สารบัญบทความ โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever) คืออะไร โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever) คือโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไม่ว่าจะสายพันธุ์ DENV-1,
อาการไข้หวัดใหญ่คืออะไร วิธีเช็กอาการตัวเองและคนใกล้ตัว
อาการไข้หวัดใหญ่ คือ อาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัส “ไข้หวัดใหญ่” (Influenza Virus) โดยผู้ติดเชื้อมักมีอาการปวดหัว, ไอ, เจ็บคอ, คัดจมูก, มีน้ำมูก, รู้สึกอ่อนเพลีย และมีไข้ อาการของไข้หวัดใหญ่ถือเป็นอาการที่พบได้บ่อยในฤดูฝน (ช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม) และฤดูหนาว (ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม) ของประเทศไทย ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกเพศและทุกวัย
โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดใหญ่จะสามารถหายได้เอง แต่ในบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการร้ายแรงจนทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องทราบข้อมูลและรายละเอียดว่าสาเหตุของอาการไข้หวัดใหญ่คืออะไร รวมถึงควรทำความเข้าใจวิธีป้องกันอาการไข้หวัดใหญ่เพื่อลดความเสี่ยงที่จะป่วยจากโรคดังกล่าวได้
ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร เตรียมตัวรับมือยังไงดี?
“ไข้หวัดใหญ่” คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยอาการไข้หวัดใหญ่ที่พบได้ในเบื้องต้น ได้แก่ มีไข้ต่ำ, น้ำมูกไหล, ครั่นเนื้อครั่นตัว รวมถึงรู้สึกอ่อนเพลีย
จากอาการดังกล่าว ทำให้ในช่วงแรกผู้ป่วยหลายคนมักเข้าใจผิดว่าตนเองป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา แต่ที่จริงแล้วเมื่อเวลาผ่านไปจึงพบว่าอาการของไข้หวัดใหญ่มีความรุนแรงกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไข้หวัดใหญ่สามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ถึงแก่ชีวิตของผู้ป่วยได้ เราจึงควรสังเกตอาการของตนเองว่าเข้าข่ายอาการของไข้หวัดใหญ่หรือไม่ เพื่อเข้ารับการรักษาจากแพทย์ได้ทันเวลา
ไข้หวัดใหญ่มีกี่สายพันธุ์
สายพันธุ์หลัก ๆ ของไข้หวัดใหญ่สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ A สายพันธุ์ B และสายพันธุ์ C ซึ่งสายพันธุ์ที่มีการระบาดโดยทั่วไปมากที่สุด ได้แก่ สายพันธุ์ A และ B
แต่ละสายพันธุ์ก็มีข้อแตกต่างของอาการ รวมถึงรายละเอียดที่ควรทราบ ดังนี้
- สายพันธุ์ A : ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มีระยะเวลาฟักตัว 1-3 วัน เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด เพราะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยได้ โดยอาการไข้หวัดใหญ่ของผู้ป่วยสายพันธุ์ A ในระยะแรกคือ มีไข้ต่ำ, ปวดศีรษะ, ครั่นเนื้อครั่นตัว และเจ็บคอ บางรายอาจมีอาการท้องเสียรวมถึงคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย นอกจากนี้ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มีการแบ่งแยกย่อยออกไปอีก โดยสายพันธุ์ย่อยที่มีการระบาดเป็นประจำในประเทศไทยคือ ‘H1N1’ และ ‘H3N2’ นั่นเอง
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 : เป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่กระจาย และติดต่อจากคนสู่คน อาการของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้มีตั้งแต่อาการเบื้องต้นอย่าง เป็นไข้ ปวดศีรษะ และรู้สึกอ่อนเพลีย ไปจนถึงอาการรุนแรงมากเช่น อาการปอดบวมหรือหัวใจวาย ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 : เป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่กระจายและติดต่อจากสัตว์ (หมู) สู่คน อาการแรกเริ่มของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้คือ มีน้ำมูก ไข้ขึ้นสูง ไอ รวมถึงระบบทางเดินหายใจทำงานผิดปกติ ทั้งนี้อาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วยในผู้ป่วยบางราย
- สายพันธุ์ B : ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B มีระยะเวลาฟักตัว 1-4 วัน อาการไข้หวัดใหญ่ของผู้ป่วยสายพันธุ์ B คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน, ปวดศีรษะ, หนาวสั่น, อ่อนเพลีย และมีอาการคัดจมูกร่วมด้วย ทั้งนี้หากป่วยเป็นระยะเวลานานก็อาจจะมีอาการหลอดลมอักเสบแทรกซ้อนขึ้นมาได้
- สายพันธุ์ C : ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะมีอาการป่วยเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการไข้หวัดใหญ่เลย
อาการไข้หวัดใหญ่ มีอะไรบ้าง
แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า อาการไข้หวัดใหญ่มีอะไรบ้าง? อาการของไข้หวัดใหญ่ที่สังเกตได้ง่ายมีดังนี้
- รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
- ปวดศีรษะ หรือรู้สึกปวดบริเวณดวงตา
- มีอาการเจ็บคอและไอแห้ง
- มีไข้ รู้สึกหนาวสั่น
- คัดจมูก มีน้ำมูก และรู้สึกหายใจถี่กว่าปกติ
- ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการท้องเสียและคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
อย่าชะล่าใจอาการไข้หวัดใหญ่ ปล่อยไว้อาจลุกลามกว่าเดิมรีบปรึกษาคุณหมอด่วน
ไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้อย่างไร
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อและแพร่กระจายจาก “คนสู่คน” (Person to Person) เป็นหลักผ่านการหายใจ การสัมผัสโดนฝอยละอองน้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ (Droplet Transmission) รวมถึงการสัมผัสบริเวณพื้นผิวหรือสิ่งของที่มีไวรัสไข้หวัดใหญ่ปนเปื้อนอยู่ ทั้งนี้การระบาดจะเกิดได้ง่ายในสถานที่ที่แออัดและมีคนอยู่อย่างหนาแน่น เช่น ที่ทำงาน โรงเรียน หรือโรงงาน เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนจากอาการไข้หวัดใหญ่
นอกเหนือจากอาการไข้หวัดใหญ่แล้ว สิ่งที่เราควรระมัดระวังอีกอย่างคือ “ภาวะแทรกซ้อน” เพราะเมื่อร่างกายของผู้ป่วยอ่อนแอจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ภาวะแทรกซ้อนก็อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยมีดังต่อไปนี้
- โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ
- โรคไซนัสอักเสบ หรือหูชั้นกลางอักเสบ
- โรคหลอดลมอักเสบ
- โรคหัวใจ
- โรคหอบหืด
ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน
โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดใหญ่จะหายเป็นปกติได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามบางรายอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวประกอบไปด้วย
- กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
- กลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี
- กลุ่มเด็กเล็กที่รับประทานยาแอสไพริน
- กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคลมชัก โรคปอด หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- กลุ่มผู้ป่วยโรคอ้วน
กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้หากเกิดอาการไข้หวัดใหญ่ควรรีบปรึกษาแพทย์ด่วน
อาการไข้หวัดใหญ่แบบใดที่ควรไปพบแพทย์
ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดใหญ่จะสามารถหายได้เองภายในเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาหากมีอาการตามข้อมูลเหล่านี้ เนื่องจากเป็นอาการไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงและอาจส่งผลร้ายแรงได้ โดยอาการดังกล่าวได้แก่
- มีไข้สูงเกิน 39-40 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 24-48 ชั่วโมง
- ปลายมือ หรือปลายเท้าเป็นสีเขียว
- มีผื่นขึ้นตามร่างกาย
- รู้สึกหายใจลำบาก หรือหายใจหอบ
- มีอาการอาเจียน และไม่สามารถรับประทานอาหารได้
- มีอาการเจ็บ แน่นหน้าอก หรือหน้ามืดเป็นลม
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความรุนแรงของโรค
“การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่” สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กวัยแรกเกิดที่อายุครบ 7 เดือนขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดความรุนแรงของโรคและอาการไข้หวัดใหญ่ได้ดี นอกจากนี้กลุ่มที่ควรฉีดเป็นประจำทุกปีอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ กลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป เพราะวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ อีกทั้งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงขึ้นอีกด้วย
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรฉีดปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การฉีดวัคซีนทุกปีจึงทำให้ร่างกายของเรามีภูมิคุ้มกันตรงกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ ณ ช่วงเวลานั้น ๆ
ผลข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- มีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยตามตัว
- มีอาการปวด, บวม, แดง และเจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน
- อาจมีอาการริมฝีปากบวม หรือมีผื่นลมพิษในบางราย
ทั้งนี้สามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยการประคบเย็น รวมถึงสามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อให้อาการไข้ทุเลาลงได้
การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่
ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะวินิจฉัยอาการไข้หวัดใหญ่โดยมุ่งเน้นไปที่การตรวจร่างกายของผู้ป่วยเป็นหลัก เพื่อทำการวิเคราะห์ และตรวจหาสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ในร่างกายผู้ป่วยว่าเป็นสายพันธุ์ใด นอกเหนือจากนี้ก็มีการเก็บตัวอย่างเชื้อจากน้ำมูกหรือเสมหะในลำคอของผู้ป่วยด้วยชุดตรวจ “RIDTs” (Rapid Influenza Diagnosis Tests) เพื่อทดสอบและระบุประเภทของเชื้อไวรัส
อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีอาการไอหรือหอบหืดร่วมด้วย แพทย์อาจจะทำการ “ถ่ายภาพเอกซเรย์” (X-ray) บริเวณปอดเพื่อตรวจสอบ และวินิจฉัยเพิ่มเติมว่ามีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่
การรักษาอาการไข้หวัดใหญ่
ภายหลังวินิจฉัยอาการของไข้หวัดใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แพทย์จะสั่งจ่ายยาเพื่อรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ โดยประเภทของยาที่นิยมสั่งจ่ายในประเทศไทยคือ ยาต้านไวรัส “โอเซลทามิเวียร์ ” ซึ่งยาชนิดนี้จะให้ประโยชน์มากที่สุดหากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วันแรกที่ตรวจเจอเชื้อไวรัส นอกเหนือจากนี้แล้ว แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอื่น ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดใหญ่ตามดุลยพินิจ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ เป็นต้น
การดูแลตัวเอง เมื่อมีอาการไข้หวัดใหญ่
ขั้นตอนการดูแลตัวเองเมื่อมีอาการไข้หวัดใหญ่ ประกอบไปด้วย
- ดื่มน้ำเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวจากไข้ได้ไวขึ้นและบรรเทาอาการตัวร้อน ทำให้ร่างกายมีความชุ่มชื้นเพียงพอ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เพราะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงขึ้น
- แยกของใช้ส่วนตัวที่อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคออกจากของใช้ส่วนรวม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังผู้อื่น
- กินยาลดไข้ หรือยาตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ควรกินยาแอสไพรินเพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในผู้ป่วยบางราย
- รักษาความสะอาดและสุขอนามัย ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อไปสู่บุคคลอื่น
- หากมีความจำเป็นต้องใกล้ชิดกับผู้อื่น หรือออกไปข้างนอก ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย
ปรึกษาการรักษาอาการไข้หวัดใหญ่กับคุณหมอ
ป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้อย่างไร
วิธีการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เราควรรู้และปฏิบัติตาม ได้แก่
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี
- รักษาความสะอาดและสุขอนามัย ฟอกสบู่และล้างมือทุกครั้งเมื่อทำการสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ
- ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปข้างนอก หรืออยู่ในสถานที่ที่แออัด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณปาก ดวงตา และจมูก เพราะเป็นช่องทางในการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ อาการไข้หวัดใหญ่
1. ไข้หวัดใหญ่ สามารถหายเองได้ไหม?
หากอาการไข้หวัดใหญ่ไม่ร้ายแรงมากก็สามารถหายเองได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย โดยให้ผู้ป่วยพักผ่อนที่บ้าน และรักษาไข้หวัดใหญ่ด้วยตัวเองตามอาการของผู้ป่วย
2. อาการไข้หวัดใหญ่ใช้เวลากี่วันหาย?
โดยทั่วไปแล้ว อาการไข้หวัดใหญ่มักหายเองได้ภายใน 6-7 วัน แต่หากมีอาการมากกว่า 7 วัน ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
3. อาการไข้หวัดใหญ่ VS อาการไข้หวัด ต่างกันอย่างไร?
อาการของไข้หวัดใหญ่ที่ต่างจากอาการไข้หวัดธรรมดา ได้แก่
- มีอาการอ่อนเพลียและหนาวสั่นตลอดเวลา
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง รวมถึงมีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส
- มีอาการท้องเสีย อาเจียน และคลื่นไส้ร่วมด้วย
4. ทำไมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้ว ยังเป็นได้อยู่?
เนื่องจากสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ ทำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังสามารถเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ จึงเป็นเหตุผลที่เราควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
สรุป อาการไข้หวัดใหญ่ที่เราควรรู้เพื่อดูแลตัวเอง
อาการไข้หวัดใหญ่ คือ อาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัส “ไข้หวัดใหญ่” (Influenza Virus) ซึ่งเป็นอาการป่วยที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้อาการในระยะแรกเริ่มจะมีความใกล้เคียงกับอาการไข้หวัดธรรมดา แต่ที่จริงแล้วผลข้างเคียงของอาการไข้หวัดใหญ่อันตรายกว่าเป็นอย่างมาก เพราะสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วย จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน พร้อมจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
ภญ.วรรณพร เกตุเลิศประเสริฐ
เภสัชกร
Bumpenkiatigul, N. Tangsathapornpong, A. & Sritipsukho, P. (2012). Pandemic Influenza (H1N1) 2009 of Pediatric Patients at Thammasat University Hospital. Journal of the Medical Association of Thailand, 9(1): S2-S3. https://www.thaiscience.info/journals/Article/JMAT/10971301.pdf
Flu (influenza). (n.d.). Health Direct. https://www.healthdirect.gov.au/flu
Flu Symptoms & Complications. (n.d.). Center of Disease Control and Prevention. https://www.cdc.gov/flu/symptoms/symptoms.htm
Preventing Influenza. (n.d.). NYU Langone Health. https://nyulangone.org/conditions/influenza/prevention