Key Takeaways เบาหวาน คือ ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากการทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน ปัจจุบันพบว่ากลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมีอายุที่น้อยลง ต่างจากในอดีตที่มักพบ
ฮีทสโตรก (Heat Stroke) โรคลมแดด อันตรายที่มาพร้อมฤดูร้อน
Key Highlight
- ภาวะฮีทสโตรกเกิดขึ้นได้เมื่อเราออกแรงทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก ๆ กลางแจ้ง อุณหภูมิร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ดื่มน้ำไม่เพียงพอจนทำให้ร่างกายร้อนจัด
- โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกนั้นอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน
รู้จัก ฮีทสโตรก คืออะไร
ฮีทสโตรก (Heat stroke) หรือโรคลมแดด คือภาวะที่ร่างกายมีความร้อนสูงเกินไปซึ่งเกิดจากการอยู่กลางแจ้งหรือที่ ๆ มีอุณหภูมิสูงเป็นเวลานานโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนโดยเฉพาะในพื้นที่ร้อนชื้นอย่างประเทศไทย
ภาวะฮีทสโตรกสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเราออกแรง ทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก ๆ กลางแจ้งและดื่มน้ำไม่เพียงพอจนทำให้ร่างกายร้อนจัด อาการของโรคฮีทสโตรก เช่น ปวดศีรษะ มีไข้สูง มึนงง อ่อนเพลีย เป็นต้น กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นฮีทสโตรกได้แก่กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ในกลุ่มคนที่แข็งแรงก็สามารถฮีทสโตรกได้เช่นกัน
โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกอันตรายและทำให้เสียชีวิตได้ หากเกิดอาการฮีทสโตรกควรรีบปรึกษาแพทย์
อาการของฮีทสโตรก สัญญาณที่ต้องระวัง
บางคนอาจจะสงสัยว่าฮีทสโตรกมีอาการแตกต่างจากการเป็นลมอย่างไร โดยทั่วไปแล้วอาการของฮีทสโตรกสังเกตได้ดังนี้
- ร่างกายมีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- ปวดศีรษะ
- กระหายน้ำมาก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ผิวแห้ง แสบ แดง ร้อน
- ใจเต้นเร็ว หรือชีพจรเต้นเร็ว
- หายใจหอบ ถี่
- ชัก เกร็ง
- หมดสติ
ฮีทสโตรก สาเหตุการเกิดโรคลมแดด
ฮีทสโตรกเกิดจากการที่เราอยู่ในสภาวะที่อุณหภูมิสูงจัด จนทำให้ร่างกายมีความร้อนสูงเกินไป ประกอบกับการใช้แรงงาน ออกกำลังท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ฮีทสโตรกมักเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียสจึงทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน และอาจทำให้เสียชีวิตได้โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว กลุ่มเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเกิดฮีทสโตรก
เมื่ออากาศร้อน ฮีทสโตรกสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยที่อุณหภูมิสูงจัดและมีความชื้น ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นฮีทสโตรกมีดังนี้
- เด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ
- ทำงานกลางแจ้ง หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง
- ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
- น้ำหนักตัวเกิน
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ผู้ที่อยู่ในห้องแอร์แล้วออกมาเจออากาศร้อนทันทีจึงทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน
- ผู้ที่ใช้ยาประจำตัวบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยารักษาความดัน (beta-blockers) ยาต้านเศร้า ยาสำหรับผู้ที่มีสมาธิสั้น ยาหดหลอดเลือด
อาการฮีทสโตรกแบบใดที่ควรรีบพบแพทย์
เมื่อพบเห็นผู้ที่มีอาการฮีทสโตรกควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพราะอาจอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โรค heat stroke อาการที่ควรรีบพบแพทย์ ได้แก่
- ร่างกายมีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ใจเต้นเร็ว
- หายใจหอบ
- ชัก เกร็ง
- หมดสติ
เมื่อเกิดฮีทสโตรกมีวิธีการปฐมพยาบาลอย่างไร
ฮีทสโตรกอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เมื่อพบเห็นผู้ป่วยควรรีบปฐมพยาบาลฮีทสโตรกเบื้องต้นทันทีตามวิธีการดังนี้
- ทำให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลงโดยการพาเข้าที่ร่ม หรือพาเข้าในตัวอาคาร
- นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้างเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองและหัวใจ
- ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ
- กรณีผู้ป่วยสวมเสื้อหลายชั้นควรถอดเสื้อชั้นนอกออก
- ใช้น้ำแข็งประคบ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวหรือจะวางผ้าชุบน้ำบริเวณศีรษะ คอ รักแร้และขาหนีบ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อนหรือลดอุณหภูมิ
- รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
ปรึกษาและสอบถามวิธีการรับมืออาการฮีทสโตรกเบื้องต้นกับพยาบาล ไม่มีค่าใช้จ่าย!
การตรวจวินิจฉัยฮีทสโตรกเบื้องต้น
เมื่อนำส่งผู้ป่วยฮีทสโตรกถึงมือแพทย์แล้ว เบื้องต้นแพทย์จะมีวิธีการวินิจฉัยอาการฮีทสโตรกดังนี้
- วัดอุณหภูมิ
- ตรวจเลือด เพื่อดูสารเกลือแร่ ค่าตับ ค่าไต รวมถึงการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูค่าไตและความเสียหายของกล้ามเนื้อ
- สแกนสมอง เนื่องจากผู้ป่วยฮีทสโตรกในบางรายอาจเกิดความเสียหายที่สมองได้เช่นกัน
วิธีป้องกันการเกิดฮีทสโตรกด้วยตัวเอง
อากาศร้อน ๆ แบบนี้โดยเฉพาะประเทศไทยจะใช้ชีวิตข้างนอกในตอนกลางวันก็เสี่ยงฮีทสโตรกโดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งคนวัยทำงานทั่วไป เจอแสงแดดทีไรปวดหัวไมเกรนทุกที เรามีวิธีป้องกันโรคฮีทสโตรกเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง การทำกิจกรรมนอกบ้านในช่วงกลางวันโดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
- สวมเสื้อผ้าสีอ่อนเพราะจะช่วยสะท้อนความร้อนได้ดี เลือกเนื้อผ้าที่ช่วยระบายความร้อนได้ดี เช่น ผ้าคอตตอน ผ้าเรยอน
- สวมหมวก แว่นตากันแดด และกางร่มเมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง
- ทาครีมกันแดด SPF 50 +
- จิบน้ำบ่อย ๆ ระหว่างวันเพื่อป้องกันการขาดน้ำและช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย
- สำหรับผู้ที่ชอบออกกำลังกายกลางแจ้งควรเปลี่ยนมาออกช่วงเช้าและเย็น
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
- หลีกเลี่ยงการจอดรถยนต์กลางแจ้ง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับฮีทสโตรก
1. ฮีทสโตรกอันตรายไหม?
โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกนั้นอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ในบางราย อาการของฮีทสโตรกทั่วไปที่ควรสังเกตเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้อาการรุนแรง ได้แก่ ปวดศีรษะ กระหายน้ำมาก คลื่นไส้ อาเจียน ผิวแห้ง แสบ แดง ร้อน ใจเต้นเร็ว
2. ภาวะแทรกซ้อนจากฮีทสโตรกมีอะไรบ้าง?
หากไม่รีบรักษาภาวะฮีทสโตรกอาจทำให้เกิดอาการชัก สมองบวม เซลล์ประสาทถูกทำลายอย่างถาวร
หัวใจเต้นผิดจังหวะและภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจากหัวใจทำงานหนักเกินไปได้
สรุปฮีทสโตก อย่าประมาท รีบปรึกษาแพทย์
ในประเทศไทยเรามีข่าวผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกให้เห็นกันแล้ว ดังนั้นเราไม่ควรประมาทมองข้ามภัยจากความร้อนในฤดูร้อนที่มีแนวโน้มร้อนขึ้นทุก ๆ ปี หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในตอนกลางวัน หรือหากมีอาการผิดปกติ รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน พร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัวสูง ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
นพ. รัตน์ศักดิ์ ตั้งเทอดชนะกิจ
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Heatstroke – Symptoms and causes – Mayo Clinic. (2022, June 25). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heat-stroke/symptoms-causes/syc-20353581
Ansorge, R. (2010, July 22). Heat stroke: symptoms and treatment. WebMD. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/heat-stroke-symptoms-and-treatment
Heatstroke and heat exhaustion. (n.d.). Australian Red Cross. https://www.redcross.org.au/emergencies/prepare/heatstroke-and-heat-exhaustion/