Key Takeaways ผู้ที่มีอาการไมเกรนมักจะปวดหัวข้างเดียวบริเวณขมับ หรือปวดหัวทั้งสองข้าง อาการปวดหัวไมเกรนมักจะปวดเป็นจังหวะตุบ ๆ และปวดจนไม่สามารถทำอะไรได้ ผู้ที่เป็นไมเกรนมักจะมีสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอาการ เช่น แสงจ้า ความร้อน เสียงดัง หรือกลิ่นฉุนบางอย
ก้อนแข็งใต้ผิวหนัง กดแล้วเจ็บคืออะไร อันตรายไหม?
Key Highlight
- ก้อนไขมันและก้อนเนื้องอกไขมัน (Fat Nodule และ Lipoma) เกิดขึ้นจากเซลล์ไขมัน ซึ่งอยู่ในชั้นไขมัน โดยเป็นชั้นที่อยู่ระหว่างชั้นใต้ผิวหนังและชั้นกล้ามเนื้อ
- ควรพบแพทย์ไหม? หากก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจอย่างละเอียด
- การรักษามีหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การเจาะดูดของเหลว การฉีดยา เป็นต้น
- หากมีไข้ ร่วมกับพบก้อนแข็งใต้ผิวหนังกดแล้วเจ็บและมีอาการปวดอาจแสดงถึงการติดเชื้อ รวมถึงหากพบว่าขนาด หรือลักษณะของก้อนโตขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วควรรีบพบแพทย์
ก้อนแข็งใต้ผิวหนัง คืออะไร
หลายคนอาจจะเคยจับ ๆ ผิวหนังตัวเองแล้วพบ ก้อนแข็ง ๆ ใต้ผิวหนังหรือพบลักษณะของก้อนแข็งใต้ผิวหนัง กดแล้วเจ็บ ซึ่งเมื่อพบอาการเหล่านี้หลายคนน่าจะวิตกกังวลและเกิดความสงสัยว่าก้อนเนื้อแบบไหนอันตราย ก้อนใต้ผิวหนังที่เราเจอนั้นร้ายแรงหรือไม่ มารู้จักสาเหตุ อาการ และสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับก้อนแข็งใต้ผิวหนัง กดแล้วเจ็บกันเลย
ก้อนแข็งใต้ผิวหนัง มีกี่แบบ
- ก้อนไขมันและก้อนเนื้องอกไขมัน (Fat Nodule และ Lipoma) เกิดขึ้นจากเซลล์ไขมัน พบได้ตามชั้นใต้ผิวหนังและชั้นกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปจะนิ่ม เมื่อคลำจะพบว่าขยับได้ มักพบในช่วงอายุ 40 – 60 ปี ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด หากก้อนไขมันหรือก้อนเนื้องอกใต้ผิวหนังเดิม เปลี่ยนไปมีลักษณะแข็งขึ้น อย่างชัดเจน กดเจ็บ หรือปวด อาจแสดงถึงความผิดปกติที่รุนแรง
- ก้อนฝี (Abscess) คือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง เช่น ต่อมไขมัน (Sebaceous Gland) รากขน ที่เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ จึงทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง และกดเจ็บ
- ซีสต์หรือถุงน้ำ (Cyst) ซึ่งบรรจุของเหลวอยู่ภายใน เช่น น้ำเหลือง ไขมัน เมื่อจับหรือคลำจะรู้สึกว่ามีก้อนแข็งใต้ผิวหนัง ลักษณะกลมหรือค่อนข้างกลม ขยับได้ ไม่เจ็บ แต่หากก้อนซีสต์ไขมันใต้ผิวหนังเกิดการอักเสบ ติดเชื้อ อาจทำให้รู้สึกว่าก้อนนั้นกดแล้วเจ็บได้ ซีสต์ใต้ผิวหนังเกิดจากหลายสาเหตุ การวินิจฉัยต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ลักษณะ ตำแหน่งที่เป็น เป็นต้น
- ก้อนเนื้องอกใต้ผิวหนังอื่นๆ มีทั้งลักษณะที่นิ่มและแข็ง อาจเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ขึ้นอยู่กับชนิดของก้อนเนื้อ
ปรึกษาเรื่องก้อนเนื้องอกไขมันหรือก้อนเนื้ออื่น ๆ กับแพทย์ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก ไม่ต้องเดินทาง จัดส่งสินค้าถึงมือ
ก้อนแข็งใต้ผิวหนัง กดแล้วเจ็บ เกิดจากจากอะไร
ก้อนไขมันใต้ผิวหนัง เกิดจากอะไร ? ก้อนแข็ง ๆ ใต้ผิวหนัง มีหลายประเภทและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
ก้อนใต้ผิวหนัง ที่มีลักษณะ แข็งปานกลาง แต่ไม่นิ่ม (Firm) พบได้จากหลายสาเหตุ กรณีที่เกิดจากการโตของต่อมน้ำเหลือง มักกดแล้วไม่เจ็บ แต่ในกรณีที่กดแล้วมีอาการเจ็บ อาจเกิดจากการอักเสบ ซึ่งอาจเป็นการอักเสบเฉพาะที่ หรือ การติดเชื้อของร่างกาย เช่นการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ การติดเชื้อไวรัส หากเป็นก้อนของต่อมน้ำเหลือง ที่จับแล้วไม่เคลื่อนไหว ร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น น้ำหนักลด มีไข้ อาจสงสัยว่าเป็นเนื้อร้าย เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งอื่น ๆ โดยขนาดของก้อนจะค่อย ๆ โตขึ้นช้า ๆ
อีกประเภทหนึ่งคือก้อนซีสต์ มักมีลักษณะไม่แข็งมาก คล้ายยางลบ (Rubbery Consistency) กดแล้วไม่เจ็บ มักค่อย ๆ ขยายขนาดแบบช้า ๆ แต่หากซีสต์มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงเร็วอาจเกิดจากการติดเชื้อ การอักเสบ
อีกประเภทหนึ่งของก้อนแข็งคือก้อนแข็งที่เกิดการอักเสบ มีแคลเซียมไปสะสมบริเวณก้อนดังกล่าว ลักษณะก้อนจะพบว่ามีความเเข็งมาก เมื่อซักประวัติมักพบว่าผู้ป่วยมีก้อนแข็งมานาน ก้อนมีความแข็งเพิ่มขึ้น กดไม่เจ็บหรือเจ็บเพียงเล็กน้อย
นอกจากนั้นก้อนแข็งใต้ผิวหนังอาจเกิดจาก เนื้องอกใต้ชั้นผิวหนัง เช่น ก้อนที่เต้านม (Fibroadenama) ซึ่งเป็นก้อนใต้ผิวหนังที่ขนาดเปลี่ยนแปลงได้ตามรอบประจำเดือน มีลักษณะไม่แข็งมาก และค่อย ๆ โต มักพบได้บ่อย ในผูัหญิง ตั้งแต่วัยรุ่น จนถึงก่อนวัยหมดประจำเดือน
ก้อนแข็งใต้ผิวหนัง มักมีอาการเป็นอย่างไร
เรามักไม่พบอาการอื่น ๆ ร่วมกับการมีก้อนแข็งใต้ผิวหนัง กดแล้วเจ็บ แต่หากผู้ป่วยพบว่ามีความผิดปกติ อื่น ๆ เช่น มีไข้ ก้อนแข็งใต้ผิวหนังกดแล้วเจ็บและมีอาการปวดอาจแสดงถึงการติดเชื้อได้ หากมีก้อนที่ขนาดโตขึ้นเร็วหรือมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของก้อน เช่น สี และ รูปร่างอย่างชัดเจน และไม่มีสาเหตุแน่ชัดควรปรึกษาแพทย์
ก้อนแข็งใต้ผิวหนัง กดแล้วเจ็บ ที่ควรไปพบแพทย์
เมื่อพบก้อนแข็งใต้ผิวหนังกดแล้วเจ็บหรือก้อนเนื้อแข็งใต้ผิวหนังแล้วพบอาการต่อไปนี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
- ก้อนเนื้อหรือก้อนไขมันมีขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
- พบก้อนที่ คอ รักแร้ เต้านม
- มีอาการปวด บวม แดง
- มีหนองหรือเลือดไหลออกจากก้อนไขมันหรือก้อนเนื้อ หรือมีแผลเกิดขึ้นบริเวณก้อน
- มีก้อนใต้ผิวหนังเพิ่มขึ้นใหม่หลังจากที่ผ่าออกไปแล้ว
มีก้อนแข็งใต้ผิวหนัง กดแล้วเจ็บหรือพบก้อนแข็งใต้ผิวหนัง ปรึกษาแพทย์ที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง จัดส่งยาฟรี ทั่วไทย
การวินิจฉัยอาการก้อนแข็งใต้ผิวหนัง
วิธีตรวจวินิจฉัยก้อนแข็งใต้ผิวหนังนั้น แพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วยเบื้องต้น และตรวจคลำดูบริเวณก้อนดังกล่าวเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน นอกจากนั้นแพทย์อาจใช้การตรวจอัลตราซาวน์ เพื่อตรวจดูลักษณะ และองค์ประกอบภายใน และสาเหตุที่เกี่ยวข้อง และอาจเจาะดูดเพื่อเก็บตัวอย่างของเหลวในกรณีที่เป็นซีสต์ เพื่อไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม แล้วจึงจะวางแผนการรักษาต่อไปตามความเหมาะสม
นอกจากนี้หากก้อนใต้ผิวหนังมีลักษณะหรือการวินิจฉัยจากการตรวจทั่วไปที่ยังไม่ชัดเจนหรือสงสัยว่ามีความผิดปกติอื่น ๆ แพทย์อาจวินิจฉัยโดยการตรวจ MRI หรือ CT scan เป็นต้น
ก้อนแข็งใต้ผิวหนัง รักษาอย่างไร
การสังเกตอาการ
ก้อนใต้ผิวหนังหากมีขนาดเล็กและได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจนแล้วว่าไม่เป็นอันตราย เช่น ก้อนไขมันใต้ผิวหนังที่มีขนาดเล็ก แพทย์อาจติดตามสังเกตอาการ แต่หากก้อนมีขนาดโตขึ้น หรือมีอาการปวด กดเจ็บมากขึ้น ควรมาพบแพทย์โดยเร็ว
การเจาะดูดของเหลวออกในกรณีที่เป็นซีสต์
ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง หากเป็นซีสต์ที่ขนาดไม่ใหญ่มากและไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน ตรวจประเมินแล้วไม่เป็นอันตราย แพทย์อาจรักษาโดยการดูดน้ำหรือของเหลวออก หรืออาจผ่าตัดกําจัดก้อนไขมันใต้ผิวหนัง
ฉีดยาเข้าไปในก้อนเพื่อการรักษา
หากพบว่าก้อนที่ตรวจพบเป็นก้อนที่ไม่ใช่ภาวะความผิดปกติรุนแรง เช่น ก้อนไขมันใต้ผิวหนัง หากมีขนาดไม่ใหญ่ สามารถใช้สารสเตีรอยด์ หรือสารสลายไขมัน ฉีดเข้าไปในก้อนเพื่อให้การรักษาได้
ผ่าตัด
เมื่อพบก้อนแข็งใต้ผิวหนังกดแล้วเจ็บหรือก้อนเนื้อแข็งใต้ผิวหนัง และได้รับการวินิจฉัยว่าจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดก้อนใต้ผิวหนังออกอย่างเหมาะสม ในกรณีที่ก้อนใต้ผิวหนัง เป็นก้อนไขมัน การกําจัดก้อนไขมันใต้ผิวหนังที่รบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จะช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ในกรณีที่ก้อนเนื้อไขมันมีขนาดไม่ใหญ่มากแพทย์อาจใช้การผ่าตัดเล็กเพื่อนำก้อนเนื้อไขมันออก
รับประทานยา
ในกรณีที่ก้อนไขมันใต้ผิวหนัง มีอาการ เจ็บ หรือปวด อาจใช้วิธีการรับประทานยาแก้ปวด แก้อักเสบ ในการบรรเทาอาการเบื้องต้น และหากพบว่าสาเหตุของการปวด เจ็บ ของก้อนเกิดจากการติดเชื้อ แพทย์ผู้รักษาอาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับก้อนแข็งใต้ผิวหนัง กดแล้วเจ็บ
1. ก้อนแข็งใต้ผิวหนัง กดแล้วเจ็บ อันตรายไหม?
ความอันตรายของก้อนเนื้อแข็งใต้ผิวหนังนั้นขึ้นอยู่กับว่าก้อนใต้ผิวหนังนั้น มีสาเหตุจากอะไร ซึ่งการที่จะทราบได้นั้นจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัย ตรวจดูว่าก้อนใต้ผิวหนังนั้นอันตรายหรือไม่ ผู้ป่วยไม่ควรหาซื้อยามารับประทานหรือกําจัดก้อนใต้ผิวหนังด้วยตนเอง ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง วิธีรักษาก้อนใต้ผิวหนัง ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
2. ก้อนแข็งใต้ผิวหนัง กดแล้วเจ็บ หายเองได้หรือไม่?
ก้อนแข็งใต้ผิวหนังกดแล้วเจ็บหรือก้อนแข็งใต้ผิวหนัง กดแล้วไม่เจ็บนั้นไม่สามารถหายเองได้ วิธีรักษา
หากพบว่าเป็นก้อนใต้ผิวหนังนั้นควรต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสาเหตุที่แน่ชัด และให้การดูแลรักษาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามหากพบว่ามีก้อนเนื้อตามผิวหนังควรรีบปรึกษาแพทย์
สรุปพบก้อนแข็งใต้ผิวหนัง กดแล้วเจ็บ รีบปรึกษาแพทย์
หากพบก้อนใต้ผิวหนัง กดแล้วเจ็บหรือก้อนเนื้ออื่น ๆ ตามร่างกายอย่าปล่อยไว้ เพราะเราไม่อาจทราบได้ว่าก้อนเนื้อนั้นคืออะไร อันตรายหรือไม่ รีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน
ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน พร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัวสูง ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
นพ. จิติศักดิ์ พูนศรีสวัสดิ์
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ป้องกัน และอาชีวเวชศาสตร์
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
- Brian Mastroianni, April 30, 2024, What’s Causing Hard Lumps Under My Skin, healthline.
https://www.healthline.com/health/hard-lump-under-skin#faq
- Marjon Vatanchi, Jan 27, 2020, Cutaneous Lipomas Treatment & Management, Medscape
https://emedicine.medscape.com/article/1057855-treatment?form=fpf
- Kristin Mitchell, April 19, 2024, Cysts, Bumps, and lumps on your skin, Web MD
https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/cysts-lumps-bumps
- Lipoma, October 13, 2020, Lipoma, Cleveland Clinic
https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15008-lipomas - Aghel, September 2010, What is the tender nodule, DermX, The dermatologist.
https://www.hmpgloballearningnetwork.com/site/thederm/site/cathlab/event/what-tender-nodule