ปัสสาวะเล็ด

“ปัสสาวะเล็ด” หรือที่เราเรียกกันว่าอาการ “ฉี่เล็ด” นั้น ไม่ได้พบในวัยกลางคนเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุ 30 ปี บางคนอาจไอจนฉี่เล็ด ฉี่ปริบ อาการปัสสาวะเล็ดสร้างความไม่มั่นใจและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก เพราะจะทำอะไรก็ต้องคอยกังวลว่าปัสสาวะจะเล็ดออกมาได้โดยไม่รู้ตัว บางรายอาจถึงขั้นต้องสวมใส่แพมเพิสผู้ใหญ่หรือแพมเพิสผู้สูงอายุ อาการปัสสาวะเล็ดเกิดขึ้นจากปัจจัยอะไร และควรรักษาอย่างไรมาดูกันเลย

สารบัญบทความ

ปัสสาวะเล็ด คืออะไร


อาการ “ปัสสาวะเล็ด” เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ และความอ่อนแอของอุ้งเชิงกราน ทำให้เกิดอาการปัสสาวะไหลเล็ดออกมาขณะไอ จาม หัวเราะ หรือยกของหนัก เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้จึงทำให้ปัสสาวะเล็ดออกมาโดยไม่ตั้งใจ อาการปัสสาวะเล็ดเกิดได้กับทุกเพศ ตั้งแต่วัยทำงานจนถึงวัยทอง เมื่อเกิดอาการปัสสาวะเล็ดบ่อย ก็สร้างความรู้สึกไม่มั่นใจ และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

กลุ่มอาการปัสสาวะเล็ด

อาการปัสสาวะเล็ด

โดยทั่วไปแล้วอาการปัสสาวะเล็ดนั้นสามารถแบ่งย่อยได้อีกออกเป็นอาการต่าง ๆ ได้อีกหลายอย่างตามกลุ่มอาการ ผู้ป่วยควรสังเกตอาการตัวเองเบื้องต้นว่าเรามีพฤติกรรมการปัสสาวะเล็ดเป็นอย่างไร ดังนี้

ปัสสาวะล้น (Overflow Urinary Incontinence)

อาการปัสสาวะล้น คืออาการที่ผู้ป่วยไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ เมื่อกระเพาะปัสสาวะมีน้ำปัสสาวะค้างอยู่ปริมาณมาก ประกอบกับแรงดันในกระเพาะปัสสาวะจึงทำให้เกิดปัสสาวะไหลล้นออกมาจนผู้ป่วยอาจต้องสวมใส่แพมเพิสผู้ใหญ่หรือแพมเพิสผู้สูงอายุเพื่อป้องกันปัสสาวะที่ไหลออกมาเมื่อใดก็ได้ สิ่งที่ควรระวังเพิ่มเติมนอกเหนือจากอาการปัสสาวะเล็ดคืออาการแพ้แพมเพิส ที่อาจขึ้นจากการสวมใส่แพมเพิสตลอดเวลา ทั้งนี้อาการปัสสาวะล้นมักพบได้ในผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุจนทำให้เกิดปัญหากับระบบประสาทที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะ ผู้ที่มีเนื้องอก หรือ โรคเบาหวาน เป็นต้น

ปัสสาวะราด (Urge Urinary Incontinence)

อาการปัสสาวะราดเกิดจากการที่กระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวไวจนเกินไป ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะราดออกมาหลังปวดปัสสาวะเนื่องจากไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้นานจนทำให้เข้าห้องน้ำไม่ทัน สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

ปัสสาวะเล็ด เนื่องจากการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง (Stress Urinary Incontinence)

อาการปัสสาวะเล็ดเนื่องจากการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง คืออาการที่ผู้ป่วยปัสสาวะเล็ดเมื่อมีการเพิ่มแรงดันในกระเพาะปัสสาวะเนื่องจากแรงดันในช่องท้องและหูรูดท่อปัสสาวะผิดปกติ มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วย ไอ จาม หัวเราะ เบ่ง ออกกำลังกาย เดิน วิ่ง ยกของหนัก เป็นต้น มักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงมีอายุ น้ำหนักมาก คลอดบุตรหลายคน

ปัสสาวะเล็ดราด (Mixed Urinary Incontinence)

อาการปัสสาวะเล็ดราดคือ อาการปัสสาวะเล็ดราดหลังจากมีอาการปวดปัสสาวะเฉียบพลันประกอบกับแรงดันในช่องท้อง สามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยส่วนใหญ่อาการปัสสาวะเล็ดเกิดจากการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น ปัสสาวะเล็ดขณะไอ จาม เป็นอาการนำมาก่อน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดีพอ ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการปัสสาวะราดตามมาในภายหลัง

สาเหตุของปัสสาวะเล็ด

อาการปัสสาวะเล็ดสามารถเกิดได้จากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อรองรับอวัยวะที่อยู่ภายในอุ้งเชิงกรานหรือผนังช่องคลอดด้านหน้าอ่อนแอลง ส่งผลให้หูรูดและท่อปัสสาวะทำงานได้ไม่เต็มที่ ปิดไม่สนิท
  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้นทำให้การทำงานของอวัยวะในร่างกายเสื่อมลง อาจส่งผลให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนยาน หูรูดและท่อปัสสาวะปิดไม่สนิท จึงทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้
  • การคลอดบุตร การคลอดบุตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีบุตรจำนวนมากทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน และทำให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะอ่อนแอลง 
  • สตรีวัยหมดประจำเดือน เมื่อร่างกายถึงช่วงหมดประจำเดือนจะทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่ช่วยให้กระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะแข็งแรง เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงอาจส่งผลทำให้การทำงานของกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะทำงานลดลงได้ 
  • น้ำหนักตัวมาก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วนจะทำให้ไขมันกดทับบริเวณท้องน้อย ส่งผลให้เกิดแรงกดทับบนกระเพาะปัสสาวะและส่งผลต่อการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะจนทำให้เกิดปัสสาวะเล็ด

วิธีรักษาอาการปัสสาวะเล็ด

วิธีรักษาอาการปัสสาวะเล็ด
  1. รักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับสาเหตุของการเกิดปัสสาวะเล็ด เพื่อแก้ไขความหย่อนยานของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและซ่อมเสริมเนื้อเยื่อภายในอุ้งเชิงกรานให้มีความแข็งแรงมากขึ้น
  2. เปลี่ยนพฤติกรรม เช่น 
     •  ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เนื่องหากดื่มน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ปัสสาวะข้น ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง  •  หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนและน้ำอัดลม เพื่อลดความดันในช่องท้องซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้
     •  ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  1. เลเซอร์กระชับช่องคลอด เพื่อฟื้นฟูและกระชับช่องคลอด เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อและเนื้อเยื้อบริเวณช่องคลอดเพื่อลดการเกิดปัสสาวะเล็ด
  2. รักษาด้วยยา เพื่อลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ หรือช่วยลดการสร้างน้ำปัสสาวะ ซึ่งการรักษาทางยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  3. เสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ด้วยการฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน หรือใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์มาเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ เช่น ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือใช้ไฟฟ้ากระตุ้น เพื่อให้กล้ามเนื้ออุ่งเชิงกรานกระชับ และแข็งแรงขึ้น

แนวทางป้องกันปัสสาวะเล็ด

แนวทางป้องกันปัสสาวะเล็ด
  • ควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักมากจะทำให้ไขมันกดทับบริเวณท้องน้อย ส่งผลให้เกิดแรงกดทับบนกระเพาะปัสสาวะจนทำให้เกิดปัสสาวะเล็ด
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนต่าง ๆ เนื่องจากคาเฟอีนจะกระตุ้นให้เกิดการผลิตน้ำปัสสาวะมากขึ้นทำให้ปัสสาวะบ่อย และระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะ
  • ควบคุมปัสสาวะให้เป็นเวลา คือปัสสาวะทุก 3-4 ชั่วโมง หรือวันละ 4-8 ครั้ง 
  • รับประทานอาหารที่มีมีประโยชน์ และอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อป้องกันอาการท้องผูก
  • บริหารกล้ามเนื้อเชิงกรานให้แข็งแรง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการปัสสาวะเล็ด

ปัสสาวะเล็ดเริ่มเป็นได้เมื่ออายุเท่าไร?

อาการปัสสาวะเล็ดสามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 30-40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักมาก ผู้ที่ออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมาก หรือทำงานที่ต้องมีการออกแรงยกของหนักเป็นประจำมีโอกาสที่จะเผชิญปัญหาปัสสาวะเล็ดได้

ผู้ชายเป็นปัสสาวะเล็ดได้ไหม?

อาการปัสสาวะเล็ดสามารถพบในผู้ชายได้เช่นกัน ซึ่งอาการส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นสัญญาณของโรคต่อมลูกหมากโต เนื่องจากต่อมลูกหมากจะไปกดและเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้ท่อปัสสาวะตีบลงจากการบีบตัวเร็วขึ้นเพื่อขับปัสสาวะออกมา ทำให้ไวต่อการปวดปัสสาวะ จนอาจจะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง

สรุปเรื่องอาการปัสสาวะเล็ด

อาการปัสสาวะเล็ดเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง สร้างความไม่มั่นใจและยากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบปรึกษาแพทย์วางแผนการรักษาโดยด่วน 

ปรึกษาเรื่องปัสสาวะเล็ดเพิ่มเติมได้ที่ BeDee แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษา สะดวก ไม่ต้องเดินทาง เราพร้อมช่วยเหลือคุณทุกวัน สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS 

 

Content powered by BeDee’s experts

พว. มุทิตา คำวิเศษณ์

พยาบาลวิชาชีพ

Mayo Foundation for Medical Education and Research. (2023, February 9). Urinary incontinence. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/urinary-incontinence/symptoms-causes/syc-20352808 


NHS. (n.d.). NHS choices. https://www.nhs.uk/conditions/urinary-incontinence/ 


MediLexicon International. (n.d.). Urinary incontinence: Treatment, causes, types, and symptoms. Medical News Today. https://www.medicalnewstoday.com/articles/165408

บทความที่เกี่ยวข้อง

Key Takeaways สะดุ้งตื่นเกิดจากการกระตุกของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วในขณะที่ร่างกายของเรากำลังจะเข้าสู่ภาวะหลับลึก ทำให้เราสะดุ้งตื่นขึ้นมาชั่วขณะ  อาการสะดุ้งตื่นสามารถพบได้ในคนทั่วไป แต่มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก หากมีปัญหาสะดุ้งตื่นบ่อย นอนไม่หลับ นอน

Key Takeaway โรคมือเท้าปากเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร Enterovirus 71 (EV71), Coxasackievirus มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ใหญ่สามารถเป็นโรคมือเท้าปากได้เช่นกัน แม้ตัวโรคจะไม่อันตราย แต่หากได้รับเชื้อที่รุนแรงสามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนถึงชีวิตไ