Key Takeaways ผู้ที่มีอาการไมเกรนมักจะปวดหัวข้างเดียวบริเวณขมับ หรือปวดหัวทั้งสองข้าง อาการปวดหัวไมเกรนมักจะปวดเป็นจังหวะตุบ ๆ และปวดจนไม่สามารถทำอะไรได้ ผู้ที่เป็นไมเกรนมักจะมีสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอาการ เช่น แสงจ้า ความร้อน เสียงดัง หรือกลิ่นฉุนบางอย
อาหารเป็นพิษ โรคใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย
Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
Key Takeaways
- อาหารเป็นพิษคือภาวะที่ร่างกายได้รับเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำจนทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว อาเจียน
- โดยปกติแล้วสามารถหายเองได้แต่หากพบว่ามีอาการอ่อนแรงมาก ถ่ายเป็นเลือด มีไข้สูง ควรรีบปรึกษาแพทย์
- ไม่ควรซื้อยาหยุดถ่ายมาทานเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
อาหารเป็นพิษเกิดจากอะไร?
อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) คือภาวะที่เมื่อเรารับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไปแล้วทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสียถ่ายเหลว พบได้ทุกเพศและทุกช่วงอายุ อาหารเป็นพิษเกิดจากปัจจัยดังนี้
- เชื้อแบคทีเรีย
- ซัลโมเนลลา (Salmonella) มักพบในอาหารดิบ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ดิบ และผลิตภัณฑ์นม
- อีโคไล (E. coli) มักพบในเนื้อวัวดิบ ผักที่ล้างไม่สะอาด หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อน
- คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถสร้างสปอร์ซึ่งทนกับความร้อนได้ดี ในสภาวะเหมาะสม คือในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีออกซิเจน เชื้อจะสร้างสารพิษชื่อ “โบทูลินั่มท็อกซิน (Botulinum Toxin)” ซึ่งทำให้เกิดโบทูลิซึม (Botulism) ซึ่งอันตรายมาก เนื่องจากส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เชื้อชนิดนี้จึงมักพบในอาหารกระป๋องหรืออาหารที่เก็บไม่ถูกวิธี หรือการบรรจุที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้
อาจมีสปอร์ของแบคทีเรียนี้ปนเปื้อนอยู่ เช่น ปลากระป๋อง ผักกาดดอง หน่อไม้ดอง หน่อไม้ปี๊บ - เชื้อวิบริโอ (Vibrio spp.) เช่น Vibrio Cholerae ซึ่งก่อให้เกิดโรคอหิวาห์ตกโรค และ Vibrio Parahemolyticus ซึ่งมักพบในอาหารทะเล
การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดบิด ขับถ่ายเป็นมูกเลือด (Mucus and bloody stool) จึงเรียกว่า “โรคบิด” (Dysentary) สาเหตุที่พบได้บ่อยคือการติดเชื้อแบคทีเรีย Shigella
- ไวรัส
- โนโรไวรัส (Norovirus) พบในอาหารทะเลและอาหารที่ปรุงไม่สะอาด
- ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A) ปนเปื้อนในอาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด
- โรตาไวรัส (Rota Virus) ซึ่งมักก่อโรคในเด็กทารกและเด็กเล็กแต่ก็สามารถพบในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน
- พยาธิและโปรโตซัว
- พยาธิไตรคิเนลลา (Trichinella) พบในเนื้อสัตว์ เช่น หมูที่ปรุงไม่สุก
- โปรโตซัว (Giardia, Cryptosporidium) พบในน้ำที่ปนเปื้อน
- การติดเชื้ออะมีบา (Amoebiasis) ซึ่งทำลายเยื่อบุผนังลำไส้ทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารและโรคบิด (Amoebic Dysentery)
- สารพิษ (Toxin) ที่สร้างจากจุลินทรีย์
- สารพิษจากแบคทีเรียสแตฟิโลคอคคัส (Staphylococcus Aureus) พบในอาหารที่ปล่อยทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องนานเกินไป
- สารพิษจากเชื้อบาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus Cereus) พบในข้าวหรืออาหารแป้งที่ไม่ได้แช่เย็นหลังปรุง อาหารที่ควรระมัดระวัง ได้แก่ อาหารค้างคืนที่เก็บรักษาในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมหรือนานเกินไป เช่น ข้าวผัด นอกจากนี้เชื้อ Bacillus Cereus เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อีกด้วย
- สารเคมี
- สารเคมีที่ปนเปื้อนในอาหาร เช่น ยาฆ่าแมลง หรือสารกันเสียที่เกินปริมาณที่ปลอดภัย
ปรึกษาหมอออนไลน์ ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก เป็นส่วนตัว
ส่งยาถึงที่ ไม่มีค่าจัดส่ง
อาหารเป็นพิษอาการเป็นอย่างไร?
อาการอาหารเป็นพิษอาจแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อโรคและปริมาณของสารพิษที่ได้รับ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโรคอาหารเป็นพิษอาการที่สามารถพบได้มีดังนี้
- คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง
- อาเจียน
- ท้องเสีย (ถ่ายอุจจาระผิดปกติตั้งแต่ 3 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า) ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำบ่อยครั้ง
- ปวดท้อง ปวดเกร็งบริเวณช่องท้อง (Abdominal Cramps)
- มีไข้
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- อาการขาดน้ำ (Signs of Dehydration) เช่น ชีพจรเต้นเร็ว ปากแห้ง ปัสสาวะสีเข้ม
BeDee Tips: รู้จักโรคกระเพาะอาหาร ปวดท้องแบบไหนเสี่ยงโรคนี้ อ่านเลย!
วิธีรักษาอาหารเป็นพิษ
โดยปกติแล้วอาการอาหารเป็นพิษนั้นสามารถหายเองได้ภายใน 3-5 วัน วิธีรักษาอาหารเป็นพิษจะเน้นการรักษาและดูแลตามอาการ เช่น จิบเกลือแร่ ORS(Oral Rehydration Salts) บ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและการสูญเสียเกลือแร่จากอาการท้องเสียหรืออาเจียน แพทย์อาจจ่ายยาแก้ปวดท้อง แก้คลื่นไส้อาเจียน และยารักษาตามอาการ แต่ในรายที่มีอาการบ่งบอกว่าติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ขับถ่ายเป็นมูกเลือด อาการปวดบิด ไข้สูง แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาหยุดถ่ายซึ่งมีตัวยาสำคัญที่ชื่อว่า “Loperamide” มารับประทานเอง เพราะจะทำให้เชื้อโรคสะสมอยู่ในร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม และหากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดำ อาเจียนไม่หยุด มีไข้สูง อ่อนแรงมาก มีอาการผิดปกติจากการเสียน้ำและเกลือแร่ เช่น ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ ความดันโลหิตลดลงควรปรึกษาแพทย์ทันที
วิธีป้องกันอาหารเป็นพิษ
โรคอาหารเป็นพิษนั้นเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน ไม่สะอาด รวมถึงการดูแลสุขอนามัยที่อาจจะยังไม่ดีพอ ใครที่อยากป้องกันอาหารเป็นพิษหรือผู้ที่อาหารเป็นพิษบ่อยสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนทาน
- ทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด
- ไม่ควรทานอาหารดิบ อาหารหมักดอง หรืออาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
- เก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม
- ไม่ควรทานอาหารที่หมดอายุแล้วหรือแช่ตู้เย็นมาหลายวัน
- หากพบว่าอาหารมีสี กลิ่น หรือรสชาติเปลี่ยนไปไม่ควรนำมาทานต่อ
- ดื่มน้ำสะอาดหรือต้มให้เดือดก่อนดื่ม
การดูแลตัวเองเมื่ออาหารเป็นพิษ
อาหารเป็นพิษควรได้รับรักษาเบื้องต้นตามอาการและดูแลตัวเองให้แข็งแรง สามารถทำได้ดังนี้
- จิบเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ แต่ในกรณีที่การทำงานของระบบทางเดินอาหารและลำไส้ยังไม่ปกติ หรือมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ไม่ควรดื่มน้ำหรือเกลือแร่ครั้งละปริมาณมาก แต่ควรจิบน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือแร่ (ORS) บ่อยครั้งแทน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารอ่อน อาหารย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก
- หลีกเลี่ยงอาหารมัน เผ็ดจัด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ยังปรุงสุกไม่เพียงพอ (อุณหภูมิที่สามารถกำจัดเชื้อในอาหารได้คือเริ่มต้นมากกว่า 65 องศาเซลเซียสขึ้นไป และขึ้นกับชนิดของอาหาร)
- หากมีไข้ ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวเพื่อลดไข้
- ไม่ควรซื้อยาหยุดถ่ายมารับประทานเองเพราะจะทำให้เชื้อโรคสะสมอยู่ในร่างกาย
- หากมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดำ อาเจียนไม่หยุด มีไข้สูง อ่อนแรงมาก ควรปรึกษาแพทย์ทันที
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการอาหารเป็นพิษ
1. แพทย์วินิจฉัยภาวะอาหารเป็นพิษอย่างไร?
เบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการที่เกิดขึ้น ความถี่ในการขับถ่าย ระยะเวลาของอาการที่เกิดขึ้น อาหารที่ทานเข้าไป และอาจมีการตรวจอุจจาระ ตรวจเลือด เพื่อตรวจหาเชื้อโรคหรือปรสิตในร่างกายซึ่งจะช่วยให้แพทย์ทำการรักษาและจ่ายยาได้อย่างเหมาะสม
2. อาหารเป็นพิษไม่ควรทานอะไร?
อาหารที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงได้แก่ อาหารรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ของหมัก ของดอง ผักสด ผลไม้สด ควรทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม และควรจิบน้ำเปล่าระหว่างวันบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
อาหารเป็นพิษควรรีบปรึกษาแพทย์
อาหารเป็นพิษคือภาวะที่เกิดจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค สารพิษ หรือสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต หรือสารพิษที่เกิดในอาหารที่ไม่สะอาดหรือจัดเก็บไม่เหมาะสมจนทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาจรุนแรงได้ในบางราย ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรได้เลยที่นี่
BeDee พบหมอเฉพาะทางเครือ BDMS ได้ทันที ไม่ต้องรอคิว ส่งยาทั่วไทย มั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูล
สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
นพ. จิติศักดิ์ พูนศรีสวัสดิ์
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ป้องกัน และอาชีวเวชศาสตร์
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Food poisoning – Symptoms and causes. (n.d.-b). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/food-poisoning/symptoms-causes/syc-20356230
Food poisoning. (2023, July 14). nhs.uk. https://www.nhs.uk/conditions/food-poisoning/
Symptoms of food poisoning. (2024, April 29). CDC. https://www.cdc.gov/food-safety/signs-symptoms/index.html
Diarrhoeal disease. (2024, March 7). WHO. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/diarrhoeal-disease
Seladi-Schulman, J., PhD. (2020, September 16). What temperature kills bacteria in water and food? Healthline. https://www.healthline.com/health/what-temperature-kills-bacteria
FoodSafety.gov. (2024, November 21). Cook to a safe minimum internal temperature. https://www.foodsafety.gov/food-safety-charts/safe-minimum-internal-temperatures