ริดสีดวง

Key Takeaways

  • ริดสีดวงทวารมี 2 ประเภท ได้แก่ ริดสีดวงภายใน และริดสีดวงภายนอก
  • วิธีรักษาริดสีดวงหรือบรรเทาริดสีดวงมีทั้งการเหน็บยา ฉีดยา ใช้ยางรัด เลเซอร์ หรือการผ่าตัด
  • หากพบว่ามีหัวริดสีดวงหรือสงสัยว่าเป็นริดสีดวงไม่ต้องเขินอาย สามารถปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee แบบเป็นส่วนตัวได้ทุกวัน
สารบัญบทความ

ริดสีดวงคืออะไร?

ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoid) หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ริดสีดวง” คือภาวะที่เส้นเลือดบริเวณทวารหนักหรือช่วงปลายสุดของลำไส้ใหญ่เกิดการบวมและขยายตัว ทำให้เกิดอาการผิดปกติที่พบได้มากที่สุดคือมีเลือดออกโดยเฉพาะเวลาขับถ่าย อาการอื่น ๆ ได้แก่ คลำได้ก้อนบริเวณปากทวารหนัก หรือมีก้อนยื่นออกจากปากทวารหนักเป็น ๆ หาย ๆ มักไม่ได้มีอาการปวดร่วมด้วย นอกจากเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลิ่มเลือดในริดสีดวงแข็งตัว หรือริดสีดวงอักเสบ โรคริดสีดวงทวารนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ

ริดสีดวงภายใน

ริดสีดวงภายใน (Internal Hemorrhoids) เกิดขึ้นภายในทวารหนัก อาการที่สังเกตได้คือผู้ป่วยอาจมีเลือดออกเมื่อขับถ่ายหรือถ่ายมีก้อนยื่นขึ้นอยู่กับระยะของโรค ริดสีดวงภายในแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  1. ริดสีดวงระยะแรกเส้นเลือดจะบวมอยู่ภายในทวารหนัก ไม่โผล่ออกมาภายนอก มักมีเลือดออกขณะขับถ่าย ผู้ป่วยมักไม่รู้สึกเจ็บปวด
  2. ก้อนริดสีดวงโผล่ออกมานอกทวารหนักขณะขับถ่าย แต่จะหดกลับเข้าไปเองหลังขับถ่ายเสร็จ
  3. ก้อนริดสีดวงยื่นออกมาข้างนอกทวารหนักหลังขับถ่าย และต้องใช้มือดันกลับเข้าไป
  4. ริดสีดวงบวมมากริดสีดวงโผล่ออกมานอกทวารหนักอย่างถาวร ไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ มีโอกาสเกิดการขาดเลือดและมีเนื้อตายเกิดขึ้น ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดริดสีดวงมาก

ริดสีดวงภายนอก

ริดสีดวงภายนอก (External Hemorrhoids) เกิดขึ้นบริเวณภายนอกที่เรียกว่า Dentate line ลักษณะริดสีดวงภายนอกมักจะสามารถมองเห็นและสัมผัสได้ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเส้นประสาทอยู่มาก เมื่อมีการจับตัวกันของลิ่มเลือดในเส้นเลือด (Thrombosed External Hemorrhoids) จึงมักทำให้เกิดอาการเจ็บปวดมากได้โดยเฉพาะในระยะแรก

 

เจ็บริดสีดวงมากทําไงดี? ไม่ต้องเขินอาย ปรึกษาวิธีรักษาริดสีดวงกับคุณหมอที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก เป็นส่วนตัว ส่งยาถึงที่

ริดสีดวงอาการเป็นอย่างไร?

อาการริดสีดวง

หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วอาการริดสีดวงภายนอกและภายในมีอาการอย่างไร? โดยทั่วไปแล้วอาการริดสีดวงที่มักพบได้ เช่น

  • ถ่ายเป็นเลือด มีเลือดออกขณะเบ่งถ่ายหรือหลังขับถ่าย มีเลือดปนในอุจจาระ หรือหยดเลือดหลังจากการขับถ่าย ไม่รู้สึกเจ็บปวด
  • เจ็บปวดหรือไม่สบายทวารหนักขณะขับถ่าย
  •  คัน บวมรอบทวารหนัก
  • คลำพบก้อนเนื้อหรือติ่งริดสีดวง รู้สึกว่ารูทวารมีก้อนยื่นเป็นติ่งต้องดันกลับเข้าไป

ริดสีดวงเกิดจากอะไร?

สาเหตุของการเกิดริดสีดวงทวารยังไม่ทราบแน่ชัดในปัจจุบัน ในอดีตเคยมีความเชื่อว่าเกิดจากเส้นเลือดขอดในบริเวณทวารหนัก ซึ่งพิสูจน์แล้วในปัจจุบันว่าไม่เกี่ยวข้องกัน สาเหตุหลักคาดว่าเกิดจากการที่ชั้นเนื้อเยื่อในรูทวารหนักที่เรียกว่า Anal Cushion มีการเสื่อมสภาพแล้วหย่อนตัว เกิดเส้นเลือดดำโป่งพอง นอกจากนี้ยังพบการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณนั้น ร่วมกับการเกิดแผลบริเวรเยื่อบุ มีการขาดเลือด และลิ่มเลือดอุดตันอีกด้วย โดยทั่วไปแล้วมีหลายปัจจัยด้วยกันที่ส่งผลให้เกิดริดสีดวงทวาร ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดริดสีดวง ได้แก่

  • การเบ่งขับถ่าย การเบ่งอุจจาระอย่างแรงเป็นเวลานานเนื่องจากกรณี เช่น ท้องผูก ทำให้ความดันในเส้นเลือดบริเวณทวารหนักเพิ่มขึ้น เกิดการระคายเคืองบริเวณทวารหนัก
  • การนั่งเป็นเวลานานโดยเฉพาะในห้องน้ำ เพิ่มแรงกดดันในเส้นเลือดบริเวณทวารหนัก
  • การตั้งครรภ์ เมื่อมดลูกขยายตัว จะทำให้หลอดเลือดในบริเวณลำไส้และทวารหนักถูกกดทับ ทำให้เกิดริดสีดวงได้ง่าย
  • โรคอ้วน ทำให้มีความดันในช่องท้องสูง
  • กรรมพันธุ์ หากมีประวัติครอบครัวที่เป็นริดสีดวง ความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้อาจสูงขึ้น
  • การรับประทานอาหารที่มีกากใยต่ำ ทำให้อุจจาระแข็งและขับถ่ายยาก เพิ่มโอกาสในการเกิดริดสีดวง

ริดสีดวงมีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร?

การวินิจฉัยริดสีดวงทวารเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการและเบื้องต้น เช่น อาการเจ็บ ปวด มีก้อนยื่นหรือมีเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดริดสีดวง เช่น การเบ่งอุจจาระบ่อย ๆ ท้องผูก หรือมีประวัติครอบครัวเป็นริดสีดวง จากนั้นแพทย์จะตรวจดูบริเวณทวารหนักเพื่อตรวจสอบว่ามีริดสีดวงทวารภายนอกหรือไม่ และอาจทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการใส่เครื่องมือเพื่อตรวจริดสีดวงภายในเช่นกัน รวมถึงควรตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ของการมีเลือดออกทางทวารหนัก เนื่องจากยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่สามารถทำให้มีอาการเลือดออกได้ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคกระเปาะลำไส้ใหญ่ โรคลำไส้อักเสบ เป็นต้น

วิธีการรักษาริดสีดวงทำอย่างไร?

ปัจจุบันวิธีการรักษาริดสีดวงทวารนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน แบ่งเป็นวิธีรักษาที่ไม่ต้องใช้การผ่าตัดและวิธีผ่าตัด โดยมีรายละเอียดดังนี้

การรักษาริดสีดวงทวารโดยไม่ใช้การผ่าตัด

  • การรักษาทั่วไป ได้แก่ เปลี่ยนการรับประทานอาหาร โดยเพิ่มอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำเยอะเพื่อให้อุจจาระนิ่มลง สามารถทานยาระบายร่วมด้วย หากมีอาการท้องผูกเรื้อรัง ทั้งนี้การใช้ยาระบายต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
  • การฉีดยา โดยฉีดเข้าในชั้นใต้เยื่อบุ (Submucosa) เพื่อทำให้เกิดพังผืด หลอดเลือดริดสีดวงหดตัวและลดอาการบวม
  • การรัดยาง วิธีนี้ใช้รักษาริดสีดวงภายใน โดยแพทย์จะใช้ยางรัดบริเวณฐานของริดสีดวง ทำให้เนื้อตายและหลุดออกเองในภายหลัง
  • การจี้ริดสีดวงทวารด้วยอินฟราเรดหรือจี้ไฟฟ้า เพื่อให้ริดสีดวงยุบ หยุดเลือดออก

การรักษาริดสีดวงทวารโดยการผ่าตัด

  • กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการริดสีดวงรุนแรง เช่น ระดับ 3-4 เป็นต้นไป มีขนาดใหญ่ และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ หรือหากมีอาการริดสีดวงอักเสบ (Strangulated Hemorrhoid) แพทย์อาจรักษาริดสีดวงด้วยการผ่าตัด

วิธีป้องกันริดสีดวงทวาร

การป้องกันริดสีดวงทวารสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลสุขภาพ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดริดสีดวงโดยมีวิธีดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี จะทำให้อุจจาระไม่แข็ง
  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มลง ง่ายต่อการขับถ่าย
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้อุจจาระแข็ง เช่น อาหารแปรรูป อาหารไขมันสูง และอาหารรสเผ็ดจัด
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ลดอาการท้องผูก
  • หลีกเลี่ยงการเบ่งขณะถ่ายอุจจาระ เนื่องจากการเบ่งจะเพิ่มแรงดันในหลอดเลือดบริเวณทวารหนักและทำให้เกิดริดสีดวง
  • ไม่นั่งทำกิจกรรมอื่น ๆ ในห้องน้ำเป็นเวลานานขณะทำธุระ เช่น อ่านหนังสือหรือใช้โทรศัพท์มือถือในห้องน้ำ
  • ขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่กลั้นอุจจาระ เมื่อรู้สึกอยากถ่าย ควรไปเข้าห้องน้ำทันที
  • หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนานเกินไป
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

เมื่อเป็นริดสีดวงควรดูแลตัวเองอย่างไร?

นอกจากการรักษาริดสีดวงทวารกับแพทย์แล้ว ผู้ป่วยยังควรดูแลตัวเองในช่วงที่มีอาการดังนี้ 

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่ม 
  • การดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอเพื่อป้องกันอาการท้องผูก
  • ใช้ยาระบายเพื่อลดการเบ่งขณะขับถ่าย ทั้งนี้การใช้ยาระบายต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
  • แช่น้ำอุ่นเพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบของริดสีดวง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับริดสีดวง

1. ริดสีดวงรักษาหายไหม?

ริดสีดวงทวารสามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ ไม่ควรปล่อยให้อาการริดสีดวงรุนแรงเพราะจะทำให้ยากต่อการรักษามากขึ้น โรคริดสีดวงทวารนั้นมีส่วนเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อไม่ให้เป็นริดสีดวงซ้ำ

2. ริดสีดวงยุบเองได้ไหม?

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการริดสีดวงที่ไม่รุนแรงมากและเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจทำให้อาการริดสีดวงทุเลาลงได้ อย่างไรก็ตามหากมีอาการริดสีดวงแนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสม

3. เป็นริดสีดวงมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?

การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีอาการริดสีดวงนั้นอาจทำให้แผลริดสีดวงเกิดการเจ็บ ปวด ระบมหรือติดเชื้อได้ แนะนำให้ผู้ป่วยรักษาอาการริดสีดวงอย่างเหมาะสมกับแพทย์และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการจะดีขึ้น

เป็นริดสีดวงไม่ต้องเขินอาย ปรึกษาคุณหมอที่ BeDee ได้ทุกวัน เป็นส่วนตัว

โรคริดสีดวงเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย สิ่งสำคัญเมื่อเป็นริดสีดวงคือควรรีบปรึกษาแพทย์ พร้อมกับปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารและการขับถ่าย 

 

ปรึกษาหมอออนไลน์ นักกำหนดอาหาร พยาบาล และปรึกษาเภสัชกรแบบไม่มีค่าใช้จ่ายบนแอป BeDee ได้ทุกวัน ส่งยาและสินค้าถึงที่ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS 

 

Content powered by BeDee Expert

พญ.ภาวิตา คงธนาสมบูรณ์

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป 

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

Akinmoladun, O., & Oh, W. (2024). Management of Hemorrhoids and Anal Fissures. The Surgical clinics of North America104(3), 473–490.

Kwaan M.R., & Stewart Sr D.B., & Dunn K (2019). Colon, rectum, and anus. Brunicardi F, & Andersen D.K., & Billiar T.R., & Dunn D.L., & Kao L.S., & Hunter J.G., & Matthews J.B., & Pollock R.E.(Eds.), Schwartz’s Principles of Surgery, 11e. McGraw-Hill Education. 


Lohsiriwat, V. (2012). Hemorrhoids: from basic pathophysiology to clinical management. World journal of gastroenterology18(17), 2009–2017. https://doi-org.cuml1.md.chula.ac.th/10.3748/wjg.v18.i17.2009

บทความที่เกี่ยวข้อง

Key Takeaways วิธีแก้นอนไม่หลับผู้สูงอายุมีหลายวิธี ควรเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแทนการพึ่งยานอนหลับ หากผู้สูงอายุนอนไม่หลับควรลุกมาทำกิจกรรมเบา ๆ เช่น อ่านหนังสือ ดื่มนมอุ่น ยืดเส้นยืดสายเล็กน้อย หากพบว่าผู้สูงอายุมีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรัง นอนหลับ ๆ

Key Takeaways เบาหวาน คือ ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากการทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน ปัจจุบันพบว่ากลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมีอายุที่น้อยลง ต่างจากในอดีตที่มักพบ