ยาลดความดันโลหิต

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

“โรคความดันโลหิตสูง” เป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) รายงานว่ามีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงอยู่ถึงหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากความดันเลือดสูง เช่น โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การตรวจร่างกาย ทานยาลดความดันอย่างถูกต้อง ปรับแนวทางการดำเนินชีวิตทั้งการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรักษาค่าความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ตามคำแนะนำของแพทย์ ล้วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

สารบัญบทความ

โรคความดันโลหิตสูง คืออะไร

โรคความดันโลหิตสูง คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงนั้นจะอ้างอิงจากค่าความดันโลหิตที่วัดได้จากสถานพยาบาลเป็นหลัก เมื่อมีค่าความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยผู้ป่วยที่มีค่าความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะไตเสื่อม มากกว่าผู้ที่มีค่าความดันโลหิตปกติ

ยาลดความดัน คืออะไร

ยาลดความดันโลหิต คือยาที่ใช้เพื่อลดความดันโลหิตในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยาลดความดันโลหิตยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว และช่วยป้องกันการทำงานของไตไม่ให้เสื่อมได้อีกด้วย

ประเภทยาลดความดัน

ยาลดความดันมีกี่ประเภท

ยาลดความดันโลหิต สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่ม Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors (ACEIs), Angiotensin Receptor Blockers (ARBs), Beta-Blockers, Calcium-Channel Blockers (CCBs) และยาขับปัสสาวะ ซึ่งผู้ใช้ยาลดความดันควรรู้จักชนิดของยาที่รับประทานและอาการข้างเคียงของยาที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในขณะใช้ยา และสามารถแจ้งข้อมูลกับแพทย์ได้อย่างถูกต้องหากเกิดปัญหาหรือข้อสงสัยระหว่างการใช้ยา

1. ยายับยั้งการสร้างแองจิโทเทนซิน (Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors; ACEIs)

สารแองจิโอเทนซิน ทู (Angiotensin II) เป็นสารที่ช่วยเพิ่มความดันโลหิต ทำให้เลือดไหลเวียนในหลอดเลือดได้อย่างปกติ ในทางตรงกันข้าม สารนี้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ดังนั้นจึงมีการคิดค้นยาที่ยับยั้งการสร้างสารแองจิโอเทนซิน ทู เพื่อช่วยควบคุมให้ความดันโลหิตอยู่ในช่วงที่เหมาะสม

ยากลุ่ม ACEIs มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ใช้สร้างสารแองจิโอเทนซิน ทู (Angiotensin Converting Enzymes) ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ลดการคั่งของเกลือโซเดียมและน้ำในร่างกาย และลดการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยรวมจึงทำให้ความดันโลหิตลดลงได้

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Perindropril (เพอรินโดพริล)

2. ยายับยั้งตัวรับแองจิโทเทนซิน (Angiotensin Receptor Blockers; ARBs) 

ยากลุ่ม ARBs เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ในการลดความดันโลหิต เนื่องจากยาสามารถการยับยั้งการทำงานของสารแองจิโอเทนซิน ทู ผ่านทางการยับยั้งที่ตัวรับ ทำให้สารนี้ไม่สามารถออกฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิตได้ ข้อดีอย่างหนึ่งของยากลุ่ม ARBs คือ มีอาการไอจากการใช้ยาน้อยกว่ายากลุ่ม ACEIs

3. ยาปิดกั้นตัวรับเบต้า (ฺBetablockers) 

ยาลดความดันโลหิตกลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า จะออกฤทธิ์โดยการปิดกั้นระบบประสาทอัตโนมัติที่หัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตและชีพจรลดลง

4. ยาปิดกั้นแคลเซียมเข้าสู่เซลล์ (Calcium Channel Blockers; CCBs)

ยากลุ่ม CCBs จะออกฤทธิ์ลดความดันโลหิต โดยการปิดกั้นไม่ให้แคลเซียมเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อที่ระบบหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อรอบหลอดเลือดคลายตัวและหลอดเลือดขยายตัวในที่สุด 

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Lercanidipine (เลอคานิดิพีน)

5. ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) 

ยาขับปัสสาวะจะเพิ่มการขับเกลือและน้ำออกจากร่างกาย ทำให้ปริมาตรเลือดและความดันโลหิตภายในหลอดเลือดลดลง ยาขับปัสสาวะจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ตามตำแหน่งการออกฤทธิ์ที่ไต ดังนี้

5.1. ยากลุ่ม Loop diuretics ออกฤทธิ์ที่บริเวณท่อไตส่วนต้น เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการขับปัสสาวะ

5.2. ยากลุ่ม Thiazides ออกฤทธิ์ที่บริเวณท่อไตส่วนปลาย เป็นยาที่มีประสิทธิภาพรองลงมาในการขับปัสสาวะ เช่น HCTZ  (ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์)

เนื่องจากยาในกลุ่มที่ 5.1 และ 5.2 จะมีผลเพิ่มการขับโพแตสเซียมออกจากร่างกายด้วย ผู้ใช้ยาจึงอาจมีระดับโพแตสเซียมในเลือดต่ำได้

5.3. ยาขับปัสสาวะที่ไม่ทำระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เนื่องจากยามีผลช่วยกักเก็บโพแทสเซียมไว้ในร่างกาย

ผลข้างเคียงยาลดความดัน

ผลข้างเคียงของยาลดความดันโลหิตที่พบได้บ่อยของยาแต่ละกลุ่มมีดังนี้

กลุ่มยาลดความดัน
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย
ยายับยั้งการสร้างแองจิโทเทนซิน (Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors; ACEIs)
- ไอแห้ง เวียนหัว ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ไม่จำเป็นต้องหยุดยาทันที 
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
- ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียน วูบ ชา
ยายับยั้งตัวรับแองจิโทเทนซิน (Angiotensin Receptor Blockers; ARBs)
- เวียนศีรษะ (เกิดได้น้อยกว่ายากลุ่ม ACEI) 
- ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียน วูบ ชา
ยาปิดกั้นตัวรับเบต้า (ฺBetablockers)
- ความดันในเลือดต่ำ หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ มึนงง อ่อนเพลีย (ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของการรับประทานยา ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกอ่อนเพลีย แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น)
- หายใจลำบาก ควรระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยโรคหอบหืด
ยาปิดกั้นแคลเซียมเข้าสู่เซลล์ (Calcium Channel Blockers; CCBs)
- ปวดหัว ใจสั่น คลื่นไส้ ปวดท้อง อ่อนเพลีย 
- มือบวม ขาบวม ข้อเท้าบวม แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยไม่จำเป็นต้องหยุดยาทันที
ยาขับปัสสาวะ (Diuretic)
- ปวดหัว คลื่นไส้ ท้องเสีย 
- อาการของภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ได้แก่ ตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัสสาวะลำบาก

วิธีการใช้ยาลดความดัน

การเลือกใช้ยาลดความดันโลหิตชนิดใดชนิดหนึ่งใน 5 กลุ่มข้างต้นนี้ให้ประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิต และลดอัตราการเกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ใกล้เคียงกัน แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาลดความดันโลหิตจากโรคร่วมต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยมีอยู่นอกเหนือจากโรคความดันโลหิตสูง และพิจารณาจากข้อห้ามต่าง ๆ ของการใช้ยาแต่ละชนิดด้วย คำแนะนำของการรับประทานยาลดความดันโลหิตมีดังนี้

  1. รับประทานยาลดความดันโลหิตอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ และพบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ
  2. ควรรับประทานยาลดความดันโลหิตในเวลาเดียวกันทุกวันหรือตามที่แพทย์แนะนำ
  3. ไม่ปรับเพิ่ม ลด หรือหยุดยาด้วยตัวเอง
  4. หากลืมรับประทานยาให้รับประทานทันทีที่นึกได้ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่าในมื้อถัดไป

วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการความดันโลหิตสูง

how-to-treat-yourself-when-antihypertensives

การปรับเปลี่ยนการพฤติกรรมในแต่ละวันเป็นพื้นฐานการควบคุมความดันโลหิตในผู้ป่วยทุกรายควบคู่กับการรับประทานยาลดความดันโลหิต โดยมีวิธีการดูแลตัวเองดังนี้

  1. ควบคุมน้ำหนัก ควรลดน้ำหนักให้ดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5 – 22.9 กก./ม2 เส้นรอบเอวผู้ชายไม่เกิน 36 นิ้ว (90 เซนติเมตร) และผู้หญิงไม่เกิน 32 นิ้ว (80 เซนติเมตร)
  2. ปรับรูปแบบอาหารที่รับประทาน ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา และผลไม้รสหวานน้อย
  3. จำกัดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหาร หลีกเลี่ยงการเติมน้ำปลา ซีอิ้ว เต้าเจี้ยว และผงชูรสในอาหาร
  4. ออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
  5. จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
  6. เลิกสูบบุหรี่
  7. รับประทานยาลดความดันต่อเนื่องสม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัด 
  8. วัดความดันโลหิตด้วยตัวเองที่บ้านโดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติเพื่อลดความผิดพลาดจากภาวะ White Coat Hypertension หรือภาวะที่ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติเมื่อเห็นบุคลากรสาธารณสุขที่ใส่เสื้อกาวน์สีขาว
 
ปรึกษาวิธีดูแลตัวเองเมื่อมีภาวะความดันโลหิตสูงกับพยาบาล ไม่มีค่าใช้จ่าย

วิธีวัดความดันด้วยตนเอง

  1. การวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน ควรวัดความดันโลหิตวันละ 2 ช่วง 4 ครั้ง คือ
    – ช่วงเช้า ภายใน 1 ชั่วโมงหลังตื่นนอน ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนรับประทานยาลดความดันโลหิตโดยวัด 2 ครั้ง ห่างกัน 1 นาที
    – ก่อนนอน วัด 2 ครั้ง ห่างกัน 1 นาที 
  1. วัดความดันในท่านั่ง ควรนั่งเก้าอี้แบบมีพนักพิง หลังพิงพนักเก้าอี้ เท้าสองข้างวางราบกับพื้น ห้ามนั่งไขว่ห้าง นั่งพักให้ผ่อนคลายเป็นเวลา 2 นาทีก่อนเริ่มวัดความดัน
  2. วางแขนข้างที่จะวัดความดันในระดับเดียวกับหัวใจ
  3. เลือกใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติที่ได้มาตรฐานและแม่นยำ
  4. ขณะวัดความดันโลหิต งดพูดคุย งดกำมือ งดเคลื่อนไหวร่างกาย
  5. เมื่อสิ้นสุดการวัดบนหน้าจอของเครื่องวัดจะแสดงตัวเลขทั้ง 3 ค่า คือ ค่าความดันโลหิตตัวบน ค่าความดันโลหิตตัวล่าง และ ชีพจร ควรบันทึกค่าความดันโลหิตลงสมุดบันทึกทุกครั้งเพื่อติดตามอาการ
  6. แนะนำให้วัดความดันโลหิตติดต่อกันเป็นเวลา 3-7 วัน หรืออย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนมาพบแพทย์

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาลดความดัน

ยาลดความดันกินก่อนหรือหลังอาหาร?

ยาความดันโลหิตส่วนใหญ่ควรรับประทานหลังอาหาร ทั้งนี้มียาความดันโลหิตบางชนิดเช่นกันที่แนะนำให้รับประทานก่อนอาหารขณะท้องว่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้วิธีการใช้ยาของผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันได้ตามรูปแบบของความดันโลหิต เช่น บางคนมักจะความดันสูงโลหิตช่วงก่อนนอน แพทย์ก็จะแนะนำให้รับประทานยาลดความดันโลหิตก่อนนอน ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องอ่านฉลากยา และรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ทุกครั้ง

ทานยาลดความดันแล้วความดันไม่ลด ทำอย่างไร?

การรับประทานยาลดความดันโลหิตต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต นอกจากรับประทานยาลดความดันแล้ว ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต เช่น ลดน้ำหนัก คุมอาหาร ออกกำลังกาย ร่วมด้วย

ต้องทานยาลดความดันนานแค่ไหน?

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง รวมถึงภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ดังนั้นการควบคุมความดันโลหิตให้ได้ตามเป้าหมาย ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยในการรับประทานยา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง การจะหยุดยาความดันได้หรือไม่นั้นขึ้นกับการประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดรับประทานยาลดความดันโลหิตเอง

ไม่มีอาการผิดปกติ ต้องทานยาความดันต่อเนื่องไหม?

แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไรก็ควรรับประทานยายาความดันโลหิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแล สมอง และภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)

สรุปเรื่องยาลดความดัน

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องใช้ยาลดความดันโลหิตอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การควบคุมความดันโลหิตได้ดีจะช่วยลดความเสี่ยงต่อของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองได้ นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยไม่ควรแลกเปลี่ยน ปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มลดยาเอง ควรรับประทานยาตามขนาดที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่งทุกครั้ง 

 

Content powered by BeDee Expert

ภญ. วุฒิรัต ธรรมวุฒิ 

เภสัชกร

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

  1. สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. (2562) แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2562 2019 Thai Guidelines on The Treatment of Hypertension. สมาคม.
  2. Furosemide: Adverse effects. (2023). IBM Micromedex (College of DuPage Library ed.). Retrieved July 20, 2023. 
  3. Amlodipine: Adverse effects. (2023). IBM Micromedex (College of DuPage Library ed.). Retrieved July 20, 2023.
  4. Atenolol: Adverse effects. (2023). IBM Micromedex (College of DuPage Library ed.). Retrieved July 20, 2023.
  5. Enalapril: Adverse effects. (2023). IBM Micromedex (College of DuPage Library ed.). Retrieved July 20, 2023.

ซื้อยาลดความดัน ที่ไหนดี

รึกษาและซื้อยาลดความดันโลหิตกับเภสัชกรที่ BeDee ได้ทุกวัน มั่นใจคุณภาพยา สะดวก ไม่ต้องเดินทาง แอปพลิเคชัน BeDee มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาและเภสัชกรมากประสบการณ์จากเครือ BDMS พร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งยาถึงมือทุกวัน สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

บทความที่เกี่ยวข้อง

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง ปัญหาการนอนไม่หลับพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบเพิ่มขึ้นในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาโรคเครียด, 

เชื่อว่ามีหลาย ๆ คนอาจเผลอเรียกยาฆ่าเชื้อเป็นยาแก้อักเสบบ้าง หรือยาแก้อักเสบเป็นยาฆ่าเชื้อบ้าง ซึ่งความเป็นจริงแล้วยาแก้อักเสบกับยาฆ่าเชื้อเป็นยาคนละกลุ่มกัน ทั้งองค์ประกอบของยาและการใช้งานก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากใช้งานผิดประเภทอาจเกิดผลข้างเคียงอ