มีพบก็ต้องมีจาก… การสูญเสียบุคคลหรือสิ่งที่รัก เช่น บุคคลที่เรารัก หรือสัตว์เลี้ยง เมื่อถึงเวลาหนึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องพบเจอเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราได้ตลอดไป แม้แต่ตัวเราเองก็ตาม แต่การสูญเสียส่งผลกระทบต่อจิตใจไม่น้อย โดยเฉพาะการสู
8 เคล็ดลับเอาชนะอาการนอนไม่หลับ ง่าย ๆ ช่วยให้คุณหลับสบาย
นอนไม่หลับทำไงดี? บางทีเหนื่อยจากงานหรือง่วงมาก ๆ แต่ทำไมหัวถึงหมอนแล้วกลับนอนไม่หลับ พยายามข่มตานอนก็ดันนอนไม่หลับยิ่งกว่าเดิม จะทำยังไงถึงจะเอาชนะ อาการนอนไม่หลับได้นะ?
เนื่องจากปัญหาการนอนไม่หลับ นอนหลับยาก หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ ทั้งคืนนั้น อาจส่งผลที่ไม่ดีกับชีวิตประจำวันของเรา ทั้งในเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ และในกรณีที่นอนไม่หลับติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง (Insomnia Disorder) ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุที่อันตรายถึงชีวิตได้เลย
หากใครที่มีปัญหานอนไม่หลับ หรือกำลังหาวิธีทำให้ง่วงอยู่ บทความนี้จะมาแนะนำวิธีแก้อาการนอนไม่หลับด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งยานอนหลับกัน
นอนไม่หลับเกิดจากสาเหตุใด
ก่อนอื่นเราลองมาดูสาเหตุของอาการนอนไม่หลับว่าเกิดจากอะไร เพื่อที่จะลดพฤติกรรมที่อาจส่งผลต่อการนอนของเรา ส่วนใหญ่อาการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับยากนั้นอาจเกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า
หรือหากใครไม่ได้มีภาวะทางอารมณ์หรือจิตใจ ก็จะเกิดจากพฤติกรรมก่อนนอน เช่น ออกกำลังกาย เล่นโทรศัพท์ รวมถึงการบริโภค เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การรับประทานอาหารมื้อหนักหรือรสจัดก่อนนอน เป็นต้น
ในบางคนสาเหตุอาการนอนไม่หลับอาจมาจากการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเป็นประจำ หรือคนที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่ออาการเจ็บทางกาย เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับได้เช่นกัน มาดูเคล็ดลับเอาชนะอาการนอนไม่หลับที่คุณก็ทำตามได้ง่าย ๆ กันเลย
8 เคล็ดลับ “เอาชนะ อาการนอนไม่หลับ” ที่ทำตามได้ไม่ยาก
หาสาเหตุเจอแล้วควรทำยังไงให้แก้อาการนอนไม่หลับนี้ได้ เราลองมาดูวิธีเอาชนะ อาการนอนไม่หลับกันต่อเลย
1. จัดระเบียบห้องนอนให้เหมาะสมกับการนอน
การจัดระเบียบห้องนอนเป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหานอนไม่หลับได้ ไม่ว่าจะเป็นสีของผนังห้อง ผ้าปูเตียง ม่านกันแสง รวมถึงอุณหภูมิในห้องนอนควรจะเย็นพอดี ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป โดยควรเลือกโทนสีของห้องนอนเป็นโทนมืดเพื่อให้ในตอนกลางคืนมีแสงเข้าห้องนอนน้อยที่สุด เพราะแสงอาจกระตุ้นให้ร่างกายตื่นจนทำให้หลับ ๆ ตื่น ๆ ได้
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับได้เช่นกัน โดยช่วงเวลาในการออกกำลังกายที่ช่วยในเรื่องการนอนหลับคือ 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน แต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอนเพราะจะทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากเกินไปจนทำให้ร่างกายตื่นตัว
3. ดื่มนมอุ่น หรือรับประทานกล้วยหอมก่อนนอน
วิธีทำให้ง่วงแบบง่าย ๆ อีกหนึ่งวิธีคือการดื่มนมอุ่น ๆ หรือรับประทานกล้วยหอม เนื่องจากกล้วยและนมจะมีกรดอะมิโนทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสารเซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้รู้สึกผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวล ทำให้ง่วงและนอนหลับได้ง่ายขึ้น
Tips! นอนไม่หลับ กินอะไรดี? มาดูอาหารที่มีส่วนช่วยให้นอนหลับดีกัน!
4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
สำหรับคนที่สูบบุหรี่และมีปัญหาการนอน วิธีแก้นอนไม่หลับคือควรที่จะลด หรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากในบุหรี่จะมีสารนิโคติน (Nicotine) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นประสาท ทำให้หลับยาก และเมื่อสารนิโคตินในร่างกายลดลงก็จะทำให้ตื่นง่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่สูบบุหรี่โดยตรง (Active Smoker) หรือผู้ที่มักจะได้กลิ่นควันบุหรี่จากผู้อื่นอยู่บ่อย ๆ (Passive Smoker) ก็จะทำให้ได้รับสารนิโคตินที่ส่งผลต่อการนอนได้เช่นกัน
5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนัก หรือรสจัดก่อนนอน
การรับประทานอาหารมื้อหนักก่อนนอนนั้นส่งผลให้ร่างกายต้องทำงานหนักในการย่อย ซึ่งใช้เวลาถึง 2-3 ชั่วโมง นอกจากจะทำให้นอนหลับยากแล้ว ยังอาจส่งผลให้เป็นกรดไหลย้อน
6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
ในช่วง 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน หรือถ้าจะให้ดีคือ 10 ชั่วโมงก่อนนอน ควรที่จะงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โกโก้ น้ำอัดลม รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเช่นกัน
7. ฝึกการตื่นและเข้านอนเป็นเวลา
วิธีทำให้นอนหลับที่ได้ผลแบบชัดเจนคือการพยายามเข้านอน และตื่นเป็นเวลา โดยเริ่มจากการกำหนดเวลาตื่นตอนเช้า และพยายามตื่นให้ตรงเวลา ไม่ว่าวันที่เริ่มปรับเวลานอนจะนอนดึกแค่ไหนก็ไม่ควรทดเวลาตื่นสาย ให้พยายามฝืนตื่นตามเวลาให้ได้มากที่สุด และเข้านอนตามเวลาที่กำหนด ที่สำคัญคือต้องมีวินัยในการปรับเวลานอน พยายามไม่นอนตอนกลางวันเพราะจะส่งผลต่อการนอนในตอนกลางคืนได้ ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ให้ใช้การงีบเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 15 นาที และให้ตื่นทันทีแต่ไม่ควรงีบหลังเวลา 14.00 น. ไปแล้วเพราะจะทำให้นอนหลับยากในตอนกลางคืน
เมื่อร่างกายเริ่มชินและจดจำเวลาตื่นและนอนของเราได้แล้ว การนอนหลับก็จะง่ายขึ้น แถมยังสุขภาพดี ตื่นมาสดชื่นด้วย
8. หากนอนไม่หลับ ไม่ควรฝืน
หลายคนอาจคิดว่าการข่มตานอนจะช่วยทำให้ง่วงไปเอง แต่ความจริงแล้วอาจจะทำให้เรานอนไม่หลับไปทั้งคืนเลยก็ได้ ดังนั้นถ้านอนไม่หลับจริง ๆ ควรลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเบา ๆ เช่นอ่านหนังสือ วาดรูปง่าย ๆ ยืดเส้นยืดสายเล็กน้อย แต่ไม่ควรเล่นโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตเพื่อทำให้ง่วง เนื่องจากแสงสีฟ้า (Blue Light) จากแสงหน้าจอโทรศัพท์ จะกระตุ้นสมองทำให้หลับยาก
นอนไม่หลับ ทำไงดี มีปัญหาการนอนหลับปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก ไม่ต้องเดินทาง เป็นส่วนตัว
การนอนหลับสำคัญอย่างไร?
เราควรที่จะเอาชนะอาการนอนไม่หลับให้ได้ด้วยเคล็ดลับที่ได้แนะนำไปข้างต้น เพราะการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอทำให้สุขภาพดีขึ้น ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเวลาตื่นก็จะรู้สึกสดชื่น สมองปลอดโปร่ง ระบบประสาทตื่นตัวและพร้อมทำงานโดยที่ไม่ง่วงระหว่างวัน ความเครียดลดน้อยลง รู้สึกมีความสุขในการตื่นนอน (Sense Of Well-Being) และยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ป่วยง่าย
สำหรับใครที่ต้องการลดน้ำหนัก การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอยังสามารถควบคุมน้ำหนักและระดับน้ำตาลได้ด้วย เนื่องจากการนอนที่ไม่ดีก็จะส่งผลให้ฮอร์โมนที่ควบคุมระดับความอิ่ม ความหิว และระดับน้ำตาลถูกรบกวน จึงทำให้เกิดการกินที่ไม่ถูกสุขลักษณะได้
นอกจากนี้ฮอร์โมนที่ทำงานในช่วงกลางคืนก็จะทำงานได้เต็มที่ เช่น ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ในวัยรุ่น และการนอนหลับอย่างเพียงพอยังส่งผลให้ร่างกายมีผิวพรรณเปล่งปลั่ง ใบหน้าดูสดใส ไม่โทรมอีกด้วย
อาการนอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร
สาเหตุที่เราควรแก้อาการนอนไม่หลับ เพราะการนอนน้อย หรือนอนอย่างไม่มีคุณภาพจะส่งผลให้ความดันเลือดสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด
เนื่องจากเวลาเรานอนหลับจะเป็นเวลาที่หัวใจได้พักผ่อนและเข้าสู่สภาวะซ่อมแซม แต่หากนอนหลับไม่สนิทจนทำให้มีการสะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อย ๆ หัวใจก็จะทำงานหนัก สังเกตว่าเวลาเราถูกทำให้ตื่นกะทันหันหรือสะดุ้งตื่นนั้นหัวใจจะเต้นเร็วกว่าปกติ
และนอกจากนี้ ระบบประสาทซิมพาเธติก (Sympathetic Nervous System) เป็นระบบประสาทที่ควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อเตรียมพร้อมต่อสภาวะฉุกเฉิน เมื่อถูกกระตุ้นเป็นระยะจึงทำให้ความดันเลือดสูงและอัตราการเต้นของหัวใจไม่คงที่
การนอนน้อย หรือนอนไม่หลับยังทำให้สมองของเราไม่ปลอดโปร่ง ไม่สดชื่น ซึ่งอาจจะทำให้ส่งผลต่อสภาพจิตใจได้ เพราะเมื่อเรารู้สึกอ่อนเพลีย สมองสั่งการได้ไม่เต็มที่ การจดจ่อหรือมีสมาธิน้อยลง อาจทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายในการทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ จนทำให้เกิดความเครียดซึ่งส่งผลไปถึงการเป็นโรคเครียดเรื้อรังหรือโรคซึมเศร้า รวมถึงการที่ฮอร์โมนควบคุมระดับความอิ่มและน้ำตาลถูกรบกวนทำให้ส่งผลต่อการกินที่ไม่ถูกสุขลักษณะนั้น ก็จะทำให้เกิดโรคอ้วนตามมาได้
นอกจากนี้ การนอนไม่หลับเป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน ๆ อาจส่งผลให้เป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง (Insomnia Disorder) ซึ่งโรคนี้สามารถก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะการจดจ่อหรือมีสมาธิจะยากขึ้น และอาจเกิดอาการหลับใน โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานกับเครื่องจักร ต้องขับรถบ่อย ๆ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง
รู้สึกนอนไม่หลับจนกระทบต่อสุขภาพอย่าปล่อยไว้ รู้สึกมึน เบลอ ไม่มีสมาธิ หลงลืมบ่อย รีบปรึกษาแพทย์ด่วน
อาการนอนไม่หลับแบบใดควรไปพบแพทย์
- นอนไม่หลับเป็นเวลามากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 3 เดือน
- ใช้เวลามากกว่า 30 นาทีในการนอน
- ตื่นทุก 2-3 ชั่วโมงในเวลากลางคืน
- เริ่มสูญเสียความสามารถในการทำงานหรือกิจกรรม
- สภาพจิตใจไม่ปกติ
หากมีอาการนอนไม่หลับที่เข้าข่ายดังกล่าวไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษาแนวทางในการรักษา
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวิธีการเอาชนะอาการนอนไม่หลับ
1. จริง ๆ แล้วคนเราควรนอนหลับวันละกี่ชั่วโมง?
ในวัยแรกเกิด 3 เดือน ควรนอนหลับวันละ 14-17 ชั่วโมง วัยเด็กจนถึงอายุ 13 ปี ควรนอนหลับเฉลี่ยวันละ 13 ชั่วโมง และในวัยรุ่น วัยทำงาน จนไปถึงผู้ใหญ่สูงวัย ควรนอนหลับวันละ 7-10 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง
2. เอาชนะ อาการนอนไม่หลับรับประทานวิตามินอะไรดี?
เราอาจเสริมวิตามินที่ช่วยในเรื่องของการนอนหลับได้เช่นกัน ดังนี้
- วิตามิน B6
- วิตามิน B12
- วิตามิน D
- วิตามิน E
- แมกนีเซียม (Magnesium)
- แคลเซียม (Calcium)
- รากวาเลอเรียน (Valerian Root)
- เหล็ก (Iron)
- เมลาโทนิน (Melatonin)
สรุปวิธีเอาชนะ อาการนอนไม่หลับ หลับสนิท ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
ไม่ว่าจะนอนไม่หลับหรือนอนหลับยาก ก็มีวิธีแก้ที่สามารถเอาชนะ อาการนอนไม่หลับด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ โดยที่สำคัญต้องพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีวินัยอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีวิตามินช่วยในเรื่องของการนอนหลับ ลดหรือหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดปัญหานอนไม่หลับ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การสูบบุหรี่ อย่างน้อย 6 ชั่วโมงขึ้นไปก่อนการนอนหลับเพื่อให้การนอนของเรามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เพราะการนอนหลับเป็นวิธีที่ทำให้สุขภาพดีได้ง่ายที่สุด เมื่อเราพักผ่อนอย่างเพียงพอ หัวใจได้พักผ่อน ความดันเลือดดี สมองปลอดโปร่ง เราก็จะมีแรงและความคิดในการทำกิจกรรมในแต่ละวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
นพ.โชติมันต์ ชินวรารักษ์
จิตแพทย์
What Is Insomnia?. (2022, March 24). National Institutes Of Health. https://www.nhlbi.nih.gov/health/insomnia#:~:text=Insomnia%20is%20a%20common%20sleep,feel%20sleepy%20during%20the%20day.
Mayo Clinic Staff. (2016, October 15). Insomnia – Symptoms And Causes. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/insomnia/symptoms-causes/syc-20355167
Cleveland Clinic Medical Professional. (2023, February 13). Insomnia: What It Is?, Causes, Symptoms & Treatments. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/12119-insomnia