บาดทะยัก

บาดทะยักเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผ่านทางบาดแผลตามร่างกาย ซึ่งส่งผลให้มีอาการทางระบบประสาทตามมา และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด แม้ในปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันเชื้อบาดทะยักแล้ว แต่ยังคงพบผู้ป่วยโรคนี้ได้บ่อยครั้ง ซึ่งบางครั้งเกิดจากบาดแผลขนาดเล็กเพียงนิดเดียว แต่ด้วยความชะล่าใจในการรักษาความสะอาดของบาดแผล ทำให้ได้รับเชื้อบาดทะยักในที่สุด

สารบัญบทความ

บาดทะยัก คืออะไร

โรคบาดทะยัก (Tetanus) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium Tetani มักพบได้ในดิน ฝุ่น และมูลของสัตว์ต่าง ๆ โดยเชื้อชนิดนี้ หลังจากเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลที่เกิดขึ้น จะสร้างสารพิษ Tetanospasmin ซึ่งเป็นสารพิษที่ส่งผลต่อระบบประสาทขึ้นมา ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึง แข็งเกร็ง มีอาการกระตุก และก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางกายเป็นอย่างมาก รวมถึงอาจทำให้เกิดปัญหาต่อระบบหายใจ ลามไปยังไขสันหลัง จนถึงก้านสมองบางส่วน และนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในท้ายที่สุด

 

แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาโรคบาดทะยักโดยตรง ทำได้แค่รักษาตามอาการเท่านั้น แต่ก็มีโอกาสที่จะหายจากโรค และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เช่นกัน ทั้งนี้โรคบาดทะยักสามารถป้องกันการติดเชื้อ หรือลดความรุนแรงจากโรคได้ ด้วยการฉีดวัคซีนกันบาดทะยักให้ครบถ้วน

อาการของโรคบาดทะยัก มีอะไรบ้าง?

บาดทะยัก อาการเป็นอย่างไร

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อบาดทะยักแล้ว จะมีระยะฟักตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 7-14 วัน หากผู้ป่วยแสดงอาการอย่างรวดเร็วกว่าระยะฟักตัวของเชื้อ อาจประมาณการได้ว่ามีการติดเชื้อที่รุนแรง และรักษาได้ยากกว่ากรณีทั่วไป ซึ่งอาการของบาดทะยัก มักมีลักษณะดังนี้

  • เกิดภาวะกรามติด กล้ามเนื้อขากรรไกรหดเกร็ง อ้าปากลำบาก สื่อสารลำบาก
  • กล้ามเนื้อคอแข็ง หดเกร็ง จนทำให้หายใจ และกลืนไม่สะดวก
  • กล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ เกิดอาการหดเกร็งร่วมด้วย เช่น ช่องท้อง หลัง
  • มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก และสร้างความเจ็บปวดให้กับร่างกาย เป็นเวลาหลายนาที โดยเฉพาะเมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เช่น ลม แสง เสียง
  • มีไข้สูง
  • เหงื่อออกมาก
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • เป็นตะคริว มีอาการลมชัก

 

อาการเหล่านี้เป็นอาการเริ่มแรกของโรคบาดทะยักที่สามารถสังเกตได้ง่าย ถ้ามีอาการลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาอาการตามความเหมาะสมต่อไป หากปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรงขึ้น อาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

อาการบาดทะยักแบบใดที่ควรพบแพทย์

โดยปกติแล้ว หากบาดแผลที่เกิดขึ้นได้รับการรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี และได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว โอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อบาดทะยักก็จะน้อยลง แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการ หรือเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่ง ในลักษณะอาการที่จะกล่าวต่อไปนี้ ไม่ว่าแผลนั้นจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขนาดไหนก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และฉีดยากันบาดทะยักโดยด่วน 

  • เริ่มมีอาการของบาดทะยัก ในลักษณะที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
  • บาดแผลมีการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกต่าง ๆ ซึ่งอาจทำความสะอาดแผลได้ไม่ดีพอ โดยเฉพาะแผลที่มีความลึกค่อนข้างมาก หรือแผลบริเวณใต้เท้า ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
  • ผู้ป่วยยังไม่ได้ฉีดวัคซีนบาดทะยักจนครบจำนวนเข็ม หรือจำไม่ได้ว่าตนเองได้รับวัคซีนแล้วหรือไม่
  • ผู้ป่วยได้รับการฉีดวัคซีนบาดทะยักครั้งล่าสุด เกินระยะเวลา 5 ปีมาแล้ว
  • ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักทุก ๆ 10 ปี
 
ปรึกษาเรื่องบาดทะยักกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง

บาดทะยัก เกิดจากสาเหตุใด?

โรคบาดทะยัก เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อระบบประสาท อันก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางกายเป็นอย่างมาก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในท้ายที่สุด จึงควรระมัดระวังให้ดี ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคบาดทะยักได้ มีดังนี้

  • เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium Tetani ซึ่งมักพบได้ในดิน ฝุ่น และมูลของสัตว์ต่าง ๆ ผ่านทางบาดแผลที่เกิดขึ้น
  • ผู้ป่วยไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนบาดทะยักมาก่อน หรือได้รับไม่ครบจำนวนเข็มที่กำหนดไว้ รวมไปถึงไม่ได้รับวัคซีนป้องกันทุก ๆ 10 ปี จึงติดเชื้อบาดทะยักได้ง่ายกว่าปกติ 
  • บาดทะยักไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ จะเกิดอาการขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดบาดแผล และมีการติดเชื้อเท่านั้น

ลักษณะแผลแบบใดที่เสี่ยงเป็นบาดทะยัก

ลักษณะแผลบาดทะยัก

โดยทั่วไปแล้ว แผลที่มีความลึก และมีการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกต่าง ๆ จะมีโอกาสในการติดเชื้อบาดทะยักได้ง่ายกว่าบาดแผลทั่วไป ซึ่งลักษณะของบาดแผล ที่เสี่ยงเป็นบาดทะยักได้ง่าย มีดังนี้

  • แผลจากการถูกสัตว์กัด หรือข่วน เช่น สุนัข แมว
  • แผลไฟไหม้
  • แผลจากของมีคม เช่น ตะปู มีด เสี้ยนไม้
  • แผลถลอก หรือรอยครูดจากการล้ม
  • แผลกระดูกหัก ที่มีการทะลุออกมาภายนอกผิวหนัง
  • แผลติดเชื้อที่ฟัน
  • แผลติดเชื้อที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งแผลจะหายช้า และติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ

 

ถือได้ว่าความสะอาดและลักษณะของแผล เป็นตัวแปรสำคัญในการติดเชื้อบาดทะยัก หากแผลมีความลึกมาก ยากที่จะทำความสะอาดได้ดี หรือสิ่งที่ทำให้เกิดบาดแผลมีการปนเปื้อน ไม่สะอาด ก็อาจทำให้ติดเชื้อบาดทะยักได้ง่ายยิ่งขึ้น

อาการแทรกซ้อนจากบาดทะยัก

เมื่อมีการติดเชื้อบาดทะยัก ไม่ใช่แค่อาการจากเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ที่จะส่งผลต่อร่างกาย ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้นได้ และส่งผลอันตรายถึงชีวิตในท้ายที่สุด ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะป่วยเป็นโรคบาดทะยัก มีดังนี้ 

  • ภาวะแทรกซ้อนในระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เมื่อผู้ป่วยมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อที่มากผิดปกติ อาจทำให้กระดูกสันหลัง และกระดูกส่วนอื่น ๆ เกิดการแตกหักตามมาได้
  • ภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยอาจเกิดโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด โรคปอดอักเสบ และระบบหายใจล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิต 
  • ภาวะแทรกซ้อนในระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยอาจมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนนำไปสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในที่สุด

 

มีอาการผิดปกติหรือไม่แน่ใจอย่าปล่อยไว้ รีบปรึกษาแพทย์ด่วน

วิธีป้องกันบาดทะยัก

การป้องกันโรคบาดทะยักเบื้องต้นสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และลดความรุนแรงของอาการจากโรคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับวัคซีนกันบาดทะยักอย่างถูกต้อง และครบถ้วนตามจำนวนที่กำหนดไว้ ควบคู่ไปกับการดูแล และรักษาความสะอาดบริเวณบาดแผลอย่างเหมาะสม

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก

ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก สำหรับเด็กอายุ 11 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ วัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) และวัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ (Td) โดยมีข้อกำหนดสำหรับการฉีดวัคซีนบาดทะยัก เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ดังนี้

  • ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือจำไม่ได้ว่าเคยฉีดวัคซีนหรือไม่ ควรฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม และหากมีบาดแผลลึกเกิดขึ้น ควรได้รับเข็มกระตุ้นเพิ่มอีก 1 เข็ม 
  • วัยรุ่นอายุ 11 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ ที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนแล้วเมื่อตอนเป็นทารก 5 เข็ม ควรได้รับการฉีดวัคซีนชนิด Td กระตุ้นภูมิคุ้มกันทุก 10 ปี
  • เมื่อได้รับบาดเจ็บจนเกิดแผล หากเป็นแผลขนาดเล็ก และเคยฉีดบาดทะยักมาแล้วไม่เกิน 10 ปี ไม่จำเป็นที่จะต้องฉีดยาเพิ่ม แต่ถ้าหากเกิน 10 ปีแล้ว ต้องได้รับการฉีดกระตุ้น 1 เข็ม
  • หากเป็นแผลขนาดใหญ่ บาดแผลลึก ในกรณีที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 5 ปีมาแล้ว ต้องฉีดกระตุ้นเพิ่ม 1 เข็ม เพื่อป้องกันการติดเชื้อบาดทะยัก

การวินิจฉัยโรคบาดทะยัก

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคบาดทะยักจากการตรวจร่างกาย และการซักประวัติเพิ่มเติมว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคบาดทะยักหรือไม่ เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อ การชักกระตุก อีกทั้งมีประวัติการรับวัคซีนป้องกันบาดทะยักอย่างไรบ้าง ก่อนดำเนินการรักษาตามอาการ และพิจารณาให้ผู้ป่วยฉีดวัคซีนตามข้อกำหนดต่อไป

ในบางกรณีอาจมีการส่งตรวจทางคลินิกเพิ่มเติม เพื่อให้วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคชนิดอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกัน อย่างโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือโรคพิษสุนัขบ้า

การรักษาโรคบาดทะยัก

บาดทะยัก รักษาอย่างไร

สำหรับการรักษาโรคบาดทะยัก แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาโดยตรง ทำได้แค่รักษาตามอาการ และฉีดวัคซีน เพื่อลดการกระจายตัวของเชื้อ รวมไปถึงลดความรุนแรงของโรคเท่านั้น หากผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการของโรคอย่างชัดเจนขึ้น จะมีกระบวนการรักษาตามอาการ ดังนี้

การทำความสะอาดบาดแผล

แพทย์จะทำการรักษาโดยการทำความสะอาดบาดแผลบาดทะยักอย่างเหมาะสม โดยการนำเนื้อตาย สิ่งแปลกปลอม และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ออกจากบาดแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่ม

การฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

ให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Tetanus Immunoglobulin และยาปฏิชีวนะ รวมไปถึงฉีดวัคซีนบาดทะยักร่วมด้วย เพื่อใช้ในการรักษาแบคทีเรียบาดทะยัก

การจ่ายยาเพื่อควบคุม และบรรเทาอาการของโรค

แพทย์จะทำการจ่ายยาตามอาการของโรคบาดทะยักที่เกิดขึ้น เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาระงับประสาท และยาระงับการชัก เพื่อบรรเทา และควบคุมอาการปวดเกร็ง รวมไปถึงการชักกระตุกของกล้ามเนื้อ

การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น 

สำหรับการรักษาภาวะแทรกซ้อนนั้น จะขึ้นอยู่กับอาการจากบาดทะยักของผู้ป่วยด้วย เช่น หากผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจ แพทย์จะทำการจ่ายยาชนิดต่าง ๆ เพิ่มเติม และเพิ่มการใส่เครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น หรือหากผู้ป่วยไม่สามารถทานอาหารได้เอง แพทย์อาจพิจารณาให้อาหารผ่านทางเส้นเลือดแทน

 

ปรึกษาอาการบาดทะยักและการรักษากับแพทย์ผู้ชำนาญการที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นบาดทะยัก 

เมื่อป่วยเป็นโรคบาดทะยักแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการรักษาโรคนี้คือ ความสะอาด ต้องดูแลรักษาบาดแผลให้สะอาดที่สุด เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่ม โดยสามารถดูแลตนเองเมื่อเป็นบาดทะยัก ได้ตามวิธีการดังนี้

  • หมั่นล้างและดูแลบาดแผลให้สะอาดที่สุด เพื่อไม่ให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น
  • ใช้ผ้าก๊อซปิดแผลให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในแผล
  • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมอาการของโรคบาดทะยัก
  • ฉีดวัคซีนบาดทะยักให้ครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด

ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักที่ไหนดี?

วัคซีนบาดทะยัก

การฉีควัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักสามารถเลือกฉีดวัคซีนป้องกัน หรือฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุก 10 ปี ได้ตามโรงพยาบาลชั้นนำ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และลดความรุนแรงของอาการจากโรคบาดทะยัก หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนบาดทะยักต้องฉีดกี่เข็ม วัคซีนบาดทะยักอยู่ได้กี่ปี สามารถปรึกษาแพทย์ได้ที่ BeDee แอปดูแลสุขภาพจากทีมแพทย์ผู้ชำนาญการภายใต้เครือ BDMS

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับบาดทะยัก

ตอบคำถามที่พบบ่อยของโรคบาดทะยัก

1. บาดทะยัก อันตรายถึงชีวิตไหม?

บาดทะยักส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ หากผู้ป่วยมีการติดเชื้อรุนแรง และดูแลรักษาแผลไม่ถูกสุขลักษณะ จนเกิดการลุกลาม และไม่ได้รับวัคซีนบาดทะยักอย่างครบถ้วน รวมไปถึงไม่ได้เข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างทันท่วงที ผู้ป่วยก็สามารถเสียชีวิตจากการติดเชื้อบาดทะยักได้

2. บาดทะยักสามารถหายเองได้หรือไม่?

โรคบาดทะยักไม่สามารถหายเองได้ และหากได้รับการรักษาไม่ทันเวลา จะยิ่งทำให้เชื้อลุกลาม จนก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยเกิดบาดแผลซึ่งมีความเสี่ยงจะเป็นบาดทะยักสูง ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน

3. วัคซีนบาดทะยัก ฉีดกี่เข็ม?

การฉีดวัคซีนบาดทะยักในผู้ใหญ่ ต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม ในกรณีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือไม่แน่ใจว่าเคยฉีดวัคซีนหรือไม่ แต่หากเคยได้รับวัคซีนมาก่อนแล้วเมื่อตอนเป็นทารก ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 1 เข็ม ทุก 10 ปี

4. โดนตะปูมีสนิม เป็นบาดทะยักจริงไหม?

ผู้ป่วยที่โดนตะปูมีสนิมมีโอกาสที่จะเป็นบาดทะยักได้ แต่ไม่ใช่ทุกรายที่จะเป็นบาดทะยัก หากผู้ป่วยได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนและทันเวลา อย่างไรก็ตามการเกิดบาดแผลจากตะปู ก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อบาดทะยักได้มากกว่ากรณีอื่น ๆ เนื่องจากบาดแผลจากตะปูจะมีความลึก ทำความสะอาดได้ยาก ที่สำคัญตะปูยังปนเปื้อนสนิม จึงสามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้มากกว่าปกติ

สรุปความอันตรายจากบาดทะยัก

โรคบาดทะยัก เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจากทางบาดแผล ที่มีความอันตรายเป็นอย่างมาก หากไม่ได้รับวัคซีน หรือการรักษาที่ทันเวลา ก็อาจถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น จึงไม่ควรชะล่าใจในการดูแล และควรให้ความสำคัญในการรักษาความสะอาดบาดแผลให้ดี แม้จะเป็นแผลเพียงเล็กน้อยก็ตาม 

ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

 

Content powered by BeDee Expert

ภญ.วรรณพร เกตุเลิศประเสริฐ 

เภสัชกร

Yabes, J. (2023, November 9). Tetanus Treatment & Management. Medscape. https://emedicine.medscape.com/article/229594-treatment?form=fpf

 

Felman, A. (2023, June 26). Everything you need to know about tetanus. MedicalNewsToday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/163063

 

Identify whether the wound is tetanus-prone. (2023, June 30). Department of Health and Aged Care Australian Government. https://immunisationhandbook.health.gov.au/recommendations/identify-whether-the-wound-is-tetanus-prone

บทความที่เกี่ยวข้อง

ค่าความดันโลหิตเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยบ่งบอกถึงสุขภาพของเราอย่างหนึ่ง หากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ การวินิจฉัยและติดตามอาการ อย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมค่าความดันโลหิตให้อยู่ในเป้าหมาย

Key Takeaways โรคลมหลับเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่มีลักษณะเด่นคือการง่วงนอนมากเกินไปในเวลากลางวัน ผู้ป่วยจะมีอาการวูบหลับนั่งหลับหลับกลางอากาศ หรือหลับแบบไม่รู้ตัว  ผู้ป่วยโรคลมหลับบางรายมีอาการ Cataplexy คืออาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย มักเ