ยาเบาหวาน

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

“ยาเบาหวาน” หรือยารักษาโรคเบาหวาน คือ ยาที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้และลดความสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อนในอนาคต ยาเบาหวานมีทั้งรูปแบบยารับประทานและรูปแบบยาฉีด โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาจากระดับน้ำตาลในเลือด อายุของผู้ป่วย และโรคประจำตัว เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยควรตรวจเช็คเบาหวานด้วยตัวเองเป็นประจำควบคู่ด้วยเพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้น

สารบัญบทความ

เบาหวาน คือ

โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงผิดปกติเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลิน หรือมีการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินลดลง ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินนั้นทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด โดยการนำน้ำตาลจากกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้นเมื่อฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ จะทำให้ในกระแสเลือดมีระดับน้ำตาลที่สูงมากขึ้น

ประเภทยาเบาหวาน

ยาเบาหวานมีกี่แบบ

ยาเบาหวานแบบฉีด

ยาเบาหวานรูปแบบฉีด ส่วนใหญ่จะใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด กลุ่มตัวยาเบาหวานในรูปแบบยาฉีด ได้แก่ 

  • ยาฉีดอินซูลิน มักจะบรรจุอยู่ในหลอดยาหรือปากกาสำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เมื่อฉีดยาเข้าสู่ร่างกายแล้ว ยาจะไปเพิ่มระดับฮอร์โมนอินซูลินในกระแสเลือด ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ยาเบาหวานแบบฉีดอินซูลินมีทั้งรูปแบบสารละลายใสและสารละลายขุ่นขึ้นกับชนิดและระยะเวลาการออกฤทธิ์ นอกจากนี้ยาฉีดอินซูลินยังมีทั้งรูปแบบยาเดี่ยว เช่น Humulin R ®, Humulin N ®, Novorapid ®, Insulatard ® เป็นต้น และรูปแบบผสม เช่น Mixtard ®, Novomix ® เป็นต้น 
  • ยาฉีดที่ไม่ใช่อินซูลิน แต่จะอยู่ในรูปแบบสารละลายสำหรับฉีดใต้ผิวหนังเช่นเดียวกัน ตัวยาจะอยู่ในกลุ่มฮอร์โมน GLP-1 (GLP-1 receptor agonist) ออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย ลดภาวะต้านอินซูลิน และลดความอยากอาหาร นอกจากจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ยาเบาหวานแบบฉีดกลุ่มนี้ยังมีประโยชน์ในการช่วยลดน้ำหนักด้วย เช่น Semaglutide (Ozempic ®, Rybelsus ®), Dulaglutide (Trulicity ®) เป็นต้น 
  • ยาฉีดผสมระหว่าง อินซูลินออกฤทธิ์ยาว และ ฮอร์โมน GLP-1 เช่น Insulin degludec + ยาฉีดลดน้ำหนัก หรือที่เรียกกันว่าปากกาลดน้ำหนัก (Xultophy ®)

ยาเบาหวานแบบรับประทาน

ยาเบาหวานรูปแบบรับประทาน มักจะเป็นกลุ่มยาที่แพทย์เลือกใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานเป็นอันดับแรก เนื่องจากสะดวกต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยมักให้ความร่วมมือในการรักษาดีซึ่งทำให้ได้ผลการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพตามมา ยาเบาหวานรูปแบบรับประทาน ได้แก่

  • กลุ่ม Biguanide ได้แก่ กลุ่มยาที่ลดภาวะดื้ออินซูลิน (เช่น Siamformet ®, Miformin ®, etc.) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวานมาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และราคาไม่แพง สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยยาเบาหวานตัวนี้จะช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินได้ดีขึ้น และยังลดการสร้างน้ำตาลที่ตับ 
  • กลุ่ม Sulfonylureas ได้แก่ ยาที่กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน (เช่น Minidiab ®, Dipazide ®, Glygen ®), Glibenclamide (เช่น Benclamide® Diabenol ®), Gliclazide (เช่น Diamicron ®, Glucozide ®, Glizid-M ®), Glimepiride (เช่น Diaglip ®, Gliparil ®) ยาเบาหวานกลุ่มนี้จะเพิ่มการสร้างฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน ทำให้ระดับน้ำตาลลดลงทันทีหลังจากรับประทานยา ดังนั้นควรรับประทานก่อนอาหารไม่เกิน 30 นาที เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • กลุ่ม Non-Sulfonylureas ได้แก่ Rapaglinide (เช่น Novonorm ®), Mitiglinide (เช่น Glufast ®) ยาเบาหวานกลุ่มนี้จะเพิ่มการสร้างฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนได้เช่นเดียวกับยากลุ่ม Sulfonylureas แต่แนะนำให้รับประทานยานี้ก่อนอาหารทันที เนื่องจากยาออกฤทธิ์ได้ค่อนข้างเร็ว 
  • กลุ่ม Thiazolidinediones เช่น Actos ®, Gitazone ®, Piozone ®, Utmos ® ตัวยาจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยการเพิ่มการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลิน 
  • กลุ่ม DPP-4 Inhibitors เช่น Vildagliptin (เช่น Dayvul 50 ®, Galvus ®), Alogliptin (เช่น Nesina ®) ยาเบาหวานกลุ่มนี้จะช่วยเพิ่มการสร้างฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย เพิ่มความไวต่ออินซูลิน และลดความอยากอาหารได้
  • กลุ่ม SGLT-2 Inhibitors เช่น Canaglifloxin (เช่น Invokana ®), Dapagliflozin (เช่น Foxiga ®), Empagliflozin (เช่น Jardiance ®) ยาเบาหวานกลุ่มนี้จะช่วยเพิ่มการกำจัดน้ำตาลออกทางปัสสาวะมาก นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไตได้
  • กลุ่ม GLP-1 Receptor Agonist เช่น Semaglutide (Rybelsus ®) ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย ลดภาวะต้านอินซูลิน และลดความอยากอาหารได้เช่นเดียวกับยาในรูปแบบฉีด

ผลข้างเคียงยาเบาหวาน

ผลข้างเคียงจากยาเบาหวานที่อาจพบได้บ่อย ได้แก่ 

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ 
  • น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง 
  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • ถ่ายเหลว 
  • ไม่สบายท้อง 
  • ท้องอืด 
  • เบื่ออาหาร 
  • เวียนศีรษะ 
  • ปวดศีรษะ 
  • ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยากลุ่ม SGLT-2 inhibitors ดังนั้นผู้ป่วยไม่ควรกลั้นปัสสาวะและควรรักษาความสะอาดหลังขับถ่ายเสร็จ
  • ภาวะบวมน้ำ ขาบวม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น สามารถพบได้ในผู้ที่ใช้ยา Pioglitazone

คำแนะนำการใช้ยาเบาหวาน

การใช้ยาเบาหวานให้ถูกวิธี

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยในผู้ที่ใช้ยาเบาหวาน อาการที่พบได้เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่ หน้ามืด เวียนศีรษะ มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออกมาก ตาพร่า หากผู้ป่วยเกิดอาการเหล่านี้ควรดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยการอมลูกอม 3 เม็ด หรือดื่มน้ำหวาน (ชงน้ำหวานเข้มข้น 2 ช้อนโต๊ะกับน้ำ 120 ซีซี) หรือดื่มน้ำผลไม้ 1 กล่องเล็ก ผู้ป่วยเบาหวานอาจพกลูกอมติดตัว เพื่อที่จะสามารถแก้ไขภาวะน้ำตาลต่ำได้ทันท่วงที 

 

เพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ 

  • ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรงดอาหาร 
  • หากรับประทานอาหารได้น้อยลงควรปรึกษาแพทย์
  • ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมหรือหนักเกินไป 
  • ไม่ควรซื้อสมุนไพรอาหารเสริมเพื่อลดน้ำตาลมารับประทานเอง 
  • ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรปรับขนาดยาเอง 

หากเกิดอาการผิดปกติหรือเกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย หน้าบวม ตาบวม หรืออาการที่สงสัยว่าแพ้ยาให้หยุดยาและรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

วิธีดูแลตัวเองควบคู่กับการใช้ยาเบาหวาน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมอาหารโดยใช้หลักการ “อาหารแลกเปลี่ยน” คือจัดกลุ่มอาหารโดยยึดปริมาณ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เป็นหลัก โดยอาหารในแต่ละหมวดจะให้พลังงานและสารอาหารหลักดังกล่าวในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน จึงสามารถนำอาหารภายในหมวดเดียวกันมาแลกเปลี่ยนกันได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้พลังงานเพียงพอในแต่ละวัน 

นอกจากนี้ผู้ป่วยควรออกกำลังกายสม่ำเสมอครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง ควบคู่กับการใช้ยาเบาหวานจะช่วยให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลและลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ และควรระวังการเกิดบาดแผลโดยเฉพาะบริเวณเท้า ควรสวมรองเท้าที่ไม่แข็งและไม่รัดจนเกินไป หมั่นดูแลความสะอาดและคอยสังเกตว่ามีบาดแผลเกิดขึ้นหรือไม่ หากเกิดบาดแผลควรรีบรักษาเพื่อไม่ให้แผลเกิดการติดเชื้อ สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรคเบาหวานแต่มีความเสี่ยง ควรสังเกตอาการด้วยตนเอง หากเกิดอาการปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย น้ำหนักลด คอแห้งหิวน้ำบ่อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองเบาหวานเพิ่มเติม

คำถามพบบ่อย

1.ยาเบาหวานห้ามรับประทานร่วมกับอาหารหรือยาอะไรบ้าง?

โดยทั่วไปสามารถรับประทานยาเบาหวานร่วมกับอาหารหรือยาอื่น ๆ ได้ ไม่มีข้อห้ามในการใช้ยาเบาหวานร่วมกับยาหรือาหารอื่น ๆ แต่ควรระวังการรับประทานยาเบาหวานร่วมกับยาที่มีอาจมีผลต่อการดูดซึมยาอื่น เช่น ยาลดไขมัน

2. ยาเบาหวานควรรับประทานทานเวลาไหนดี?

หากเป็นยาเบาหวานที่ต้องรับประทานก่อนอาหาร ควรรับประทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที เพื่อให้ยาสามารถออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหารได้ เมื่อรับประทานยาก่อนอาหารแล้วควรรับประทานอาหารตามเวลาที่แนะนำเพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ สำหรับยาเบาหวานรุ่นใหม่ เช่น Rapaglinide (Novonorm) สามารถรับประทานก่อนอาหารทันทีได้ แต่สำหรับยาเบาหวาน Semaglutide (Rybelsus) จะแนะนำให้รับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที และดื่มน้ำตามไม่เกิน 120 ซีซี หากเป็นยาเบาหวานที่รับประทานหลังอาหาร สามารถรับประทานยาหลังอาหารได้ทันที

3. ยาเบาหวานมีผลต่อไตหรือไม่?

ยาเบาหวานไม่มีผลต่อไต ไม่ทำให้ไตเสื่อม แต่มียาเบาหวานบางกลุ่มที่ต้องมีการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับการทำงานของไต ดังนั้นในผู้ที่มีการทำงานของไตลดลงควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง

4. สตรีตั้งครรภ์ควรรับประทานยาเบาหวานชนิดใด?

ยาเบาหวานที่มีข้อมูลความปลอดภัยในผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์ ได้แก่ กลุ่มยาที่ลดภาวะดื้ออินซูลิน และยากลุ่ม Insulin ดังนั้นหากผู้ป่วยตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ที่ดูแลทราบเพื่อให้แพทย์พิจารณาการรักษาที่เหมาะสม

5. สามารถซื้อยาเบาหวานรับประทานเองได้หรือไม่?

ก่อนการเริ่มรักษาโรคเบาหวานด้วยยา เริ่มแรกผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อตรวจระดับน้ำตาลและค่าต่าง ๆ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรคและจ่ายยาที่ผู้ป่วยควรได้รับ เมื่อผู้ป่วยเริ่มการรักษาไปแล้วแต่ต้องการซื้อยาเพื่อรับประทานเองเพิ่มเติม สามารถซื้อยาได้กับเภสัชกร โดยแจ้งชื่อยา จำนวน และมิลลิกรัมที่รับประทาน อย่างไรก็ตามควรแจ้งให้แพทย์ทราบและพบแพทย์ตามนัดอยู่เสมอ

 

สอบถามเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับยาเบาหวาน ไม่มีค่าใช้จ่าย

สรุปเรื่องยาเบาหวาน

ยาเบาหวานมีหลายประเภทและหลายกลุ่มซึ่งเหมาะสมกับแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน การใช้ยาเบาหวานควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานเท่านั้น ไม่ควรซื้อยาสมุนไพรหรือยาที่ไม่ผ่านการรับรองมารับประทานเอง นอกจากนี้ควรเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน และดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ 

 

 

Content powered by BeDee Expert

ภญ. ชลนิภา เอี่ยมธนาภรณ์

เภสัชกร

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

  1. National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases (2023, April). What Is Diabetes?. National Institutes of Health.https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/what-is-diabetes
  2. InformedHealth.org (2020, October 22). edication for type 2 diabetes. Institute for Quality and Efficiency in Health Care (IQWiG); 2006-. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279506/
  3. Diabetes Australia administers the National Diabetes Services Scheme (NDSS). Medicines for your diabetes. an initiative of the Australian Government.https://www.diabetesaustralia.com.au/managing-diabetes/medicines/
  4. Medlineplus.org (October, 2019). Human Insulin Injection. The American Society of Health-System Pharmacists.https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682611.html#:~:text=Human%20insulin%20comes%20as%20a,of%20insulin%20may%20be%20needed
  5. Mayo clinic staff. (2022, October 29). Diabetes treatment: Medications for type 2 diabetes. Mayo clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-2-diabetes/in-depth/diabetes-treatment/art-20051004
  6.  

ซื้อยาเบาหวานที่ไหนดี

ปรึกษาและซื้อยาเบาหวานกับเภสัชกรที่ BeDee ได้ทุกวัน มั่นใจคุณภาพยา สะดวก ไม่ต้องเดินทาง แอปพลิเคชัน BeDee มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาและเภสัชกรมากประสบการณ์จากเครือ BDMS พร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งยาถึงมือทุกวัน สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผื่นคัน เป็นความรู้สึกระคายเคืองบริเวณผิว อาจเป็นผลมาจากความผิดปกติของผิวหนัง เนื่องจากปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผิวหนังของเราเกิดการระคายเคืองได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากมลภาวะ, แมลง, การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมถึงสารเคมีต่าง ๆ ที่เต็มไปด

เชื่อว่ามีหลาย ๆ คนอาจเผลอเรียกยาฆ่าเชื้อเป็นยาแก้อักเสบบ้าง หรือยาแก้อักเสบเป็นยาฆ่าเชื้อบ้าง ซึ่งความเป็นจริงแล้วยาแก้อักเสบกับยาฆ่าเชื้อเป็นยาคนละกลุ่มกัน ทั้งองค์ประกอบของยาและการใช้งานก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากใช้งานผิดประเภทอาจเกิดผลข้างเคียงอ