Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง Key Takeaways Hyperventilation คืออาการหายใจเร็วหรือหายใจลึกเกินกว่าความต้องการของร่างกายส่ง
วิธีพูดกับคนเป็นไบโพลาร์ รับมืออย่างเหมาะสม สื่อสารอย่างเข้าใจ
วิธีพูดกับคนเป็นไบโพลาร์ ถ้าหากมีคนใกล้ตัวเป็นไบโพลาร์ หลายคนก็อาจมีความกังวลว่า แล้วเราต้องพูดกับเขาอย่างไร ถ้าหากอยากให้กำลังใจ ควรจะต้องใช้คำพูดแนวไหน วันนี้เราได้รวบรวมวิธีคุยกับคนเป็นไบโพลาร์มาไว้แล้ว เชื่อว่าหากได้นำวิธีที่แนะนำไปปรับใช้กับแนวทางการสื่อสารของตนเอง จะสามารถอยู่ร่วมกับคนเป็นไบโพลาร์ได้อย่างเข้าใจและมีความสุขได้แน่นอน
รู้จักกับโรคไบโพลาร์เบื้องต้น
โรคไบโพลาร์วัน (Bipolar I)
ไบโพลาร์วัน เป็นกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยนั้นมีสภาวะอารมณ์ดีอย่างผิดปกติ (Mania) สลับกับช่วงซึมเศร้า(Depressed) หรือบางรายอาจมีอาการแมเนียเพียงอย่างเดียวก็ได้ โดยในกลุ่มนี้อาการ Mania จะชัดเจน
โรคไบโพลาร์ทู (Bipolar II)
ไบโพลาร์ทูเป็นกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยนั้นมีสภาวะอารมณ์ซึมเศร้า (Depressed) สลับกับสภาวะอารมณ์ดีอย่างไม่รุนแรง (Hypomania) หลายครั้งอาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคซึมเศร้าเพราะมีอารมณ์เศร้าที่คล้ายคลึงกัน
โรคไซโคลโทมิก (Cyclothymic disorder)
โรคไซโคลโทมิกหรือโรคอารมณ์หมุนเวียน เป็นโรคที่มีอาการระหว่างภาวะซึมเศร้า (Depressed) และอารมณ์ดีอย่างไม่รุนแรง (Hypomania) โดยมีอาการเป็นจำนวนมาก แต่ไม่รุนแรง
กลุ่มโรคไบโพลาร์อื่น ๆ
ผู้ป่วยกลุ่มโรคไบโพลาร์อื่น ๆ นั้น มักมีอาการแสดงของภาวะอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ แต่ไม่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของไบโพลาร์วัน ทู และโรคไซโคลโทมิก ซึ่งการวินิจฉัยโรคนี้จะต้องให้จิตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย
อย่างไรก็ตามวิธีพูดกับคนเป็นไบโพลาร์จำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่าไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้านั้นในช่วงซึมเศร้ามักมีอาการที่คล้ายคลึงกัน หากตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการที่คล้ายเป็นไบโพลาร์ หรือสงสัยว่าเข้าข่ายโรคไบโพลาร์แนะนำปรึกษาจิตแพทย์
7 วิธีพูดกับคนเป็นไบโพลาร์อย่างเหมาะสม
ฉันอยู่ข้าง ๆ และพร้อมที่จะช่วยเหลือเธอนะ
วิธีพูดกับคนเป็นไบโพลาร์แบบนี้ถือเป็นหนึ่งวิธีการสื่อสารที่ดี เพราะผู้ป่วยนั้นมักมีความยากลำบากที่แตกต่างกันในแต่ละช่วง ไม่ว่าจะช่วงซึมเศร้าหรือช่วงอารมณ์ดีผิดปกติ และในหลาย ๆ ครั้งก็อาจจำเป็นต้องมีคนข้าง ๆ คอยช่วยเหลือ เช่น การตักเตือนให้ทานยา การดูแลเรื่องของการเงิน เป็นต้น
มันไม่ใช่ความผิดของเธอนะ
ผู้ป่วยไบโพลาร์จำนวนมากมีความรู้สึกผิดเกิดขึ้นเนื่องจากอาการของตัวโรค หลายครั้งผู้ป่วยก็มักเกิดการด้อยค่าและโทษตนเองถึงสิ่งที่เป็นอยู่ เราสามารถอยู่ร่วมกับคนเป็นไบโพลาร์โดยการเข้าใจและบอกว่า นี่ไม่ใช่ความผิดของเขาเลยด้วยการใช้วิธีพูดกับคนเป็นไบโพลาร์ เช่น “ ไม่ใช่ความผิดเธอนะที่จะหยุดคิดหรือหยุดพูดไม่ได้เลย” บางครั้งตัวโรคก็ทำให้เขามีอาการเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่ได้อยากจะเป็น
หรืออาจพูดว่า “ไม่ใช่ความผิดเธอนะที่เป็นไบโพลาร์” เพราะไม่มีใครอยากป่วย ไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ
ถามและพูดคุยในเรื่องของอาการ
หลายคนมักจะกลัวการพูดเกี่ยวกับอาการของโรคเพราะกลัวว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่ดีทำให้อยู่ร่วมกับคนเป็นไบโพลาร์ไม่ได้ แต่แท้จริงแล้วเราสามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้ และยังช่วยให้เขาได้ทบทวนตนเองอีกด้วยโดยการใช้วิธีพูดกับคนเป็นไบโพลาร์ เช่น “ช่วงเวลาไหนที่เธอมักจะอารมณ์เศร้า และเธอจัดการอารมณ์ยังไง” “เวลาที่ความคิดแล่นเข้ามาในหัวจนเยอะไปหมด เธอจัดระเบียบความคิดอย่างไร”
ฉันยังเป็นเพื่อนเธอเหมือนเดิมนะ
บ่อยครั้งที่ผู้คนรอบข้างมักจะมีการแสดงออกที่เปลี่ยนไปกับคนที่เป็นไบโพลาร์ บ้างก็หลีกเลี่ยงการพูดคุยด้วย หรือตีตัวออกห่างไม่อยากอยู่ร่วมกับคนเป็นไบโพลาร์ จนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า “ฉันเป็นตัวประหลาดหรือเปล่า?” หรือ “ฉันมันแย่ขนาดนั้นเลยหรือ จนไม่มีคนอยากคบกับฉัน”
การที่เราแสดงออกให้เขาเห็นว่า “เรานั้นยังเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนไป” ไม่ว่าจะในสถานะเพื่อน แฟน หรือสถานะอื่น ๆ ทำให้เขารู้ว่าต่อให้เขาจะป่วยเป็นไบโพลาร์ คุณค่าของเขาก็ไม่ได้ลดลง และเราก็จะยังอยู่ข้าง ๆ คอยช่วยเหลือเขาในยามที่เขาต้องการ เท่านี้ก็ช่วยเหลือได้มากแล้ว
หลีกเลี่ยงคำว่า “ฉันเข้าใจนะ”
แม้วิธีพูดกับคนเป็นไบโพลาร์นี้อาจดูเหมือนเป็นคำที่ดี แต่ก็ไม่เสมอไป ผู้ป่วยไบโพลาร์หลายคนอาจจะเข้าใจว่า “เธอไม่ได้เป็นเหมือนฉัน เธอไม่มีทางเข้าใจหรอก” การที่เราพูดออกไป ก็อาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเราตอบส่ง ๆ หรือไม่ได้คิดจะเข้าใจเขาจริง ๆ หรอก อาจลองพูดว่า “ฉันอยากเข้าใจนะ ช่วยเล่าให้ฉันฟังหน่อยได้ไหม”
สะท้อนในสิ่งที่เขาเป็นและประสบอยู่
ใช้วิธีพูดกับคนเป็นไบโพลาร์ เช่น “ฉันเห็นนะว่าสำหรับเธอมันคงยากลำบากมาก ๆ ” โดยมองถึงปัญหาและอารมณ์ของผู้ป่วยผ่านสิ่งที่เขาเป็นจริง ๆ ไม่ใช่มองจากความคิดความเชื่อของตนเอง วิธีพูดกับคนเป็นไบโพลาร์แบบนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าเรานั้นสามารถรับรู้ได้ถึงความยากลำบากของเขาโดยไม่เป็นการตัดสิน หรือตีความจากความเชื่อของตัวเราเอง
ชื่นชมในสิ่งที่ดีของเขา
ไม่ว่าจะเป็นการที่เขานั้นไปหาคุณหมอและทานยาอย่างสม่ำเสมอ มีการพัฒนาในการจัดการอารมณ์ที่ดีขึ้น ผู้ป่วยบางรายสามารถเข้าใจอารมณ์ของตนเอง และหาทางออกได้อย่างเหมาะสม การที่เรานั้นชื่นชมเขาในส่วนที่เขาทำได้ดี ก็จะเป็นกำลังใจที่ดีมาก ๆ สำหรับเขา
ข้อควรทราบเกี่ยวกับผู้ที่เป็นโรคไบโพลาร์ เข้าใจตัวโรคเพื่อการรับมืออย่างเหมาะสม
ไบโพลาร์นั้นเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ โดยไบโพลาร์จะมีสองขั้วอารมณ์ใหญ่ ๆ ได้แก่
- ช่วงอารมณ์ซึมเศร้า (Depressive Episode) อาการที่สำคัญมีดังนี้
- มีอารมณ์เศร้าแทบทั้งวัน เกือบทุกวัน
- ความสนใจในกิจกรรมปกติที่เคยทำลดลงอย่างมากหรือแทบทั้งหมด
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะควบคุมหรือเพิ่มน้ำหนัก
- นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป
- ทำอะไรช้าลง หรือกระสับกระสาย ไม่สามารถอยู่นิ่งได้เหมือนที่เคยเป็น
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- รู้สึกว่าตนเองไร้ค่าหรือรู้สึกผิดมากเกินควร
- สมาธิหรือความสามารถในการจดจ่อลดน้อยลง
- คิดเรื่องเรื่องการตาย การฆ่าตัวตาย การพยายามฆ่าตัวตาย หรือการวางแผนที่จะฆ่าตัวตาย
- ช่วงอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania Episode) อาการที่สำคัญมีดังนี้
- มีอารมณ์สนุกสนานร่างเริงผิดปกติ หรือมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย มีพลังเรี่ยวแรงเพิ่มขึ้น
- ประเมินค่าตนเองว่ามีความสำคัญผิดปกติ หรือมีความยิ่งใหญ่ (Grandiosity)
- ความต้องการนอนลดลง เช่น นอน 2-3 ชั่วโมงก็รู้สึกเพียงพอแล้ว
- พูดคุยมากกว่าปกติ พูดไม่ยอมหยุด
- มีความคิดเปลี่ยนเรื่องเร็ว ความคิดแล่นไปแล่นมา (Flight of idea)
- วอกแวกง่าย ความสนใจเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
- มีกิจกรรมมากผิดปกติ เช่น การทำงาน เรื่องเพศ พฤติกรรมพลุ่งพล่านกระวนกระวาย (Psychomotor agitation)
- มีการตัดสินใจที่ไม่เหมาะสม พฤติกรรมสุ่มเสี่ยง เช่น การใช้เงินที่ฟุ่มเฟือย ลงทุนในสิ่งต่างๆอย่างขาดพิจารณาหรือพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ
นอกจากนี้ยังมีระยะ Hypomania ซึ่งจะมีอาการคล้ายแมเนีย แต่จะรุนแรงน้อยกว่า
- ผู้ป่วยไบโพลาร์นั้นมักมีความยากลำบาก ซึ่งบ่อยครั้งต้องการความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เช่น ในช่วง Mania Episode อาจมีความยากลำบากเรื่องการใช้เงิน ดังนั้นคนรอบข้างจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะต้องช่วยดูแลในเรื่องการเงิน หรือในช่วง Depressive Episode หากคนรอบข้างเข้าใจ คอยอยู่ข้าง ๆ และให้กำลังใจ เข้าใจ ก็จะสามารถช่วยเหลือให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้
ปรึกษาอาการไบโพลาร์หรืออาการทางด้านความเครียดและจิตใจอื่น ๆ กับจิตแพทย์ที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง เป็นส่วนตัว
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวิธีพูดกับคนเป็นไบโพลาร์
1. โรคไบโพลาร์รักษาหายไหม?
โรคไบโพลาร์สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจิตแพทย์ โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะให้ยาเพื่อปรับสมดุลของการหลั่งสารเคมีในสมองควบคู่ไปกับการทำจิตบำบัดเพื่อจัดการกับอาการของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปแล้วการรักษาโรคไบโพลาร์ใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ย 6 เดือน ถึง 2 ปี ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล
2. โรคไบโพลาร์เกิดขึ้นได้อย่างไร?
โรคไบโพลาร์นั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคไบโพลาร์อาจส่งผลทางพันธุกรรมได้ด้วยเช่นเดียวกัน ความผิดปกติของสารสื่อประสารของสมอง การหลั่งสารเคมีที่ไม่สมดุลกัน หรือแม้แต่ปัจจัยทางสภาวะจิตใจ เช่น การจัดการความเครียดที่ไม่เหมาะสม สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ การเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก
3. เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แบบนี้ไบโพลาร์หรือเปล่า?
หนึ่งในความเข้าใจผิดคือ หลายคนมักจะเรียกคนที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หรือเช้าดีเย็นร้ายว่า “เป็นไบโพลาร์หรือเปล่า?” ซึ่งจริง ๆ แล้วอาการของไบโพลาร์ในแต่ละช่วง จะมีระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนานเป็นหลักสัปดาห์ขึ้นไป ไม่ใช่วันต่อวัน หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเป็นรายชั่วโมงอย่างที่เข้าใจผิดกัน
สรุปวิธีพูดกับคนเป็นไบโพลาร์ ใช้ความเข้าใจเพื่อการอยู่ร่วมกัน
วิธีพูดกับคนเป็นไบโพลาร์นั้นไม่ได้ยากอย่างที่กังวลกัน เพราะผู้ป่วยไบโพลาร์ก็เป็นคนธรรมดาที่ต้องการความเข้าอกเข้าใจ ต้องการคนรับฟังเหมือนเราทุกคน หากนำ 7 วิธีการสื่อสารที่ BeDee แนะนำไปประยุกต์ใช้กับแนวทางการสื่อสารของตนเอง จะช่วยให้อยู่ร่วมกับคนเป็นไบโพลาร์ได้อย่างเหมาะสมและเข้าใจมากขึ้น
ปรึกษาหมอออนไลน์ หรือ ปรึกษาเภสัชกร ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ หรือสามารถทำแบบทดสอบความเครียดกับพยาบาล ไม่มีค่าใช้จ่าย เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
ธนวินท์ มีลาภอุดมชัย
นักจิตวิทยาคลินิก
Admin. “How to Speak to Someone with Bipolar Disorder.” Mental Health Hotline, 15 Sept. 2021, mentalhealthhotline.org/helping-someone-with-bipolar/.
American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders (5th ed.). https://doi.org/10.1176/appi.books.9780890425596
“How to Talk to a Loved One with Bipolar Disorder.” International Bipolar Foundation, 5 Oct. 2020, ibpf.org/how-to-talk-to-a-loved-one-with-bipolar-disorder/.
Roland, James. “Bipolar 1 vs. Bipolar 2 Disorder.” Healthline, Healthline Media, 30 Aug. 2023, www.healthline.com/health/bipolar-disorder/bipolar-1-vs-bipolar-2#bipolar-1-vs-bipolar-2.