วิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย

เคยเป็นไหม? รู้สึกว่าตัวเองป่วยโรคร้ายแรงตลอดเวลา มีอาการผิดปกติของร่างกายแค่เพียงเล็กน้อยก็ต้องรีบไปหาหมอ และถึงแม้จะหาหมอเป็นสิบ ๆ ครั้ง หมอตรวจไม่พบโรคอะไรก็ยังไม่เชื่อ!! กังวลใจว่าตัวเองต้องป่วยอยู่ดี หากใครคุ้น ๆ กับอาการนี้ เหมือนตัวเราหรือคนใกล้ชิดกำลังเป็นอยู่ อาจเป็น “โรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย (Illness Anxiety Disorder)” บางครั้งอาจเรียก “โรคคิดว่าตัวเองป่วย” ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานจากการควบคุมความกังวลของตนเองไม่ได้ และอาจก่อให้เกิดความรำคาญต่อคนรอบข้างได้

สารบัญบทความ

ทำความรู้จักกับ วิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย คืออะไร

โรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยภาวะนี้เดิมทีในเกณฑ์การวินิจฉัยฉบับ DSM-IV เรียกว่าโรค Hypochondriasis ส่วนในการวินิจฉัยทางจิตเวชในปัจจุบัน (DSM-5) ใช้คำว่า illness anxiety disorder โดยโรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย คือโรคที่เกิดขึ้นจากความวิตกกังวลของผู้ป่วยต่ออาการทางกายบางอย่างหรือหลายอย่าง เกิดความวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคร้ายแรงหรือเสียชีวิต เครียดกลัวเป็นโรคร้าย เช่น เมื่อมีอาการปวดท้องก็กังวลว่าจะเป็นโรคร้าย เช่น มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ หรือเมื่อมีอาการปวดศีรษะ ก็กังวลว่ามีเนื้องอกในสมอง เป็นต้น 

โรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยหรือโรคคิดไปเองว่าป่วยนี้ผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมตอบสนองต่อความกังวลของตนเอง เช่น เช็กข้อมูลเกี่ยวกับอาการของตนเองในอินเทอร์เน็ต หรือไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์บ่อย ๆ หลายคน หรือหลายโรงพยาบาลเพื่อร้องขอการตรวจร่างกายหรือตรวจแบบพิเศษซ้ำ ๆ และเมื่อแพทย์แจ้งว่าไม่พบความผิดปกติใด ๆ ผู้ป่วยมักจะสบายใจไปช่วงหนึ่ง ก่อนจะกลับมากังวลใหม่แล้วมีพฤติกรรมแบบเดิมซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานเพราะรู้สึกควบคุมความกังวลของตนเองไม่ได้ และอาจก่อให้เกิดความรำคาญต่อคนรอบข้าง

อาการของโรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย

อาการของโรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยนี้เกิดจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของคนไข้เอง ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกว่าตัวเองป่วยจริง ๆ ไม่ได้แกล้งทำ ซึ่งเกิดจากจิตใต้สำนึก โดยอาการจะมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน บางรายอาจมีอาการวิตกกังวลจากการเจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แต่บางรายอาจยังไม่ถึงขั้นส่งผลกระทบมากเท่าใดนัก โดยผู้ป่วยมักแสดงลักษณะอาการดังนี้

  • ­หมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ว่าตัวเองป่วยหรือเป็นโรคร้ายแรงบางอย่าง
  • ­กังวลมากกว่าปกติเกี่ยวกับอาการที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นเล็กน้อย
  • ­กังวลเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรมที่พบในครอบครัวมากเกินไป
  • ­ตื่นตัวเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของตนเอง
  • ­พูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองและความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น
  • ­หาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับอาการหรือโรคที่อาจเกิดขึ้น
  • ­ไม่วางใจในข้อมูลหรือผลตรวจที่ได้จากการพบแพทย์ มาพบแพทย์ซ้ำมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป หรือหลีกเลี่ยงการพบแพทย์เนื่องจากกลัวผลการตรวจ
  • ­มีความกังวลเกิดขึ้นติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน
  • ­กลัวการเจ็บป่วยที่ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติหรือการเจ็บป่วยโรคอื่น
  • ­หลีกเลี่ยงสถานที่หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย

 

จุดสำคัญคือผู้ป่วยโรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยมักมีอาการทางกายเพียง “เล็กน้อย” ที่พบได้ทั่วไปหรือคนส่วนใหญ่ก็เป็น เช่น ปวดหัว แสบลิ้นปี่ ปวดหลัง หรือปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น แต่ผู้ป่วยจะมีความกังวล “อย่างมาก” ว่าจะเป็นโรคร้ายแรง เช่น ปวดหัวก็กลัวว่าจะเป็นเนื้องอกในสมอง หรือแสบท้องก็กังวลว่าจะเป็นมะเร็ง “แม้ว่าจะได้รับการตรวจอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว”

อาการแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากโรควิตกกังวลเกี่ยวการเจ็บป่วย

โรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยไม่ใช่โรครุนแรงถึงแก่ชีวิต แต่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือบุคลิกภาพผิดปกติได้ ซึ่งหากผู้ป่วยโรคนี้มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยอาจเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ ลองอ่านเรื่อง แบบทดสอบโรควิตกกังวล เพิ่มเติม


ไม่แน่ใจอาการวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยอย่าปล่อยไว้ รีบปรึกษาจิตแพทย์ ด่วน

โรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย สาเหตุของโรค

วิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย เกิดจากอะไร

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยอย่างแน่ชัด โรคนี้สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยเป็นอาการเรื้อรังที่เริ่มขึ้นในวัยกลางคน พบมากในกลุ่มอายุ 20-30 ปี อาการมักจะแย่ลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น และพบในเพศชายและเพศหญิงเท่า ๆ กัน ไม่สัมพันธ์กับระดับการศึกษา สถานภาพในสังคมหรือสถานภาพสมรส มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสาเหตุของโรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยดังนี้

1. แปลความรู้สึกของร่างกายผิด

ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะแปลความรู้สึกผิดปกติของร่างกายที่เกิดเพียงเล็กน้อยในแง่ที่ร้ายแรงกว่าคนทั่วไป 

และมักจะมีความอดทนต่อความผิดปกติของร่างกายน้อยกว่าคนทั่วไป

2. การใช้บทบาทของผู้ป่วย (Sick role)

ผู้ป่วยโรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยจะเรียนรู้ที่จะใช้บทบาทเป็นผู้ป่วยเพื่อเอาตัวรอดจากการเผชิญกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่แก้ไขไม่ได้ ส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติบางอย่างขึ้นมา

3. เคยชินกับการจับผิดความผิดปกติของตัวเองมากเกินไป 

ผู้ป่วยโรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยจะมีความใส่ใจในร่างกายของตัวเองในระดับที่มากจนเกินไป ทำให้เกิดความรู้สึกกังวลกับร่างกายของตัวเองเป็นประจำ และเคยชินกับการจับผิดร่างกายตัวเอง เช่น คอยสังเกตจังหวะการเต้นของหัวใจ ประสาทการรับรสหรือรสชาติน้ำลายที่เปลี่ยนไป หรือกังวลกับระบบขับถ่ายของตัวเองจนทำให้ต้องวิ่งเข้าออกห้องน้ำบ่อยผิดปกติ และคิดไปเองว่าอาการที่เป็นน่าจะเกิดจากโรคใดโรคหนึ่ง

4. โรคแทรกซ้อนทางจิตวิทยาอื่น ๆ

ภาวะนี้อาจเป็นรูปแบบหนึ่งของโรคทางจิตเวชอื่น เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคกังวลไปทั่ว

5. การใช้กลไกทางจิตแบบ Repression และ Displacement

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์เชื่อว่าเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีความรู้สึกภายในที่ไม่เป็นมิตรและมีความก้าวร้าวต่อผู้อื่น และแสดงออกโดยใช้กลไกทางจิตแบบ Repression และ Displacement โดยเชื่อว่าภายในจิตใจลึก ๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตนเองไม่ดี ขาดความภูมิใจในตนเอง หมกมุ่นในตนเอง เพราะในอดีตเคยมีความรู้สึกว่าไม่ใด้รับการยอมรับ มีความผิดหวัง จึงใช้กลไกทางจิตแสดงออกเป็นอาการผิดปกติทางร่างกาย เพื่อปกปิดสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ

 

นอกจากนี้ปัจจัยบางอย่างอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิด illness anxiety disorder ได้มากขึ้น เช่น มีผู้ปกครองหรือญาติเจ็บป่วยขั้นรุนแรง ผ่านการเผชิญหน้ากับความเครียดหรือปัญหาใหญ่ในชีวิต เคยเจ็บป่วยด้วยโรคที่ร้ายแรงแต่มีอาการที่ไม่รุนแรง มีแนวโน้มที่จะมีนิสัยชอบกังวลและค้นหาข้อมูลสุขภาพทางอินเทอร์เน็ตมากเกินไป เป็นต้น

การวินิจฉัยวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย 

โรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย มีข้อวินิจฉัยตาม DSM-5 ดังนี้

  1. หมกมุ่นเกี่ยวกับการมีโรคร้ายแรง
  2. ไม่มีอาการทางกาย หรือหากมีอาการทางกาย อาการนั้นต้องไม่รุนแรง หากมีโรคทางกายอยู่จริง หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางกาย เช่น มีกรรมพันธุ์ ความหมกมุ่นนั้นต้องมากเกินจริงอย่างมาก
  3. มีความกังวลอย่างสูงเกี่ยวกับสุขภาพ
  4. มีพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสุขภาพที่มากเกินไป เช่น ตรวจร่างกายเพื่อหาความเจ็บป่วยซ้ำ ๆ หรือมีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการหลีกเสี่ยง เช่น พยายามหลีกเสี่ยงการไปพบแพทย์ตามนัด หรือไปโรงพยาบาล
  5. ความหมกมุ่นเกี่ยวกับความเจ็บป่วยนั้น ไม่สามารถอธิบายได้จากโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้ดีกว่า เช่น โรค Somatic Symptom Disorder โรคแพนิก โรควิตกกังวล โรค Body Dysmorphic Disorder โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือโรค Delusional Disorder

การรักษาวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย

การรักษาโดยไม่ใช้ยา

ให้ความมั่นใจกับผู้ป่วย (Reassurance) โดยการตรวจร่างกายอย่างเอาใจใส่ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ให้ความรู้แก่ผู้ปวย อธิบายให้ผู้ป่วยได้เข้าใจอาการที่เกิดขึ้นว่าความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยไม่ได้เกิดจากโรคทางกาย เบี่ยงเบนความสนใจของผู้ป่วยจากอาการทางกายไปยังปัญหาทางจิตใจที่มีอยู่ และสนับสนุนให้ผู้ป่วยกลับไปทำงานได้ดังเดิม 

การทำจิตบำบัดแบบ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ที่เน้นเรื่องการให้ความรู้และการลดความเครียดรวมถึงการทำจิตบำบัดด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การจัดการความเครียดทางพฤติกรรม (Behavioral Stress Management) และการบำบัดความกลัวด้วยการเผชิญหน้ากับความกลัว (Exposure Therapy) เป็นต้น อาจช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้

การรักษาโดยใช้ยา

การให้ยาต้านเศร้ากลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs) อาจช่วยให้ผู้ป่วยลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยเกี่ยวกับอาการทางกายได้

 

ปรึกษาการรักษาโรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยกับจิตแพทย์ที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง

วิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย การดูแลตนเองและรับมือกับอาการ

วิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย รักษา

โรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ดังนี้

  1. ให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการพูดคุยถึงอาการและการรักษาอย่างตรงไปตรงมา 
  2. หลีกเลี่ยงการปรึกษากับแพทย์หลายท่านและการเข้าห้องฉุกเฉิน
  3. หลีกเลี่ยงการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเนื่องจากอาจทำให้เกิดความสับสนและความวิตกกังวล
  4. หลีกเลี่ยงการหมกมุ่นกับความวิตกกังวลด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งที่ทำงาน ในสังคมและครอบครัว เช่น เดินเล่น พูดคุยกับเพื่อน หรือการออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลาย เป็นต้น
  5. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาเสพติดเพื่อการผ่อนคลาย
  6. จดบันทึกความถี่ในการหาข้อมูลด้านสุขภาพ การตรวจเช็กร่างกายหรือการสอบถามผู้เชี่ยวชาญ และลดความถี่ในการทำสิ่งต่าง ๆ
  7. ทำกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อลดความวิตกกังวล และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย
  8. บำบัดความเครียดและเพิ่มความผ่อนคลายด้วยการคลายกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นทีละส่วน (Progressive Muscle Relaxation)

วิธีป้องกันโรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย 

โรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรัง การป้องกันอาจทำได้โดยการหมั่นสังเกตเมื่อเกิดความเครียด และหาวิธีบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร่างกาย หากมีความกังวลถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อยับยั้งอาการไม่ให้ทรุดหนักจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และทำตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย

โรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย อันตรายไหม?

โรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยไม่ใช่โรครุนแรงถึงแก่ชีวิต แต่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้าหรือบุคลิกภาพผิดปกติได้ ซึ่งหากผู้ป่วยโรคนี้มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยอาจเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้

โรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยรักษาอย่างไร?

การรักษาประกอบด้วยการทำจิตบำบัด (Psychotherapy) ได้แก่ การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy: CBT) การจัดการความเครียดทางพฤติกรรม (Behavioral Stress Management) และการบำบัดความกลัวด้วยการเผชิญหน้ากับความกลัว (Exposure Therapy) เป็นต้น การให้ยาต้านเศร้ากลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs) อาจช่วยให้ผู้ป่วยลดความกังวลเกี่ยวกับอาการทางกายได้

 

สอบถามเรื่องสุขภาพใจอื่น ๆ กับจิตแพทย์ที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง

สรุปวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย รีบปรึกษาแพทย์ 

โรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยเป็นความผิดปกติที่ผู้ป่วยรู้สึกกังวลต่อความผิดปกติด้านสุขภาพของตนเองมากเกินไป มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยแม้ไม่มีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือเกิดความผิดปกติทั่วไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การหมั่นสังเกตร่างกาย ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรคร้ายแรงได้ 

 

ปรึกษาหมอออนไลน์ หรือ ปรึกษาเภสัชกร ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ หรือสามารถทำแบบทดสอบความเครียดกับพยาบาล ไม่มีค่าใช้จ่าย เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

 

Content powered by BeDee Expert

เรืออากาศโทแพทย์หญิงภิรญา พิธาฐิติกุล

จิตแพทย์ทั่วไป

Professional, C. C. M. (n.d.). Illness anxiety disorder (Hypochondria, hypochondriasis). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9886-illness-anxiety-disorder-hypochondria-hypochondriasis

Illness anxiety disorder – Symptoms and causes – Mayo Clinic. (2021, April 19). Mayo Clinic. http://mayoclinic.org/diseases-conditions/illness-anxiety-disorder/symptoms-causes/syc-20373782

Newman, T. (2017, July 24). What is hypochondria? http://medicalnewstoday.com/articles/9983

บทความที่เกี่ยวข้อง

เสี่ยง สงสัย โรคซึมเศร้า, โรคเครียด, โรควิตกกังวล, นอนไม่หลับ, หยุดคิดไม่ได้ หรือมีปัญหาสุขภาพใจอื่น ๆ ห้ามปล่อยไว้ !    ปัจจุบันสังคมหันมาให้ความสำคัญกับการปรึกษาจิตแพทย์มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็สะท้อนได้ว่ามีผู้ป่วยทางด้านจิตใจ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เ

ทุกวันนี้กลุ่มโรคทางด้านอารมณ์หรือจิตเวชนั้นมีมากมาย เช่น ซึมเศร้าเรื้อรัง, ไบโพลาร์หรือแม้แต่อาการที่คนทั่วไปอาจคาดไม่ถึงอย่างภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือบางคนที่เราเห็นยิ้มแย้ม อารมณ์ดี แต่ก็อาจจะป่วยด้วยกลุ่มโรคทางจิตเวชที่เรียกว่า Smiling depression