Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติเป็นสภาวะที่เกิดจากการมีความไม่สมดุลกันของไขมันชนิดต่าง ๆ ภายในกระแสเลื
รู้จักยาโรคหัวใจ ข้อบ่งใช้และข้อควรระวัง
การใช้ยาโรคหัวใจเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคหัวใจ แต่โรคหัวใจมีหลายชนิด การใช้ยาก็อาจแตกต่างกันตามอาการที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาโรคหัวใจได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ความรู้เกี่ยวกับยาโรคหัวใจจึงมีความสำคัญ ในบทความนี้ทาง BeDee เราขอแนะนำยาโรคหัวใจมีกลุ่มยาอะไรบ้าง แต่ละกลุ่มช่วยแก้ปัญหาอะไร มีข้อบ่งใช้และข้อควรระวังอย่างไรบ้าง
กลุ่มยาโรคหัวใจ
โรคหัวใจเป็นอาการที่หัวใจทำงานผิดปกติด้วยสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อระบบร่างกายโดยรวมทั้งหมด ทำให้ยาโรคหัวใจมีหลายกลุ่มหลายประเภทเพื่อเข้าไปลดความผิดปกติในส่วนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนี้
1. ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants)
ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเป็นกลุ่มยาโรคหัวใจที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด เพื่อไม่ให้เม็ดเลือดเกาะตัวกันจนกลายเป็นลิ่มเลือดและไปอุดตันทางไหลเวียนเลือดจนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหัวใจและส่งผลให้หัวใจขาดเลือดได้ และช่วยให้อวัยวะได้รับเลือดและออกซิเจนตามปกติ มักใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, หลอดเลือดดำอุดตัน, ผู้ป่วยที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม
ตัวอย่างยาโรคหัวใจกลุ่มออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด
- ดาบิกาทราน (Dabigatran)
- อีด็อกซาแบน (Edoxaban)
การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากตัวยาจะส่งผลให้เลือดไหลออกง่ายและหยุดยากกว่าปกติ โดยเฉพาะการบาดเจ็บเนื้อเยื่อฉีกขาด หรือการผ่าตัดห้ามใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพราะจะทำให้เลือดหยุดไหลยากและเกิดอาการช็อกจากการเสียเลือดมากได้
2. ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelets)
ยาต้านเกล็ดเลือดเป็นอีกกลุ่มยาโรคหัวใจที่ใช้บ่อย โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่เข้ามาทำหน้าที่ซ่อมแซมหลอดเลือดที่ฉีกขาดมากเกินความจำเป็น ยาต้านเกล็ดเลือดจึงสามารถลดโอกาสที่เกล็ดเลือดรวมตัวจนเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหรือหลอดเลือดตีบได้ มักใช้ในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน, มีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด รวมถึงภาวะขาดเลือดตามอวัยวะต่าง ๆ และอาจใช้ควบคู่กับยาต้านการแข็งตัวของเลือด
ตัวอย่างยาโรคหัวใจกลุ่มออกฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด
- ทิคาเกรลอล (Ticagrelor)
3. ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators)
ยาขยายหลอดเลือดเป็นยาโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ใช้เพิ่มความสามารถในการไหลเวียนเลือดโดยการทำให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนได้มากและดียิ่งขึ้น ซึ่งยาขยายหลอดเลือดยังแบ่งออกได้อีกหลายกลุ่มย่อย ตัวยาแต่ละกลุ่มมีความสามารถในการออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดด้วยวิธีและตำแหน่งที่แตกต่างกันไป ดังนี้
1) ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์เอซีอี (ACE Inhibitor)
ACE Inhibitor เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ส่งผลให้ร่างกายเกิดการหลั่งฮอร์โมนแองจิโอเทนซิน (Angiotensin) ซึ่งฮอร์โมนนี้มีผลต่อการทำให้หลอดเลือดตีบลงและทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นเพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนผ่านหลอดเลือดที่ตีบได้
เมื่อเอนไซม์ถูกยับยั้ง ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนตัวนี้ลดลง เมื่อหนึ่งในตัวการที่ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลดลงจึงทำให้หลอดเลือดขยายตัว เลือดจะสามารถไหลเวียนผ่านหลอดเลือดได้ดีขึ้น ระดับความดันโลหิตจึงลดลงตามไปด้วย มักใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง, ภาวะหัวใจวาย, โรคหลอดเลือดหัวใจ, ภาวะหัวใจขาดเลือด, ไมเกรน เป็นต้น
2) ยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน (ARBs)
ยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซินเป็นตัวยาออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดที่คล้ายกับยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์เอซีอี เพียงแต่มีกระบวนการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน สำหรับยาต้านตัวรับแอนจิโอเทนซินจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนแองจิโอเทนซินซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้หลอดเลือดตีบ ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและลดความดันโลหิตลงได้
3) ยาต้านแคลเซียม (Calcium Channel Blockers)
ยาต้านแคลเซียมเป็นตัวยาขยายหลอดเลือดโดยตัวยาจะไปลดความเร็วของแคลเซียมที่เคลื่อนเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อคลายตัว หลอดเลือดหัวใจขยายตัวและทำให้เลือดสามารถสูบฉีดได้ง่ายจึงทำให้หัวใจมีความดันโลหิตลดลงด้วย มักใช้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง, โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา, ภาวะหลอดเลือดหัวใจหดตัว เป็นต้น
4) ยากลุ่มไนเตรท (Nitrates)
ยากลุ่มไนเตรทเป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดทำให้เลือดและออกซิเจนในเลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะได้ดีขึ้น มีทั้งชนิดออกฤทธิ์เร็วที่ใช้กับผู้ป่วยอาการกำเริบและชนิดออกฤทธิ์ช้าที่ใช้เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
4. ยาปิดกั้นการทำงานของตัวรับเบต้า (Beta blockers)
ยาปิดกั้นการทำงานของตัวรับเบต้าหรือ Beta blockers นั้นจะไปออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) และอิพิเนฟริน (Epinephrine) หรือหลายคนอาจเคยได้ยินในชื่ออะดรีนาลีน (Adrenaline) ไม่ให้สารสื่อประสาทไปจับกับตัวรับเบต้า
5. ยาลดคอเลสเตอรอล (Cholesterol-lowering medications)
โรคหัวใจหลายชนิดเกิดจากไขมันสะสมตามหลอดเลือดทำให้ทางเดินเลือดแคบและตีบ จนส่งผลให้หัวใจได้รับเลือดไม่เพียงพออีกทั้งมีโอกาสที่หลอดเลือดจะอุดตันจนหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดเปราะแตก ยาลดคอเลสเตอรอลจะช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอล ไขมันไม่ดีลดลงและช่วยเพิ่มระดับไขมันดี ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดอันตรายที่เกิดจากหลอดเลือดอุดตันได้
6. ยาดิจิทาลิส (Digitalis Preparations)
ยาดิจิทาลิสเป็นยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มระดับแคลเซียมให้กับเซลล์หัวใจซึ่งจะไปกระตุ้นให้หัวใจมีแรงบีบตัวมากขึ้น และชะลอการส่งกระแสไฟฟ้าภายในหัวใจ ทำให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะปกติ ใช้รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะและภาวะหัวใจล้มเหลว
ตัวอย่างยาโรคหัวใจกลุ่มดิจิทาลิส
- ดิจิท็อกซิน (Digitoxin)
7. ยาขับปัสสาวะ (Diuretics)
เมื่อมีปัสสาวะมากจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น การใช้ยาขับปัสสาวะในผู้ป่วยโรคหัวใจจะช่วยลดความดันโลหิตลง อีกทั้งยังช่วยขับโซเดียมและของเหลวส่วนเกินออกส่งผลให้หัวใจทำงานน้อยลง
ปรึกษายาโรคหัวใจกับเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน! ไม่มีค่าปรึกษา
ข้อควรระวังในการใช้ยาโรคหัวใจ
ยาโรคหัวใจมีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มแต่ละชนิดก็มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันไป ผู้ป่วยควรจะใช้ยาโรคหัวใจตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย และเนื่องจากตัวยาโรคหัวใจมีหลายกลุ่ม แม้เป็นตัวยากลุ่มเดียวกันแต่ก็มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ไม่เหมือนกันจึงควรใช้ยาโรคหัวใจที่จ่ายโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้นเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากนี้หากคุณกำลังใช้ยาใด ๆ หรือมีโรคประจำตัวอื่นจะต้องแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนทุกครั้งเนื่องจากยาหลายชนิดที่ไม่สามารถรับประทานร่วมกันอันเนื่องมาจากผลข้างเคียงอันตราย หากคุณมีข้อจำกัดใด ๆ แพทย์จะได้เลือกยารักษาโรคหัวใจหรือวิธีการรักษาอื่น ๆ ที่ปลอดภัยที่สุด
ที่สำคัญการใช้ยาโรคหัวใจจำเป็นต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ห้ามหยุดรับประทานยาเองเนื่องจากอาจทำให้เกิดอันตรายในระยะยาว
หากใช้ยาโรคหัวใจตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดแล้วไม่พบแนวโน้มที่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง ควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาใหม่
ข้อห้ามในการใช้ยาโรคหัวใจ
ยาโรคหัวใจมีข้อห้ามอยู่หลายประการ
- ห้ามใช้ยากลุ่ม NSAIDs ร่วมกับยาโรคหัวใจกลุ่มต้านเกล็ดเลือดและกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุเลือดไหลขณะใช้ยาโรคหัวใจ
- ห้ามใช้ยากลุ่ม Beta Blockers กับผู้ป่วยโรคหืด, ผู้ที่กำลังช็อกจากภาวะหัวใจล้มเหลว
- ห้ามใช้ยาขับปัสสาวะกับผู้ป่วยโรคไตหรือโรคตับรุนแรง, ผู้ที่มีความดันต่ำและผู้ที่มีภาวะขาดน้ำ
- ห้ามใช้ยากลุ่มไนเทรตกับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา, โรคลิ้นหัวใจตีบ
- ห้ามใช้ยากลุ่มไนเทรตร่วมกับยารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- ห้ามใช้ยากลุ่มดิจิทาลิส กับผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ, กล้ามเนื้อหัวใจคลายตัวผิดปกติ
ผลข้างเคียงของการใช้ยาโรคหัวใจ
ผลข้างเคียงของยาโรคหัวใจขึ้นอยู่กับชนิดของยานั้น ๆ โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ๆ มีดังนี้
- เลือดออกง่ายและเลือดหยุดยากจากยาโรคหัวใจกลุ่มต้านเกล็ดเลือดและกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด
- ความดันโลหิตต่ำ
- ท้องผูกหรือท้องเสีย
- มีอาการบวมน้ำ
- มีผื่นคัน
- หน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว
- เจ็บหน้าอก
การใช้ยาโรคหัวใจในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
มียาโรคหัวใจหลายชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หากผู้ป่วยโรคหัวใจกำลังตั้งครรภ์อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการใช้ยาโรคหัวใจที่ปลอดภัยกับตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะหลีกเลี่ยงยาขยายหลอดเลือดกลุ่มยับยั้งเอนไซม์เอซีอีและยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซินเนื่องจากเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
การใช้ยาโรคหัวใจในเด็ก
สำหรับเด็กที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นในช่วงอายุน้อยนั้นผู้ปกครองควรจะต้องดูแลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เข้าพบแพทย์และใช้ยาโรคหัวใจอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โดยยาโรคหัวใจที่มักใช้รักษาผู้ป่วยเด็ก เช่น ยาขยายหลอดเลือดและยาขับปัสสาวะ
การใช้ยาโรคหัวใจในผู้สูงอายุ
โรคหัวใจในผู้สูงอายุมักมีอาการรุนแรงและพบได้บ่อยกว่าวัยอื่น ๆ เนื่องจากการใช้งานมายาวนาน ตัวยาโรคหัวใจที่นิยมใช้ เช่นยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์เอซีอี, ยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน, ยาขับปัสสาวะ, ยากลุ่ม beta blockers เป็นต้น แต่อาจต้องระมัดระวังในการใช้ยาเนื่องจากอาจพบผลข้างเคียงอันตรายได้ง่ายอย่างความดันต่ำฉับพลัน
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาโรคหัวใจ
โรคหัวใจ ห้ามกินยาอะไร?
ผู้ป่วยโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยงยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), ยากลุ่มสเตียรอยด์, ยาคุมระดับน้ำตาล รวมถึงยาสมุนไพรและอาหารเสริม
ยาโรคหัวใจมีรูปแบบไหนบ้าง?
ยาโรคหัวใจมีหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ด, ยาน้ำ, ยาอมใต้ลิ้น, สเปรย์พ่นใต้ลิ้น, แผ่นแปะผิวหนัง, ยาฉีดผ่านหลอดเลือดดำ เป็นต้น
สรุปยาโรคหัวใจ
ยาโรคหัวใจใช้สำหรับรักษาและบรรเทาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจและหลอดเลือด โดยตัวยาโรคหัวใจมีหลายกลุ่มเพื่อใช้รักษาอาการที่ผิดปกติแตกต่างกันไป เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ยาขยายหลอดเลือด, ยาลดคอเลสเตอรอล, ยาขับปัสสาวะ ซึ่งยาโรคหัวใจเหล่านี้จะไปช่วยให้การไหลเวียนเลือดกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องใช้ยาโรคหัวใจจำเป็นต้องใช้ยาอย่างระมัดระวังภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร หากใช้ผิดวิธีอาจทำให้เกิดอันตรายอื่นขึ้นได้
เพราะหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญของทุกคน หากมีอาการผิด เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบากควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์ทันที หากตรวจพบโรคได้ไวก็ยิ่งลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มาก แอป BeDee มีบริการปรึกษาหมอออนไลน์ และปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ สามารถขอคำปรึกษากับแพทย์และเภสัชกรผ่านแอปพลิเคชันได้ทุกวัน สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
ภญ.ประกายเพชร พิมพ์สกุล
เภสัชกร
American Heart Association editorial staff. (2020, January 15). Types of Heart Medications. American Heart Association. https://www.heart.org/en/health-topics/heart-attack/treatment-of-a-heart-attack/cardiac-medications
Iqbal AM, Lopez RA, Hai O. Antiplatelet Medications. [Updated 2022 Nov 7]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2023 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK537062/
WebMD Editorial Contributors. (2021, September 1). High Blood Pressure and Angiotensin II Receptor Blockers (ARBs). WebMD. https://www.webmd.com/hypertension-high-blood-pressure/treatment-angiotensin-ii