Key Highlight กระเพาะปัสสาวะอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะโดยเฉพาะเชื้ออีโคไล (Escherichia coli) ที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยมักรู้สึกปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะไม่สุด ปวดท้องน้อย ปัสสาวะขุ่น หากมีอาการควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะ สารบ
โรคลมหลับ ง่วงนอนตอนกลางวันบ่อย ๆ อันตรายกว่าที่คิด!
Key Takeaways
- โรคลมหลับเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่มีลักษณะเด่นคือการง่วงนอนมากเกินไปในเวลากลางวัน ผู้ป่วยจะมีอาการวูบหลับนั่งหลับหลับกลางอากาศ หรือหลับแบบไม่รู้ตัว
- ผู้ป่วยโรคลมหลับบางรายมีอาการ Cataplexy คืออาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย มักเกิดในขณะที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง อาการนี้อาจทำให้ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนล้มลงหรือมีการเคลื่อนไหวช้าลง
- หากมีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ ง่วงนอนบ่อยในตอนกลางวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม
โรคลมหลับคืออะไร?
โรคลมหลับ (Narcolepsy) เป็นความผิดปกติของระบบประสาทที่มีลักษณะเด่นคือการง่วงนอนมากเกินไปในเวลากลางวัน ผู้ป่วยจะมีอาการวูบหลับนั่งหลับหลับกลางอากาศ หรือหลับแบบไม่รู้ตัว ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้แม้ในขณะที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ขับรถ ทำงาน หรือคุยกับผู้อื่น ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองที่ควบคุมวงจรการนอนหลับและการตื่น นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคลมหลับบางรายมีอาการ Cataplexy คืออาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย
อาการของโรคลมหลับมีอะไรบ้าง?
หลายคนอาจกังวลว่าง่วงนอนบ่อย ๆ ตอนกลางวันแบบนี้เรากำลังเป็นโรคลมหลับอยู่หรือไม่? จริง ๆ แล้วโรคลมหลับมีอาการหลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วยดังนี้
- ง่วงนอนมากผิดปกติในตอนกลางวัน
แม้จะนอนหลับเพียงพอในตอนกลางคืนแต่ผู้ป่วยโรคลมหลับอาจผล็อยหลับหรือนอนเยอะเกินไปไปโดยไม่รู้ตัวในช่วงที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำงาน ขับรถ หรือเรียนหนังสือ การหลับนี้อาจกินเวลาไม่กี่นาทีถึงครึ่งชั่วโมง แต่หลังจากตื่นขึ้นมาจะรู้สึกสดชื่นชั่วคราวแล้วกลับมาง่วงอีกในเวลาไม่นาน
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงฉับพลัน (Cataplexy)
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมกับโรคลมหลับ ซึ่งอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงนี้เป็นอาการที่เกิดจากการสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อชั่วคราว มักเกิดขึ้นเมื่อมีอารมณ์รุนแรง เช่น หัวเราะ ตื่นเต้น หรือโกรธ อาการนี้อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนล้มลงหรือมีการเคลื่อนไหวช้าลง แต่จะยังมีสติรู้ตัวตลอดเวลา ระดับความรุนแรงอาจแตกต่างกัน ตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น หนังตาหย่อน หรืออาการรุนแรงถึงขั้นล้มลงกับพื้น
- อัมพาตขณะหลับ (Sleep Paralysis)
หรือที่หลายคนเรียกว่าอาการ “ผีอำ” เป็นอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวในขณะที่กำลังหลับหรือตื่นแต่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ อาการนี้มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกตกใจหรือหวาดกลัวได้
- เห็นภาพหลอนขณะหลับ (Hallucinations)
ผู้ป่วยโรคลมหลับอาจเห็นภาพหรือได้ยินเสียงที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงที่กำลังจะหลับ (Hypnagogic Hallucinations) หรือเพิ่งตื่นนอน (Hypnopompic Hallucinations) อาการนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความสับสนและความกลัว เนื่องจากภาพที่เห็นอาจดูเหมือนจริงมาก
สาเหตุของอาการโรคลมหลับ
โรคลมหลับนั้นไม่ใช่แค่อาการง่วงนอนตอนกลางวันธรรมดาทั่วไป บางคนอาจจะคิดว่าผู้ป่วยดูเป็นคนหลับง่ายเกินไป แต่ที่จริงแล้วผู้ป่วยโรคลมหลับมักจะเผลอหลับแบบไม่รู้ตัวจนบางครั้งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ โรคลมหลับสาเหตุโดยทั่วไปเกิดจากปัจจัย เช่น
- ปัญหาภูมิคุ้มกัน (Autoimmune Disorders)
ในทางการแพทย์พบว่าโรคลมหลับอาจเกี่ยวข้องกับโรคภูมิคุ้มกันที่ทำลายไฮโปเครติน (Hypocretin) หรือสารสื่อประสาทที่มีผลกับการหลับลึกและการตื่นนอน เมื่อไฮโปเครตินถูกทำลายจนมีปริมาณลดลงจึงทำให้เกิดอาการโรคลมหลับ
- การบาดเจ็บหรือความเสียหายของสมอง
การบาดเจ็บที่สมองบริเวณที่ควบคุมการนอนหลับ เช่น การผ่าตัด อุบัติเหตุ หรือการติดเชื้อในสมอง อาจทำให้สมองไม่สามารถผลิตไฮโปเครติน (Hypocretin) ได้เพียงพอ
- การติดเชื้อไวรัส
โรคลมหลับอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติและทำลายเซลล์สมองที่ผลิตไฮโปเครติน (Hypocretin)
อันตรายจากโรคลมหลับมีอะไรบ้าง?
จากอาการที่เราได้ทำความเข้าใจไปข้างต้นจะพบว่าผู้ป่วยโรคลมหลับมักจะไม่ทราบว่าอาการของโรคจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อาการวูบหลับนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อแบบไม่มีสาเหตุซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ป่วยและผู้อื่นได้ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากโรคลมหลับ เช่น
- อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากอาการของโรคลมหลับคือการวูบหลับหรือเผลอหลับแบบไม่รู้ตัว ผู้ป่วยไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอาการของโรคลมหลับเมื่อไหร่
- อาจเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บหากมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Cataplexy) ร่วมด้วย
- มีผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน
- ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนในตอนกลางคืน
- อาจทำให้เกิดโรคอ้วน เนื่องจากการนอนมากเกินไปในตอนกลางวันส่งผลให้ระบบการเผาผลาญทำงานลดลง
สงสัยว่ามีอาการโรคลมหลับหรือมีอาการหลับไม่รู้ตัวปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ส่งยาถึงที่
การวินิจฉัยโรคลมหลับ
ในเบื้องต้นแพทย์จะซักถามประวัติอาการผู้ป่วย เช่น อาการวูบหลับเป็นอย่างไร มักเกิดขึ้นตอนไหน การนอนในตอนกลางคืนเป็นอย่างไร เป็นต้น หลังจากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายทั่วไป นอกจากนี้เพื่อการตรวจที่แม่นยำมากขึ้นแพทย์อาจใช้การทำ Sleep Test เพื่อดูการนอนของผู้ป่วยและอาจให้ผู้ป่วยสวมเครื่อง Actigraphy ซึ่งมีลักษณะเหมือน Smart Watch ทำหน้าที่คอยติดตามการเคลื่อนไหวและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้ป่วยในตอนกลางวัน
วิธีรักษาโรคลมหลับทำอย่างไร?
วิธีรักษาโรคลมหลับปัจจุบันนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะเน้นการรักษาด้วยยาร่วมกับการปรับพฤติกรรมผู้ป่วยควบคู่กันไป วิธีรักษาโรคลมหลับโดยทั่วไปมีดังนี้
1. การใช้ยารักษา
- กลุ่มยากระตุ้นประสาท (Stimulants) ยากลุ่มนี้ช่วยให้ผู้ป่วยตื่นตัวและลดอาการง่วงนอนในช่วงกลางวัน
- ยาต้านอาการซึมเศร้า (Antidepressants) ยากลุ่มนี้มักใช้เพื่อควบคุมอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงฉับพลัน (Cataplexy) และความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอน
- Sodium Oxybate (Xyrem) เป็นยาที่ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการง่วงนอนอย่างรุนแรงและมีอาการ กล้ามเนื้ออ่อนแรงฉับพลัน (Cataplexy) อย่างมาก
2. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- นอนหลับให้เป็นเวลา เข้านอนและตื่นในเวลาเดียวกันทุกวัน รวมถึงการงีบหลับระหว่างวันแบบสั้น ๆ (ประมาณ 15-20 นาที) เพื่อช่วยลดอาการง่วงนอนระหว่างวัน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เนื่องจากการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนรวมถึงแอลกอฮอล์จะทำให้นอนหลับยากในตอนกลางคืน
- ผ่อนคลายจิตใจก่อนนอน เช่น การทำสมาธิ การฝึกหายใจก่อนนอน ทำจิตใจให้สบาย หรือการนวดตามร่างกายเบา ๆ จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายมากขึ้น
- จัดห้องนอนให้เหมาะสม อุณหภูมิห้องนอนไม่ควรร้อนจนเกินไปและห้องนอนไม่ควรมีแสงและเสียงเข้ามารบกวนเพื่อให้เกิดการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคลมหลับ
1. รักษาโรคลมหลับให้หายขาดได้ไหม?
ปัจจุบันโรคลมหลับ (Narcolepsy) ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนที่ควบคุมการนอนหลับและการตื่น อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยยาและการปรับพฤติกรรมในปัจจุบันสามารถช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น หากมีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ ง่วงนอนบ่อยในตอนกลางวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม
2. ง่วงนอนแบบไหนผิดปกติ?
อาการง่วงนอนที่ผิดปกติและอาจเสี่ยงต่อโรคลมหลับมีอาการที่ควรสังเกต เช่น ง่วงนอนมากผิดปกติในตอนกลางวัน ผู้ป่วยมักเผลอหลับโดยไม่รู้ตัวในช่วงที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำงาน ขับรถ หรือเรียนหนังสือ
ผู้ป่วยบางรายอาจมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงฉับพลัน (Cataplexy) ร่วมด้วย มักเกิดขึ้นเมื่อมีอารมณ์รุนแรง เช่น หัวเราะ ตื่นเต้น หรือโกรธ อาการนี้อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนล้มลงหรือมีการเคลื่อนไหวช้าลง แต่จะยังมีสติรู้ตัวตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วยได้ เช่น อัมพาตขณะหลับ (Sleep Paralysis) หรือเห็นภาพหลอนขณะหลับ (Hallucinations) เป็นต้น
โรคลมหลับอันตรายและกระทบการใช้ชีวิต ควรรีบปรึกษาแพทย์
โรคลมหลับเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตโดยตรงและยังเป็นโรคที่ไม่สามารถคาดเดาอาการได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ดังนั้นหากมีอาการง่วงนอนผิดปกติในตอนกลางวัน หรือมีปัญหาการนอนหลับในตอนกลางคืน ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ปรึกษาหมอออนไลน์ นักกำหนดอาหาร พยาบาล และปรึกษาเภสัชกรแบบไม่มีค่าใช้จ่ายบนแอป BeDee ได้ทุกวัน ส่งยาและสินค้าถึงที่ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
พญ. กัญจน์อมล ศิริเวช
อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Narcolepsy – Symptoms and causes. (n.d.). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/narcolepsy/symptoms-causes/syc-20375497
Narcolepsy. (n.d.). National Institute of Neurological Disorders and Stroke. https://www.ninds.nih.gov/health-information/disorders/narcolepsy
Suni, E., & Suni, E. (2024, May 2). Narcolepsy: Causes, Symptoms, & Treatments. Sleep Foundation. https://www.sleepfoundation.org/narcolepsy