ความสูญเสีย

มีพบก็ต้องมีจาก… การสูญเสียบุคคลหรือสิ่งที่รัก เช่น บุคคลที่เรารัก หรือสัตว์เลี้ยง เมื่อถึงเวลาหนึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องพบเจอเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราได้ตลอดไป แม้แต่ตัวเราเองก็ตาม แต่การสูญเสียส่งผลกระทบต่อจิตใจไม่น้อย โดยเฉพาะการสูญเสียสิ่งที่รักมาก หลายครั้งที่เราอาจไม่สามารถรับและปรับตัวกับสถานการณ์ของการสูญเสียได้ จนบางครั้งความสูญเสียก่อตัวกลายเป็นภาวะซึมเศร้าสะสมจากก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า

สารบัญบทความ

การสูญเสียเป็นอย่างไร? รู้จักและเข้าใจมากขึ้น

การสูญเสีย คือ เหตุการณ์ที่เราต้องแยกจากกับสิ่งที่เคยอยู่ เคยมีมาก่อนแบบไม่มีวันหวนกลับ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคนรัก, การสูญเสียคนในครอบครัว, บุคคลใกล้ชิด, สัตว์เลี้ยงที่รัก หรือสิ่งของที่รัก ซึ่งการสูญเสียนี้ส่งผลให้เกิดความโศกเศร้า เสียใจ ไม่ยอมรับความจริง ทั้งหมดนี้เป็นอาการปกติทางจิตใจที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการสูญเสีย แต่ในที่สุดเมื่อเริ่มยอมรับความสูญเสียได้ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 

 

เพียงแต่ว่าหลายคนที่ยังจมอยู่กับความสูญเสียเป็นเวลานาน และไม่ได้รับมือกับความเศร้าอย่างเหมาะสม อาจพัฒนาจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด

ระยะของความเศร้าจากการสูญเสีย

โดยอาการโศกเศร้าที่เกิดขึ้นเมื่อมีการสูญเสียสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ระยะ ดังนี้

ระยะตื่นตระหนกและปฏิเสธความจริง (Shock and Denial)

เมื่อต้องเผชิญกับการสูญเสียกะทันหัน ในช่วงแรกสุดเราอาจรู้สึกช็อกและปฏิเสธความจริงที่ว่าเราจะไม่ได้พบหรืออยู่ร่วมกับคนนั้นหรือสิ่งนั้นอีกต่อไป เราอาจจะพยายามทำทุกอย่างเหมือนเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งระยะนี้นักจิตวิทยากล่าวไว้ว่าเป็นช่วงเวลาสำหรับเตรียมใจก่อนจะก้าวเข้าสู่ภาวะต่อไป

ระยะของความโกรธ (Anger)

เมื่อระยะช็อกหมดไปและรับรู้ว่าเราสูญเสียไปแล้ว อันดับต่อมาเราจะเริ่มเข้าสู่ระยะของความโกรธ ซึ่งเกิดขึ้นมาจาก “ความเสียใจที่เกิดจากการสูญเสีย” เราจะเริ่มโทษตัวเอง โทษคนอื่น หรือโทษปัจจัยใด ๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดการสูญเสียขึ้น ถึงแม้ว่าสมองจะรับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่สามารถกล่าวโทษใครหรือสิ่งใดได้ แต่ในระยะนี้อารมณ์มักจะนำเหตุผลอยู่เสมอ บางคนอาจเริ่มก้าวร้าวกับคนรอบข้าง บางคนอาจเริ่มโทษตัวเองและอาจลงโทษตัวเองด้วยการทำร้ายร่างกาย ซึ่งการกระทำทุกอย่างก็เพื่อระบายความโกรธต่อการสูญเสียนั่นเอง

ระยะการเจรจาต่อรอง (Bargaining)

เมื่อเริ่มตั้งสติจากระยะความโกรธมาได้แล้วก็จะเริ่มเข้าสู่ระยะการเจรจาต่อรอง ในระยะนี้เราจะเริ่มมีความคิดกับตัวเองว่า “ถ้าไม่ทำอย่างนั้น คงไม่เป็นอย่างนี้” หรือ “ถ้าทำอย่างนี้ตั้งแต่แรก ตอนนี้คงไม่สูญเสียไป” จะพยายามคิดว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ต้องเจอกับความสูญเสียเช่นตอนนี้ ซึ่งผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะรู้สึกสิ้นหวังอย่างมาก

ระยะโศกเศร้าเสียใจ (Depression)

ระยะโศกเศร้าเสียใจ เป็นระยะที่เราเริ่มอยู่กับปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่สามารถยอมรับกับการสูญเสียได้ทั้งหมด ในระยะนี้การตอบสนองอารมณ์เชิงลบจะมีความรุนแรงต่อผู้อื่นน้อยมาก แต่จะเป็นช่วงที่มีอารมณ์ด้านลบกับตัวเองมากที่สุด เราจะรู้สึกโศกเศร้า ไม่มีแรง เริ่มปลีกวิเวก ไม่อยากอาหาร หากรุนแรงอาจเริ่มมีความคิดอยากจบชีวิตตัวเองเพื่อหยุดความรู้สึกต่อความสูญเสียนั้นเสียที ในระยะนี้หากเริ่มมีความคิดเชิงลบรุนแรง ควรรีบเข้าพบจิตแพทย์โดยเร็ว

ระยะของการยอมรับ (Acceptance)

หากเราผ่านพ้นระยะโศกเศร้าเสียใจมาได้ ก็จะก้าวเข้าสู่ระยะของการยอมรับกับความสูญเสีย สามารถเข้าใจและทำใจได้ว่าการสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีวันย้อนกลับ และค่อย ๆ กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง 

 

ทั้ง 5 ระยะดังกล่าวเป็นอาการที่เกิดตามกลไกทางจิตใจ ในบางรายอาจเกิดทุกระยะในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ในบางรายอาจจมอยู่กับระยะใดระยะหนึ่ง ไม่สามารถก้าวต่อไปถึงระยะการยอมรับและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ และในขณะที่บางรายอาจไม่มีอาการตามระยะเหล่านี้เมื่อมีอาการโศกเศร้าก็เป็นได้

 

รับมือกับสูญเสียไม่ได้ มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน อย่าปล่อยไว้ รีบปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาออนไลน์ด่วน

ผู้ที่เผชิญกับความสูญเสียมีอาการอย่างไร 

อาการเศร้าจากการสูญเสีย

อาการที่พบได้บ่อยเมื่อเกิดการสูญเสีย 

  • โศกเศร้า เสียใจ
  • ไม่อยากเข้าสังคม
  • เบื่ออาหาร 
  • นอนไม่หลับ
  • อารมณ์ไม่คงที่
  • ไม่ยอมรับการสูญเสีย ในบางรายอาจพยายามปฏิบัติตนเสมือนว่ายังไม่เกิดการสูญเสียขึ้น
  • อาจมีความคิดอยากตายตามบุคคลที่รัก

อาการโศกเศร้าจากการสูญเสียนั้นอาจมีความรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละคน โดยอาจมีปัจจัยของความสัมพันธ์กับสิ่งที่สูญเสีย ระยะการเตรียมใจ สาเหตุที่ทำให้เกิดการสูญเสีย ยิ่งหากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาก มีการจากลาแบบกะทันหัน หรือมีสาเหตุการสูญเสียที่รุนแรง ก็อาจทำให้ผู้ที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียนี้ได้รับผลกระทบทางจิตใจมาก

อาการโศกเศร้าจากสูญเสียแบบใดที่ควรพบจิตแพทย์ 

อาการโศกเศร้าจากการสูญเสียเป็นอาการที่สามารถรับมือและกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เองเมื่อเวลาผ่านไป เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ว่า ‘เวลาจะช่วยเยียวยาหัวใจ’ แต่หลายคนไม่สามารถก้าวเดินต่อไปได้ถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วก็ตาม หากคุณมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้เข้าพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาและวางแผนรับมือกับความเศร้าโดยแพทย์ ดังนี้

  • เศร้าโศกจนไม่สามารถออกไปพบปะผู้คนได้ตามปกติ
  • ความเศร้าเริ่มส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ไม่สามารถทำงานได้ หรือทำงานได้แย่ลง
  • มีอารมณ์ก้าวร้าว โทษตัวเองหรือโทษเหตุการณ์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุที่ทำให้เกิดการสูญเสีย
  • ไม่มีความหวังในการใช้ชีวิต
  • เริ่มมีความคิดอยากตายตามสิ่งที่สูญเสียไป
  • รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่
  • มีการวางแผน พยายามทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย 

 

มีอาการข้างต้นรีบปรึกษาจิตแพทย์ที่แอป BeDee ด่วน สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องลางาน

วิธีรับมือกับอาการโศกเศร้าจากความสูญเสียทำอย่างไร 

ปกติแล้วแต่ละคนจะมีวิธีการรับมือกับความโศกเศร้าเมื่อเกิดการสูญเสียที่แตกต่างกัน แต่สำหรับใครที่รู้สึกถึงทางตัน ไม่สามารถหลุดพ้นกับความเศร้าได้ ทาง BeDee เรามีวิธีรับมือกับความโศกเศร้าที่ช่วยให้เราสามารถก้าวพ้นจากความสูญเสียไปได้ง่ายขึ้น ดังนี้

  • ระบายความรู้สึกของตนเอง : หลายคนที่พยายามจะเข้มแข็งและเก็บความเศร้าไว้ในใจ ซึ่งการกระทำนี้ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะอารมณ์เศร้า เสียใจเมื่อเกิดความสูญเสียเป็นเรื่องปกติ และเมื่อได้ปลดปล่อยออกไปบ้างก็จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น กลับกันหากเก็บกดเอาไว้ไม่ระบาย สะสมนาน ๆ เข้าอาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงกว่าเดิมได้

 

เราสามารถระบายความรู้สึกออกได้หลายรูปแบบ เช่น การพูดคุยกับคนที่ไว้ใจ หรือกับใครก็ได้ที่สามารถรับฟังได้โดยไม่ตัดสินเรา หรืออาจระบายความรู้สึกด้วยการเขียนบันทึก ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถระบายความรู้สึกได้ดี

 

  • เผชิญหน้ากับความจริง : ในช่วงแรก ๆ เราสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อารมณ์ดิ่งลงได้ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะเราควรจะกลับมาเผชิญกับความจริงที่ว่า การสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว จะไม่มีวันกลับคืน การหนีปัญหาไปทุกครั้งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่การเผชิญหน้ากับความจริงและยอมรับจะทำให้เราใช้ชีวิตต่อไปได้
  • ดูแลสภาพจิตใจด้วยการหาความสุข : การเผชิญหน้ากับความจริงเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่เราต้องรักษาใจตัวเองด้วยการพักใจอยู่กับสิ่งที่ทำให้มีความสุข เช่น การอยู่กับสัตว์เลี้ยง การทำกิจกรรมผ่อนคลาย อ่านหนังสือ ท่องเที่ยว หรือจะดูซีรีส์ที่ชื่นชอบก็ได้เช่นกัน
  • พบจิตแพทย์ : การพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย หลายคนคิดว่าการพบจิตแพทย์จะต้องเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ความเป็นจริงแล้วเมื่อเรามีความรู้สึกเชิงลบมากจนไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเองก็สามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้

การรักษาภาวะสูญเสียในทางการแพทย์

การเยียวยาภาวะสูญเสีย

เมื่อเราไม่สามารถรับมือกับความเศร้าได้ด้วยตนเอง ในทางการแพทย์มีวิธีการรับมือความเศร้าจากการสูญเสียโดยจิตแพทย์ ซึ่งวิธีการรักษามีทั้งในรูปแบบจิตบำบัด และ/หรือการใช้ยารักษา 

ในขั้นต้นแพทย์จะคอยพูดคุยกับเราและประเมินความรุนแรงของอาการเศร้าว่า มีอาการเศร้าจากความสูญเสียรุนแรงแค่ไหน และมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยหรือไม่? หากมีอาการของโรคซึมเศร้าด้วยแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาต้านเศร้าร่วมกับจิตบำบัด แต่หากมีอาการไม่รุนแรงมากก็มักจะเน้นจิตบำบัดเป็นหลัก และสำหรับผู้ที่มีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น นอนไม่หลับ หรือเป็นโรคกระเพาะจากความเครียด รับประทานอาหารไม่ลง ก็จะจ่ายยาเพื่อรักษาอาการดังกล่าวควบคู่ไปด้วย

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการสูญเสีย

1. เราควรบอกหรือดูแลคนที่สูญเสียอย่างไร?

สำหรับผู้ที่มีบุคคลใกล้ตัวที่กำลังเผชิญกับความสูญเสีย เราสามารถรับฟังด้วยความเข้าใจ ไม่แสดงความเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินใด ๆ และคอยอยู่ข้าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่กำลังเผชิญกับความสูญเสียไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

2. ความโศกเศร้าจากการสูญเสียกับโรคซึมเศร้าต่างกันอย่างไร?

ความโศกเศร้าจากการสูญเสียเป็นอาการตอบสนองปกติเมื่อเกิดการสูญเสียสิ่งที่รักไป แต่โรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติทางจิตที่เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น สภาพแวดล้อม การเผชิญกับการสูญเสีย การเกิดเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจรุนแรง

 

เมื่อเข้าพบจิตแพทย์ด้วยอาการโศกเศร้า จิตแพทย์จะต้องวินิจฉัยแยกโรคซึมเศร้ากับอาการโศกเศร้าเสียก่อนโดยการใช้เกณฑ์ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-4) จึงจะสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

3. ความโศกเศร้าจากการสูญเสียจะอยู่กับเราไปนานแค่ไหน?

American Psychological Association (APA) ได้ระบุไว้เกี่ยวกับระยะเวลาของความโศกเศร้าว่ามักจะคงอยู่ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งความเศร้าจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่แท้จริงแล้วความโศกเศร้านั้นไม่ได้มีระยะเวลาที่แน่นอน บางคนอาจรู้สึกเศร้าเพียงไม่นาน หรือบางคนอาจรู้สึกเศร้านานเป็นปี อย่างไรก็ตามหากความเศร้าที่ต้องเผชิญหนักหนาจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้เข้าพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาจะดีที่สุด

สรุป การสูญเสีย… รับมือได้ 

การสูญเสียเป็นกฎของธรรมชาติที่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถหยุดได้ ดังนั้นการรับรู้และเข้าใจเรื่องการสูญเสียได้จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับความเศร้าและใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น แต่หากเรามีความเศร้าที่มากจนรับมือด้วยตัวเองไม่ไหว สามารถปรึกษากับจิตแพทย์ได้ 

ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัวสูง ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

 

Content powered by BeDee Expert

สิธยา อนุสนธิ์

นักจิตวิทยาคลินิก

APA Offers Tips for Understanding Prolonged Grief Disorder. (2021, September 22). American Psychiatric Association. https://www.psychiatry.org/news-room/news-releases/apa-offers-tips-for-understanding-prolonged-grief

 

Cleveland Clinic medical professional. (2023, February 22). Grief. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/24787-grief

 

Oates, JR. Maani-Fogelman, PA. (2023). Nursing Grief and Loss. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK518989/

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่พบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน บางคนที่เราเห็นยิ้มแย้ม อารมณ์ดี แต่ก็อาจจะป่วยด้วยกลุ่มโรคทางจิตเวช ที่เรียกว่า Smiling depression ได้เช่นกัน    ด้วยสังคมปัจจุบันที่มีความเครียดสูง ปัจจ

ความเครียดอยู่รอบตัวเราตลอดเวลาไม่ว่าจะเรื่องการเรียน การงาน การเงิน รถติด คนเยอะ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ทำให้เกิดความเครียดโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวได้ ความเครียดไม่ได้กระทบในด้านจิตใจเพียงเท่านั้นแต่ยังส่งผลถึงด้านร่างกายด้วย “ภาวะเครียดลงกระเพาะ” เป็นสิ