Key Takeaways ละเมอคืออาการผิดปกติของการนอนหลับอย่างหนึ่งซึ่งทำให้ผู้ป่วยลุกขึ้นมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในขณะที่ยังอยู่ในภาวะหลับลึก เช่น ละเมอเดิน นอนละเมอพูดละเมอร้องไห้ การนอนที่ผิดปกตินี้อาจรบกวนคุณภาพการนอนหลับ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยล้าในตอนกลางวัน
เช็คเบาหวานด้วยตัวเอง รู้ทันความเสี่ยง ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
โรคเบาหวานไม่ใช่แค่โรคผู้สูงอายุอีกต่อไป ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคเบาหวานอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องมาจากไลฟ์สไตล์ รูปแบบการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป การตรวจคัดกรองสุขภาพประจำปีจึงสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้เรารู้เท่าทันสุขภาพตนเอง โรคเบาหวานนอกจากจะรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งแล้ว การดูแลตัวเองสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นการตรวจวัดระดับน้ำตาลหรือที่หลายคนเรียกว่า การเช็คเบาหวานด้วยตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลตัวเองของผู้ป่วยเบาหวาน
สังเกตสัญญาณเตือน อาการเสี่ยงโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีทำงานของฮอร์โมนอินซูลินผิดปกติ ในสภาวะของคนที่ร่างกายปกติฮอร์โมนอินซูลินจะทำหน้าที่นำน้ำตาลในกระแสเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ในผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่าฮอร์โมนอินซูลินมีการทำงานผิดปกติ ระดับฮอร์โมนอินซูลินลดลงหรือไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้อย่างเต็มที่จึงทำให้เกิดน้ำตาลในกระแสเลือดมากผิดปกติ ระดับน้ำตาลที่สูงเกินไป ทำให้ไตดูดกลับน้ำตาลได้ไม่ทัน จึงมีน้ำตาลรั่วออกมากับปัสสาวะ เป็นที่มาของคำว่า “เบาหวาน”
ซึ่งวิธีเช็คสัญญาณเตือนโรคเบาหวานด้วยตัวเอง ให้ลองสังเกตอาการต่อไปนี้
- ปัสสาวะบ่อย
เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดน้ำตาลส่วนเกินได้หมด จึงพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานจะปัสสาวะบ่อยและพบน้ำตาลออกมาปนกับปัสสาวะโดยเฉพาะเวลากลางคืน
- กระหายน้ำ
เนื่องจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำไปกับการปัสสาวะบ่อย จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงมักคอแห้ง กระหายน้ำบ่อย
- น้ำหนักลด
เมื่อร่างกายขาดน้ำเนื่องจากการปัสสาวะบ่อยและขาดอินซูลิน ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ จึงจำเป็นต้องนำโปรตีนและไขมันที่เก็บสะสมไว้ในเนื้อเยื่อมาใช้ จึงทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลียและน้ำหนักตัวลดลง
- หิวบ่อย กินจุ
เนื่องจากร่างกายขาดพลังงาน จึงทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานรู้สึกหิวบ่อย กินมากขึ้นกว่าเดิม
- ตามัว ชาปลายมือ ปลายเท้า
เมื่อร่างกายเกิดระดับน้ำตาลสะสมที่มากเกินไปจะส่งผลต่อจอประสาทตา ทำให้การมองเห็นพร่ามัวลงและอาจรุนแรงจนถึงขั้นตาบอดได้ นอกจากนี้ระดับน้ำตาลที่มากเกินไปยังส่วนผลต่อระบบประสาทส่วนปลาย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกชาตามปลายนิ้วมือ ปลายเท้า
- เป็นแผลง่าย หายยาก
เมื่อร่างกายเกิดระดับน้ำตาลสะสมที่สูงทำให้การทำงานของหลอดเลือดผิดปกติ ร่างกายเกิดการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ผิดปกติตามไปด้วย ส่งผลให้เมื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นแผลแล้วหายช้า และอาจถึงขั้นติดเชื้อได้หากบาดแผลไม่ได้รับการดูแลอย่างดี
- คันตามผิวหนัง
เมื่อปัสสาวะบ่อยจนทำให้ร่างกายขาดน้ำจะทำให้ผิวแห้ง ผู้ป่วยจึงเกิดอาการคันตามผิวหนัง
ปรึกษาเรื่องโรคเบาหวานกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง
การตรวจน้ำตาลในเลือด หรือเช็คเบาหวานด้วยตัวเอง คืออะไร
เมื่อลองเช็คอาการโรคเบาหวานเบื้องต้นแล้วหลายคนอาจยังสงสัยว่าหากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้นเราจะเป็นโรคเบาหวานแน่นอนเลยหรือไม่ ปัจจุบันมีเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลที่ช่วยให้เราสามารถเช็คเบาหวานด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน โดยตัวเครื่องจะทำการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด
(Fast Blood Sugar: FBS) หรือระดับน้ำตาลในร่างกาย ณ ขณะที่ทำการตรวจวัด วิธีการนี้เป็นอีกวิธีที่จะช่วยคัดกรองและตรวจเช็คเบาหวานด้วยตัวเองที่สะดวก รวดเร็ว
ใครบ้างที่ควรเช็คเบาหวานด้วยตัวเอง
☑ ผู้ที่ต้องการคุมเบาหวานอย่างเข้มงวด ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
☑ ผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดบ่อย ๆ หรือรุนแรง หรือผู้ป่วยที่น้ำตาลต่ำในเลือดโดยไม่มีอาการเตือน
☑ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้เกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ มักพบในเด็กหรือคนอายุน้อย ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ พบเป็นส่วนน้อยของประชาชน
☑ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่รักษาด้วยการฉีดอินซูลิน ผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยส่วนใหญ่แล้วร่างกายยังพอสามารถสร้างอินซูลินได้ แต่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน มักพบในผู้ใหญ่ประมาณ 95-97% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด
☑ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน แต่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี
วิธีเช็คเบาหวานด้วยตัวเอง
- งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด อย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนเจาะเลือด (Fasting blood sugar)
- กรณีเจาะเลือดหลังอาหารให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่แพทย์แนะนำ
- ล้างมือให้สะอาดก่อนเจาะเลือด
- เปิดเครื่องตรวจเช็คระดับน้ำตาลและตั้งค่าให้ถูกต้องตามคู่มือการใช้งาน
- นวดบริเวณปลายนิ้วที่จะเจาะเลือดเพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น โดยทั่วไปมักใช้การเจาะเลือดที่ปลายนิ้วกลางหรือนิ้วนาง
- ใช้ลำสีชุบแอลกอฮอล์ 70% เช็ดบริเวณปลายนิ้วมือที่จะเจาะเลือดและรอให้แห้งก่อนจึงค่อยเจาะเลือด
- ใช้อุปกรณ์เจาะเลือดเจาะที่ด้านข้างของปลายนิ้ว
- เช็ดเลือดหยดแรกออกก่อนด้วยสำลีแห้ง และใช้เลือดหยดที่สองหยดลงบนแผ่นทดสอบ
- นำแผ่นทดสอบใส่เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาล
- อ่านผลการทดสอบและบันทึกผลไว้ทุกครั้ง
สอบถามวิธีอ่านค่าและการใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดกับพยาบาลที่แอป BeDee ไม่มีค่าใช้จ่าย!
แปลค่าระดับน้ำตาลในเลือด เท่าไรจึงอันตราย
ระดับน้ำตาลบุคคลทั่วไป
วัดจากค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารที่มีพลังงานเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง
- ค่าปกติ ในผู้ใหญ่ คือ ระหว่าง 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือเป็นระดับน้ำตาลในเลือดของคนปกติ
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แพทย์อาจแนะนำในด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การคุมอาหาร ลดน้ำหนัก และออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการเป็นเบาหวานในอนาคต
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (โดยการตรวจอย่างน้อย 2 ครั้ง) ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
ระดับน้ำตาลผู้เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
สำหรับระดับน้ำตาลในเลือด ณ เวลาที่ตรวจเลือด (Fast Blood Sugar: FBS) ของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ควรอยู่ในระดับดังนี้
- ก่อนรับประทานอาหารควรน้อยกว่า 95 มิลลิกรัม / เดซิลิตร
- หลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 140 มิลลิกรัม / เดซิลิตร
- หลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 120 มิลลิกรัม / เดซิลิตร
ระดับน้ำตาลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2
สำหรับระดับน้ำตาลในเลือด ณ เวลาที่ตรวจเลือด (Fast Blood Sugar: FBS) ของผู้ป่วยโรคเบาหวานควรอยู่ในระดับดังนี้
- ก่อนรับประทานอาหารควรอยู่ระหว่าง 80 – 130 มิลลิกรัม / เดซิลิตร
- หลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 180 มิลลิกรัม / เดซิลิตร
วิธีแก้ไขระดับน้ำตาลในเลือดไม่ปกติเบื้องต้น
ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
หากผู้ป่วยรู้สึกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยมีอาการบ่งชี้ เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกหิว รู้สึกร้อน เหงื่อออก มือสั่น คลื่นไส้ และชา อาการสองขาดกลูโคส ได้แก่ อ่อนเพลีย มึนงง ปวดศีรษะ ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง สับสน ไม่มีสมาธิ ตาพร่ามัว พูดช้า ง่วงซึม หลงลืม พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง อัมพฤกษ์ ชัก และหมดสติ
การรักษาเบื้องต้น
- ภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดระดับไม่รุนแรง ให้รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม
- ภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดระดับปานกลาง อาจให้รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 30 กรัม
ปริมาณอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม ได้แก่
- กลูโคสเม็ด 3 เม็ด
- น้ำส้มคั้น 180 มล.
- น้ำอัดลม 180 มล.
- น้ำผึ้ง 3 ช้อนชา
- ขนมปัง 1 แผ่นสไลด์
- นมสด 240 มล.
- ไอศกรีม 2 สคูป
- ข้าต้มหรือโจ๊ก ½ ถ้วย
- กล้วย 1 ผล
ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นภายใน 15-20 นาที ดังนั้นให้ตรวจเช็คระดับน้ำตาลอีกครั้งหลังรับประทานคาร์โบไฮเดรตครั้งแรก หากระดับกลูโคสยัง ต่ำว่า 70 มก./ดล. ให้รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม ซ้ำ และรับประทานอาหารต่อเนื่องทันทีเมื่อถึงเวลาอาหาร
การรักษาภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดระดับรุนแรง
- กรณีที่มีฮอร์โมนกลูคากอน ฉีดกลูคากอนเข้าใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ
- กรณีที่ไม่มีฮอร์โมนกลูคากอน ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทรศัพท์แจ้งหน่วยกู้ชีวิตเพื่อมาให้การช่วยเหลือ และนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ระหว่างนำส่งโรงพยาบาลหรือก่อนที่หน่วยกู้ชีวิตมาถึง ให้ใช้น้ำหวานเข้มข้นหรือน้ำผึ้งป้ายที่กระพุ้งแก้มข้างที่นอนตะแคงตลอดเวลา
ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
เมื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง แต่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานในการดำรงชีวิตได้ ร่างกายจึงสลายไขมันเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนน้ำตาล การสลายไขมันทำให้เกิดกรดไขมัน ซึ่งเปลี่ยนเป็นสารคีโตนและอาจทำให้มีคีโตนคั่งในเลือด (Diabetic ketoacidosis;DKA) อาการที่สังเกตได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ เหนื่อย หายใจหอบลึก สับสน ซึม ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีระดับน้ำตาลในเลือด 250 มก./ดล. ขึ้นไป
ส่วนภาวะน้ำตาลในเลือดสูงแต่ยังพอมีอินซูลินในการยับยั้งการสลายไขมัน จะพบว่าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของระดับ osmolarity ในเลือด ดังนั้นผู้ป่วยมีระดับการรับรู้ลดลง ซึม สับสน ชัก โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีระดับน้ำตาลในเลือด 600 มก./ดล. ขึ้นไป
การป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลสูงฉุกเฉิน
- คัดกรองโรคเบาหวาน โดยเฉพาะหากมีอาการของน้ำตาลในเลือดสูง เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกลางคืน ปัสสาวะรดที่นอน กระหายน้ำ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เพื่อให้วินิจฉัยได้ตั้งแต่แรกเริ่ม
- ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคเบาหวาน การดูแลตนเอง สามารถแก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง
- รับประทานยาเบาหวานและฉีดยาอินซูลินสม่ำเสมอ
- หากมีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่า เจาะตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้ว ตรวจคีโตนในปัสสาวะ หากอาการไม่ดีขึ้น หายใจหอบเหนื่อย ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
- เฝ้าระวังภาวะที่อาจกระตุ้นในน้ำตาลในเลือดสูง เช่น การติดเชื้อ
การดูแลตัวเองเบื้องต้น
- เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มีกากใยสูง ไม่ผ่านการแปรรูป เช่น ถั่ว ธัญพืช ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวไรซ์เบอรี่ หรือขนมปังโฮลวีท ที่ผ่านการขัดสีน้อย ผัก ผลไม้ แทนคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวขาว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปังขาว พาสต้า น้ำอัดลม
- เช็คติดตามระดับน้ำตาลด้วยตัวเองเป็นประจำ
- ผู้ใหญ่ควรออกกำลังกายแอโรบิก อย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์ และเวทเทรนนิ่งอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
ประโยชน์ของการเช็คเบาหวานด้วยตนเอง
ประโยชน์ของการเช็คเบาหวานด้วยตัวเองนั้นมีหลายประการด้วยกัน เช่น
☑ ช่วยคัดกรองโรคเบาหวานทั้งในบุคคลทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง
☑ ช่วยเสริมข้อมูลของค่า A1C ในการประเมินการควบคุมเบาหวาน
☑ ช่วยให้การควบคุมเบาหวานดีขึ้น
☑ สามารถหาแนวโน้มที่จะเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด และภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์เป้าหมาย เพื่อป้องกันและแก้ไข ทำให้เพิ่มความปลอดภัยและความมั่นใจของผู้ป่วย เป็นแรงจูงใจให้มีการดูแลตนเอง
☑ เสริมพลังให้ผู้ป่วยและเพิ่มความต่อเนื่องต่อการดูแลรักษา
☑ ช่วยในการติดตามระดับน้ำตาลเพื่อประกอบการรักษาโรค
☑ ช่วยให้ผู้ป่วยรู้เท่าทันอาการของโรคและดูแลตัวเองให้ดีขึ้น
☑ ช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคเบาหวาน
☑ การเช็คเบาหวานด้วยตัวเองช่วยให้ผู้ป่วยสะดวก ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อย ๆ
เช็คเบาหวานด้วยตนเอง ต้องเช็คบ่อยแค่ไหน
การตรวจเช็คเบาหวานด้วยตัวเองหรือระดับน้ำตาลด้วยตัวเองสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้น แนะนำปรึกษาอายุรแพทย์ประจำตัวว่าควรมีแผนการตรวจเบาหวานอย่างไร โดยทั่วไปมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้
- ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฉีดอินซูลินวันละ 3 ครั้งขึ้นไป ควรตรวจระดับน้ำตาลก่อนอาหารทั้ง 3 มื้อทุกวัน และตรวจก่อนนอนเป็นบางครั้ง
- ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฉีดอินซูลินวันละ 2 ครั้ง ควรตรวจระดับน้ำตาลวันละ 2 ครั้ง ก่อนมื้อเช้าและมื้อเย็น
- ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฉีดอินซูลินวันละ 1 ครั้ง ควรตรวจระดับน้ำตาลวันละ 1 ครั้ง ก่อนมื้อเช้าทุกวัน หรืออย่างน้อย 3 ครั้ง / สัปดาห์
- ควรตรวจระดับน้ำตาลเมื่อสงสัยว่ามีภาวะระดับน้ำตาลต่ำ
- ผู้ป่วยที่รักษาแบบไม่ได้ฉีดอินซูลิน ควรมีการเจาะเลือดอย่างมีแบบแผน มีกำหนดเวลาเจาะเลือดและความถี่ เช่น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 8-10 ครั้ง ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ควรตรวจเช็คระดับน้ำตาลวันละ 7 ครั้ง แบ่งเป็น
1.) ก่อนอาหารเช้า 1-2 ชั่วโมง
2.) หลังอาหารเช้า 1-2 ชั่วโมง
3.) ก่อนอาหารกลางวัน 1-2 ชั่วโมง
4.) หลังอาหารกลางวัน 1-2 ชั่วโมง
5.) ก่อนอาหารเย็น 1-2 ชั่วโมง
6.) หลังอาหารเย็น 1-2 ชั่วโมง
7.) ก่อนนอน
เช็คเบาหวานด้วยตัวเอง ด้วยเครื่องตรวจเบาหวานแบบไหนดี
1. ชุดเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ACCU-CHEK GUIDE
คุณสมบัติ
- หน่วยความจำ 720 ค่า
- ใช้เวลาอ่านค่าเร็ว (น้อยกว่า 4 วินาที)
- เรียกดูค่าน้ำตาลเฉลี่ยได้ 7/14/30/90วัน
- มีปุ่มดีดแถบตรวจออกเมื่อใช้เสร็จ
- มีไฟที่ช่องเสียบแถบตรวจ สามารถตรวจได้ในที่แสงน้อย
- มีสัญลักษณ์แจ้งเตือนเมื่อพบค่าน้ำตาลสูงหรือต่ำ
- แถบรับเลือดกว้าง และใช้เลือดน้อยเพียง 0.6 ไมโครลิตร
- แถบตรวจในขวด ไม่หล่นกระจายตามแรงโน้มถ่วง
- เชื่อมต่อข้อมูลผ่านบลูทูธไปที่แอปพลิเคชัน
- รับประกันตลอดอายุการใช้งาน
2. ชุดเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ACCU-CHEK INSTANT
คุณสมบัติ
- ใช้เลือดเพียง 0.6 ไมโครลิตร
- ใช้เวลาอ่านค่าภายใน 4 วินาที
- หน่วยความจำ 720 ค่า
- แปลผลง่ายด้วยแถบสีด้านข้าง แสดงค่าน้ำตาลสูงกว่าค่าเป้าหมาย (สีน้ำเงิน), อยู่ในค่าเป้าหมาย (สีเขียว) หรือ ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย (สีแดง)
- เรียกดูค่าเฉลี่ย 7, 14, 30 และ 90 วันได้
- มีปุ่มดีดแถบตรวจออกเมื่อใช้เสร็จ
- รองรับการใช้งานกับแอปพลิเคชันผ่านบลูทูธ
- มีการรับประกันตลอดอายุการใช้งาน
- เครื่องแท้ จากบริษัทผู้ผลิต
3. เครื่องวัดระดับน้ำตาล ALLWELL รุ่น GlucoAll-1B
เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด หรือเครื่องตรวจเบาหวาน ที่สามารถเชื่อมต่อผ่านบลูทูธบนมือถือ เพื่อบันทึกค่า ดูแนวโน้มสุขภาพ และจัดเก็บผลการวัดเพื่อดูย้อนหลังได้ไม่จำกัด ทำให้สะดวกต่อการไปพบแพทย์เพื่อติดตามการรักษา ตัวเครื่องสามารถตั้งค่าการวัดก่อนอาหาร และหลังกินอาหารได้ เพื่อการวัดผลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เหมาะกับทั้งผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ
คุณสมบัติ
- รับประกันตลอดอายุการใช้งาน
- ใช้งานง่าย รอผลตรวจวัดเร็ว แค่เพียง 6 วินาที
- สามารถเชื่อมต่อกับมือถือผ่านแอป ALLWELL Health เพื่ออ่านและบันทึกค่า ทั้งยังเรียกดูประวัติย้อนหลังได้สะดวก
- เลือกโหมดการวัดก่อน หรือหลังทานอาหารได้ เพื่อให้ติดตามระดับน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น
- ตัวเครื่องบันทึกค่าการวัดได้ 400 ข้อมูล ประมวลผลค่าเฉลี่ยได้ใน 7, 14, 21, 28, 60 และ 90 วัน
- มีปุ่ม Strip Ejector ช่วยให้ปลดแผ่นตรวจได้ โดยมือไม่สัมผัส ลดเสี่ยงการสัมผัสเชื้อโรค
- แจ้งเตือน Ketone อัตโนมัติ เมื่อค่าสูงกว่า 240mg/dL
- อุปกรณ์ใช้งานครบชุด พร้อมตรวจทันที แถมฟรีกระเป๋าสำหรับเก็บอุปกรณ์และพกพา
สรุปเรื่องเช็คเบาหวานด้วยตัวเอง
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่นำมาสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ภาวะจอตาผิดปกติจากเบาหวาน โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใตและหลอดเลือดสมอง แผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน โรคเส้นประสาท ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง เป็นต้น ดังนั้นแล้วผู้ป่วยเบาหวานจึงจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลอย่างเคร่งครัด หมั่นตรวจเช็คอาการเบื้องต้นของโรคเบาหวานด้วยตัวเองเป็นประจำเพื่อป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ
ปรึกษาเรื่องโรคเบาหวานหรือวิธีเช็คเบาหวานด้วยตัวเองกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก BDMS บนแอป BeDee ได้ทุกวัน ทีมแพทย์และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษา สะดวก ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
พญ.มัญชุกร ลีละตานนท์
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
- ElSayed, N. A., Aleppo, G., Aroda, V. R., Bannuru, R. R., Brown, F. M., Bruemmer, D., Collins, B. S., Cusi, K., Das, S. R., Gibbons, C. H., Giurini, J. M., Hilliard, M. E., Isaacs, D., Johnson, E. L., Kahan, S., Khunti, K., Kosiborod, M., Leon, J., Lyons, S. K., … Gabbay, R. A. (2022). Summary of revisions: standards of care in diabetes—2023. Diabetes Care, 46(Supplement_1). https://doi.org/10.2337/dc23-srev
- สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. (2022). แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ศรีเมืองการพิมพ์ จำกัด. Retrieved from https://drive.google.com/file/d/1OAIDiCyGsJYA1-wTAxoOu6yL_YL9c7IG/view
- Thailand diabetes report 2000 – 2045. diabetes report 2000 – 2045. (n.d.). https://diabetesatlas.org/data/en/country/196/th.html