Key Takeaway โรคกินไม่หยุด คือ ภาวะที่ไม่สามารถหยุดรับประทานอาหารได้แม้จะไม่ได้หิว อยากกินตลอดเวลา มีอาการกินเยอะกว่าปกติ กินจนรู้สึกอิ่ม แน่นท้อง เมื่อทำพฤติกรรมเช่นนั้นแล้วจะรู้สึกผิดในภายหลัง โรคกินไม่หยุดมักเกี่ยวข้องกับความเครียดและปัญหาทางอารมณ
อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดี เดี๋ยวโมโห อาจเป็นโรค “ไบโพลาร์”
เราอาจเคยพบเห็นคนใกล้ตัวบางครั้งอารมณ์ดี แต่พอผ่านไปสักพักอารมณ์กลับเปลี่ยนแปลงไป มีความเกรี้ยวกราด อารมณ์รุนแรง ทำอะไรสุดโต่งที่ผิดปกติไปจากตัวตน จริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิเช่น ปัญหาการควบคุมอารมณ์ (Emotional Dysregulation) โรคทางอารมณ์ (Mood Disorders) หรือบุคลิกภาพ (Personality) เป็นต้น
หลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจว่าอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันสั้นนั้นเป็นสัญญาณของอาการป่วยที่เรียกว่า “โรคไบโพลาร์” หรือ “โรคอารมณ์สองขั้ว” เราลองมาทำความเข้าใจความผิดปกติของอารมณ์ดังกล่าวและตัวโรคโรคไบโพลาร์กัน
ไบโพลาร์ คือ
กลุ่มโรคไบโพลาร์ (Bipolar Spectrum Disorders) หรือ กลุ่มโรคอารมณ์สองขั้ว คือโรคที่ผู้ป่วยมีอารมณ์ผิดปกติอย่างเด่นชัด ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์ดีหรืออารมณ์หงุดหงิดมากจนผิดปกติ และสามารถพบร่วมกันกับอารมณ์เศร้าและอาการต่าง ๆ ของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน ซึ่งการแสดงออกของแต่ละขั้วอารมณ์นั้นจะยาวนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ และสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างรุนแรงรวมถึงนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้
ไบโพลาร์ มีสาเหตุจากอะไร
ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของกลุ่มโรคไบโพลาร์ได้อย่างแน่ชัด แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ในปัจจุบันชี้ว่า อาจเกิดจากปัจจัยต่างหลายอย่างที่มีปฏิกริยาต่อกัน และการที่มีปัจจัยใดปัจจัยเดียวไม่ได้เป็นการบ่งบอกว่าจะเกิดโรคอารมณ์สองขั้วขึ้น
- การทำงานของสารสื่อประสาทในสมองที่เสียสมดุล ตัวอย่างเช่น สารนอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) สารเซโรโทนิน (Serotonin) และสารโดปามีน (Dopamine) เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานในส่วนต่าง ๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์
- พันธุกรรม พบว่าผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไบโพลาร์จะมีโอกาสเป็นโรคดังกล่าวมากกว่าคนทั่วไป และพบว่าความเสี่ยงนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นหากมีจำนวนคนในครอบครัวที่มีภาวะดังกล่าวมาก มีอาการรุนแรง หรือมีความใกล้ชิดกัน (First-Degree Relatives)
- มีเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ (Stressful Life Events) ซึ่งพบว่าประมาณ 60% ผู้ป่วยไบโพลาร์มักมีอาการกำเริบภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ
- มีประสบการณ์ถูกทารุณในวัยเด็ก (Childhood Maltreatment) ซึ่งประกอบไปด้วยการใช้ความรุนแรง หรือการถูกละเลย
สัญญาณเตือนไบโพลาร์
สัญญาณเตือนของโรคไบโพลาร์คืออารมณ์สองขั้ว มีดังนี้
- มีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว
- มีกิจกรรมที่เยอะกว่าปกติ (Hyperactivity)
- มีความวิตกกังวล
- มีปัญหาการใช้สารเสพติด
- มีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงภายในระยะเวลาอันสั้น (Mood Swings)
- มีอาการของแมเนีย (Manic Symptoms) เช่น มีพฤติกรรมเสี่ยงสูงเพิ่มมากขึ้น
- บุคลิกภาพ (Personality Trait) บางอย่าง เช่น ชอบมองหาสิ่งแปลกใหม่ตลอดเวลา(Novelty Seeking) หรือ มีความหุนหันพลันแล่น หรือ ชอบเข้าสังคมมากเกินไปจนเกิดปัญหา(Extreme Extroversion Leading to Problems)
- มีปัญหาทางกฎหมายหรือ มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสมเกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นผลมาจากความหุนหันพลันแล่นเป็นช่วง ๆ
- การเปลี่ยนงานหรืออาชีพบ่อย ๆ แบบที่ไม่ได้วางแผนไว้ก่อน
- มีพฤติกรรมทางการเงินที่ไม่เหมาะสม
หมายเหตุ สัญญาณเตือนดังข้างต้น ไม่ได้แปลว่ามีอาการแล้วจะเป็นโรคไบโพลาร์หรืออารมณ์สองขั้ว เนื่องจากสัญญาณมีความจำเพราะต่ำต่อการเกิดโรค
สงสัยโรคไบโพลาร์อย่าปล่อยไว้ รีบปรึกษาจิตแพทย์ที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง เป็นส่วนตัว
อาการของไบโพลาร์
ตามชื่อของกลุ่มโรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) ซึ่งเกิดจากการผสมคำว่า Bi- ที่แปลว่า “สอง” และ -Polar/-Pole ที่แปลว่า “ขั้ว” จึงสื่อถึงการที่มีอารมณ์สองขั้วอยู่ภายในโรคเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มโรคซึมเศร้า ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น Unipolar Depression ซึ่งหมายถึงอาการซึมเศร้าเพียงขั้วเดียว
อารมณ์สองขั้วนั้น หากจะสื่อสารให้เค้าใจได้ง่าย จะหมายถึง “ขั้วที่มีอารมณ์เศร้าเด่น” และ “ขั้วที่มีอารมณ์ตรงข้ามกับเศร้า” ซึ่งสำหรับขั้วนี้ จะรวมความผิดปกติของอารมณ์ที่ดีจนผิดปกติ (Elevated/ Expansive Mood) และอารมณ์ที่หงุดหงิดจนผิดปกติ ซึ่งหากตัวโรคกำเริบ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงไหนก็ตาม ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยเป็นทุกข์อย่างรุนแรงและรบกวนการใช้ชีวิตได้ไม่แตกต่างกัน โดยอาการที่พบได้ในแต่ละขั้วมีดังนี้
ช่วงซึมเศร้า (Depressive Episode)
เมื่อผู้ป่วยกลุ่มโรคไบโพลาร์อยู่ในช่วงซึมเศร้า (Major Depressive Episode) จะมีอาการแทบจะไม่แตกต่างจากโรคซึมเศร้าขั้วเดียว (Unipolar Depression) และหากไม่เคยมีประวัติของขั้วแมเนีย/ไฮโปแมเนีย (Manic/Hypomanic Episode) นำมาก่อนจะสามารถแยกจากโรคซึมเศร้าได้ยากมาก แม้จะได้รับการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเอง
โดยอาการของช่วงซึมเศร้านั้นอาจจะพบความผิดปกติของอารมณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมีอารมณ์เศร้า (หรือ ภาวะสิ้นยินดี (Loss of Interest and Pleasure) เป็นส่วนใหญ่ของวัน วันที่เป็นมากกว่าวันที่ไม่เป็น หรือเป็นติดกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และพบร่วมกับอาการอื่นๆ ดังเช่น
- นอนไม่หลับ หรือ นอนหลับมากเกินกว่าปกติ
- ความอยากอาหารเพิ่มหรือลดลงจากเดิม หรือ มีน้ำหนักลดลงอย่างมากทั้งที่ไม่ได้พยายามลดน้ำหนัก
- การเคลื่อนไหวดูกระสับกระส่าย หรือ เชื่องช้าผิดไปจากปกติ
- รู้สึกเหนื่อยล้า หมดพลัง
- มองตัวเองในแง่ลบ รู้สึกไม่มีคุณค่า หรือ รู้สึกผิดแบบไม่สมเหตุผล
- ความสามารถในการคิดวิเคราะห์หรือสมาธิลดลง ความสามารถในการตัดสินใจลดลง
- คิดเกี่ยวกับความตายบ่อย ๆ คิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย วางแผนฆ่าตัวตาย หรือ พยายามฆ่าตัวตาย
ช่วงแมเนีย (Mania Episode)
ในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการอยู่ในช่วงแมเนีย (Manic Symptoms) นั้น จะมีอารมณ์ดีจนผิดปกติ (Elevated Mood) จนผู้ที่อยู่ใกล้ชิดอาจจะรู้สึกดีไปด้วยได้ (Expansive Mood) หรือพบอารมณ์หงุดหงิดผิดปกติ (Irritable Mood) โดยความผิดปกติของอารมณ์เหล่านี้จะอยู่เป็นส่วนใหญ่ของวันและจำนวนวันที่เป็นมากกว่าไม่เป็น และพบร่วมกับการที่มีกิจกรรม หรือเรี่ยวแรง เพิ่มมากขึ้นด้วย ระยะเวลาของอาการเหล่านี้จะพบได้ติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือน้อยกว่านั้นหากจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยใน โดยนอกจากความผิดปกติของอารมณ์แล้ว จะพบความผิดปกติอาการอื่นๆ ร่วมด้วยดังนี้
- มั่นใจในตัวเองมากขึ้น มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถอย่างมาก
- นอนไม่ค่อยหลับ นอนหลับเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน
- ช่างพูด ช่างคุย พูดคุยมากกว่าปกติ
- หมกมุ่นกับกิจกรรมบางอย่างเป็นอย่างมาก เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
- มีอารมณ์ทางเพศสูง
- วอกแวกง่าย สมาธิสั้น
- ความคิดโลดแล่น คึกคัก
โดยช่วงเวลาที่มีความผิดปกติของอารมณ์แบบแมเนียนั้น จะทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อการใช้ชีวิต หรือจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยใน เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายกับผู้ป่วยหรือผู้อื่น นอกจากนั้นยังสามารถพบอาการทางจิตเช่น ประสาทหลอน (Hallucination) หลงผิด (Delusion) ร่วมด้วยได้
ช่วงไฮโปแมเนีย (Hypomania Episode)
อาการที่พบในช่วงไฮโปแมเนีย (Hypomanic Symptoms) นั้น คล้ายคลึงกับอาการของแมเนีย (Manic Symptoms) เป็นอย่างมาก โดยความแตกต่างเบื้องต้นมีดังนี้
- ระยะเวลาติดต่อกัน 3 หรือ 4 วัน (ขึ้นกับชนิดของอารมณ์)
- ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง ถึงแม้ว่าคนรอบตัวจะสังเกตได้ว่าผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างชัดเจน
- ไม่มีข้อบ่งชี้ในการรับไว้รักษาแบบผู้ป่วยใน
- ไม่มีอาการทางจิตเช่น ประสาทหลอน หลงผิด ร่วมด้วย
การวินิจฉัยไบโพลาร์
เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือรังสีวิทยาที่ช่วยในการวินิจฉัยภาวะทางจิตเวช การสัมภาษณ์ประวัติและการตรวจสภาพจิตโดยจิตแพทย์จึงยังคงเป็นมาตรฐานหลักในการวินิจฉัยกลุ่มโรคอารมณ์สองขั้วรวมไปถึงโรคทางจิตเวชอื่นๆอีกด้วย
โดยเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะอารมณ์สองขั้วในปัจจุบันนั้นจะใช้เกณฑ์ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 5th Edition, Text Revision (DSM-V-TR) ซึ่งเป็นของสมาคมจิตแพทย์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) และ International Classification of Disease, 11th Edition (ICD-11) ซึ่งเป็นขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization)
เช่นเดียวกับกลุ่มโรคซึมเศร้า กลุ่มโรคไบโพลาร์นั้นมีหลายชนิดด้วยกัน โดยปัจจุบันมีชนิดใหญ่ๆอยู่ด้วยกัน 4 กลุ่ม ประกอบไปด้วย
- ไบโพลาร์ ชนิด I (Bipolar I Disorder)
- ไบโพลาร์ ชนิด II (Bipolar II Disorder)
- ไซโคลไทเมีย (Cyclothymic Disorder)
- กลุ่มไบโพลาร์อื่นๆ (Specified Bipolar Disorders)
กลุ่มโรคอารมณ์สองขั้วแต่ละชนิดนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการวินิจฉัยแยกโรคออกจากกัน เนื่องจากมีการดำเนินโรคและแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน โดยสรุปความแตกต่างคร่าว ๆ ดังนี้
- ไบโพลาร์ ชนิด I (Bipolar I Disorder)
- มีอาการของขั้วแมเนีย (Manic Episode) อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต และอาการที่เกิดขึ้นในขั้วแมเนียนั้นจะทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้ชีวิต , มีข้อบ่งชี้ในการรับไว้รักษาในโรงพยาบาล , หรือมีอาการทางจิต
- ผู้ป่วยกลุ่มที่อาจมีเพียงอาการของขั้วแมเนีย (Manic Episode) เพียงอย่างเดียว หรืออาจพบร่วมกันกับขั้วไฮโปแมเนีย (Hypomanic Episode) หรือขั้วซึมเศร้า (Major Depressive Episode) หรือไม่ก็ได้
- ไบโพลาร์ ชนิด II (Bipolar II Disorder)
- มีอาการของขั้วไฮโปแมเนีย (Hypomanic Episode) อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต และอาการที่เกิดขึ้นในขั้วไฮโปแมเนียนั้นจะแตกต่างจากช่วงที่ไม่มีอาการอย่างชัดเจนและคนรอบตัวสังเกตได้ แต่อาการของไฮโปแมเนียนั้นจะต้องไม่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้ชีวิต มีข้อบ่งชี้ในการรับไว้รักษาในโรงพยาบาล และต้องไม่มีอาการทางจิตร่วมด้วย
- ผู้ป่วยจำเป็นต้องเคยมีอาการของขั้วซึมเศร้า (Major Depressive Episode) มาก่อน
- ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ท้าทายในการวินิจฉัย เนื่องจากดังที่กล่าวไปว่าอาการจะไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตรุนแรง จึงอาจทำให้แยกยากว่าเป็นอาการป่วยหรือไม่
- ไซโคลไทเมีย (Cyclothymic Disorder)
- คล้ายคลึงกับไบโพลาร์ชนิด II คือมีอาการของขั้วไฮโปแมเนียและซึมเศร้า แต่มีความแตกต่างที่อาการของขั้วไฮโปแมเนียจะไม่ถึงเกณฑ์การวินิจฉัย (Subsyndromal hypomanic Episode) และมักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ
- กลุ่มโรคไบโพลาร์อื่น ๆ
- หมายถึงกลุ่มความผิดปกติของอารมณ์ที่มีความคล้ายคลึงกับกลุ่มโรคไบโพลาร์ I โรคไบโพลาร์ II และไซโคลไทเมีย แต่อาการอาจเกิดขึ้นสั้นกว่าหรือมีความรุนแรงที่น้อยกว่า
การรักษาไบโพลาร์
การรักษากลุ่มโรคไบโพลาร์นั้นแตกต่างจากกลุ่มโรคซึมเศร้าในหลายด้วย ประเด็นที่สำคัญคือการรักษาด้วยยา เนื่องจากการรักษาด้วยยาในกลุ่มโรคไบโพลาร์นั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของการรักษา
ยาที่ใช้รักษาในกลุ่มโรคไบโพลาร์นั้นมีหลากหลายด้วยกัน ตัวอย่างของกลุ่มยาที่นำมาใช้ในกลุ่มโรคไบโพลาร์ เช่น
- ลิเทียม (Lithium) – การรักษาด้วยลิเทียมนั้นจำเป็นต้องมีการติดตามกับแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากจำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินผลข้างเคียงจากยาที่อาจเกิดขึ้นจากยาและการปรับระดับยาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- กลุ่มยากันชักบางชนิด (Antiepileptic Drugs) – เช่น Valproic Acid, Carbamazepine, Lamotrigine ซึ่งแต่ละชนิดนั้นมีข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อนรับยา
- ยาทางจิตเวชอื่น ๆ – เช่น Quetiapine, Risperidone, Aripiprazole, Lurasidone, Haloperidol, Olanzapine-Fluoxetine Combination (OFC), Clonazepam, Lorazepam ซึ่งมีข้อบ่งใช้และอาการที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดที่แตกต่างกันในยาแต่ละขนิด
ถึงแม้ยาจะมีความจำเป็นดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่การบำบัดทางจิตสังคม (Psychosocial Intervention) ยังมีบทบาทเสริมจากการรักษาด้วยยา ในช่วงที่มีอาการซึมเศร้าหรือป้องกันการกำเริบ ตัวอย่างของการบำบัดทางจิตสังคมที่มีหลักฐานว่ามีประโยชน์ในโรคไบโพลาร์ เช่น
- การให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต (Psychoeducation)
- เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของโรค การดำเนินโรค แผนการรักษา และการจัดการปัญหา (เช่น สัญญาณเตือนของการเป็นซ้ำ) เบื้องต้น
- การบำบัดแบบความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy)
- ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับการรับรู้ การตีความและการตอบสนองให้ยืดหยุ่นมากขึ้น
- การบำบัดครอบครัว (Family-Focused Therapy)
- เป็นการร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับคนในครอบครัว โดยเฉพาะการสื่อสาร เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การบำบัดสัมพันธภาพบุคคลและการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย (Interpersonal and Social Rhythm Therapy)
- คล้ายคลึงกับการบำบัดสัมพันธภาพบุคคล (IPT) แต่มีการเพิ่มเติมในส่วนของการบำบัดจังหวะการเข้าสังคมและการนอนเพิ่มเข้ามา
และในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น มีภาวะอันตราย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องให้การรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด หรือกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือการรักษาทางจิตสังคม จิตแพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการกระตุ้นไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy)
ปรึกษาเรื่องการรักษาโรคไบโพลาร์กับจิตแพทย์ที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากกลุ่มโรคไบโพลาร์
ผลกระทบของโรคไบโพลาร์ที่ไม่ได้รับการรักษานั้นมีมีหลากหลายและมีความรุนแรงสูง โดยเฉพาะผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วง แมเนีย (Manic Episode) หรือ ไฮโปแมเนีย (Hypomanic Episode) เนื่องจากอาการที่เป็นลักษณะเด่นของช่วงดังกล่าวคือ “การสูญเสียความสามารถในการตัดสินใจ (Impaired Judgement)” โดยตัวอย่างของผลกระทบเหล่านี้ เช่น
- การดื่มแอกอฮอล์มากเกินกว่าปกติ
- การเล่นพนันที่ควบคุมไม่ได้
- การมองข้ามรายละเอียดเล็กน้อย
- การใช้เงินเกินตัวหรือการลงทุนที่ไม่เหมาะสม
- การมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม
นอกจากความเสี่ยงจากอาการทางจิตโดยตรงที่ระบุไปในข้างต้นนั้น หลักฐานในปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มโรคไบโพลาร์นั้นมีโรคร่วมทั้งทางกายและทางจิตสูงกว่ากลุ่มคนที่ไม่มีภาวะดังกล่าว เช่น
- โรคร่วมทางกาย
- พบว่ามีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรโดยสาเหตุมาจากทั้งจากการฆ่าตัวตาย และภาวะทางกายอื่น ๆ อันประกอบไปด้วย โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจ และโรคระบบต่อมไร้ท่อ
- พบภาวะโรคอ้วนในผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วได้มากถึง 50% และเกิดขึ้นโดยไม่ได้เป็นผลจากยารักษาอาการทางจิตโดยตรง
- พบกลุ่มโรคเมตาบอลิคในผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วได้มากถึง ⅓ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจตามมาได้
- โรคร่วมทางจิตเวช
- กลุ่มโรควิตกกังวล
- กลุ่มการใช้สุราและสารเสพติด
- กลุ่มความผิดปกติของบุคลิกภาพ เช่น บุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง เป็นต้น
- กลุ่มความผิดปกติของการกิน เช่น Binge Eating Disorder
วิธีการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยไบโพลาร์
ถึงแม้ว่าโรคไบโพลาร์จะเป็นโรคเรื้อรัง แต่เมื่อได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพร่วมกับการดูแลตัวเอง (Self-Help Techniques) จะช่วยลดผลกระทบจากตัวโรคที่มีต่อการใช้ชีวิตได้ โดยคำแนะนำเกี่ยวการดูแลตัวเองในกลุ่มโรคไบโพลาร์จาก the National Health Service (NHS) จากสหราชอาณาจักร มีรายละเอียดดังนี้
- การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอและรับประทานอาการที่มีคุณค่า
- ทั้งสองสั้งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นในมนุษย์ทุกคน อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายสามารถช่วยลดอาการของโรคอารมณ์สองขั้วได้ (โดยเฉพาะในขั้วซึมเศร้า)
- ทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยทำให้เกิด “กิจวัตร” ซึ่งจำเป็นในมนุษย์ทุกคน
- เมื่อออกกำลังกายควบคุมกับการรับประทานอาหารที่มีคุณค่า จะช่วยคุมน้ำหนักและช่วยลดโอกาสการเกิดเบาหวานด้วย ซึ่งดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวที่สูงนั้นเช่นกัน
- พักผ่อนอย่างเพียงพอ เนื่องจากจำนวนชั่วโมงของการนอนที่ลดลงนั้น สามารถที่จะกระตุ้นให้ภาวะอารมณ์สองขั้วกำเริบได้
- ตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละครั้ง
- ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ากลุ่มโรคอารมณ์สองขั้วนั้นสามารถพบร่วมกับภาวะ Metabolic Syndrome ได้ ซึ่งการตรวจพบภาวะดังกล่าวที่รวดเร็วจะช่วยลดผลกระทบที่ตามมาได้
- ใช้ทักษะการจัดการตัวเอง
- เพื่อให้ผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วมีส่วนร่วมในการดีขึ้นจากโรคด้วยวิธีต่างๆ เช่น สังเกตปัจจัยกระตุ้นตัวโรค อาการเตือน ทักษะการจัดการปัญหา การมีสัมพันธภาพใกล้ชิด รวมไปถึง การสื่อสารกับคนใกล้ชิดว่าหากตนมีอาการกำเริบจะต้องทำอะไรบ้าง
- การพูดคุยเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของตน
- โดยสามารถทำได้กับคนใกล้ชิดของตน หรือในผู้ป่วยบางคนอาจจะรู้สึกปลอดภัยมากกว่าหากได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์
- หลีกเลี่ยงการใช้สุราและสารเสพติด
- ผู้ป่วยไบโพลาร์หลายกลุ่มใช้สารเสพติดเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด และความทุกข์ของตนแต่สารเสพติดนั้นมีหลักฐานมากมายว่าสามารถทำให้โรคกำเริบได้ทั้ง ช่วงแมเนีย ไฮโปแมเนีย และช่วงซึมเศร้า
- ในผู้ป่วยบางกลุ่มหากได้รับการรักษาโรคอารมณ์สองขั้วแล้ว ปัญหาการใช้สารเสพติดก็สามารถดีขึ้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางกลุ่มที่ถึงแม้ว่าจะคุมอาการของโรคอารมณ์สองขั้วได้ แต่อาจยังมีปัญหาเรื่องสารเสพติดต่อเนื่องได้ ซึ่งยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาอยู่
- สังเกตภาวะฉุกเฉินทางจิตเวชที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
- เช่น กรณีที่มีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่นั้น อาจจำเป็นต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงและรักษาในทันที
วิธีดูแลคนใกล้ชิดที่เป็นไบโพลาร์
เมื่อพบว่าคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคไบโพลาร์แล้วนั้น การดูแลและการปฏิบัติจากคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษา และการบรรเทาอาการโดยญาติหรือผู้ใกล้ชิดสามารถดูแลผู้ป่วยได้ด้วยวิธีดังนี้
- คอยสังเกตอาการ ซึ่งหากพบอาการที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล เศร้าหดหู่ การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย พฤติกรรมอันตราย หรือมีการใช้สารเสพติดใด ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลอย่างรวดเร็ว
- หากพบว่ามีอาการที่สงสัยว่าอาจจะเกิดอันตรายขึ้นเช่น ทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายผู้อื่น ให้รีบปรึกษาแพทย์ในทันที โดยอาจพิจารณาการรับบริการที่ห้องฉุกเฉิน
- ร่วมสนับสนุนให้ผู้ป่วยร่วมมือกับแผนการรักษา
- เนื่องจากอาการหนึ่งของตัวโรคคือการที่ไม่สามารถแยกแยะอาการออกจากตัวตนได้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ดูแลจะทำหน้าที่เป็นมาตรวัด ว่าสิ่งใดที่ผิดปกติไปจากตัวผู้ป่วยเดิม หรือสิ่งใดที่เป็นปฏิกริยาปกติของผู้ป่วย หากสามารถทำเช่นนี้ได้จะช่วยให้ผู้ดูแลตอบสนองต่ออาการของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านความเข้าใจและการให้กำลังใจ รวมถึงการขอความช่วยเหลือที่เหมาะสมด้วย
- การที่เราจะดูแลผู้อื่นนั้น ตัวเราเองจำเป็นต้องพร้อมก่อน ผู้ดูแลจึงจำเป็นที่จะต้องไม่ละเลยตัวเองและดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีคุณค่า นอนหลับให้เพียงพอ และหากผู้ดูแลสังเกตว่าตนไม่สามารถจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นได้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากต้องการความช่วยเหลือหรือปรึกษาเพิ่มเติมควรรีบสอบถามแพทย์
คำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับไบโพลาร์
ยารักษาไบโพลาร์มีผลข้างเคียงไหม?
จริง ๆ แล้วยาทุกชนิดที่เราใช้ รับประทาน, ทา หยอด หรือ เหน็บ ล้วนแต่มีผลข้างเคียงด้วยกันทั้งสิ้น โดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้นสามารถเกิดได้หากได้รับประมาณมากเกินไป (Overdose) หรือแม้แต่ได้รับในขนาดที่ใช้รักษาก็สามารถเกิดผลข้างเคียงได้ทั้งสิ้น เราสามารถนึกภาพน้ำเปล่าที่เราดื่ม หากรับประทานน้อยเกินไป ก็อาจเกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) หรือหากได้รับน้ำเปล่ามากเกินไปก็อาจเกิดภาวะพิษขึ้นได้ (Water Intoxication)
สำหรับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยารักษาไบโพลาร์นั้น แตกต่างกันไปในแต่ละชนิด ซึ่งผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้นสามารถที่จะจำกัดให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ผ่านการตรวจประเมินและติดตามอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้การประเมินก่อนเริ่มยา เช่น ค่าการทำงานของตับและไต หรือ Biomarker บางอย่างที่ช่วยประเมินโอกาสเสี่ยงแพ้ยารุนแรงได้ หรือการตรวจเลือดเพื่อพิจารณาระดับยาในเลือด และต้องมีการประเมินประโยชน์ที่จะได้รับจากยาเทียบกับโอกาสการเกิดผลข้างเคียง โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรงที่หลากหลาย ตั้งแต่
- ไม่เกิดผลข้างเคียงใดๆ
- เกิดผลข้างเคียงที่อาจไม่รุนแรง สามารถรักษาตามอาการ หรืออาจดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย เบื่ออาหารหรืออยากอาหากมากกว่าปกติ ปากแห้ง คอแห้ง ตาแห้ง ตามัว มือสั่น ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัดกลืนลำบาก เดินแข็งทื่อ
- เกิดผลข้างเคียงที่อาจอันตรายได้ถึงชีวิต เช่น การแพ้ยาชนิด Steven-Johnson Syndrome หรือ Toxic Epidermal Necrotizing , ภาวะเซโรโทนินมากเกินไป (Serotonin Syndrome) หรือ กลุ่มอาการ Neuroleptic Malignant Syndrome เป็นต้น
ไบโพลาร์ต้องกินยาตลอดชีวิตไหม?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าโรคไบโพลาร์นั้นเป็นโรคเรื้อรัง และการกำเริบของโรคในแต่ละครั้งนั้นทำให้เกิดความสูญเสียอย่างรุนแรง โดยผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วนั้น เกือบทั้งหมดจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ และเพื่อลดอาการที่คงเหลือ รวมไปถึงการฟื้นฟูการดำเนินและคุณภาพชีวิต
เนื่องจากมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าผู้ป่วยไบโพลาร์ที่มีอาการกำเริบบ่อยจะสัมพันธ์กับการที่มีปริมาตรของเนื้อสมองลดลง การถดถอยของระดับการรู้คิด ระยะเวลาที่ไม่มีอาการสั้นลง รวมไปถึงมีความถี่และความรุนแรงของการกำเริบที่มากขึ้น ดังนั้นความจำเป็นในการใช้ยาเพื่อป้องกันการกำเริบของโรคจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด อย่างไรก็ตามการใช้ยาเพื่อป้องกันอาการกำเริบนั้นจำเป็นที่จะต้องเลือกยาที่ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่กระทบต่อชีวิตผู้ป่วยและอาจเป็นเหตุให้เกิดการหยุดยาตามมาได้ ซึ่งระยะเวลาในการป้องกันอาการกำเริบนั้นแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วย
สอบถามเรื่องอื่น ๆ กับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง
สรุปเรื่องไบโพลาร์
โรคไบโพลาร์สามารถรักษาได้ ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาเพื่อใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติได้ สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นสังเกตอารมณ์ตัวเองหรือคนรอบข้าง และรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทันทีเมื่อรู้สึกไม่ปกติ ปัจจุบันการพูดคุยกับจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป |
Content powered by BeDee Experts
พญ.มัญชุกร ลีละตานนท์
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
น.พ. ชนาธิป ทองยงค์
จิตแพทย์ทั่วไป
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
References
- Jain A, Mitra P. Bipolar Disorder. [Updated 2023 Feb 20]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2023 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK558998/
- American Psychiatric Association. (2022). Diagnostic and statistical manual of mental disorders (5th ed., text rev.). https://doi.org/10.1176/appi.books.9780890425787
- World Health Organization. (2022). ICD-11: International classification of diseases (11th revision). https://icd.who.int/
- Sadock, B. J., Sadock, V. A., & Ruiz, P. (2015). Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry: Behavioral sciences/clinical psychiatry (11th ed.). Wolters Kluwer Health.
- Yatham, L. N., Kennedy, S. H., Parikh, S. V., Schaffer, A., Bond, D. J., Frey, B. N., Sharma, V., Goldstein, B. I., Rej, S., Beaulieu, S., Alda, M., MacQueen, G., Milev, R. V., Ravindran, A., O’Donovan, C., McIntosh, D., Lam, R. W., Vazquez, G., Kapczinski, F., McIntyre, R. S., … Berk, M. (2018). Canadian Network for Mood and Anxiety Treatments (CANMAT) and International Society for Bipolar Disorders (ISBD) 2018 guidelines for the management of patients with bipolar disorder. Bipolar disorders, 20(2), 97–170. https://doi.org/10.1111/bdi.12609
- Beck Institute for Cognitive Behavior Therapy. (2022, June 17). Understanding CBT | Beck Institute. Beck Institute. https://beckinstitute.org/about/understanding-cbt/
- What is Electroconvulsive Therapy (ECT)? (n.d.). https://www.psychiatry.org/patients-families/ect
- Swann, A. C., Geller, B., Post, R. M., Altshuler, L., Chang, K. D., Delbello, M. P., Reist, C., & Juster, I. A. (2005). Practical Clues to Early Recognition of Bipolar Disorder: A Primary Care Approach. Primary care companion to the Journal of clinical psychiatry, 7(1), 15–21. https://doi.org/10.4088/pcc.v07n0103
- Skjelstad, D. V., Malt, U. F., & Holte, A. (2010). Symptoms and signs of the initial prodrome of bipolar disorder: a systematic review. Journal of affective disorders, 126(1-2), 1–13. https://doi.org/10.1016/j.jad.2009.10.003
- Naik, S. S., Manjunatha, N., Kumar, C. N., Math, S. B., & Moirangthem, S. (2020). Patient’s Perspectives of Telepsychiatry: The Past, Present and Future. Indian journal of psychological medicine, 42(5 Suppl), 102S–107S. https://doi.org/10.1177/0253717620963341
- Website, N. (n.d.). Living with – Bipolar disorder. nhs.uk. https://www.nhs.uk/mental-health/conditions/bipolar-disorder/living-with/