Key Highlight ไข้รากสาดใหญ่เกิดจากการการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) โดยมีพาหะนำโรคคือตัวไรอ่อน มักเกิดกับผู้ที่เดินป่าเขา อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นป่า หรือมีพุ่มไม้เยอะ ภูมิภาคเขตร้อน ไข้รากสาดใหญ่ทำให้มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย มีจุด
หยุดหายใจขณะหลับอันตราย! รวมสาเหตุ อาการ และกลุ่มเสี่ยง
Key Takeaways
- โรคหยุดหายใจขณะหลับเกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับอันเนื่องมาจากกล้ามเนื้อเพดานอ่อนหย่อนยาน
- โรคหยุดหายใจขณะหลับทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ นำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง รบกวนคุณภาพชีวิตของคนใกล้ตัว
- หากมีอาการกรนเสียงดังต่อเนื่อง หยุดหายใจหรือหายใจติดขัดขณะหลับ ตื่นเช้าแล้วไม่สดชื่น ไม่มีสมาธิ ง่วงนอนมากผิดปกติในระหว่างวันจนไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ ควรรีบปรึกษาคุณหมอ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับคืออะไร?
โรคหยุดหายใจขณะหลับ หรือ Obstructive Sleep Apnea (OSA) คือภาวะการนอนหลับที่ผิดปกติอย่างหนึ่งที่เกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับอันเนื่องมากจากกล้ามเนื้อเพดานอ่อนหย่อนยานจนทำให้เกิดการหยุดหายใจชั่วคราวหลายครั้งในระหว่างการนอนหลับ จนเกิดการ “นอนกรน” ซึ่งส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจนและต้องตื่นตัวขึ้นมาชั่วคราวเพื่อหายใจใหม่ ทำให้นอนหลับไม่ต่อเนื่องและนอนไม่ได้คุณภาพ
อาการบ่งชี้เสี่ยงเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าหยุดหายใจตอนนอนหรือเราอาจเสี่ยงเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ ? สำหรับ อาการหยุดหายใจขณะหลับที่เราสามารถสังเกตได้มีดังนี้
- หยุดหายใจหรือหายใจติดขัดในขณะหลับ
- กรนเสียงดังต่อเนื่อง
- สะดุ้งตื่นเป็นระยะเนื่องจากรู้สึกหายใจไม่ออก
- ละเมอ
- คอแห้งหรือเจ็บคอเมื่อตื่นนอน
- ปวดหัวเมื่อตื่นนอนตอนเช้า
- รู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียแม้จะนอนเต็มที่
- ง่วงนอนมากผิดปกติในระหว่างวัน
- มีปัญหาเกี่ยวกับสมาธิ ความจำ และการตัดสินใจ
- อารมณ์แปรปรวน เช่น หงุดหงิดง่าย หรือซึมเศร้า
- ตื่นบ่อยในเวลากลางคืนเพื่อปัสสาวะ
มีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก ส่งยาถึงที่
สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดจากอะไร?
โรคหยุดหายใจขณะหลับสาเหตุเกิดจากการที่ทางเดินหายใจถูกอุดกั้นระหว่างการนอนหลับ ทำให้การหายใจถูกขัดจังหวะชั่วคราวหรือนอนแล้วหยุดหายใจ ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดภาวะนี้มีดังนี้
- ต่อมทอนซิลหรืออะดีนอยด์ที่โตเกินไปโดยเฉพาะในเด็ก
- กล้ามเนื้อในลำคอและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ทางเดินหายใจที่หย่อนหรือหนาแน่นเกินไป
- โครงสร้างของใบหน้าหรือลำคอที่ทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง
ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ?
โรคหยุดหายใจขณะหลับเป็นโรคที่สามารถพบได้ในคนทั่วไปโดยเฉพาะในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการหยุดหายใจตอนนอน ได้แก่
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน : การมีไขมันสะสมบริเวณลำคอมากเกินไปทำให้ทางเดินหายใจแคบลงและอุดตันได้ง่าย
- อายุ : มักพบในช่วงอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
- เพศ : ภาวะหยุดหายใจขณะหลับมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
- โครงสร้างร่างกาย : ผู้ที่มีคอหนา ลิ้นใหญ่ ต่อมทอนซิลโต หรือเพดานอ่อนที่หนาเกินไปอาจอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่าย
- พันธุกรรม : พบว่าผู้ที่มีประวัติครอบครัวที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมักเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าคนทั่วไป
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์
การวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
เมื่อเรามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือสงสัยว่าอาจมีภาวะดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะวินิจฉัย
- ซักถามประวัติ แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการ เช่น การกรนเสียงดัง อาการสะดุ้งตื่นกลางดึก หายใจติดขัด หรือหยุดหายใจชั่วขณะ รู้สึกง่วงนอนมากในตอนกลางวัน ตื่นนอนรู้สึกไม่สดชื่น
อาการปวดหัวหลังตื่นนอน
- ตรวจร่างกายทั่วไป
- การทำ Sleep Test เพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ตรวจการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด ตรวจรูปแบบการหายใจ และการเคลื่อนไหวของร่างกายและดวงตาขณะหลับ
วิธีรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับทำอย่างไร?
โรคหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีความรุนแรงต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ดังนั้นวิธีการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับก็จะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยทั่วไปแล้ววิธีรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีดังนี้
1. ใช้เครื่องมือในช่องปาก (Oral Appliance)
เป็นอุปกรณ์ฟันยางที่ใส่ขณะนอนหลับ ฟันยางจะช่วยขยับกรามล่างไปข้างหน้าเพื่อป้องกันการอุดกั้นทางเดินหายใจ อุปกรณ์นี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง
2. ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP)
การรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับด้วยเครื่อง CPAP เป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง โดยตัวเครื่องนี้จะสร้างแรงดันอากาศให้กับทางเดินหายใจขณะนอนหลับเพื่อป้องกันการอุดกั้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้อย่างต่อเนื่อง CPAP เหมาะสำหรับการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับระดับปานกลางถึงรุนแรง
3. ลดน้ำหนัก
ผู้ที่ภาวะน้ำหนักเกินหรือมีภาวะโรคอ้วนมักมีไขมันสะสมบริเวณลำคอมากเกินไปทำให้ทางเดินหายใจแคบลงและอุดตันได้ง่ายจึงเกิดอาการหยุดหายใจขณะหลับ
4. ผ่าตัด
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหยุดหายใจขณะหลับรุนแรงมากแพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อรักษา เช่น การผ่าตัดลิ้นไก่และเพดานอ่อน การผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างใบหน้าและขากรรไกร การผ่าตัดต่อมทอนซิลหรืออะดีนอยด์ หรือการใส่เครื่องกระตุ้นเส้นประสาท เป็นต้น
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
1. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับแบบไหนควรพบแพทย์?
หากผู้ป่วยมีอาการกรนเสียงดังต่อเนื่องจนรบกวนคนใกล้ชิด ตื่นมาแล้วรู้สึกเจ็บคอ คนใกล้ชิดสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยมีการหยุดหายใจหรือหายใจติดขัดขณะหลับ ตื่นเช้าแล้วไม่สดชื่น ไม่มีสมาธิ ง่วงนอนมากผิดปกติในระหว่างวันจนไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ หรือเผลอหลับในขณะทำกิจกรรม ควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอาการหยุดหายใจขณะหลับ
2. โรคหยุดหายใจขณะหลับหายขาดได้ไหม?
โรคหยุดหายใจขณะหลับสามารถรักษาให้หายขาดได้ในบางกรณี เช่น กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเนื่องจากน้ำหนักเกินเมื่อลดน้ำหนักอาจทำให้อาการหายขาดได้ หรือการรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นต้น
หยุดหายใจขณะหลับควรรีบปรึกษาคุณหมอ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง รบกวนคุณภาพชีวิตของคนใกล้ตัว และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการนอนที่ไม่ได้คุณภาพ
ปรึกษาหมอออนไลน์ นักกำหนดอาหาร พยาบาล และปรึกษาเภสัชกรแบบไม่มีค่าใช้จ่ายบนแอป BeDee ได้ทุกวัน ส่งยาและสินค้าถึงที่ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
พญ. กัญจน์อมล ศิริเวช
อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Obstructive sleep apnea – Symptoms and causes. (n.d.). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/obstructive-sleep-apnea/symptoms-causes/syc-20352090
Obstructive sleep apnea. (2024, July 29). Johns Hopkins Medicine. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/obstructive-sleep-apnea
Mbbs, H. W. M. (n.d.). Obstructive Sleep Apnea (OSA): practice essentials, background, pathophysiology. https://emedicine.medscape.com/article/295807-overview?form=fpf