เบาหวาน

Key Takeaways

  • เบาหวาน คือ ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากการทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน
  • ปัจจุบันพบว่ากลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมีอายุที่น้อยลง ต่างจากในอดีตที่มักพบโรคเบาหวานในกลุ่มผู้สูงอายุ
  • หากไม่ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่เกณฑ์ อาจมีภาวะแทรกซ้อนทั้งแบบเฉียบพลันจากน้ำตาลสูง หรือแบบเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้เป็นผลเสียต่ออวัยวะอื่นในร่างกาย เช่น หัวใจ ไต ดวงตา หรือระบบประสาท
สารบัญบทความ

โรคเบาหวานคืออะไร?

โดยปกติแล้วเมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป ร่างกายของเราจะมีระดับน้ำตาลที่สูงขึ้น เมื่อระดับน้ำตาลสูงขึ้นฮอร์โมนอินซูลินจะถูกหลั่งออกมาจากตับอ่อนเพื่อลดระดับน้ำตาลและนำพาน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ 

 

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากการทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลินซึ่งอาจเกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมาได้น้อยเกินไป หรืออาจเกิดจากการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน หรือโดยส่วนใหญ่แล้วมักมีความผิดปกติจากทั้ง 2 ด้าน ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานในบางรายต้องใช้รับประทานยาหรือฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกายเพิ่มเติมเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไป ปัจจุบันพบว่าเบาหวานไม่ใช่โรคของกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น ด้วยพฤติกรรมการทานอาหารและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เราพบผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุน้อยลงเพิ่มขึ้นด้วย 

 

BeDee Tips: ดูวิธี เช็คเบาหวานด้วยตัวเอง อ่านเพิ่มเติมเลย 

 

เสี่ยงเบาหวานทำอย่างไรดี ? ปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก จัดส่งยาถึงที่

เบาหวานแบ่งออกเป็นกี่ชนิด 

โดยทั่วไปแล้วโรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus, T1DM)

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเซลล์ที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อน ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินเองแทบจะไม่ได้เลย เบาหวานประเภทนี้มักพบในเด็ก และต้องใช้การรักษาโดยการฉีดอินซูลิน

2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus, T1DM)

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือ DM type 2 เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด โดยพบถึง 95% ของผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทย มักเกิดจากการที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินหรือภาวะดื้อต่ออินซูลินร่วมกับการสร้างอินซูลินได้ลดลง เบาหวานชนิดที่ 2 พบมากในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นโรคกลุ่มเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือผู้ที่มีพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่เหมาะสม

3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus, GDM)

เบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นครั้งแรกขณะตั้งครรภ์เกิดจากฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยลง ทำให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูง การเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์สามารถทำให้เกิดผลเสียต่อการตั้งครรภ์ทั้งตัวแม่และตัวเด็ก โดยความเสี่ยงของการมีภาวะนี้ ได้แก่ การมีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ มีประวัติครอบครัวโรคเบาหวาน หรืออายุของมารดาที่เพิ่มขึ้น เบาหวานประเภทนี้มักหายได้เองหลังคลอด แต่บางส่วนสามารทำให้มารดาเป็นเบาหวานต่อเนื่องได้ หรือเพิ่มความเสี่ยงการเกิดเบาหวานในอนาคตได้มาก

4. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (Specific Types of Diabetes due to other causes)

โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะเกิดจากสาเหตุเฉพาะ ได้แก่ โรคเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมเดี่ยว โรคความผิดปกติจากต่อมไร้ท่อ การทำงานของตับอ่อนที่บกพร่อง เช่น ภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้องรัง ผลกระทบจากการใช้ยาบางชนิด หรือการติดเชื้อ เป็นต้น

 

BeDee Tips: ยาเบาหวาน มีอะไรบ้าง ทานอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ อ่านเลย

เบาหวานมีอาการอย่างไร?

เบาหวาน อาการ

หากใครกำลังสงสัยว่าเรามีอาการเบาหวานหรือไม่ นอกจากการตรวจเลือดแล้วเราสามารถสังเกตอาการเบาหวานเริ่มต้นได้ดังนี้

  • ปัสสาวะบ่อย

เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงต่อเนื่อง จึงพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีน้ำตาลออกมาปนกับปัสสาวะ จึงทำให้ปัสสาวะบ่อยมากขึ้น โดยจะสังเกตเบื้องต้นได้ง่ายจากการปัสสาวะบ่อยขึ้นในเวลากลางคืน 

  • กระหายน้ำ

เนื่องจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำไปกับการปัสสาวะบ่อย จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงมักคอแห้ง กระหายน้ำบ่อย

  • น้ำหนักลด

เมื่อร่างกายขาดน้ำเนื่องจากการปัสสาวะบ่อยและขาดอินซูลิน ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ จึงจำเป็นต้องนำโปรตีนและไขมันที่เก็บสะสมไว้ในเนื้อเยื่อมาใช้ จึงทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลียและน้ำหนักตัวลดลง

  • หิวบ่อย กินจุ

เนื่องจากร่างกายขาดพลังงาน จึงทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานรู้สึกหิวบ่อย กินมากขึ้นกว่าเดิม

  • ตามัว ชาปลายมือ ปลายเท้า

เมื่อร่างกายเกิดระดับน้ำตาลสะสมที่มากเกินไปจะส่งผลต่อจอประสาทตา ทำให้การมองเห็นพร่ามัวลงและอาจรุนแรงจนถึงขั้นตาบอดได้ นอกจากนี้ระดับน้ำตาลที่มากเกินไปยังส่วนผลต่อระบบประสาทส่วนปลาย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกชาตามปลายนิ้วมือ ปลายเท้า

  • เป็นแผลง่าย หายยาก

เมื่อร่างกายเกิดระดับน้ำตาลสะสมที่สูงทำให้การทำงานของหลอดเลือดผิดปกติ ร่างกายเกิดการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ผิดปกติตามไปด้วย ส่งผลให้เมื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นแผลแล้วหายช้า ร่วมกับเกิดแผลง่ายเพราะชาเท้าทำให้ไม่รู้สึกเมื่อมีการบาดเจ็บ จึงมักทำให้ได้รับการรักษาช้า และอาจถึงขั้นติดเชื้อได้หากบาดแผลไม่ได้รับการดูแลอย่างดี 

  • คันตามผิวหนัง

เมื่อปัสสาวะบ่อยจนทำให้ร่างกายขาดน้ำจะทำให้ผิวแห้ง ผู้ป่วยจึงเกิดอาการคันตามผิวหนัง

 

การ ตรวจสุขภาพประจําปี เป็นสิ่งสำคัญเพราะจะทำให้เราทราบสุขภาพในปัจจุบันเพื่อระวังโรคร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงโรคเบาหวาน 

โรคเบาหวานนั้นเกิดจากพฤติกรรมการทานอาหารและการถ่ายทอดทางพันธุกรรม กลุ่มเสี่ยงเบาหวานที่ต้องระวังได้แก่

  • ผู้ที่มีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน (ดัชนีมวลกายสำหรับคนเอเชีย >= 25 kg/m2)
  • ผู้ที่เคยมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ 
  • ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ หรือมีโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มรสหวาน 
  • ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ 
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เมื่อเป็นเบาหวาน

สิ่งที่น่าเป็นกังวลสำหรับผู้ป่วยเบาหวานอย่างหนึ่งก็คือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน ซึ่งภาวะที่เราอาจพบได้เมื่อในคนเป็นเบาหวาน เช่น

  • ภาวะฉุกเฉินจากระดับน้ำตาลสูงผิดปกติ (Hyperglycemic Crisis) ได้แก่ ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตน (Diabetic Ketoacidosis; DKA) ภาวะเลือดข้นจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงมาก (Hyperglycemic Hyperosmolar State; HHS) อาจเกิดจากการลืมรับประทานยาหรือลืมฉีดอินซูลิน การทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงเกินไป มีภาวะขาดน้ำ หรือมีการเจ็บป่วยที่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ภาวะน้ำตาลต่ำ (Hypoglycemia) คือ ภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำกว่าปกติ หรือน้อยกว่า 70 มก./ดล. มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยรับยาเกินขนาด หรือลืมรับประทานอาหารหลังจากทานยา
  • เบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy หรือ DR) ภาวะแทรกซ้อนทางสายตาที่พบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานทำให้เส้นเลือดขนาดเล็กในจอตาเสียหาย ทำให้มีการสร้างเส้นเลือดใหม่เพิ่มเติม ส่งผลให้การมองเห็นแย่ลง เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น จอตาลอก จุดรับภาพบวม และอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นถาวรหากไม่ได้รับการรักษา
  • ปลายประสาทเสื่อม ชาตามปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า เกิดจากความเสียหายของเส้นประสาทเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงต่อเนื่องและยาวนาน 
  • เบาหวานลงไต (Diabetic Nephropathy) เกิดจากความเสียหายของเซลล์ที่ไตและความดันในหลอดเลือดฝอยที่อยู่ในไต ทำให้ไตไม่สามารถกรองของเสียและขับของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) เกิดความเสียหายของหลอดเลือดทั่วร่างกายและหัวใจ ทำให้อาจมีโรคความดันสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยสามารถแสดงอาการ เช่น เจ็บแน่นกลางอก

การวินิจฉัยเบาหวานทำอย่างไร?

การวินิจฉัยโรคเบาหวานนั้นแพทย์มักใช้การตรวจเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย โดยในประเทศไทยมักใช้การตรวจระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร (Fasting plasma Glucose) และระดับน้ำตาลสะสม (Hemoglobin A1c – HbA1c) เพื่อดูค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้แพทย์จะซักประวัติอาการของผู้ป่วยเพื่อสังเกตอาการร่วม เช่น กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน น้ำหนักลด กระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตาพร่า แผลหายช้า มีน้ำหนักตัวเกิน เป็นโรคอ้วนหรือไม่ หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ เป็นต้น

วิธีการรักษาเบาหวาน 

วิธีการรักษาเบาหวาน

การรักษาโรคเบาหวานนั้นแพทย์จะเน้นให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียงมากที่สุดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคหัวใจ ไตวาย หรือเบาหวานขึ้นจอตา การรักษาโรคเบาหวานมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของเบาหวานและความรุนแรงของโรค เช่น การใช้ยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล และช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างอินซูลินมากขึ้น การใช้ยาฉีดอินซูลิน นอกจากนี้ผู้ป่วยยังควรตรวจวัดระดับน้ำตาลด้วยตัวเอง พบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ และต้องปรับพฤติกรรมการทานอาหารและออกกำลังกายให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาอาการจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ป้องกันหรือชะลอการเกิดภาวะ/โรคแทรกซ้อน ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงคนปกติ

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรดูแลตัวเองอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรดูแลตัวเองตามแนวทางข้อฏิบัติ ดังนี้

  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ปรับลดหรือเพิ่มยาด้วยตัวเอง
  • เลือกอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index หรือ GI) ต่ำ เช่น ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด ถั่ว และผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง สำหรับแป้งควรทานชนิดไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต และควรควบคุมปริมาณแป้ง
  • ควรรับประทานผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย เช่น ฝรั่ง แก้วมังกร 
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานของหวาน ขนมหวาน หรือน้ำหวาน น้ำผลไม้ ชานมไข่มุก น้ำอัดลม 
  • แบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ แทนการทานมื้อใหญ่
  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที / สัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการอยู่กับที่นานๆ (Sedentary lifestyle) ควรมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายทุกๆ 30-60 นาที ลดเวลาอยู่หน้าจอ (Sceen time) ให้น้อยกว่าวันละ 2 ชั่วโมง 
  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดแผล ใส่ถุงเท้าและรองเท้า ไม่ควรเดินเท้าเปล่า
  • หลีกเลี่ยงความเครียด
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบอื่น และควรหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง (Secondhand Smoke) 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ โดยถ้าดื่มในกรณีเป็นครั้งคราว ควรจำกัดปริมาณ สำหรับผู้หญิง ไม่เกิน 1 ดื่มมาตรฐานต่อวัน สำหรับผู้ชายไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเบาหวาน

1. โรคเบาหวานรักษาหายหรือไม่?

ปัจจุบันโรคเบาหวานยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยสามารถรักษาอาการให้สงบได้ด้วยการรักษาระดับน้ำตาลในอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งวิธีการนั้นก็คือการทานยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ปรับลดหรือเพิ่มยาด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเอง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน ทอด แป้งขัดสี และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

2. วิธีป้องกันโรคเบาหวานควรทำอย่างไร?

ควรควบคุมการทานน้ำตาล ของหวาน หรือแป้งในแต่ละวัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ข้าวกล้อง ผักใบเขียว ปลา ถั่ว ผลไม้ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และควรตรวจสุขภาพทุกปี

เบาหวานทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอันตรายได้ อย่าละเลย ควรปรึกษาแพทย์

โรคเบาหวานหากไม่ได้รับการรักษาและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น โรคหัวใจ โรคไต และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

 

ปรึกษาหมอออนไลน์ นักกำหนดอาหาร พยาบาล และปรึกษาเภสัชกรแบบไม่มีค่าใช้จ่ายบนแอป BeDee ได้ทุกวัน ส่งยาและสินค้าถึงที่ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS 

 

Content powered by BeDee Expert

พญ.ภาวิตา คงธนาสมบูรณ์

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป 

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

  • American Diabetes Association. Classification and diagnosis: standards of medical care in diabetes — 2023. Diabetes Care 2023; 46 (Suppl(1): S19-S40.
  • Petersmann, A., Müller-Wieland, D., Müller, U. A., Landgraf, R., Nauck, M., Freckmann, G., Heinemann, L., & Schleicher, E. (2019). Definition, Classification and Diagnosis of Diabetes Mellitus. Experimental and clinical endocrinology & diabetes : official journal, German Society of Endocrinology [and] German Diabetes Association127(S 01), S1–S7.
  • Diaz-Santana, M. V., O’Brien, K. M., Park, Y. M., Sandler, D. P., & Weinberg, C. R. (2022). Persistence of Risk for Type 2 Diabetes After Gestational Diabetes Mellitus. Diabetes care45(4), 864–870. https://doi.org/10.2337/dc21-1430
  • World Health Organization (WHO). 2019. Classification of Diabetes Mellitus. Geneva: April. https://www.who.int/publications/i/item/classification-of-diabetes-mellitus
บทความที่เกี่ยวข้อง

Key Takeaway ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B สามารถก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้ไม่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A  ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B มักระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูฝนและในบางปีพบในฤดูหนาวด้วยเช่นกัน แต่ในประเทศไทยสามารถพบมีการระบาดได้ตลอดทั้งปี สารบัญบทความ ไข้หวั

สารบัญบทความ โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever) คืออะไร โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever) คือโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไม่ว่าจะสายพันธุ์ DENV-1,