อาการไข้หวัดใหญ่ คือ อาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัส “ไข้หวัดใหญ่” (Influenza Virus) โดยผู้ติดเชื้อมักมีอาการปวดหัว, ไอ, เจ็บคอ, คัดจมูก, มีน้ำมูก, รู้สึกอ่อนเพลีย และมีไข้ อาการของไข้หวัดใหญ่ถือเป็นอาการที่พบได้บ่อยในฤดูฝน (ช่วงเดือนมิถุนายน-ตุล
รู้จัก “พยาธิ” ปรสิตที่แฝงตัวมากับอาหาร ก่ออันตรายกับร่างกาย
Key Takeaways
- พยาธิจัดเป็นปรสิตในร่างกายมนุษย์ชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตเพื่อหาอาหารและเจริญเติบโต
- อาการที่พบได้ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเฟ้อ คันรอบทวารหนัก เป็นต้น
- หากไม่แน่ใจอาการไม่ควรหาซื้อยามาทานเอง ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพิ่มเติม
พยาธิคืออะไร มีกี่ประเภท?
พยาธิ (Helminths) คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ต้องอาศัยในร่างกายของสัตว์อื่นหรือในมนุษย์ (Host) จัดเป็นปรสิตในร่างกายมนุษย์ชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตเพื่อหาอาหารและเจริญเติบโต สิ่งที่อันตรายคือสามารถทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ในร่างกายของผู้ติดเชื้อ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ น้ำหนักลด และอาการอื่น ๆ ตามชนิด ที่อยู่ และการก่อโรคในร่างกาย และในบางชนิดอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งตับได้ โดยทั่วไปแล้วพยาธิสามารถแบ่งออกเป็นชนิดต่าง ๆ ดังนี้
พยาธิตัวกลม (Nematodes)
เช่น พยาธิไส้เดือน (Ascaris) พยาธิเส้นด้าย (Pinworm) พยาธิปากขอ (Hookworms)พบการก่อโรคได้ในลำไส้และทางเดินอาหาร พยาธิสตรองจิรอยด์ (Strongyloides) และพยาธิปากขอ (Hook worm) ซึ่งเป็นพยาธิที่สามารถไชเข้าเนื้อเยื่ออ่อนผิวหนังและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นต้น
พยาธิตัวแบน และ พยาธิตัวตืด (Cestodes และ Tapeworm)
มีลำตัวแบนแบ่งเป็นปล้อง ๆ ตัวอย่างเช่น พยาธิตัวตืดหมู (Taenia Solium) พยาธิตัวตืดวัว (Taenia Saginata) ติดต่อจากการบริโภคอาหารดิบหรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ จากเนื้อหมูและเนื้อวัว ภายในกล้ามเนื้อของเนื้อสัตว์เหล่านี้มีถุงซีสต์ซึ่งมีตัวอ่อนของพยาธิอยู่ภายใน (Cysticerci) ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตเป็นพยาธิโตเต็มวัยในลำไส้เล็ก มองเห็นด้วยตาเปล่าและมีความยาวได้หลายเมตร พบการก่อโรคได้ในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ลำไส้ ตับ กล้ามเนื้อ หรือ สมอง เป็นต้น
พยาธิใบไม้ (Trematodes หรือ Fluke)
มีลำตัวแบน ไม่แบ่งเป็นปล้อง ตัวอย่างเช่น พยาธิใบไม้ในเลือด พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิใบไม้ในปอด พยาธิใบไม้ในลำไส้ ติดต่อจากการบริโภคอาหารประเภทปลาและสัตว์น้ำจืด ในลักษณะดิบหรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ
พยาธิเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร ?
- ทางปาก การทานอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด ไม่ได้ผ่านความร้อนหรือไม่ได้ปรุงสุก เช่น เนื้อสัตว์ดิบ ผักดิบ อาจทำให้ไข่หรือตัวอ่อนปนเปื้อนและเข้าสู่ร่างกายได้ เช่น พยาธิตัวตืด และพยาธิใบไม้ในตับ
- ทางผิวหนัง จากการสัมผัส การสัมผัสหรือเดินเท้าเปล่าบนดิน ทราย พื้นดินที่มีตัวพยาธิที่สามารถไชเข้าผ่านผิวหนัง หรือการสัมผัสไข่พยาธิ ผ่านการสัมผัสสิ่งของ ๆ ผู้ติดเชื้อ แล้วนำมือไปสัมผัสปากโดยไม่ล้างมืออาจเสี่ยงติดเชื้อพยาธิตัวกลม หรือพยาธิเส้นด้าย เป็นต้น
อาการของโรคพยาธิเป็นอย่างไร?
อาการของโรคพยาธินั้นขึ้นอยู่กับประเภท ชนิด และการก่อโรคหรือความผิดปกติของพยาธิแต่ละชนิดที่เข้าสู่ร่างกาย โดยทั่วไปแล้วอาการที่สามารถพบได้ เช่น
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- หิวบ่อย
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลด
- มีไข่พยาธิในอุจจาระ
- คันรอบทวารหนัก โดยเฉพาะตอนกลางคืน มักเกิดจากการติดเชื้อ พยาธิเส้นด้าย เพราะพยาธิตัวเมียที่ผสมพันธุ์แล้วจะออกมาวางไข่ที่บริเวณรอบ ๆ ทวารหนักของผู้ป่วย บางครั้งอาจออกมาวางไข่ที่ปากช่องคลอดในเด็กผู้หญิง ทำให้มีอาการคันปากช่องคลอดได้
- ไอ หรือมีเสมหะ
- อ่อนเพลียและเหนื่อยล้า
- ปวดเมื่อยร่างกาย
- มีผื่นคันหรือรอยแดงบนผิวหนัง
- มีภาวะตับอักเสบ หรือดีซ่าน
ปรึกษาอาการป่วยกับคุณหมอที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก เป็นส่วนตัว ส่งยาถึงที่
อันตรายจากโรคพยาธิ
โรคพยาธิสามารถทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร นำไปสู่ภาวะอ่อนเพลีย น้ำหนักลด ตัวซีด หรือโลหิตจาง และสามารถทำให้เกิดปัญหาทางเดินอาหารเรื้อรัง ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องผูก ปวดท้อง หรือท้องอืดเรื้อรังได้ ในขณะที่บางชนิด เช่น พยาธิตัวตืดและพยาธิใบไม้ สามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด และสมอง ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
วิธีรักษาโรคพยาธิ
Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
วิธีรักษาพยาธิให้หายขาดในปัจจุบันจะใช้การรักษาด้วยยาถ่ายพยาธิ เช่น เมเบนดาโซล (Mebendazole) หรือ อัลเบนดาโซล (Albendazole) ใช้สำหรับพยาธิไส้เดือนและพยาธิเส้นด้าย
ข้อควรระวังคือไม่ควรใช้ยานี้ ในหญิงตั้งครรภ์ ยานี้จัดอยู่ใน Pregnancy Category C ซึ่งหมายถึง การศึกษาในสัตว์เผยให้เห็นผลเสียต่อทารกในครรภ์ และไม่มีการศึกษาวิจัยแบบควบคุมในสตรีหรือไม่มีการศึกษาวิจัยในสตรีและสัตว์และเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
พราซิควอนเทล (Praziquantel) ใช้สำหรับพยาธิเช่น พยาธิใบไม้ในตับและพยาธิตัวตืด เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรป้องกันด้วยการดูแลสุขอนามัยต่าง ๆ ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการติดโรคซ้ำ และป้องกันการแพร่กระจายโรค
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไม่ควรหาซื้อยาถ่ายพยาธิมารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเนื่องจากจำเป็นต้องทราบชนิดของพยาธิก่อนจึงจะสามารถจ่ายยาให้เหมาะสมได้
วิธีป้องกันโรคพยาธิ
วิธีป้องกันโรคพยาธินั้นจะเน้นการดูแลสุขอนามัยให้เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้พยาธิเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีการ ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่หลังจากเข้าห้องน้ำ ก่อนการประกอบอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก
- รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น ตัดเล็บให้สั้น ล้างมือทุกครั้งก่อนนำอาหารเข้าปาก
- รับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด ปรุงสุก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานของดิบ เช่น เนื้อสัตว์ดิบ ของหมักดอง ลาบดิบ ก้อย ปลาร้า
- ล้างผักสดและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
- สวมรองเท้าเมื่อต้องเดินนอกบ้านหรือเดินบนพื้นดิน
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
- ไม่ควรใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม เสื้อผ้า
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการพยาธิ
1. เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีพยาธิ?
- ประวัติการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
- สังเกตได้ผ่านอาการต่าง ๆ เช่น น้ำหนักลด หิวบ่อย ปวดท้อง ร่วมกับการตรวจอุจจาระ
- การตรวจเลือด การพบเม็ดเลือดขาวปริมาณสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ดเลือดขาวชนิด อิโอซิโนฟิลล์ (Eosinophil) อาจบ่งบอกว่ามีการติดเชื้อพยาธิในร่างกายได้
- การตรวจวินิจฉัยทางอิมมิวโนวิทยา เช่น Enzyme linked immunosorbent assay (ELISA) หรือ Immunoblot เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรหาซื้อยาถ่ายพยาธิมาทานเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
2. สามารถทานยาถ่ายพยาธิเองได้หรือไม่?
ผู้ป่วยไม่ควรหาซื้อยาถ่ายพยาธิมาทานเองเนื่องจากพยาธิแต่ละชนิดใช้ยาในการกำจัดแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้แล้วผู้ป่วยยังควรปรึกษาคุณหมอเพื่อซักถามประวัติอาการก่อนทานยา
โรคพยาธิทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน รีบปรึกษาแพทย์
บางครั้งเราอาจรับเชื้อพยาธิมาโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่เราสามารถป้องกันได้คือรักษาความสะอาด ล้างมือก่อนทานอาหาร ทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง รวมถึงตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี
ปรึกษาหมอออนไลน์ นักกำหนดอาหาร พยาบาล และปรึกษาเภสัชกรแบบไม่มีค่าใช้จ่ายบนแอป BeDee ได้ทุกวัน ส่งยาและสินค้าถึงที่ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
นพ. จิติศักดิ์ พูนศรีสวัสดิ์
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ป้องกัน และอาชีวเวชศาสตร์
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Brazier, Y. (2023b, November 13). What to know about parasite infection in humans. https://www.medicalnewstoday.com/articles/220302#types-of-parasite
Kinman, T. (2018, September 17). Parasitic infections. Healthline. https://www.healthline.com/health/parasitic-infections
Helminth | parasitic worm | Britannica. (n.d.). Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/animal/helminth