โรคเครียดสะสม

ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นวัยเรียน วัยทำงาน ต้องพบเจอสถานการณ์หลากหลายรูปแบบ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่อาจทำให้ได้รับแรงกดดัน จนเกิดเป็นความเครียดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในแต่ละกรณีก็อาจจะมีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่หากเป็นความกดดันที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และไม่สามารถสลัดความกังวลออกไปได้จนมีอาการเครียดไม่รู้ตัวเป็นระยะเวลานาน อาจกลายเป็นโรคเครียดสะสมที่ก่อให้เกิดภาวะอื่น ๆ ตามมาได้

 

หากสงสัยว่าตัวเรากำลังมีความเครียดสะสมอยู่หรือไม่ มีอาการอะไรเข้าข่ายที่จะเป็นโรคนี้บ้าง มีวิธีรักษาโรคเครียดสะสมอย่างไร บทความนี้จะพาคุณทำความเข้าใจและรู้จักกับโรคเครียดสะสมว่ามีสาเหตุมาจากอะไร อาการของคนเครียดสะสมเป็นยังไง และจะสามารถรักษาได้อย่างไร มาเช็กดูกันเลย

สารบัญบทความ

ทำความรู้จักกับโรคเครียดสะสม 

โรคเครียดสะสม (Adjustment Disorder) เป็นโรคทางอารมณ์ที่เกิดจากการได้รับความกดดันจากสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการเรียน, การงาน, การเงิน, ในครอบครัว, เพื่อน, คนรัก, ความผิดหวังในเรื่องต่าง ๆ จนเกิดเป็นความเครียด ความเครียดอาจแสดงออกเป็นความวิตกกังวล ความเศร้า คิดวนเวียนกับเรื่องเดิมซ้ำ ๆ สลัดความเครียดออกไปไม่ได้ ความสามารถในการคิดและตัดสินใจแย่ลง จนนับไปสู่การดำเนินชีวิตที่ผิดปกติ เรียนหรือทำงานได้แย่ลง รวมทั้งบางครั้งอาจมีอาการทางกาย มีปัญหาสุขภาพบ่อยครั้งทั้งที่ปกติเป็นคนแข็งแรง 

 

นอกจากความเครียดจากภายนอก พฤติกรรมและทัศนคติของตนเองอาจส่งผลให้เกิดเป็นความเครียดสะสมได้ เช่น การกดดันตนเอง โดยที่ครอบครัวหรือคนรอบตัวอาจไม่ได้กดดันเลย มีความคาดหวังในตัวเองสูง มีบุคลิกแบบเพอร์เฟคชันนิสต์ หรือบุคลิกสมบูรณ์แบบโดยไม่ยืดหยุ่น สามารถทำให้ย้ำคิดย้ำทำในเรื่องที่กำลังทำซ้ำ ๆ จนเกิดเป็นภาวะเครียดสะสมที่ไม่สามารถทำให้ไปถึงจุดที่ตัวเองพอใจได้

 

ซึ่งโรคเครียดสะสมนี้สามารถนำไปสู่โรคที่มีภาวะทางอารมณ์อื่น ๆ รวมถึงโรคทางร่างกายได้ หากอาการรุนแรงก็จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อตนเอง และคนรอบข้างตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง ดังนั้น หากเริ่มมีอาการเครียดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ควรสำรวจตัวเอง หรือปรึกษาแพทย์ว่ากำลังเข้าข่ายที่จะมีภาวะเครียดสะสมหรือไม่

สัญญาณที่กำลังบอกว่าคุณเป็นโรคเครียดสะสม มีอะไรบ้าง

สัญญาณของความเครียดสะสม

หากกำลังเริ่มสังเกตตัวเองว่ามีความเครียดสะสมจนมากเกินกว่าปกติ ซึ่งอาการเหล่านั้นอาจกลายเป็นโรคเครียดไม่รู้ตัวได้ ดังนั้นในหัวข้อนี้ Bedee แนะนำให้คุณสังเกตตนเองว่ามีอาการซึ่งเป็นสัญญาณของโรคเครียดสะสมเหล่านี้หรือไม่

พฤติกรรมเปลี่ยนไป

เมื่อเกิดอาการเครียดสะสม พฤติกรรมที่แสดงออกผ่านอารมณ์ก็จะเปลี่ยนไป เช่น ปกติเป็นคนร่าเริง สดใส มองโลกในแง่ดี อาจกลายเป็นคนนิ่ง เงียบ ไม่พูด ทั้งที่อาจจะไม่ได้มีเรื่องกระทบจิตใจในวันนั้น ๆ มีอาการเบื่อง่าย ขี้กังวลมากกว่าเดิม ความต้องการทางเพศลดลง เหม่อลอย มักจะแสดงสีหน้าเศร้า หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน บางคนอาจมีอาการดึงผมตัวเอง กัดเล็บ ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะทำโดยที่ไม่รู้ตัว

 

ในกรณีของคนที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ ก็อาจจะดื่มและสูบบุหรี่มากขึ้น หากไม่รีบแก้ไขอาจทำให้เกิดอาการติดสุรา และสูบบุหรี่เรื้อรังจนเลิกได้ยากขึ้น

พฤติกรรมการนอนไม่เหมือนเดิม

ลองสังเกตตัวเองว่านอนหลับยากขึ้น มีอาการนอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไปหรือไม่ รวมถึงการตื่นนอนกลางดึกบ่อย ๆ หรือตื่นเร็วกว่าปกติ ซึ่งนอกจากปัญหาเหล่านี้จะเป็นอาการความเครียดสะสมแล้ว ยังเป็นปัญหาที่นำไปสู่โรคนอนไม่หลับที่จะส่งผลต่อสุขภาพมากมายอีกด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, ภูมิคุ้มกันต่ำ, การเจ็บป่วยง่ายขึ้น เป็นต้น

ความเครียดเริ่มส่งผลต่อร่างกาย

เมื่อเครียดสะสมมาก ๆ สามารถส่งผลต่อร่างกายได้เช่นกัน เนื่องจากความเครียดมีความเกี่ยวข้องกับระบบประสาทและฮอร์โมน ดังนั้นระบบต่าง ๆ ในร่างกายซึ่งถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติก็จะได้รับผลกระทบ แสดงออกมาเป็นอาการเช่น การหายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจถี่ขึ้น หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัว ในบางคนอาจปวดหัวเรื้อรัง สมองล้า สายตาเบลอ

 

นอกจากนี้ความเครียดอาจทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งจนทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดคอบ่าหลัง มีปัญหาลำไส้หดเกร็ง ปวดท้อง ท้องร่วงหรือท้องผูกบ่อยกว่าปกติ และอาเจียน รวมถึงการกินที่มากกว่าปกติ หรือเบื่ออาหาร ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว

ความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดลง

ความเครียดนั้นส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาท ดังนั้นนอกจากจะแสดงออกในด้านพฤติกรรมทางร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่อความสามารถในการทำงานหรือการตัดสินใจด้วย เช่น ทำงานช้าลง, ความสามารถในการตัดสินใจรับมือ การแก้ปัญหาลดลงจนส่งผลให้ทำงานผิดพลาด, ขี้ลืม, ไม่มีแรงบันดาลใจ, ไม่มีสมาธิ หรือจับจุดโฟกัสได้ยาก

เริ่มคิดถึงเรื่องความตาย

อาการเครียดสะสมนั้นจะเต็มไปด้วยความกังวล ความคิดในแง่ลบมากมาย จนอาจส่งผลให้มีการคิดถึงเรื่องความตาย ซึ่งนำไปสู่อาการซึมเศร้าเรื้อรังได้

 

หากพบว่าตัวเองมีอาการดังนี้ต่อเนื่อง หรือเป็น ๆ หาย ๆ เป็นระยะเวลานาน ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ทันที เพราะยิ่งรู้ตัวเร็วยิ่งเป็นผลดีต่อตนเองและป้องกันโรคอื่น ๆ ตามมาด้วย

 

 

ทำแบบประเมินความเครียดกับพยาบาลที่แอป BeDee ไม่มีค่าใช้จ่าย

เครียดสะสมนำไปสู่โรคอะไรได้บ้าง

เครียดสะสมเสี่ยงโรค

โรคเครียดสะสมเป็นภาวะทางอารมณ์ซึ่งมีอาการที่คล้ายกัน การที่เราเครียดสะสมเป็นระยะเวลานานจึงสามารถนำไปสู่โรคอื่น ๆ ทางอารมณ์ได้ รวมถึงพฤติกรรมต่าง ๆ และอาการเจ็บปวดทางร่างกายก็จะส่งผลให้เกิดโรคทางกายเพิ่มเติมได้เช่นกัน ซึ่งในบางโรคอาจส่งผลในระยะยาว จนถึงอันตรายต่อชีวิตได้

 

โรคทางอารมณ์ที่อาจเกิดจากอาการเครียดสะสม

 

โรคทางกายที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการเครียดสะสม 

  • โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
  • โรคเครียดลงกระเพาะ (Nervous stomach)
  • โรคหัวใจ (Heart Disease)
  • โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
  • โรคไมเกรน (Migraine)
  • โรคมะเร็ง (Cancer)
  • โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)
  • หลอดเลือดหัวใจตีบ (Angina Pectoris)
  • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Ischemic Cardiomyopathy)
  • โรคอ้วน (Obesity)
  • โรคเบาหวาน (Diabetes)

 

โรคทางกายเหล่านี้อาจเกิดขึ้นผ่านกระบวนการที่ความเครียด หรือการเพิ่มขึ้นของสารความเครียด ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันต่ำลง เปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในร่างกาย หรือการกินที่ไม่เหมาะสม การเผาผลาญและการหลั่งกรดเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ความเครียดอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมแก้เครียด เช่น ดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ ซึ่งสัมพันธ์กับโรคได้หลายโรค

วิธีรักษาโรคเครียดสะสม

โรคเครียดสะสมนั้นสามารถรักษาได้ หากพบว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายโรคเครียดสะสม แนะนำว่าควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการรักษา โดยวิธีรักษาโรคเครียดสะสมมีดังนี้

ยา

ยาที่ใช้รักษาโรคเครียดสะสมนั้น จะแบ่งไปตามการวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย เช่น ยาลดความวิตกกังวล ยาต้านเศร้า ยานอนหลับสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการนอนหลับ และในกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการทางร่างกายด้วย แพทย์อาจใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดกรดในกระเพาะ, ยาความดันโลหิต, ยาคลายกล้ามเนื้อ, ยารักษาความแปรปรวนในทางเดินอาหาร เป็นต้น

 

แต่การใช้ยารักษานั้นเป็นการรักษาด้วยปลายเหตุ จะใช้ในกรณีอาการรุนแรงที่เริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน โดยการใช้ยาจะต้องควบคู่กับการรักษาโดยจิตบำบัดเพื่อให้การรักษาสามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้ด้วย

จิตบำบัดกับจิตแพทย์

การปรึกษาจิตแพทย์เป็นหนึ่งในวิธีรักษาอาการเครียดสะสม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในปัจจุบันที่เราจะเข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์ เพราะผู้ป่วยจะได้พูดคุย ระบาย ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายใจมากขึ้นเมื่อมีคนรับฟังปัญหาและช่วยหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เจอไปพร้อมกัน

 

นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่อาการค่อนข้างรุนแรงและมีโรคซึมเศร้าแทรกซ้อนด้วย อาจจะใช้การกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้ากระแสตรงอย่างอ่อน เพื่อให้การหลั่งของสารสื่อประสาทในสมองทำงานปกติ

 

ปรึกษาการรักษาโรคเครียดสะสมกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่แอป BeDee สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องลางาน เป็นส่วนตัว

เมื่อเครียดสะสมควรดูแลตัวเองอย่างไร

วิธีรักษาโรคเครียดสะสม

เมื่อมีภาวะเครียดสะสม นอกจากการรักษากับแพทย์โดยตรงแล้ว สิ่งที่สำคัญคือตัวผู้ป่วยต้องพยายามดูแลตัวเอง ทั้งด้านความคิด จิตใจ และร่างกาย เนื่องจากโรคเครียดสะสมนั้นเป็นโรคที่เกิดจากอารมณ์ซึ่งเราอาจพบเจอจากสิ่งกระตุ้นที่ไม่ดีรอบตัว หรือตัวเราเองก็ได้เช่นกัน ดังนั้นเราควรดูแล และให้เวลากับตัวเองสักเล็กน้อยเพื่อเริ่มทำตามวิธีจัดการความเครียดดังนี้

  • พยายามคิดบวกอยู่เสมอ
  • เมื่อเกิดความเครียด ให้พยายามนึกถึงสาเหตุของปัญหา และค่อย ๆ แก้ไขปัญหานั้นโดยไม่กดดันตัวเอง
  • ฟังเพลงที่ชอบเพื่อผ่อนคลาย ให้เวลาตัวเองทำงานอดิเรก ดูหนัง ออกกำลังกาย
  • ให้อภัยตัวเอง ผิดพลาดบ้างเล็กน้อยได้ไม่เป็นไร
  • จัดบรรยากาศรอบตัวใหม่ เช่น เปลี่ยนมุมโต๊ะทำงาน จัดบ้าน การจัดแจงสิ่งใหม่ ๆ นั้นนอกจากจะคลายเครียดได้แล้ว ยังสามารถลดอาการเบื่อและความจำเจที่ต้องเจอทุกวัน
  • ออกไปท่องเที่ยวผ่อนคลาย เดินเล่นสวนสาธารณะ ไปคาเฟ่สวย ๆ 
  • แบ่งเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนให้ชัดเจน (Work Life Balance)
  • ไปพบปะเพื่อนฝูง หรือใช้เวลากับครอบครัว
  • พยายามไม่เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น
  • หากมีสัตว์เลี้ยง ลองใช้เวลากับสัตว์เลี้ยง หรือทำอาหารที่มีประโยชน์ต่อสัตว์ นอกจากจะเพลิดเพลินแล้ว เวลาที่เห็นสัตว์เลี้ยงกินอาหารที่เราทำก็จะรู้สึกมีความสุขด้วย
  • สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ควรลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มและสูบ

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคเครียดสะสม

1. เครียดสะสมสามารถนำไปสู่การเป็นซึมเศร้าได้หรือไม่?

อาการเครียดสะสมสามารถนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ เนื่องจากทั้งสองโรคนี้มีภาวะทางอารมณ์ที่เหมือนกันคือ ความคิดลบ ความเครียดซ้ำไปซ้ำมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา หรือการบำบัดที่ถูกต้องก็สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

2. ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคเครียดสะสม? 

โรคเครียดสะสมสามารถเกิดได้ตั้งแต่วัยเรียนจนไปถึงวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะวัยทำงาน ซึ่งจะมีปัจจัยความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง ดังนี้

  • ผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัวเพียงคนเดียว
  • ผู้ประสบปัญหาทางการเงิน
  • ผู้ที่มีความกดดันสูงในด้านการเรียนจากครอบครัว
  • ผู้ที่มีบุคลิกต้องการความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) แบบไม่ยืดหยุ่น
  • ผู้ที่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับครอบครัว คนรัก

3. อาการเครียดสะสมแบบใดที่ควรไปพบแพทย์? 

หากเริ่มมีอาการเครียดที่ไม่สามารถควบคุมได้ และมักจะเครียดซ้ำ ๆ สะสมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน รู้สึกไม่มีความสุข เริ่มมีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน มีปัญหากับคนรอบข้างและการทำงาน รู้สึกหาทางออกไม่ได้ อาการเหล่านี้ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาถึงแนวทางการรักษา

4. เครียดแล้วนอนไม่หลับทำอย่างไรดี?

เมื่อเครียดจนนอนไม่หลับ อาจลองใช้วิธีธรรมชาติ เช่น การดื่มนมอุ่น หรือกล้วยหอมก่อนนอน เนื่องจากในนมและกล้วยหอมมีกรดอะมิโนทริปโตเฟน (Tryptophan) ที่เปลี่ยนไปเป็นสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งช่วยในการทำให้ผ่อนคลาย ช่วยคลายเครียด และยังช่วยให้การนอนหลับเป็นปกติ

 

หรืออาจจะใช้การฟังเพลงเบา ๆ ผ่อนคลายสมอง จัดห้องให้แสงเข้าน้อยและมืดมากที่สุด ปรับอุณหภูมิให้เย็นพอดี ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป ก็จะช่วยในการนอนหลับได้

 

ที่สำคัญไม่ควรฝืนข่มตาหลับ หากนอนไม่หลับจริง ๆ ให้ลุกขึ้นมาเดินยืดเส้นยืดสาย อ่านหนังสือ วาดรูป ใช้การหายใจช่วยให้รู้สึกง่วง แล้วค่อยกลับไปนอนได้เช่นกัน

สรุปโรคเครียดสะสม ภัยเงียบทางอารมณ์ ยิ่งรู้ตัวเร็วยิ่งดี 

โรคเครียดสะสมนั้นมักจะเกิดได้โดยที่ไม่รู้ตัว ด้วยยุคปัจจุบันที่การแข่งขันสูง ความกดดันมีมากมายหลายทาง ส่งผลให้เกิดภาวะทางอารมณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากมีอาการเครียดสะสมและปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน อาจนำไปสู่โรคอื่น ๆ อีกมากมายที่เกิดจากความเครียดนี้ รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับครอบครัว คนรอบข้างอาจหายไปได้

 

เมื่อมีอาการเครียดและส่งผลต่อปัญหาทางพฤติกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะนอนไม่หลับ กินมากหรือน้อยเกินไป เบื่ออาหาร ความสามารถในการทำงานลดลง ควรที่จะลองปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะตรวจสอบว่าเข้าข่ายโรคเครียดสะสมหรือไม่ เพราะยิ่งรู้ตัวเร็วเท่าไหร่ก็จะรักษาได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น

 

แต่สิ่งที่สำคัญในการเอาชนะความเครียดเพื่อที่จะไม่นำไปสู่โรคเครียดสะสมนั้น คือการพยายามมองโลกในแง่บวก วิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาที่ทำให้เกิดความเครียด ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป พยายามไม่เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น ไม่โทษตัวเองหากทำผิดพลาด เพราะไม่ว่าปัญหาจะใหญ่หรือจะเล็กนั้นมีทางออกเสมอ พยายามมีสติและคิดหาวิธีรับมือ มีความสุขกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวัน ดูสื่อตลกคลายเครียด สนุกไปกับงานอดิเรกหรือลองหาอะไรใหม่ ๆ ท้าทายตัวเอง

 

ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัวสูง ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

 

Content powered by BeDee Expert

พญ.พันตรี เกิดโชค

จิตแพทย์

Mayo Clinic Staff. (2023, July 06). Adjustment Disorders – Symptoms and Causes. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/adjustment-disorders/symptoms-causes/syc-20355224#:~:text=Adjustment%20disorders%20are%20excessive%20reactions,as%20at%20work%20or%20school.

 

Adjustment Disorders. (2023, December 14). Johns Hopkins Medicine. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/adjustment-disorders

 

Fred K. Berger, (2022, April 30). Adjustment Disorder. MedlinePlus. https://medlineplus.gov/ency/article/000932.htm

บทความที่เกี่ยวข้อง

มีพบก็ต้องมีจาก… การสูญเสียบุคคลหรือสิ่งที่รัก เช่น บุคคลที่เรารัก หรือสัตว์เลี้ยง เมื่อถึงเวลาหนึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องพบเจอเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราได้ตลอดไป แม้แต่ตัวเราเองก็ตาม แต่การสูญเสียส่งผลกระทบต่อจิตใจไม่น้อย โดยเฉพาะการสู

สัญญาณเตือนภาวะหมดไฟในการเรียน เช่น รู้สึกเหนื่อย อ่อนล้าทั้งกายและใจ นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ วิตกกังวล รู้สึกกดดัน อาการหมดไฟในการเรียนอาจทำให้เกิดภาวะเครียดเรื้อรัง อารมณ์หม่นหมอง หรืออาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้ การปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป