ไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้า

โรคไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่พบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน บางคนที่เราเห็นยิ้มแย้ม อารมณ์ดี แต่ก็อาจจะป่วยด้วยกลุ่มโรคทางจิตเวช ที่เรียกว่า Smiling depression ได้เช่นกัน 

 

ด้วยสังคมปัจจุบันที่มีความเครียดสูง ปัจจัยด้านครอบครัว ความสัมพันธ์และปัญหาอื่น ๆ ที่อาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยในกลุ่มจิตเวชเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นยังสะท้อนถึงการรู้ทันอาการของตัวเอง การตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับสุขภาพใจของสังคมมากขึ้น ไบโพล่าร์กับโรคซึมเศร้าเป็นโรคทางทางด้านอารมณ์เหมือนกัน แต่ทั้งสองโรคนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร จะสังเกตได้อย่างไร และเมื่อไหร่จึงควรไปพบนักจิตวิทยา กับ จิตแพทย์ ?

สารบัญบทความ

ทำความเข้าใจไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้า

ไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้า ต่างกันไหม

ไบโพลาร์

โรคไบโพลาร์ (Bipolar Spectrum Disorders) หรือ กลุ่มโรคอารมณ์สองขั้ว คือโรคที่ผู้ป่วยมีอารมณ์ผิดปกติอย่างเด่นชัด ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์ดีหรืออารมณ์หงุดหงิดมากจนผิดปกติ และสามารถพบร่วมกันกับอารมณ์เศร้าและอาการต่าง ๆ ของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน ซึ่งการแสดงออกของแต่ละขั้วอารมณ์นั้นจะยาวนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ และสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างรุนแรงรวมถึงนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้

โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder)เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์อิพิเนฟริน และโดปามีน สาเหตุของโรคซึมเศร้าสามารถเกิดจากทั้งพันธุกรรม เช่น ผู้ป่วยที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคทางด้านอารมณ์ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป และเกิดจากสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดูของครอบครัว ซึ่งตัวกระตุ้นอาจจะมาจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ จนส่งผลทำให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้ การป่วยเป็นโรคทางกายต่างๆ เช่น ไทรอยด์ ลมชัก สมองเสื่อม หรือยารักษาโรคบางชนิดที่คนไข้รับประทาน ยาเสพติด หรือโรคทางด้านจิตเวชอื่น ๆ หรือแม้แต่อาการซึมเศร้าหลังคลอด อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าเช่นกัน

อาการของไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้า

อาการไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้า

โรคไบโพล่าร์กับโรคซึมเศร้ามีอาการที่แตกต่างกัน สามารถสังเกตได้เบื้องต้นดังนี้

อาการโรคซึมเศร้า 

อาการของโรคซึมเศร้าประกอบไปด้วยกลุ่มอาการของอารมณ์ ความคิด พฤติกรรม ในลักษณะที่เป็นลบ หรือ น้อยเกินกว่าปกติ

  • อารมณ์เศร้า ท้อ เกือบทั้งวัน และเกือบทุกวัน
  • ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เคยชอบ (ภาวะสิ้นยินดี)
  • น้ำหนักลด หรือ เพิ่ม โดยที่ไม่ได้ตั้งใจเปลี่ยนอาหาร
  • นอนไม่หลับ หรือ นอนมากเกินปกติ
  • ไม่อยากทำอะไร
  • เหนื่อยเพลียง่าย
  • รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิดง่าย
  • ไม่มีสมาธิ
  • มีความคิดไม่อยากอยู่ต่อ อยากตาย

อาการไบโพลาร์ 

อาการ bipolar disorder ประกอบไปด้วยกลุ่มอาการของอารมณ์ ความคิด พฤติกรรม ในลักษณะที่มากเกินกว่าปกติ (manic episode หรือ hypomanic episode) สลับกับ น้อยกว่าปกติ (depressive episode)กล่าวคือ มีอารมณ์ดีเกินปกติ หรือ หงุดหงิด เกินปกติ ร่วมกับอาการอื่น ๆ ดังนี้

  • มีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก ในบางรายที่อาการมาก อาจมี ความคิดหลงผิดว่าตนเองเป็นเทพเจ้า เทวดา มีความสามารถพิเศษ
  •  ไม่ต้องการการนอนหลับพักผ่อน
  • พูดเร็ว พูดมาก
  • ความคิดแล่นเร็ว
  • ไม่มีสมาธิจดจ่อ วอกแวกง่าย
  • มีโครงการ มีความคิดอยากทำหลายอย่างจนเกินตัว
  • ทำพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น เล่นการพนัน ใช้ยาเสพติด
    เรียกกลุ่มอาการเหล่านี้ว่า ขั้วแมเนีย

 

ทั้งนี้ผู้ที่มีอาการโรคซึมเศร้ากับไบโพล่าร์ ไม่ได้จำเป็นต้องมีอาการทุกข้อดังที่กล่าวมา ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงบางข้อควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพิ่มเติม

ไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้า เหมือนกันไหม

โดยทั่วไปแล้วนั้นไบโพล่าร์กับโรคซึมเศร้า เป็นกลุ่มโรคทางอารมณ์เหมือนกัน (mood disorder) แต่มีความแตกต่างคือ โรคซึมเศร้ามีอาการในขั้วเดียว คือ ขั้วเศร้า แต่ผู้ป่วยที่เป็นไบโพลาร์ อาจจะมีอาการในทั้ง ขั้วเศร้า และ/หรือ ขั้วแมเนีย อย่างไรก็ตามอาการไบโพล่าบางประเภท อาจไม่ได้จำเป็นต้องมีอาการขั้วเศร้าเลย ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงขั้วแมเนียก็ได้อย่างเดียวก็ได้เช่นกันถ้าเปรียบเทียบอย่างง่ายอาจเปรียบได้ว่าโรคซึมเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของโรคไบโพลาร์ก็ได้

การวินิจฉัยไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้า แตกต่างกันไหม?

การวินิจฉัยไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้า แตกต่างกันอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น คือไบโพลาร์ อาจมีได้ทั้งอาการของขั้วเศร้า และ ขั้วแมเนีย แต่โรคซึมเศร้าจะเน้นการวินิจฉัยที่อาการของขั้วเศร้าเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตามเพื่อความเข้าใจในทางการแพทย์ แม้มีอาการขั้วแมเนียเพียงครั้งเดียวในชีวิตหรือต่อให้เป็นเมื่อนานมาแล้ว ผู้ป่วยก็จะได้รับการวินิจัยว่าเป็นไบโพลาร์แม้ในปัจจุบันจะมีแต่อาการขั้วซึมเศร้าก็ตาม ฉะนั้นผู้ป่วยอาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ไบโพลาร์แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเพียงอาการซึมเศร้าได้เช่นกัน

 

หากไม่แน่ใจในอาการของตนเอง หรือมีอาการด้านอื่น ๆ ที่รบกวนคุณภาพชีวิต เช่น โรควิตกกังวล หรือ ซึมเศร้าเรื้อรัง ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์โดยด่วน

การรักษาไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้า 

ไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้า รักษาอย่างไร

การรักษาไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้านั้นเรียกได้ว่ามีหลักการเดียวกัน คือ การใช้ยา ประกอบกับการทำจิตบำบัด

 

อย่างไรก็ตามมีความแตกต่างกันก็คือ ทั้งสองโรคใช้ยาหลักในการรักษาแตกต่างกัน โดยโรคซึมเศร้าจะเน้นไปที่ยาต้านเศร้า (antidepressant) เป็นหลัก แต่ไบโพล่า จะเน้นไปที่ยาปรับสภาพอารมณ์ (mood stabilizer) เป็นหลัก

 

ในส่วนของการทำจิตบำบัดนั้นไม่ได้จำเป็นต้องนั่งโซฟาหรือนอนยาวแบบในภาพยนตร์หรือละคร แต่การพบแพทย์ในแต่ละครั้ง การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ หรือแม้กระทั่งการซักประวัติ หากทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ก็นับเป็นการบำบัดแล้ว

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้า

1. ภาวะซึมเศร้าในโรคไบโพลาร์สามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่? 

สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากอาการไบโพลาร์นั้นสามารถมีได้ทั้งสองขั้วคือขั้วแมเนีย และขั้วเศร้า ดังนั้นจึงเกิดภาวะซึมเศร้าในโรคไบโพลาร์ได้

2. คนที่บ้านมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอด แบบนี้เรียกว่าไบโพลาร์ไหม?

ถ้าบางครั้งอารมณ์ดี บางครั้งเศร้าสลับไปมาในชั่วโมงเดียวหรือวันเดียว อาจไม่ได้บ่งชี้โรคอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากอารมณ์แกว่งอาจจะเกิดจากอาการของหลายโรคได้ แต่หากพบว่าญาติของเราอารมณ์ดีหรือหงุดหงิดนานติดกันหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน แล้วสลับกลับมาเศร้าอีกเป็นเดือน ๆ แบบนี้อาจเขาข่ายไบโพลาร์ ควรปรึกษาจิตแพทย์เพิ่มเติม

สรุป ไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้า ไม่แน่ใจอาการควรรีบพบแพทย์

โดยสรุป ไบโพล่าร์กับโรคซึมเศร้า เป็นโรคทางอารมณ์เหมือนกัน แต่มีข้อแตกต่างกันคือ ไบโพลาร์มีอาการได้ทั้งสองขั้ว คือขั้วแมเนียและขั้วซึมเศร้า ต่างจากโรคซึมเศร้าที่จะมีอาการของขั้วเศร้าเพียงอย่างเดียว โดยการรักษาจะใช้ยาคนละประเภทกัน อย่างไรก็ตาม หากไม่แน่ใจในอาการของตนเอง หรือมีอาการด้านความวิตกกังวล เครียดสะสมหรืออื่น ๆ ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ 

 

ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิกและเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

 

Content powered by BeDee Expert

นพ.กฤตภาส ทองรักอยู่

จิตแพทย์ทั่วไป

  1. Mood disorders. Johns Hopkins Medicine. (n.d.). https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/mood-disorders 

  2. What are bipolar disorders?. Psychiatry.org – What Are Bipolar Disorders? (n.d.). https://www.psychiatry.org/patients-families/bipolar-disorders/what-are-bipolar-disorders
     
  3. Gelenberg, A. (n.d.). Depression. Psychiatry.org – Depression. https://www.psychiatry.org/patients-families/depression 

  4. Mayo Foundation for Medical Education and Research. (2022, December 13). Bipolar disorder. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/bipolar-disorder/diagnosis-treatment/drc-20355961
บทความที่เกี่ยวข้อง

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง Key Takeaways   Hyperventilation คืออาการหายใจเร็วหรือหายใจลึกเกินกว่าความต้องการของร่างกายส่ง

สัญญาณเตือนภาวะหมดไฟในการเรียน เช่น รู้สึกเหนื่อย อ่อนล้าทั้งกายและใจ นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ วิตกกังวล รู้สึกกดดัน อาการหมดไฟในการเรียนอาจทำให้เกิดภาวะเครียดเรื้อรัง อารมณ์หม่นหมอง หรืออาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้ การปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป