรับอาการปัสสาวะเล็ดเป็นเวลานาน อาการแพ้แพมเพิสสร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวันเป็น
สิวอุดตัน (Comedones) ลักษณะอย่างไร สาเหตุและการรักษาที่ถูกต้อง
เมื่อพูดถึงเรื่อง “สิว” แล้วนั้นปัญหา “สิวอุดตัน” เป็นหนึ่งในศัตรูตัวร้ายของกลุ่มคนเป็นสิวเลยก็ว่าได้ เนื่องจากสิวอุดตันรับมือได้ยาก มักเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นจำนวนมากและเกิดขึ้นในบริเวณกว้าง บางครั้งขึ้นมาเป็นสิวอุดตันหัวดำหรือสิวอุดตันหัวขาวบนในหน้า สร้างความไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก แล้วเราควรรักษาสิวอุดตันอย่างไรดี
สิวอุดตัน คืออะไร
สิวอุดตัน (Comedones)คือ สิวหัวปิดชนิดหนึ่ง สิวอุดตันเกิดจากการอุดตันของไขมันและคราบสิ่งสกปรกต่าง ๆ ในรูขุมขน มีลักษณะเป็นตุ่มนูน บวม บางครั้งอาจพบว่าสิวอุดตันไม่มีหัว ไม่มีตุ่มหนองได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามหากดูแลรักษาสิวอุดตันไม่ดี ไม่ดูแลรักษาความสะอาดสิวอุดตันอาจพัฒนากลายเป็นสิวอักเสบได้
สิวอุดตัน มีกี่ประเภท
สิวอุดตันนั้นยังสามารถแบ่งแยกออกไปได้อีกตามลักษณะของสิวดังนี้
1. สิวอุดตันหัวขาว (Whiteheads)
สิวหัวขาว(Whiteheads) หรือ สิวอุดตันหัวปิด (Closed Comedone) นั้นเป็นสิวประเภทหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มสิวอุดตัน สิวหัวขาว เกิดจากการอุดตันของสิ่งสกปรกภายในรูขุมขน เช่น น้ำมัน แบคทีเรีย คราบเหงื่อไคล เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดการอุดตันภายในรูขุมขนแล้วจึงทำให้เกิดหัวสิวเป็นหนองสีขาวหรือถุงซีสต์ (Cystic space) ที่มีลักษณะเป็นสิวอุดตันหัวปิด เมื่อบีบหรือกดสิวหัวขาวจะมีของเหลว เลือด หรือหนองไหลออกมา หลายคนนิยมกดสิวอุดตัน อย่างไรก็ตามหากรักษาความสะอาดไม่ดี หรือรักษาสิวอุดตันหัวขาวไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดสิวอักเสบตามมาได้ ดังนั้นการรักษาสิวควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น
2. สิวอุดตันหัวดำ (Blackheads)
สิวอุดตันหัวดำ (Blackheads) หรือ สิวอุดตันหัวเปิด (Open Comedone) คือลักษณะสิวอุดตัน ที่มีหัวสิวสีดำ แข็ง สาเหตุที่เราสังเกตเห็นสิวอุดตันหัวดำเนื่องจากเมื่อหัวสิวสีเหลืองหรือขาวในตอนแรกนั้นทำปฏิกิริยากับอากาศจึงทำให้หัวสิวกลายเป็นสีดำ สิวอุดตันหัวดำเกิดจากการอุดตันของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว เส้นขน เนื้อเยื่อ และไขมันภายในรูขุมขนอุดตันในบริเวณผิวหนังชั้นตื้น หากเกิดสิวอุดตันหัวดำขึ้นนาน ๆ อาจทำให้รูขุมขนดูกว้างขึ้นได้
ปรึกษาเรื่งสิวกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ไม่มีค่าจัดส่งยา
สาเหตุใดที่ทำให้เกิดสิวอุดตัน มีอะไรบ้าง?
สิ่งที่หลายคนอาจสงสัยก็คือแล้วสิวอุดตันเกิดจากอะไร ? สำหรับสาเหตุการเกิดสิวอุดตันนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 สาเหตุดังนี้
- ต่อมไขมัน (Sebum) ผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป ก่อให้เกิดการอักเสบ ประกอบกับการผลัดเซลล์ผิวที่ผิดปกติจึงทำให้เกิดการอุดตันขึ้นและกลายเป็นสิวอุดตัน
- เซลล์ผิวหนัง (Keratinocytes) มีการเพิ่มจำนวนเซลล์ผิวหนังที่มากเกินไปและการผลัดเซลล์ผิวที่ช้าผิดปกติ อาจทำให้เกิดการอุดตันและนำมาซึ่งการเป็นสิวอุดตันได้
- แบคทีเรีย C.Acnes ทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบ
- ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดสิวอุดตัน ได้แก่
- ระดับฮอร์โมนเพศชายในร่างกายที่สูงเกินไปโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น
- ล้างหน้าบ่อยเกินไป
- ทำความสะอาดผิวหน้าได้ไม่ดีพอทำให้เกิดสิ่งสกปรกตกค้างและสะสมจนเกิดสิวอุดตัน
- สวมใส่เสื้อผ้าหนาทำให้เกิดการสะสมของเหงื่อ แบคทีเรีย
- สวมหน้ากากอนามัยจนทำให้เกิดการหมักหมมและการอับชื้น
- ฝุ่น ควัน มลภาวะ
- อาหาร อาหารบางชนิด เช่น อาหารทอด อาหารมัน ช็อกโกแลต นม และอาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดสิวอุดตันในบางรายได้ ทั้งนี้ควรหมั่นสังเกตตัวเอง
- กรรมพันธุ์ พบว่าหากคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ เคยเป็นสิวมากในช่วงวัยรุ่น อาจส่งผลให้ลูกมีสิวมากในช่วงวัยรุ่นเช่นกัน
- เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์บางอย่างที่เราใช้ ไม่ว่าจะใช้บริเวณใบหน้าหรือลำตัวอาจมีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง มีสีหรือน้ำหอม หรือแม้กระทั่งยาสระผม ก็สามารถทำให้เกิดสิวอุดตันได้ ผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย หรือผู้ที่มีสิวอุดตันควรระมัดระวังในการเลือกใช้
- ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น
- การใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น สเตียรอยด์
สิวอุดตันขึ้นบริเวณใดบ้าง
สิวอุดตันสามารถเกิดขึ้นตามผิวหนังบริเวณที่มีไขมันมากเช่นเดียวกับสิวประเภทอื่น ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วเรามักพบสิวอุดตันในบริเวณดังต่อไปนี้
- สิวอุดตันที่จมูก สิวอุดตันที่จมูกหรือบริเวณขอบจมูกเป็นส่วนที่พบสิวอุดตันได้บ่อย เนื่องจากความมันและการสัมผัสใบหน้าระหว่างวันโดยที่เราไม่รู้ตัวจึงทำให้เกิดการอุดตันขึ้นได้ง่าย
- สิวอุดตันที่คาง เป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้ เนื่องจากคางเป็นจุดที่ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามาก นอกจากนี้บริเวณคางยังเป็นจุดที่สัมผัสกับมือของเราบ่อยโดยไม่รู้ตัว เช่น การเท้าคาง การเกา หรือเสียดสีกับหน้ากากอนามัย จึงทำให้เกิดสิ่งสกปรกสะสมจนทำให้สิวขึ้นคางได้ในที่สุด
- สิวอุดตันที่หน้าผาก พบได้บ่อยเนื่องจากเป็นส่วนที่มีเหงื่อออกเยอะ และเป็นบริเวณที่มีรูขุมขนและเป็นแหล่งผลิตน้ำมันบนใบหน้าเยอะจึงมีความมันมากกว่าบริเวณอื่นบนใบหน้า บางคนมีผมหน้าม้าหรือลูกผมอาจทำให้สิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่อยู่กับเส้นผมหรือฝุ่น ควัน มลภาวะ มาสัมผัสบริเวณหน้าผากได้เช่นกัน
- สิวอุดตันที่แก้ม เรียกได้ว่าเป็นบริเวณที่หลายคนมักเป็นสิวอุดตันรุนแรง เนื่องจากแก้มมักเป็นจุดที่สัมผัสกับหลายสิ่ง ทั้งเส้นผม หน้ากากอนามัย ปลอกหมอน โทรศัพท์มือถือ ดังนั้นผู้ที่มีสิวอุดตันที่แก้มบ่อยควรหมั่นเปลี่ยนหรือซักผ้าขนหนูสำหรับเช็ดหน้ารวมถึงปลอกหมอนทุกอาทิตย์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดสิวอุดตันที่แก้ม
- สิวอุดตันที่หลัง สิวอุดตันที่หลังเรียกได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตของหลายคนเช่นกัน แผ่นหลังเป็นส่วนหนึ่งที่มีความมันและยากต่อการดูแลและทำความสะอาด เป็นส่วนที่มีเหงื่อออกง่าย อยู่ในร่มผ้าและเกิดการอับชื้นได้บ่อยจึงเป็นจุดที่ทำให้เกิดสิวอุดตันที่หลังได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากฮอร์โมนและกรรมพันธุ์ได้เช่นกัน
วิธีรักษาสิวอุดตัน
สิวระดับไม่รุนแรง
หากสิวนั้นอยู่ในระดับเล็กน้อยไม่รุนแรง เช่น สิวผด สิวอุดตัน สามารถใช้ยาทารักษาสิว เช่น กลุ่ม Benzoyl Peroxide หรือกลุ่ม Retinoid เพื่อรักษาเบื้องต้นได้
สิวอักเสบระดับปานกลาง – มาก
หากสิวอุดตันเกิดการอักเสบในระดับปานกลางถึงมาก สามารถใช้ยาทาปฏิชีวนะแต้มเฉพาะจุดควบคู่ด้วย ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะเดี่ยว ๆ เพราะทำให้เสี่ยงต่อการดื้อยาได้ สำหรับสิวระดับรุนแรงแพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะ หรือกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอแบบรับประทานร่วมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
ดูแลผิวอย่างไรเมื่อมีสิวอุดตัน
- รักษาความสะอาดใบหน้าหรือส่วนที่เกิดสิวให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้เกิดการหมักหมมของเหงื่อและความมัน หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าในช่วงที่เป็นสิวมากเพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันและทำให้สิ่งสกปรกสะสมได้
- ไม่ควรแกะ บีบ หรือสัมผัสบริเวณที่เป็นสิวอุดตัน
- ทายา ครีมรักษาสิวอุดตัน หรือรับประทานยารักษาสิวตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ
- ไม่ควรซื้อยาฮอร์โมน ยาคุมกำเนิด หรือยาสเตียรอยด์มารับประทานเองโดยเด็ดขาด
การป้องกันสิวอุดตัน
- ดูแลรักษาความสะอาดใบหน้าหรือส่วนที่เกิดสิวอุดตัน ให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้เกิดการหมักหมมของเหงื่อและความมัน นอกจากอาบน้ำทั้งเช้าและเย็นแล้วยังควรอาบน้ำทำความสะอาดหลังออกกำลังกายทันทีเพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรก
- พักผ่อนให้เพียงพอ วิธีลดสิวอุดตันก็คือการนอนหลับ การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับร่างกาย รวมถึงผิวพรรณ โดยเฉพาะปัญหาสิว ขณะที่นอนหลับร่างกายจะมีการซ่อมแซมระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย มีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาแทนที่เซลล์เก่าในร่างกาย ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ลดรอยคล้ำใต้ดวงตา ผิวสว่างกระจ่างใส ตรงข้ามกับคนที่นอนดึกหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ผิวหนังจะเกิดริ้วรอยและสิวอุดตันได้ง่าย ผิวไม่สดใส ไม่เต่งตึง
การนอนหลับที่ดี คือ การนอนหลับที่ครบทั้งระยะเวลาและคุณภาพ แม้เราจะนอนครบ 6-8 ชั่วโมงแต่เข้านอนดึกมากเกินไป หรือนอนหลับไม่สนิม ย่อมไม่ดีต่อสุขภาพแน่นอน ซึ่งช่วงเวลาที่ควรเข้านอนมากที่สุด คือ ตั้งแต่ 20.00-22.00 น. - รับประทานผักผลไม้ อยากมีผิวสุขภาพดี แน่นอนว่าอาหารมีผลอย่างมาก นอกจากการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว สิ่งที่ควรเน้นเลยก็คือ ผักและผลไม้ที่มีแร่ธาตุและวิตามิน ควรรับประทานให้หลากหลาย แต่ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันในปัจจุบันอาจทำให้การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละวันเป็นเรื่องยาก สามารถเสริมได้ด้วยการรับประทานวิตามินและอาหารเสริมที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้ ควรมีแพทย์และเภสัชกรคอยให้คำแนะนำอย่างชัดเจน
- ออกกำลังกาย วิธีรักษาสิวอุดตันที่ดีอีกวิธีหนึ่งเลยก็คือการออกกำลังกาย ลองสังเกตว่าเวลาเราออกกำลังกายผิวหน้าของเราจะดูดีเปล่งปลั่งขึ้น เคล็ดลับผิวสุขภาพดีก็คือการออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดี ผิวพรรณก็เปล่งปลั่งสดใส นอกจากนี้เมื่อเราออกกำลังกาย ร่างกายจะขับของเสียออกมาพร้อมกับเหงื่อ เมื่อร่างกายขับของเสียออกมาแล้ว ผิวพรรณก็สดใสตามมาเช่นกัน
- หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด เนื่องจากการใช้ยารักษาสิวอุดตันบางชนิดอาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดและทำให้เกิดฝ้า กระ จุดด่างดำได้ ควรทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน สำหรับวิธีการเลือกครีมกันแดดนั้น ควรเลือกครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB มีค่า Sun protection factor (SPF) มากกว่า 30 ขึ้นไป อีกทั้งควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า Protection grade of UVA (PA) ที่เหมาะสมขึ้นกับสถานที่และกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน โดยค่า PA สูงสุดคือ 4 ระดับ ซึ่ง PA++++ คือมีค่าประสิทธิภาพการป้องกันรังสียูวีเอสูงที่สุด นอกจากนี้ยังควรเลือกครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพในการกันน้ำและกันเหงื่อด้วย เพื่อให้อยู่กับผิวหนังได้นานยิ่งขึ้น
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ สิวอุดตัน
1. สิวอุดตันรักษาด้วยตนเองได้ไหม?
การรักษาสิวอุดตัน ด้วยตัวเองนั้นอาจทำได้ในกรณี่ที่สิวอุดตันไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นสิวควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อวินิจฉัยว่าสิวที่เราเป็นอยู่นั้นคือสิวประเภทใดและควรรักษาด้วยวิธีใดจึงจะเหมาะสมที่สุด ไม่ควรซื้อยาทาสิวหรือยาเม็ดมารับประทานเองโดยเด็ดขาด
2. เป็นสิวอุดตันใช้อะไรดี?
สำหรับการใช้ยารักษาสิวอุดตันนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้ทีมแพทย์และเภสัชกรประเมินอาการและความรุนแรงของสิวอุดตันและจ่ายยาที่เหมาะสมกับอาการ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เหมาะสมกับผู้ที่มีสิวอุดตันนั้นควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน แต่ยังให้ความชุ่มชื้น ไม่มีน้ำหอม ไม่ใส่สี ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน ช้อปผลิตภัณฑ์ดูแลสิวอุดตันที่แอป BeDee พร้อมปรึกษาเภสัชกรไม่มีค่าใช้จ่าย
3. สิวอุดตันใช้เวลารักษานานแค่ไหน?
การรักษาสิวอุดตันในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรงมากอาจใช้เวลารักษาประมาณ 4-8 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่สิวอุดตันมีความรุนแรงอาจใช้เวลารักษานานหลายเดือนหรือาจเป็นปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่ร่างกายและความรุนแรงของสิวอุดตันในแต่ละบุคคลด้วย
4. สิวอุดตันไม่มีหัวบีบได้ไหม?
ไม่ควรบีบหรือกดสิวอุดตันด้วยตัวเองเพราะอาจทำให้สิวอักเสบกว่าเดิมได้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อวินิจฉัยว่าสิวที่เราเป็นอยู่นั้นคือสิวประเภทใดและควรรักษาด้วยวิธีใดจึงจะเหมาะสมที่สุด
5. สิวอุดตันต้องกดไหม
หลายสงสัยว่าหากเป็นสิวอุดตันต้องกดไหม การกดสิวอุดตันนั้นสามารถทำได้แต่ต้องทำการรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น เพราะหากเรากดสิวอุดตันเองหรือผู้ที่กดสิวไม่ใช่ผู้ที่เชี่ยวชาญอาจทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อจนแผลลุกลามได้
6. วิธีทายารักษาสิวอุดตั้น
สำหรับวิธีทายารักษาสิวอุดตันนั้นแตกต่างกันออกไปตามประเภทยารักษาสิว
- Benzoyl Peroxide ควรทาทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างออก
- ยาฆ่าเชื้อชนิดทา ควรแต้มหลังล้างหน้า ก่อนลงสกินแคร์
- กรดอนุพันธ์วิตามินเอ ควรทาหลังล้างหน้าในช่วงกลางคืน และควรหลีกเลี่ยงแสงแดด
สิวอุดตันรักษาเองอาจแย่กว่าเดิม ปรึกษาแพทย์ด่วน
เป็นสิวอุดตันไม่ควรบีบ กด หรือซื้อยามารักษาเองเพราะอาจทำให้สิวลุกลามและหายช้ากว่าเดิมได้ รีบปรึกษาหมอออนไลน์หรือปรึกษาเภสัชกร ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้า เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
ภญ.วุฒิรัต ธรรมวุฒิ
เภสัชกร
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Acne | American Skin Association. (n.d.). American Skin Association. https://www.americanskin.org/resource/acne.php
Comedonal acne | DermNet. (n.d.). https://dermnetnz.org/topics/comedonal-acne