Key Takeaways ออฟฟิศซินโดรมวิธีแก้คือการปรับพฤติกรรมการนั่ง การเดิน อย่างถูกต้อง ออฟฟิศซินโดรมรักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ปรึกษาแพทย์ หรือการยืดกล้ามเนื้อด้วยตัวเองในท่าง่าย ๆ มีอาการออฟฟิศซินโดรมปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สารบ
กายภาพบำบัดคืออะไร? ช่วยเรื่องใดบ้าง ใครที่ควรทำกายภาพบำบัด
กายภาพบำบัด คือ วิชาชีพหนึ่งทางการแพทย์ที่ส่งเสริม รักษา ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ การทำกายภาพบำบัดไม่จำเป็นต้องทำกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่กายภาพบำบัดสามารถทำได้กับทุกคนที่ต้องการผ่อนคลาย รวมถึงผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม กายภาพบำบัดจะทำให้สุขภาพร่างกายมีการทำงานอย่างสมบูรณ์และฟื้นฟูสมรรถภาพในการเคลื่อนไหวให้ดียิ่งขึ้น
กายภาพบำบัด คืออะไร
กายภาพบำบัด (Physical Therapy) คือ ศาสตร์ทางการแพทย์ที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพด้วยการนวด การออกกำลังกาย และการรักษาโดยใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด ซึ่งในการทำกายภาพบำบัดนี้รวมถึงการประคบ ดึง นวด รวมถึงการทำกายบริหารสำหรับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่ต้องการรักษาอาการบาดเจ็บ นอกจากนี้หากมีอาการปวดคอ, ปวดไหล่ หรือปวดเมื่อยตามร่างกายมากกว่าปกติ ก็สามารถรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด เพื่อทำให้ร่างกายกลับมาทำงานได้อย่างปกติ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้กลับมาแข็งแรง เคลื่อนไหวได้ดีอีกครั้ง
สำหรับการทำกายภาพบำบัดสามารถทำได้ 2 รูปแบบ ดังนี้
กายภาพบำบัดโดยใช้มือ
- การออกกำลังกายบำบัดโรค (Exercise Therapy) เป็นการออกกำลังกายเพื่อการรักษาอาการป่วยหรือบรรเทาอาการปวดตามร่างกาย รวมถึงยังช่วยบำบัดโรคเรื้อรังได้ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายเพื่อกายภาพบำบัดนี้จึงทำให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกายอีกด้วย
- การนวดกดจุด (Deep Friction Massage) เป็นการขยี้และกดจุดลงไปบริเวณกล้ามเนื้อ โดยวิธีการนวดจะทำการกดบริเวณกล้ามเนื้อขวางลายเส้นใยให้เนื้อเยื่อเกิดการคลายตัวลง แล้วความเจ็บของกล้ามเนื้อจะค่อย ๆ ดีขึ้น การนวดกดจุดคลายเส้นจะกระตุ้นให้เลือดบริเวณนั้นไหลเวียนได้ดีขึ้น นอกจากนี้การนวดกดจุดยังเป็นการผ่อนคลายวิธีหนึ่งที่ได้ผลลัพธ์ดีอีกด้วย
- การดัดดึงข้อต่อ (Mobilization) เป็นการบำบัดสำหรับผู้ที่มีภาวะข้อติดแข็ง เช่น โรคข้อไหล่ติด หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อขยับ เพื่อให้กล้ามเนื้อกลับเข้าที่ การดัดดึงข้อต่อยังสามารถเพิ่มความยืดหยุ่นมากขึ้นอีกด้วย
กายภาพบำบัดโดยใช้เครื่องมือ
- การบำบัดด้วยไฟฟ้า (Electrotherapy) เป็นการบำบัดด้วยการใช้เครื่องกระตุ้นด้วยไฟฟ้า (e-stim) เพื่อรักษากล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวด และฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation : TENS) การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Muscle Stimulation : EMS) และการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดด้วยกระแสไฟฟ้า (Interferential Current : IF/IFC)
- การบำบัดด้วยการประคบ (Heat and Cold Therapy) เป็นการบำบัดด้วยความร้อนและความเย็น ซึ่งการบำบัดรูปแบบนี้สามารถช่วยลดอาการปวด อาการอักเสบ และกล้ามเนื้อกระตุกได้ วิธีการบำบัดในรูปแบบนี้ทำได้ด้วยการประคบร้อนหรือการนวดด้วยน้ำแข็ง
- การบำบัดด้วยเครื่องคลื่นอัลตราซาวนด์ (Ultrasound Therapy) เป็นการบำบัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ที่สามารถส่งคลื่นพลังงานลงสู่ชั้นกล้ามเนื้อได้ลึกถึง 3-5 เซนติเมตร ช่วยลดอาการบวม ปวดบริเวณกล้ามเนื้อ และเพิ่มการไหลเวียนเลือดให้ดียิ่งขึ้น
- การบำบัดด้วยการฝังเข็ม (Dry Needling) เป็นการบำบัดด้วยการฝังเข็มบริเวณกล้ามเนื้อ เพื่อคลายจุดบริเวณที่กล้ามเนื้อตึงให้คลายตัว การฝังเข็มช่วยลดอาการปวดที่เป็นสาเหตุมาจากการเกร็งกล้ามเนื้อได้อีกด้วย
- การบำบัดด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Stimulator) เป็นการบำบัดด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กเข้าไปกระตุ้นเส้นประสาทในกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานตามหน้าที่ของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดอาการปวดจากการเกร็งกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้
ปรึกษาปัญหาออฟฟิศซินโดรมและการทำกายภาพบำบัดกับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง
การทำกายภาพบำบัดช่วยเรื่องอะไรบ้าง
หลังจากที่ทราบกันไปแล้วว่ากายภาพบำบัด คืออะไร และกายภาพบำบัด มีอะไรบ้าง เรามาดูกันต่อว่าการทำกายภาพบำบัดสามารถช่วยบรรเทาอาการใดได้บ้างเพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น มีดังนี้
- บรรเทาอาการปวด
- บรรเทาอาการจากโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ โรคหัวใจ เป็นต้น
- ลดโอกาสที่จะต้องผ่าตัดจากอาการปวดเรื้อรัง
- ป้องกันร่างกายจากการบาดเจ็บ
- ควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้มากขึ้น
- ทำให้ระบบเผาผลาญ และการไหลเวียนเลือดดีขึ้น
- ฟื้นฟูร่างกายหลังจากผ่าตัด
- ฟื้นฟูการทำงานของร่างกายให้มีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น
- ฟื้นฟูให้กล้ามเนื้อแข็งแกร่งมากขึ้น
- เพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกาย
- เพิ่มความสมดุลให้กับร่างกายมากขึ้น
การทำกายภาพบำบัดเหมาะกับใครบ้าง
ในอดีตการทำกายภาพบำบัด ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันพบว่ากลุ่มคนที่เริ่มมีอาการปวดและเข้ามารับการรักษามากขึ้นคือกลุ่มคนวัยทำงาน เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีการใช้ชีวิตแบบเคลื่อนไหวร่างกายน้อย เช่นการนั่งออฟฟิศ จึงอาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อต้นคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ และปวดเอวได้ หรือเรียกอาการเหล่านี้ว่า ออฟฟิศซินโดรม นอกจากนี้จะมีใครบ้างที่เหมาะกับการทำกายภาพบำบัด ไปดูกันเลย
- นักกีฬา หรือผู้ที่มีการใช้กล้ามเนื้ออย่างหนัก
- ผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ผู้ที่เริ่มมีอาการชาตามร่างกาย
- ผู้ที่มีอาการตึงตามร่างกาย
- ผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดข้อเสื่อม
- ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัว
กายภาพบำบัดแบ่งออกเป็นกี่ประเภท
รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วการทำกายภาพบำบัด เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยและฟื้นฟูร่างกายแต่ละแบบมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น กับความเหมาะสมของการบำบัดแต่ละแบบ เราจะมาดูกันว่า กายภาพบำบัดแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง?
กายภาพบำบัดผู้สูงอายุ (Geriatric Physical Therapy)
กายภาพบำบัดสำหรับผู้สูงอายุ ช่วยลดความเจ็บปวดในการขยับร่างกายเมื่อมีอายุมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวที่มากขึ้นตามอายุ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคข้ออักเสบ และโรคเรื้อรัง การทำกายภาพผู้สูงอายุจึงเป็นวิธีช่วยยืดอายุการทำงานของร่างกายให้สมบูรณ์ และฟื้นฟูสมรรถภาพในการเคลื่อนไหวให้ดียิ่งขึ้น
กายภาพบำบัดเด็ก (Pediatric Physical Therapy)
กายภาพบำบัดสำหรับเด็ก ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตทางร่างกายและพัฒนาการของเด็กให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาหรือข้อจำกัดทางร่างกายจากความพิการตั้งแต่กำเนิด และความบกพร่องทางพันธุกรรมได้อีกด้วย กายภาพบำบัดสำหรับเด็กเป็นตัวช่วยที่ดีในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับร่างกายของเด็กที่สามารถทำได้ไม่ยาก
กายภาพบำบัดระบบประสาท (Neurological Physical Therapy)
กายภาพบำบัดระบบประสาท ช่วยรักษาการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อให้กลับมาปกติ การบำบัดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะโรคต่าง ๆ เช่น โรคสมองพิการแต่กำเนิด โรคสมองกระทบกระเทือน โรคเส้นเลือดในสมองตีบ หรือโรคไขสันหลังได้รับการบาดเจ็บ เพื่อฟื้นฟูความคล่องตัวและความสมดุลในการทำงานของระบบประสาท นอกจากนี้ยังลดอาการปวด อาการบาดเจ็บที่สมอง และพาร์กินสันได้อีกด้วย
กายภาพบำบัดระบบกระดูกและข้อ (Orthopedic Physical Therapy)
กายภาพบำบัดระบบกระดูกและข้อ ช่วยรักษาความผิดปกติและสภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บที่กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ และเอ็นต่าง ๆ อีกทั้งกายภาพบำบัดระบบกระดูกและข้อยังเพิ่มความคล่องตัวในการขยับกล้ามเนื้อ รวมถึงบรรเทาอาการปวดตามข้อได้อีกด้วย
กายภาพบำบัดหลอดเลือดและหัวใจ (Cardiovascular and Pulmonary Physical Therapy)
กายภาพบำบัดหลอดเลือดและหัวใจ ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังและภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งนักกายภาพบำบัดมักจะให้ผู้ป่วยออกกำลังกายประเภทต่าง ๆ รวมถึงเทคนิคที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย พบได้ในผู้ป่วยที่เป็นพังผืดถุงลม โรคทางระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอุดตัน และผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินหลอดเลือดหัวใจมา
การฟื้นฟูสมรรถภาพ (Vestibular Rehabilitation)
กายภาพบำบัดแบบฟื้นฟูสมรรถภาพ ช่วยรักษาความผิดปกติของระบบประสาทส่วนที่มีหน้าที่ในการควบคุมการทรงตัว ช่วยลดอาการบ้านหมุน วิงเวียนศีรษะ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกิจวัตรประจำวันของเราให้ดียิ่งขึ้น
ปรึกษาปัญหาสุขภาพและการทำกายภาพบำบัดกับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง
การทำกายภาพบำบัดต่างจากการนวดอย่างไร
เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วการทำกายภาพบำบัดและการนวดมีความแตกต่างกันอย่างไร เรามาหาคำตอบกันด้านล่างนี้ได้เลย
- การทำกายภาพบำบัดต้องผ่านการซักประวัติ การตรวจร่างกายและการทำแผนการรักษา ควบคู่ไปกับการดูแลของนักกายภาพบำบัด โดยจะใช้วิธีการออกกำลังกายและใช้เครื่องมือสำหรับการกายภาพบำบัดเป็นหลัก แต่การนวดสามารถทำได้เลยตามสถานที่ที่ให้บริการ โดยจะใช้วิธีการบีบและคลึงเป็นส่วนใหญ่
- การทำกายภาพบำบัดจะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาการปวดทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ผู้ที่มีการเกร็งกล้ามเนื้อ และผู้ที่มีอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายอย่างหนักหรือนักกีฬา แต่การนวดจะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเบื้องต้นเท่านั้น
- การทำกายภาพบำบัดจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ให้ร่างกายกลับมาใช้งานได้อย่างปกติในระยะยาว รวมทั้งช่วยให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น แต่การนวดจะ
- ช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงบรรเทาความเมื่อยล้าบริเวณกล้ามเนื้อ โดยที่การนวดจะเน้นไปที่ความสบายและการผ่อนคลายมากกว่ากายภาพบำบัด
โดยสรุปแล้ว การทำกายภาพบำบัดกับการนวดมีความแตกต่างกันในเรื่องของวิธีการรักษา กลุ่มคนที่จะเข้ารับการรักษา และผลลัพธ์ของการรักษา ทั้งนี้อาจจะขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคนว่าต้องการทำกายภาพแบบใด
ขั้นตอนการทำกายภาพบำบัดมีอะไรบ้าง
ในเมื่อเรารู้กันแล้วว่าการทำกายภาพบำบัดมีความแตกต่างจากการนวดอย่างไร ต่อมาเรามาดูกันต่อว่าขั้นตอนกายภาพบำบัดจะมีอะไรบ้าง กันได้เลย
- ตรวจประเมินร่างกายเบื้องต้น โดยนักกายภาพบำบัดอาจจะทดสอบความสามารถในการเคลื่อนไหวและการเต้นของหัวใจ เป็นต้น
- นักกายภาพบำบัดวิเคราะห์อาการและสาเหตุของโรค เนื่องจากอาการของผู้ป่วยอาจจะสอดคล้องกับโรคที่แตกต่างกัน นักกายภาพบำบัดจึงต้องมีการวิเคราะห์สาเหตุของอาการก่อนวางแผนการรักษา
- วางแผนการรักษากายภาพบำบัด เนื่องจากผู้เข้ารับการบำบัดแต่ละคนมีอาการที่แตกต่างกัน จึงอาจใช้ระยะเวลา และเทคนิคในการทำกายภาพบำบัดต่างกัน ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการรักษาที่วางเอาไว้
- เข้ารับการรักษาตามแผนการที่นักกายภาพบำบัดจัดเตรียมไว้
- ติดตามอาการหลังการทำกายภาพบำบัด
ทั้งนี้การทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเองก็สามารถทำได้เช่นกัน เมื่อหลังจากการทำกายภาพบำบัดเสร็จสิ้น เราสามารถนำท่าบริหารร่างกายหรือออกกำลังกาย ที่นักกายภาพบำบัดแนะนำไปทำกายภาพบำบัดที่บ้านได้เองอีกด้วย
วิธีเตรียมตัวก่อนทำกายภาพบำบัดมีอะไรบ้าง
ก่อนเข้ารับการกายภาพบำบัด เราต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรก่อนเข้ารับการรักษา
- พักผ่อนให้เพียงพอ และงดการทำกิจกรรมที่ใช้ร่างกายหนักจนเกินไป เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนพบกับนักกายภาพบำบัด
- บอกเล่าอาการและสาเหตุของโรคที่เกิดขึ้นให้นักกายภาพบำบัดอย่างชัดเจน
- ระบุตัวยาที่เคยใช้มาภายในหนึ่งเดือน เพื่อให้นักกายภาพบำบัดได้วิเคราะห์ในส่วนนี้เพิ่มเติม
- หากมีคนใกล้ชิดไปด้วยถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะสามารถช่วยเล่ารายละเอียดให้นักกายภาพบำบัดเพิ่มเติมแล้ว ยังช่วยดูเรื่องแผนการรักษาให้เหมาะสมขึ้นอีกด้วย
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกายภาพบำบัด
1. การทำกายภาพบำบัดเจ็บไหม?
ในการทำกายภาพบำบัดอาจมีความรู้สึกเจ็บปวดได้บ้าง ทั้งนี้อาจจะขึ้นอยู่กับผู้เข้ารับการรักษาบางท่านที่มีสรีระร่างกายที่ผิดปกติ การทำกายภาพบำบัดจึงอาจไม่ตอบโจทย์อาการทุกอย่างเสมอไป ขึ้นอยู่กับการวางแผนการรักษาของผู้เข้ารับการรักษา
2. เราสามารถทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเองได้หรือไม่?
การทำกายภาพบำบัดสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เราสามารถทำกายภาพคอ บ่า ไหล่ของเราได้ด้วยการขยับร่างกายเบื้องต้น อย่างไรก็ตามการทำกายภาพบำบัดที่บ้านอาจจะไม่เห็นผลลัพธ์เท่าที่ควร และหากทำกายภาพอย่างผิดวิธีอาจส่งผลต่อการบาดเจ็บอื่น ๆ ได้อีกด้วย
3. การทำกายภาพบำบัดจำเป็นต้องทำตลอดชีวิตไหม?
การทำกายภาพบำบัดเป็นการฟื้นฟูร่างกายที่ไม่จำเป็นต้องทำตลอดชีวิต แต่หากเราทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่ง แล้วอยากมีความสามารถในการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้นก็ควรทำกายภาพต่อไปได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน
4. เลือกทำกายภาพบำบัดที่ไหนดี?
หลายคนอาจจะสงสัยว่า จะไปทำกายภาพบำบัด ที่ไหนดี ซึ่งการเลือกสถานที่ทำกายภาพบำบัดเป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง เนื่องจากการทำกายภาพเป็นสิ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อร่างกายของเรา การเลือกที่สถานที่ทำกายภาพบำบัดที่ดีย่อมส่งผลต่อการรักษาที่ดีของเราเช่นกัน ปัจจัยในการเลือกสถานที่กายภาพบำบัดมีดังนี้
- ความหลากหลายและความทันสมัยของเครื่องมือในการทำกายภาพบำบัด
- ความเชี่ยวชาญของนักกายภาพบำบัด
- ความสะอาดและความปลอดภัย
- ความสะดวกในการเดินทาง
- การบริการ
- ค่าใช้จ่าย
5. Shock Wave คืออะไร?
Shock Wave เป็นการทำกายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก ด้วยการใช้คลื่นเข้าไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บใหม่ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดและเพิ่มการไหลเวียนเลือดได้ ซึ่ง Shock Wave เป็นการรักษาที่ช่วยกลุ่มอาการปวดเรื้อรัง ออฟฟิศซินโดรม รวมถึงกลุ่มอาการเส้นเอ็นอักเสบ เช่น เอ็นข้อศอกอักเสบ-Tennis elbow, เอ็นหัวไหล่อักเสบ-Shoulder tendinitis, เอ็นร้อยหวายอักเสบ เอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือรองช้ำ-Plantar fasciitis, ปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ-De-Quervain’s Tenosynovitis, เส้นเอ็นหัวไหล่อักเสบจากหินปูนเกาะ-Tendon calcification ได้เป็นอย่างดี
สอบถามปัญหาอื่น ๆ กับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
สรุปการทำกายภาพบำบัด
การทำกายภาพบำบัด คือ หนึ่งในวิธีการส่งเสริม รักษา ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพที่สามารถทำได้กับทุกคนที่ต้องการผ่อนคลาย มีอาการปวดเมื่อย หรือมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องรีบรักษาให้หาย หากปล่อยไว้อาจจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาวได้
ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
พญ.ปุณณภา ศิริกุล
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
6 Different Types of Physical Therapy and Their Benefits. (2023, January 25). Miracle Rehab Clinic. https://www.miraclerehabclinic.com/blog/types-of-physical-therapy
Bernstein, S. (2023, September 14). What Is Physical Therapy?. Webmd. https://www.webmd.com/pain-management/what-is-physical-therapy
Pedersen, T. (2023, July 17). What Are the Types of Physical Therapy?. Healthline. https://www.healthline.com/health/types-of-physical-therapy
Preparing for Your Visit With a Physical Therapist. (n.d.). Choosept. https://www.choosept.com/why-physical-therapy/prepare
Myers, A. (2023, August 24). What Is Physical Therapy?. Forbes. https://www.forbes.com/health/body/what-is-physical-therapy/