ตากุ้งยิง

“ตากุ้งยิง” หรืออาการอักเสบ ติดเชื้อบริเวณเปลือกตาที่หลายคนคงเคยประสบกับตัวเอง จะไปไหนก็อายคนอื่นเพราะมีอาการเจ็บตา ตาบวม บางรายอาจต้องปิดตา ลำบากต่อการมองเห็นและใช้ชีวิต บางคนมีความเชื่อว่าเป็นตากุ้งยิงเพราะแอบดูคนอื่นอาบน้ำ จริง ๆ แล้วตากุ้งยิงเกิดจากอะไร มีวิธีป้องกันและรักษาอย่างไรบ้าง มาดูกันเลย

สารบัญบทความ

ตากุ้งยิงคืออะไร


ตากุ้งยิง (Hordeolum)เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตา เมื่อไขมันที่เปลือกตาอุดตันไม่สามารถระบายออกมาได้หรือมีฝุ่นละอองมาเกาะจึงทำให้ไขมันเหล่านั้นอุดตันเป็นก้อน และเมื่อรวมกับการติดเชื้อแบคทีเรียจึงทำให้เกิดการอักเสบ เป็นหนองลักษณะคล้ายสิว บวม แดง รู้สึกเจ็บบริเวณเปลือกตาจนเกิดอาการที่เราเรียกว่า “ตากุ้งยิง”

ตากุ้งยิงเกิดจากอะไร

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดตากุ้งยิง ได้แก่ 

  1. การขยี้หรือสัมผัสตาด้วยมือที่ไม่สะอาด
  2. การทำความสะอาดตา หรือเช็ดเครื่องสำอางไม่สะอาด
  3. การใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ที่ไม่สะอาด 
  4. โรคเปลือกตาอักเสบ
  5. ภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง

ปรึกษาตากุ้งยิงกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ไม่มีค่าจัดส่งยา

ประเภทของตากุ้งยิง

External Hordeolum

ตากุ้งยิงประเภท External Hordeolum คืออาการตากุ้งยิงบริเวณขอบเปลือกตาด้านนอก ซึ่งจะเกิดตุ่มหนองลักษณะคล้ายสิวนูนออกมาจนสังเกตเห็นได้

Internal Hordeolum

ตากุ้งยิงประเภท External Hordeolum คืออาการตากุ้งยิงที่เยื่อบุตาด้านใน หรือตากุ้งยิงไม่มีหัว อาการตากุ้งยิงหลบในนี้ผู้ป่วยอาจไม่สังเกตเห็นหัวหนอง

อาการตากุ้งยิง

ตากุ้งยิงอาการเป็นอย่างไร

อาการตากุ้งยิงในช่วงแรกผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ คัน บริเวณเปลือกตา ซึ่งต่อมาจะเริ่มรู้บวมที่เปลือกตา รู้สึกเมื่อจับหรือสัมผัสแล้วมีก้อนที่ตา โดยทั่วไปแล้วอาการตากุ้งยิงที่สังเกตได้ เช่น 

  1. คันตา เจ็บตา
  2. เปลือกตาบวม สัมผัสแล้วเจ็บ
  3. สัมผัสเปลือกตาแล้วรู้สึกมีก้อน 
  4. มีตุ่มหนองลักษณะคล้ายสิว หรือฝี

การรักษาตากุ้งยิงโดยแพทย์

หากผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณที่เป็นตากุ้งยิงมาก ตาบวม แดง หนังตาปิดทำให้สายตามองเห็นไม่ชัด แนะนำให้รีบพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาการวิธีรักษาตากุ้งยิงโดยการให้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ และในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นที่จะต้องเจาะตุ่มหนองบริเวณที่เป็นตากุ้งยิง เพื่อเป็นการระบายหนองออกไป 

การปฏิบัติตัวก่อนเจาะตากุ้งยิง

  • ล้างหน้า สระผมให้สะอาดก่อนการรักษา
  • งดแต่งหน้า ทาครีมโดยเฉพาะบริเวณดวงตา
  • งดการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่น ยา Warfarin หรือ Aspirin ก่อนเจาะตากุ้งยิง หรือปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อขอคำแนะนำ 

การปฏิบัติตัวหลังเจาะตากุ้งยิง

หลังจากที่เจาะหนองตากุ้งยิงออกแล้วแพทย์จะใช้ผ้าก๊อซปิดตาที่ทำการรักษา ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถเปิดผ้าก๊อซตามเวลาที่แพทย์แนะนำ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวหลังเจาะตากุ้งยิง ดังนี้

  • เมื่อเปิดตาแล้วควรใช้ยาหยอดตาหรือรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง 
  • ไม่ควรขยี้ สัมผัส หรือแกะบริเวณแผลโดยเด็ดขาด
  • ทำความสะอาดดวงตาด้วยผ้าก๊อซหรือสำลีสะอาดชุบน้ำอุ่นด้วยความระมัดระวัง 
  • งดแต่งหน้า
  • งดใส่คอนแทคเลนส์
  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
  • หากมีอาการปวด บวม ผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
 
ปรึกษาตากุ้งยิงกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ไม่มีค่าจัดส่งยา

การดูแลตนเองเมื่อเป็นตากุ้งยิง

  1. ไม่สัมผัสหรือแกะ เกา บริเวณดวงตาทั้งสองข้าง
  2. ประคบอุ่นบริเวณเปลือกตาครั้งละ 5-10 นาที วันละ 3-5 ครั้ง โดยใช้ผ้าสะอาด
  3. ไม่ควรใช้ผ้าที่ประคบตาข้างที่เป็นตากุ้งยิงประคบดวงตาอีกข้างด้วย เพราะอาจทำให้ตาอีกข้างติดเชื้อได้เช่นกัน 
  4. ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
  5. ไม่บีบหรือเจาะหนองด้วยตนเอง

ส่วนใหญ่อาการตากุ้งยิงมักจะหายได้เอง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงผู้ป่วยควรพบจักษุแพทย์

วิธีป้องกันและดูแลดวงตาไม่ให้เป็นตากุ้งยิง

ตากุ้งยิงป้องกันอย่างไร

ตากุ้งยิงสามารถป้องกันได้โดยการปรับพฤติกรรมดังนี้

  • พยายามไม่ขยี้ตา
  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ล้างหน้าและล้างเครื่องสำอางให้สะอาดโดยเฉพาะบริเวณดวงตา
  • ล้างมือและอุปกรณ์คอนแทคเลนส์ให้สะอาดก่อนใส่และถอดทุกครั้ง กรณีที่ใช้คอนเทคเลนส์รายเดือน แนะนำให้เปลี่ยนคอนเทคเลนส์ให้ตรงตามกำหนดวันหมดอายุ 
  • หากเกิดภาวะต่อมไขมันอุดตันที่เปลือกตาสามารถประคบอุ่นบริเวณดวงตาได

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับตากุ้งยิง

1. ตากุ้งยิงติดต่อหรือไม่?

ตากุ้งยิงเกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตาประกอบกับการติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นโรคตากุ้งยิงจึงไม่ใช่โรคติดต่อ 

2. ตากุ้งยิงกี่วันถึงหาย?

ปกติแล้วตากุ้งยิงสามารถหายเองได้ภายใน 4-5 วัน ด้วยการประคบอุ่นดวงตาควบคู่ไปด้วยซึ่งหนองจะแตกและยุบหายไปเอง อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยดูแลความสะอาดได้ไม่ดีอาจทำให้แผลตากุ้งยิงติดเชื้อและหายยากยิ่งขึ้น จึงแนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการดูแลที่ถูกต้อง

3. ตากุ้งยิง หายเองได้ไหม?

ถึงแม้ว่าอาการตากุ้งยิงมักจะหายได้เอง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงผู้ป่วยควรพบจักษุแพทย์โดยด่วน

ตากุ้งยิงต้องรีบพบแพทย์ 

ถึงแม้โรคตากุ้งยิงจะสามารถรักษาให้หายเองได้แต่หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นผู้ป่วยสามารถปรึกษาเภสัชกรเบื้องต้นได้ แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้นสามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกัน เนื่องจากการรักษาตากุ้งยิงด้วยตัวเองนั้นเราอาจรักษาความสะอาดได้ไม่ดีพอ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบที่รุนแรงขึ้นได้ 

 

ปรึกษาอาการตากุ้งยิงเพิ่มเติมได้ที่ BeDee แพทย์ผู้ชำนาญการและเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษา สะดวก ไม่ต้องเดินทาง เราพร้อมช่วยเหลือคุณทุกวัน พร้อมส่งสินค้าถึงมือ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS 

 

Content powered by BeDee Experts

ภญ.วุฒิรัต ธรรมวุฒิ

เภสัชกร

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

Hordeolum (stye). (n.d.). AOA. https://www.aoa.org/healthy-eyes/eye-and-vision-conditions/hordeolum?sso=y


Hordeolum. (n.d.). College of Optometrists. https://www.college-optometrists.org/clinical-guidance/clinical-management-guidelines/hordeolum

บทความที่เกี่ยวข้อง