ซึมเศร้าเรื้อรัง

โรคซึมเศร้าเรื้อรัง คือ โรคซึมเศร้าอีกประเภทหนึ่งที่ถึงแม้ว่าอาการจะรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับโรคซึมเศร้าที่เรารู้จักกัน หากแต่บั่นทอนจิตใจของเราเป็นระยะเวลานานหลายปี จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเช่นเดียวกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ  เรามาทำความรู้จักโรคนี้กัน

สารบัญบทความ

ซึมเศร้าเรื้อรัง คือ

โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia หรือ Persistent Depressive Disorder (PDD)) คือความผิดปกติทางอารมณ์อย่างหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มภาวะซึมเศร้า (Depressive Disorders) ที่ถึงแม้ว่าอาการจะรุนแรงน้อยกว่า (เมื่อเทียบกับโรคซึมเศร้า หรือ Major Depressive Disorder) แต่ก็สามารถทำให้เกิดความทุกข์หรือส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันไม่แตกต่างจากโรคซึมเศร้า โดยโรคซึมเศร้าเรื้อรังนั้นจะกินระยะเวลานานอย่างน้อย 2 ปี ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังนี้อาจมีเพียงโรคซึมเศร้าเรื้อรังเพียงอย่างเดียวหรืออาจพบร่วมกันกับโรคซึมเศร้าได้ โดยโรคซึมเศร้าที่พบร่วมกันกับโรคซึมเศร้าเรื้อรังนั้นอาจเกิดคู่กันอย่างต่อเนื่องอย่างตลอดเวลาหรืออาจเกิดเป็นช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งได้ อาการที่สามารถพบได้ เช่น 

 

  • ความผิดปกติของอารมณ์ เช่น อารมณ์เศร้า ไม่มีความสุข หรืออารมณ์หงุดหงิด
  • ความผิดปกติของความคิด เช่น ขาดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกสิ้นหวัง ตัดสินใจไม่ได้  ความบกพร่องของสมาธิ
  • ความผิดปกติของการทำงานของร่างกาย เช่น ความผิดปกติของการกิน การนอน หรือเรี่ยวแรงที่ลดลง ซึ่งอาจพบได้น้อยกว่าโรคซึมเศร้า

ถึงแม้ว่าเมื่อเทียบโรคซึมเศร้าเรื้อรังกับโรคซึมเศร้าที่เรารู้จักกันแล้วนั้น  โรคซึมเศร้าเรื้อรังอาจจะถูกมองว่ารุนแรงน้อยกว่า แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเช่นกัน เพื่อบรรเทาความทุกข์และผลกระทบที่มีต่อการใช้ชีวิตที่เกิดขึ้น

ซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia) ต่างกับซึมเศร้าอย่างไร

ดังที่กล่าวไปข้างต้นถึงความแตกต่างในแง่ระยะเวลาและความรุนแรงระหว่างโรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia) และโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) ที่ตัวโรคซึมเศร้าเรื้อรังนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการที่รุนแรงน้อยกว่าโรคซึมเศร้า แต่จะมีอาการของโรคยาวนานอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งภายในระยะเวลาดังกล่าวนั้นก็อาจจะมีช่วงที่อาการดีขึ้นได้เช่นกัน แต่ช่วงเวลาที่อาการดีขึ้นนั้นจะไม่คงอยู่ต่อเนื่องนานเกิน 2 เดือน

 

ในทางกลับกันนั้น โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) จำเป็นที่จะต้องมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และอาการมักไม่ได้คงอยู่เป็นเวลานานต่อเนื่อง 2 ปีเฉกเช่นกับโรคซึมเศร้า (หากไม่มีภาวะอื่นร่วมด้วย)  เนื่องจากอาการของโรคซึมเศร้านั้นถึงแม้จะไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้วจะคงอยู่โดยเฉลี่ยประมาณ 6-13 เดือน ในขณะที่หากได้รับการรักษาที่เหมาะสมแล้วอาการมักจะลดลงได้ภายใน 3 เดือน นอกจากการรักษาจะช่วยย่นระยะเวลาโรคซึมเศร้าลงแล้วยังสามารถช่วยป้องกันการเกิดซ้ำของโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย เนื่องจากหากไม่ได้รับการรักษาและปล่อยให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นซ้ำ ๆ การกำเริบของโรคซึมเศร้าในครั้งต่อ ๆ ไปจะมีความรุนแรงและความถี่มากขึ้น

 

ปรึกษาอาการซึมเศร้าเรื้อรังกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง

สาเหตุของซึมเศร้าเรื้อรัง

โรคซึมเศร้าเรื้อรัง

ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้อย่างแน่ชัด แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ในปัจจุบันชี้ว่า อาจเกิดจากปัจจัยต่างหลายอย่างที่มีปฏิกริยาต่อกัน โดยสามารถจัดกลุ่มได้ดังนี้ 

 

  • ปัจจัยทางชีววิทยา

    • ระบบประสาทส่วนกลางมีความผิดปกติของการทำงานเชิงสรีรวิทยาและสมดุลของสารเคมี/สารสื่อประสาท ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้มีหลายส่วน เช่น 
      • ส่วนที่คล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า เช่น การนอนหลับที่มีการเคลื่อนไหวของลูกตาอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ (Decreased REM Latency) และมีความชุกที่สูงขึ้น (Increased REM Density) ในทั้งโรคซึมเศร้าและโรคซึมเศร้าเรื้อรัง
      • ส่วนที่แตกต่างกับโรคซึมเศร้า เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าเรื้อรังนั้นจะพบความผิดปกติในการทำงานของต่อมหมวกไตจาก Dexamethasone-suppression Test หรือ DST ได้น้อยกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
    • พันธุกรรม การศึกษาแฝดเหมือน (Twin Study) อธิบายการเกิดความผิดปกติของอารมณ์ได้ 50-70% ของสาเหตุความผิดปกติของอารมณ์ทั้งหมด
    • สารเสพติดและความผิดปกติทางกาย มีความสัมพันธ์ที่หลากหลายกับภาวะซึมเศร้า ตัวอย่างเช่น
      •  ภาวะซึมเศร้าเป็นผลโดยตรงจากความผิดปกติทางกาย เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก โรคพาร์กินสัน โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythymatosus) เป็นต้น
      • ภาวะซึมเศร้าเป็นปฏิกริยาทางจิตใจที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางกาย เช่น ความผิดปกติของรูปร่าง (Disfigurement) ความพิการ (Disability) เป็นต้น
      • ภาวะซึมเศร้าเป็นผลโดยตรงจากสารเสพติดยาที่ใช้รักษาความผิดปกติทางกาย เช่น แอลกอฮอล์ สารกระตุ้น (Stimulants) กัญชา ยาคุมกำเนิด ยาฆ่าเชื้อบางชนิด (เช่น Efavirenz) ยาลดความดันบางชนิด (Beta-blockers) เป็นต้น

  • ปัจจัยทางจิตสังคม

    • การรับรู้ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง (Cognitive Distortions) สามารถทำให้เกิดความทุกข์ได้ ซึ่งการรับรู้ของมนุษย์นั้นจะมีกรอบความคิด (Cognitive Schemas) ที่จำเพาะตัวบุคคล ซึ่งกรอบความคิดดังกล่าวนั้นเกิดจากการประสบการณ์เก่าของเราที่สะสมมา ตัวอย่างของการรับรู้กลุ่มนี้ เช่น 
      • การมีมุมมอง 2 ด้านเท่านั้น เช่น  ดีกับไม่ดี หรือ ขาวกับดำ เท่านั้น โดยไม่สามารถยอมรับการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะมีทั้งด้านที่ดีและด้านที่ไม่ดีได้ (Dichotomous Thinking) เช่น “ถ้าฉันสอบไม่ได้คะแนนเต็ม แปลว่าฉันเป็นคนไม่เก่ง”
      • การมองอนาคตในแง่ร้ายตลอดเวลา หรือการทำนายอนาคตแบบภัยพิบัติ (Catastrophizing) เช่น “ถ้าฉันสอบไม่ได้เต็ม อนาคตฉันจะไม่สามารถหางานอะไรทำได้เลย”
      • การเพิ่มคุณค่าหรือลดคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง (Magnification and Minimization) เช่น “การสอบครั้งนี้จะตัดสินชีวิตของฉัน” และ “ถ้าฉันสอบไม่ได้คะแนนเต็มแปลว่าความพยายามที่ผ่านมาของฉันมันไม่มีคุณค่า” ตามลำดับ
      • การแบกความรับผิดชอบที่นอกเหนือขอบเขตของตัวเอง หรือการแบกความรับผิดชอบที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง (Excessive Responsibility) เช่น “ฉันจะช่วยเพื่อนทำงานให้เสร็จก่อนที่จะเริ่มทำงานของตนเอง”
    • เคยประสบเหตุการณ์หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกสะเทือนใจ เกิดความเครียดอาจเป็นเหตุการณ์รุนแรง เช่น การสูญเสียคนรัก คนใกล้ชิด หรือปัญหาการทำงาน การเรียน ปัญหาด้านความสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจพบได้ในช่วงต้นของอาการเจ็บป่วย

อาการของซึมเศร้าเรื้อรัง

ผู้ป่วยอาจรู้สึกเศร้า หดหู่ หงุดหงิด วิตกกังวล หรือรู้สึกว่างเปล่าเกือบตลอดเวลา เกือบทุกวันในสัปดาห์ เป็นอย่างน้อย และอาจพบร่วมกับอาการดังนี้

  • สมาธิบกพร่อง หรือ มีความยากลำบากในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ 
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง
  • ความอยากอาหารน้อยลงหรือมากกว่าเดิม
  • นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
  • ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง 
  • รู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง

สำหรับผู้ใหญ่จะพบความผิดปกติของอารมณ์ข้างต้นร่วมกับอาการอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี และเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี สำหรับเด็กและวัยรุ่น

ทำแบบประเมินโรคซึมเศร้ากับพยาบาลที่แอป BeDee ไม่มีค่าใช้จ่าย 

การวินิจฉัยซึมเศร้าเรื้อรัง

การสัมภาษณ์ประวัติและการตรวจสภาพจิตโดยจิตแพทย์จึงยังคงเป็นมาตรฐานหลักในการวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าเรื้อรังรวมไปถึงโรคทางจิตเวชอื่น ๆ อีกด้วย (ยังไม่มีวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือรังสีวิทยาที่ช่วยในการวินิจฉัยภาวะทางจิตเวช) นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่อยู่กับภาวะซึมเศร้าเรื้อรังมานาน อาจจะทำให้แยกได้ลำบากว่าอาการดังกล่าวเป็นตัวโรคหรือเป็นตัวตนของตัวเอง การสัมภาษณ์และตรวจสภาพจิตโดยแพทย์นั้นจะช่วยให้ผู้ป่วยได้ประเมินอาการตนเองและวางแผนการรักษาร่วมกันได้ดีขึ้น

 

โดยเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าเรื้อรังในปัจจุบันนั้นจะใช้เกณฑ์ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 5th Edition, Text Revision (DSM-V-TR) ซึ่งเป็นของสมาคมจิตแพทย์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) และ International Classification of Disease, 11th Edition (ICD-11) ซึ่งเป็นขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) โดยทั้งสองเกณฑ์นั้นจะมีข้อแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น โรคซึมเศร้าเรื้อรังจะถูกเรียกว่า Persistent Depressive Disorder และ Dysthymic Disorder ใน DSM-V-TR และ ICD-11 ตามลำดับ

 

แต่สิ่งที่ทั้งสองเกณฑ์การวินิจฉัยไม่แตกต่างกัน คืออาการซึมเศร้านั้นจะต้องทำให้เกิดความเป็นทุกข์อย่างมีนัยสำคัญ หรือ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน และเนื่องจากอาการซึมเศร้านั้นสามารถที่จะเกิดได้จากยา สารเสพติด และโรคทางกายบางชนิด ดังที่กล่าวไปข้างต้น จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยแยกโรคดังกล่าวออกไป และนอกจากสาเหตุที่กล่าวไปนั้น อาการซึมเศร้ายังอาจเกิดขึ้นจากภาวะทางจิตเวช เช่น  กลุ่มความผิดปกติทางจิต (Psychotic Disorders) หรือ ความผิดปกติทางอารมณ์อื่นๆ (Cyclothymic Disorder, Bipolar Disorders) จึงจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยแยกโรคดังกล่าวนั้นจากภาวะซึมเศร้าเรื้อรังเช่นกัน

 

โดยภาวะซึมเศร้าเรื้อรังเองนั้น ยังมีความจำเป็นต้องแยกชนิดและความรุนแรง เพื่อประกอบการวางแผนการรักษาอีกด้วย ภาวะซึมเศร้าเรื้อรังนั้นอาจมีชนิดที่รุนแรงไม่แตกต่างจากซึมเศร้าทั่วไป (Persistent Major Depressive Episode) หรือ มีชนิดที่แม้อาการไม่รุนแรงเท่าโรคซึมเศร้าทั่วไป แต่ระยะเวลาการคงอยู่กลับเรื้อรัง (Pure Dysthymic Syndrome) นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มภาวะซึมเศร้าเรื้อรังที่พบร่วมกับอาการทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น มีภาวะวิตกกังวล มีอาการของกลุ่มโรคอารมณ์สองขั้ว หรือ มีอาการทางจิต (Psychotic Features) เป็นต้น

การรักษาซึมเศร้าเรื้อรัง

รักษาซึมเศร้าเรื้อรัง

เพื่อให้การรักษาซึมเศร้าเรื้อรังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด การรักษานั้นจำเป็นต้องมีการร่วมวางแผนและทำงานร่วมกัน ระหว่างผู้ป่วย จิตแพทย์ ร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ เช่น นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด เป็นต้นในบางกรณี โดยการรักษานั้นควรสอดคล้องไปกับแนวทางที่เป็นที่ยอมรับในสากลและมีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุน 

 

 

ตัวอย่างแนวทางดังกล่าวนั้น คือ คำแนะนำจากแนวทางเวชปฏิบัติของสหราชอาณาจักร (National Institute of Health and Care Exellence Guideline หรือ NICE Guideline) ฉบับปี ค.ศ. 2022 ซึ่งระบุองค์ประกอบการรักษาภาวะซึมเศร้าไว้ดังนี้

 

  • การรักษาทางจิตสังคม (Psychosocial Treatment)เช่น  จิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT)
  • การรักษาด้วยยา (Pharmacological Treatment) 
 

ในปัจจุบันการรักษาภาวะซึมเศร้าเรื้อรังนั้นมักใช้การรักษาควบคู่ด้วยยาและจิตบำบัด เนื่องจากผลของหลักฐานเชิงประจักษณ์ในปัจจุบันนั้นชี้ว่าการรักษาควบคู่กัน จะเพิ่มโอกาสการตอบสนองต่อการรักษา เพิ่มคุณภาพชีวิตและมีประสิทธิภาพคุ้มค่ามากกว่าการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว 

รักษาด้วยจิตบำบัด

การรักษาด้วยจิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นการรักษาทางจิตสังคมชนิดหนึ่ง โดยจิตบำบัดมีได้ทั้งแบบเดี่ยว หรือแบบกลุ่ม นอกจากนั้นยังมีจิตบำบัดทางเลือกผ่านการฝึกปฏิบัติด้วยตนเองภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญ (Guided Self-Help) อีกด้วย

 

 

สำหรับชนิดของจิตบำบัดนั้นมีหลากหลายด้วยกัน ตัวอย่างเช่น จิตบำบัดแบบความคิดและพฤติกรรม (CBT) ซึ่งเป็นการทำงานบนทฤษฎีที่มองว่า “พฤติกรรมในเหตุการณ์ใดๆของมนุษย์เรานั้น สัมพันธ์กับการรับรู้หรือการตีความเหตุการณ์ดังกล่าวมากกว่าตัวเหตุการณ์เอง และบ่อยครั้งที่การรับรู้เหล่านั้นอาจไม่ตรงกันกับความเป็นจริง (Validity) หรือเป็นการตีความที่ไม่มีประโยชน์ (Usefulness)” โดยในจิตบำบัดแบบ CBT นั้น จะเป็นการร่วมกันค้นหาการรับรู้/การตีความดังกล่าว ตรวจสอบว่ามันตรงกับความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน และร่วมกันหาทางตอบสนองต่อการรับรู้/การตีความนั้นอย่างยืดหยุ่นมากขึ้น โดยในปัจจุบันจิตบำบัดแบบ CBT นั้น มีหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับถึงประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่า 2,000 การศึกษา

 

 

นอกจาก CBT แล้ว ยังมีจิตบำบัดอีกมากมายที่มีหลักฐานว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าเรื้อรังได้ เช่น จิตบำบัดแบบสัมพันธภาพบุคคล (Interpersonal Therapy) การกระตุ้นพฤติกรรม (Behavioral Activation) หรือ การแก้ปัญหา (Problem-Solving Therapy) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จิตบำบัดในกลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้าเรื้อรั้งนั้นอาจมีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาและจำนวนครั้งมากกว่าจิตบำบัดสำหรับโรคซึมเศร้าทั่วไป

 

รักษาด้วยยา

ปัจจุบันยาต้านเศร้ามีหลากหลายชนิดด้วยกัน และยาต้านเศร้ากลุ่มใหม่ ๆ นั้นมีผลข้างเคียงต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มยาในอดีต โดยมีหลักฐานสนับสนุนประสิทธิภาพของยาว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้เทียบเท่าหรือไม่ด้อยไปกว่ากัน

 

สำหรับการเริ่มรักษาด้วยยาต้านเศร้านั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการประเมินโดยแพทย์ก่อนเริ่มรักษา เนื่องจากในการเลือกยานั้นต้องพิจารณาปัจจัยที่หลากหลาย อาทิ 

 

  • ลักษณะของโรค 
  • โรคร่วม 
  • ประวัติการตอบสนองและผลข้างเคียงจากยาต้านเศร้าในอดีต 
  • อันตรกิริยาของยา
  • ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
  • ความง่ายในการบริหาร
  • ราคาของยา 
 

ก่อนการเริ่มต้นรักษาด้วยยานั้น จะต้องมีการหารือกันระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย เกี่ยวกับข้อบ่งใช้ของยา, ทางเลือกในการรักษา เช่น การรักษาด้วยจิตบำบัดควบคู่ ชนิดของยาต้านเศร้า ขนาดของยาที่ใช้ แนวทางกับปรับขนาดยาเบื้องต้น ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากยา ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงความกังวลใด ๆ ของผู้ป่วยและครอบครัว

 

 

โดยยาต้านเศร้าที่ได้รับคำแนะนำให้เริ่มเป็นชนิดแรกคือยาในกลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs) ในหลายแนวทางเวชปฏิบัติ รวมไปถึง NICE Guideline ที่กล่าวถึงข้างต้นด้วย ซึ่งยากลุ่มนี้มีหลายชนิดด้วยกัน เช่น Fluoxetine Sertraline Escitalopram หรือ Paroxetine เป็นต้น ซึ่งถึงแม้ว่ายาทั้งหมดจะเป็นยาในกลุ่มเดียวกัน แต่ก็มีกลไกที่แตกต่างกันและมีข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกันใน SSRIs แต่ละตัว

 

 

โดยยาในกลุ่ม SSRIs นั้น ถึงแม้ว่าจะถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นยาต้านเศร้า แต่จริง ๆ แล้วมีการศึกษารองรับว่ายาดังกล่าวมีประสิทธิภาพในภาวะทางจิตเวชหลายอย่างด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากข้อบ่งใช้ที่หลากหลายของยากลุ่ม SSRIs ซึ่งรับอนุมัติโดย USFDA (องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐเมริกา) โดยตัวอย่างของข้อบ่งชี้จาก USFDA  เช่น โรควิตกกังวลไปทั่ว โรคแพนิค โรคย้ำคิดย้ำทำ กลุ่มอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน หรือแม้แต่ความผิดปกติของการกินบางชนิด เป็นต้น

 

 

ถึงแม้ว่าผลข้างเคียงเช่น ปากแห้ง หลงลืม หรือ ท้องผูก จะพบได้น้อยใน SSRIs เมื่อเทียบกับยาต้านเศร้ากลุ่มก่อน ๆ (เช่น TCAs หรือ MAOIs) มาก แต่ SSRIs เองก็มีผลข้างเคียงได้เช่นกัน โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRIs นั้นอาทิ 

 

  • เวียน ปวดศรีษะ 
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย 
  • ผลข้างเคียงทางเพศ ปัญหาความต้องการทางเพศที่ลดลง ปัญหาการแข็งตัว ปัญหาการหลั่ง/หล่อลื่น 
  • คุณภาพการนอนที่เปลี่ยนแปลง
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น  
 

อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงมีความรุนแรงที่หลากหลาย ตั้งแต่ไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ เลย ไปจนเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้ไม่สามารถทน (Tolerability) ต่อยาได้ โดยคนส่วนใหญ่มักมีอาการที่ไม่รุนแรงและเกิดอยู่ในระยะเวลาไม่นาน โดยผลข้างเคียงส่วนใหญ่มักหายไปภายในระยะเวลาหน่วยสัปดาห์ ดังนั้น การใช้ยาต้านเศร้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการติดตามและตรวจประเมินอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ และในบางครั้งนอกจากการสัมภาษณ์ประวัติและตรวจร่างกาย อาจจำเป็นต้องมีการตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมอีกด้วย 

 

 

อย่างไรก็ตามในบางครั้ง SSRIs อาจไม่ได้ถูกเลือกเป็นยาชนิดแรกในการรักษาภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีคุณสมบัติที่รักษาบางกลุ่มอาการได้ดีกว่าชนิดอื่นๆ ตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยมีอาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย อาจพิจารณาการใช้ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) ร่วมด้วย หรือ หากผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการนอนเด่น อาจพิจารณาการใช้ยา Mirtazapine หรือ Agomelatine เป็นต้น 

 

 

เนื่องจากกลไกของยาต้านเศร้านั้นจำเป็นต้องอาศัยการปรับสมดุลของสารเคมีและตัวรับในสมอง การตอบสนองของยาต้านเศร้านั้นจึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ ก่อนที่จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผลลัพธ์ที่เต็มที่ของยาชนิดและขนาดที่ใช้นั้นจะเห็นได้ที่ 4-6 สัปดาห์ ซึ่งหากเกิดการตอบสนองไม่เพียงพอ อาจมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการปรับขนาดยา เปลี่ยนชนิดยา ใช้ยาต้านเศร้าชนิดอื่นร่วม หรือเสริมด้วยยากลุ่มอื่น (Augmentation)

 

 

ปรึกษาการรักษาโรคซึมเศร้าเรื้อรังกับจิตแพทย์ที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไ่ม่ต้องเดินทาง

ซึมเศร้าเรื้อรังป้องกันได้ไหม

สำหรับใครที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังแต่กำลังกลัดกลุ้ม วิตกกังวล มีเรื่องไม่สบายใจ สามารถป้องกันหรือจัดการกับความกังวลดังกล่าวนั้นได้ด้วยตัวอย่างวิธีเหล่านี้ 

  • ตัวอย่างการเพิ่มวิธีการจัดการกับอารมณ์ที่เหมาะสม เช่น
    • การตระหนักรู้และยอมรับอารมณ์และความคิดเชิงลบที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการตัดสิน (Process of habitual accepting emotions and thoughts without judging them)
      • เนื่องจากมีการศึกษาที่พบว่าการยอมรับอารมณ์และความคิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในจิตใจเราโดยปราศจากเงื่อนไข สัมพันธ์กับอารมณ์เชิงลบที่ลดลงและสัมพันธ์กับสุขภาพจิตที่ดี ดีขึ้นภายในเดือนที่ 6 หลังจากใช้วิธีนี้ ในหลายครั้งเราสามารถที่จะมีอารมณ์เชิงลบตามมาจากอารมณ์เชิงลบอื่น ๆ อีกที (Feelings about feelings) เช่น รู้สึกไม่ดีที่มีความสุข หรือ รู้สึกไม่ดีที่ตัวเองโกรธ การยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้น จะช่วยลดภาระทางอารมณ์ลงมาได้ 
      • การยอมรับอารมณ์ ไม่ได้หมายถึงการที่เราจะแสดงออกของอารมณ์นั้นตามอำเภอใจในบางครั้งการถึงแม้ว่าการเกิดขึ้นของอารมณ์จะไม่อยู่ในการควบคุมของเรา แต่พฤติกรรมที่เราแสดงออกนั้นขึ้นอยู่กับตัวเราอย่างมาก ดังนั้นการรับรู้และยอมรับอารมณ์ของตนจะช่วยลดผลกระทบที่ตามมาได้ เช่น หากเรารู้สึกโกรธ เราอาจพยายามพูดเสียงเบาหรือหายใจลึก ๆ แทนการขึ้นเสียง
    • พูดคุยกับคนที่เราไว้ใจเกี่ยวกับอารมณ์หรือเรื่องที่ทำให้เราเป็นทุกข์
      • การสื่อสารด้วยคำพูด (เมื่อเราพร้อมที่จะพูดถึงความทุกข์นั้น) จะทำให้เราจัดระเบียบความคิดและทำความเข้าใจสถานการณ์ด้วยเหตุผลมากขึ้น และได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นอยู่ภายใน
    • การดำรงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคนใกล้ตัว (Social Support)
      • เนื่องจากมีการศึกษาว่าการสนับสนุนทางสังคมนั้นสามารถที่ช่วยปกป้องการเกิดภาวะซึมเศร้าได้ โดยการสนับสนุนนั้นจะแตกต่างตามช่วงอายุ เช่น ผู้ปกครอง ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น หรือ คู่ชีวิต ครอบครัว และเพื่อน ในกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
    • ออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ
      • เนื่องจากมีหลักฐานจากการศึกษาที่รายงานผลว่า หากผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้ารักษาด้วยการออกกำลัง 2 คน จะมีอย่างน้อย 1 คนที่มีอาการดีขึ้น โดยการออกกำลังนั้นจากการศึกษาแนะนำให้ออกในระดับความหนักปานกลาง เช่น การเดินเร็ว การทำสวน การเต้น เป็นต้น เป็นระยะเวลารวมกัน 150 นาที ต่อสัปดาห์เช่น การเดินเร็ว การทำสวน การเต้น เป็นต้น
    • การเพิ่มสัดส่วนของกิจกรรมที่ทำแล้วเกิดความภูมิใจหรือความสุข 
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
      • เนื่องจากมีหลักฐานว่าการปรับอาหารนั้นสามารถที่จะช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ โดยสิ่งที่เหมือนกันระหว่างแนวทางการปรับอาหารต่าง ๆ นั้น เช่น ลดการบริโภคอาหาร “ขยะ” หรือ “Junk Foods” ที่มี ไขมันสูง น้ำตาลสูง และเพิ่มการบริโภคอาหารที่มีกากใยสูง และมีสารอาหารสูง 
    • การนอนหลับที่เพียงพอ
      • เนื่องจากมีการศึกษาว่าการจัดการปัญหานอนไม่หลับในคนทั่วไปนั้นเป็นความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้า การนอนหลับให้เพียงพอและมีคุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยตัวอย่างวิธีการเพิ่มคุณภาพการนอน เช่น เข้านอน-ตื่นเป็นเวลา หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ Electronic ในห้องนอน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ คาเฟอีนเหล้า บุหรี่ ใกล้กับเวลานอน เป็นต้น
    • หมั่นสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง หากรู้สึกผิดปกติและไม่สามารถจัดการอารมณ์ความรู้สึกได้ ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์
  • ตัวอย่างวิธีการจัดการกับอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น
    • การใช้สารเสพติด
      • เช่น สุรา บุหรี่ กัญชา กระท่อม สารกระตุ้นต่างๆ เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างสารเสพติดและอาการะซึมเศร้า รวมถึงปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆ
    • การแยกตัว เก็บตัว
      • เนื่องจากมีการศึกษาที่พบว่า ความเหงา และการติดต่อกับญาติและเพื่อนฝูงที่น้อยลงสัมพันธ์กับอาการซึมเศร้า

ดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรังอย่างไร

ดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรัง

ในกรณีที่ยังไม่สามารถเข้ารับการดูแลความผิดปกติของอารมณ์โรคซึมเศร้าเรื้อรังโดยผู้เชี่ยวชาญหรือบุคลากรทางแพทย์ได้ การสนับสนุนทางสังคมเป็นปัจจัยที่ช่วยบรรเทาทุกข์ได้อย่างชัดเจน ดังนั้นเราทุกคนก็สามารถที่จะเป็นปัจจัยปกป้องเหล่านั้นให้คนรอบตัวและคนที่เรารักได้เช่นกัน โดยตัวอย่างของสิ่งที่สามารถทำได้มีดังนี้

 

1. พูดคุยและรับฟังผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรัง

สิ่งที่จำเป็นแต่มักถูกมองข้ามไปคือการรับฟังผู้อื่นที่กำลังเป็นทุกข์ โดยเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่เป็นทุกข์ได้สื่อสารอารมณ์และความคิดของตัวเอง โดยเทคนิคการสื่อสารที่สามารถทำได้นั้น เช่น 

  • การถามด้วยคำถามปลายเปิด
    • เช่น เปลี่ยนจากคำถามว่า “ตอนนี้เศร้าอยู่ใช่มั้ย” เป็น “ตอนนี้กำลังรู้สึกยังไงบ้าง”
  • การสะท้อนอารมณ์หรือความคิดที่ผู้ป่วยกำลังรู้สึกไม่ดีอยู่
    • เช่น “ดูเหมือนตอนนี้คุณกำลังรู้สึกเสียใจอยู่”
  • สื่อสารความเข้าใจของเราที่มีต่อความทุกข์ของผู้ป่วย
    • เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของผู้สื่อและผู้รับสารให้ตรงกัน
  • การสะท้อนด้านบวกที่เรามองเห็นในคนที่กำลังทุกข์อยู่ให้เขาทราบ
    • เช่น “ผมเข้าใจว่ามันไม่ง่ายเลยที่คุณต้องอยู่กับความรู้สึกเช่นนี้ ผมคิดว่าคุณเข้มแข็งมากที่คุณสู้กับมันและเลือกทำในสิ่งที่มีคุณค่าเช่นนี้”
  • การสื่อสารโต้ตอบที่จริงใจ
    • ความสอดคล้องระหว่างอารมณ์และความคิดที่เราแสดงออกมานั้นจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ป่วยแสดงออกได้มากขึ้น
 

รวมเคล็ดลับ วิธีคุยกับคนเป็นโรคซึมเศร้า รับมือให้เป็นก็เท่ากับช่วยเหลือ

 

 

2. ทำความเข้าใจผู้ป่วยกับสิ่งที่ผู้ป่วยกำลังรู้สึก 


    • ความเข้าใจในสิ่งที่ผู้ป่วยรู้สึกนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว บางครั้งเราอาจเข้าใจทางความคิดว่า “เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ เค้าเลยคิดเช่นนี้ และเค้าเลยรู้สึกเช่นนี้” ซึ่งนับเป็น Cognitive Empathy อย่างไรก็ตามมีความเข้าใจอีกชนิดหนึ่งที่แตกต่างจากความเข้าใจทางความคิดคือความเข้าใจทางความรู้สึก หรือ Emotional Empathy ซึ่งหมายความถึงการที่เรารู้สึกในสิ่งที่อีกฝ่ายรู้สึกด้วย
 

3. การยอมรับผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรังอย่างปราศจากเงื่อนไข 


    • เนื่องจากในหลายครั้ง ที่ภาวะซึมเศร้าทำให้ผู้ป่วยมีมุมมองต่อตัวเองในแง่ลบ ทำให้ไม่สามารถยอมรับตัวเอง รู้สึกโกรธตัวเอง การที่มีคนใกล้ตัวยอมรับในตัวตนและตัวโรคของผู้ป่วยโดยปราศจากการตัดสินและปราศจากเงื่อนไขจะช่วยบรรเทาอารมณ์เชิงลบได้
    • 1 ในข้อเท็จจริงที่คนใกล้ชิดควรเข้าใจนั้น คืออาการที่ผิดปกติไปจากเดิม ที่ผู้ป่วยแสดงออกมานั้นเป็นอาการของโรค ไม่ใช่การแกล้งทำและไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของผู้ป่วย 
 

4. สนับสนุน ให้กำลังใจผู้ป่วยในการรักษาซึมเศร้าเรื้อรัง

ญาติหรือผู้ใกล้ชิดอาจสนับสนุนและพิจารณาให้กำลังใจผู้ป่วยด้วยการไปพบแพทย์เป็นเพื่อนผู้ป่วย คอยอยู่เคียงข้างผู้ป่วย รับฟัง และสนับสนุนผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการรักษามากยิ่งขึ้น

 

5. คอยสนับสนุนให้ผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรังดำเนินชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

เนื่องจาก 1 ในอาการของโรคซึมเศร้านั้นคือ ความอ่อนล้า (Fatigue) ดังนั้นเพียงการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยนั้นก็จำเป็นต้องใช้ความพยายามอย่างมากหรืออาจต้องฝืนเป็นอย่างมาก ดังนั้นการกระตุ้นให้เกิดกิจวัตรประจำวัน (Behavioral Activation) เท่าที่ผู้ป่วยสามารถทำได้นั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง และชวนผู้ป่วยมองว่าหากเทียบกับระหว่างการอยู่เฉย ๆ กับการที่มีกิจกรรมนั้น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

คำถามที่พบบ่อย(FAQ)เกี่ยวกับซึมเศร้าเรื้อรัง

ซึมเศร้าเรื้อรัง อันตรายไหม?

เป็นคำตอบที่ตอบได้ยากเนื่องจากนิยามของ “อันตราย” สำหรับแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน สำหรับนิยามของอันตรายทางการแพทย์นั้นเราจะมองถึง อันตรายต่อสุขภาพหรือชีวิตของผู้ป่วยหรือผู้อื่น ซึ่งถึงแม้ว่าเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าเรื้อรังอาจจะไม่ได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความคิดและพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย แต่ประเด็นเหล่านี้ก็สามารถพบได้ในผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรังบางกลุ่มเช่นกัน นอกจากเรื่องความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ซึมเศร้าเรื้อรังก็อาจจะส่งผลต่อการเรียน/การทำงาน/การใช้ชีวิต ซึ่งก็เป็นอันตรายได้เช่นกัน

เป็นซึมเศร้าเรื้อรังพร้อมกับโรคซึมเศร้าได้หรือไม่?

โรคซึมเศร้าเรื้อรังสามารถพบร่วมกับโรคซึมเศร้าได้ โดยมีการศึกษาผู้ป่วยซึมเศร้าในประเทศไทย จำนวน 190 คน พบว่าประมาณ ⅕ ของผู้ป่วยซึมเศร้าทั้งหมดจะมีภาวะซึมเศร้าเรื้อรังร่วมด้วย โดยโรคซึมเศร้าที่พบร่วมกันกับโรคซึมเศร้าเรื้อรังนั้นอาจมีเกิดคู่กันอย่างต่อเนื่องอย่างตลอดเวลา หรืออาจเกิดเป็นช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งได้ตามแนวทางการวินิจฉัยของ DSM-V-TR

สรุปเรื่องซึมเศร้าเรื้อรัง

โรคซึมเศร้าเรื้อรังแม้จะรุนแรงน้อยกว่าโรคซึมเศร้า แต่ส่งผลให้เกิดความทุกข์และผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเป็นระยะเวลายาวนานหลายปี จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปครับ

 

Content powered by BeDee’s experts

น.พ. ชนาธิป ทองยงค์ 

จิตแพทย์ทั่วไป

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

  1. American Psychiatric Association. (2022). Diagnostic and statistical manual of mental disorders (5th ed., text rev.). https://doi.org/10.1176/appi.books.9780890425787

  2. Depression in adults: treatment and management. London: National Institute for Health and Care Excellence (NICE); 2022 Jun 29. (NICE Guideline, No. 222.) Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK583074/

  3. Beck Institute for Cognitive Behavior Therapy. (2022, June 17). Understanding CBT | Beck Institute. Beck Institute. https://beckinstitute.org/about/understanding-cbt/

  4. Kennedy, S. H., Lam, R. W., McIntyre, R. S., Tourjman, S. V., Bhat, V., Blier, P., Hasnain, M., Jollant, F., Levitt, A. J., MacQueen, G. M., McInerney, S. J., McIntosh, D., Milev, R. V., Müller, D. J., Parikh, S. V., Pearson, N. L., Ravindran, A. V., Uher, R., & CANMAT Depression Work Group (2016). Canadian Network for Mood and Anxiety Treatments (CANMAT) 2016 Clinical Guidelines for the Management of Adults with Major Depressive Disorder: Section 3. Pharmacological Treatments. Canadian journal of psychiatry. Revue canadienne de psychiatrie, 61(9), 540–560. https://doi.org/10.1177/0706743716659417

  5. Antidepressants: Get tips to cope with side effects. (2019, September 12). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/depression/in-depth/antidepressants/art-20049305

รักษาซึมเศร้าเรื้อรังที่ไหนดี

รักษาซึมเศร้าเรื้อรังที่ไหนดี

การดูแลผู้ป่วยจิตเวชนั้นมีหลายกระบวนการด้วยกัน ซึ่งประกอบไปด้วย การวินิจฉัย (Diagnosis) การวินิจฉัยแยกโรค การประเมินทางจิตวิทยา และการตรวจประเมินทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งในการประเมินความผิดปกติทางอารมณ์เบื้องต้นสามารถประเมินได้โดยแพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป หรือประเมินโดยจิตแพทย์ ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามในบางกรณีที่อาการนำมีความซับซ้อน อาการทางจิตรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อผลการรักษา มีโรคร่วมทางจิตเวชหรือทางกายหลายอย่าง การดูแลร่วมกับจิตแพทย์และสหวิชาชีพ (Multidisciplinary Team) จะมีความจำเป็นมากกว่า 

 

ในช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัสนั้นได้มีการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) อย่างก้าวกระโดด ซึ่งรวมไปถึงจิตเวชทางไกลด้วย (Telepsychiatry) เช่นกัน ซึ่งได้มีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มการเข้ารับบริการทางจิตเวชให้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกมากขึ้น 

 

ถึงแม้ว่า Telepsychiatry จะมีข้อจำกัดบางประการและอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยในบางกลุ่ม เช่นในกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการได้ยิน ข้อจำกัดในการมองเห็น ข้อจำกัดในการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีความภาวะผิดปกติทางกายที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกายหรือตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยละเอียด แต่ Telepsychiatry เองก็มีหลักฐานว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการทางจิตเวช สามารถเพิ่มความร่วมมือในการรักษา และอัตราการรับบริการตามนัด ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเปิดเผยตัวต่อคนอื่น  และสร้างความพึงพอใจของผู้รับการบริการได้

 

BeDee มีทีมจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษาทุกวัน สะดวก ไม่ต้องเดินทาง เพียงทำนัดล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน BeDee ตามเวลาที่คุณสะดวก ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากเครือ BDMS พร้อมช่วยเหลือคุณทุกวัน สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

บทความที่เกี่ยวข้อง

แบบประเมินความเครียดเป็นเครื่องมือคัดกรองโรคเครียดรูปแบบหนึ่ง เวลาที่เราเครียดเรามักประเมินความเครียดในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็สังเกตจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่นนอนไม่หลับ, ปวดหัวเรื้อรัง, กรดไหลย้อน, ท้องอืด เป็นต้น หรือประเมินควา

ความเครียดอยู่รอบตัวเราตลอดเวลาไม่ว่าจะเรื่องการเรียน การงาน การเงิน รถติด คนเยอะ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ทำให้เกิดความเครียดโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวได้ ความเครียดไม่ได้กระทบในด้านจิตใจเพียงเท่านั้นแต่ยังส่งผลถึงด้านร่างกายด้วย “ภาวะเครียดลงกระเพาะ” เป็นสิ