หลอดลมอักเสบ

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

Key Takeaways

  • โรคหลอดลมอักเสบคือภาวะที่หลอดลมในระบบทางเดินหายใจเกิดการอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย
  • หากมีอาการตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปอาจเสี่ยงต่อโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
  • หากมีอาการไอเรื้อรังหรือหายใจลำบาก ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
สารบัญบทความ

หลอดลมอักเสบคืออะไร มีกี่ชนิด? 

โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) คือภาวะที่หลอดลมในระบบทางเดินหายใจเกิดการอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่น หรือสารเคมีในอากาศ เมื่อสูดดมเข้าไปจึงทำให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบ โรคนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute Bronchitis)

หลอดลมอักเสบเฉียบพลันมักเกิดขึ้นชั่วคราวและหายได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดธรรมดา อาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่ ไอ อาจมีเสมหะหรือไม่มีเสมหะ เจ็บคอ น้ำมูกไหล หายใจมีเสียงหวีด และบางครั้งอาจมีไข้ร่วมด้วย

หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic Bronchitis)

หลอดลมอักเสบเรื้อรังคือภาวะที่มีการอักเสบของหลอดลมต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือนขึ้นไป มักเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่หรือการสัมผัสกับสารระคายเคืองในระยะยาว อาการหลักคือไอเรื้อรังพร้อมเสมหะ

หลอดลมอักเสบเกิดจากอะไร?

หลอดลมอักเสบ เกิดจาก

หลอดลมอักเสบเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแล้วสาเหตุที่มักทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบมีดังนี้

  1. การติดเชื้อ (Infections)

การติดเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดธรรมดา เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) และไวรัสโคโรนา (Coronavirus) อีกประเภทคือการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งพบได้น้อยกว่าการติดเชื้อไวรัส เช่น Mycoplasma Pneumoniae หรือ Bordetella Pertussis 

 

  1. ปัจจัยกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม 
  • ควันบุหรี่
  • มลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ควันไฟ หรือไอเสียจากรถยนต์
  • สารเคมี เช่น ก๊าซจากสารเคมีในโรงงาน หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
  • ฝุ่นและละอองเกสรดอกไม้

 

  1. โรคประจำตัวและภูมิแพ้ (Underlying Health Conditions)
  • โรคหอบหืด 
  • ภูมิแพ้
  • กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux)

หลอดลมอักเสบอาการเป็นอย่างไร? 

หลอดลมอักเสบนั้นอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกับอาการเป็นหวัดหรือโรคโควิด 19 จนทำให้หลายคนอาจสงสัยอาการ โดยทั่วไปแล้วโรคหลอดลมอักเสบอาการที่พบได้โดยทั่วไป เช่น 

 

  • ไอเรื้อรัง มักมีเสมหะใส หรือในบางรายมีเสมหะสีเหลืองหรือสีเขียว
  • หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย
  • รู้สึกแน่นหรือเจ็บหน้าอก
  • มีไข้ต่ำ
  • อ่อนเพลีย
  • น้ำมูกไหล หรือคัดจมูก 
  • เจ็บคอ 
  • เสียงแหบ
  • หนาวสั่น
  • ปวดเมื่อยตัว

ปรึกษาหมอออนไลน์ ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก เป็นส่วนตัว 

ส่งยาถึงที่ ไม่มีค่าจัดส่ง

หลอดลมอักเสบวินิจฉัยอย่างไร?

หลอดลมอักเสบ วินิจฉัย

วิธีการวินิจฉัยโรคหลอดลมอักเสบนั้นจะเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก หรือแน่นหน้าอกหรือไม่ ระยะเวลาของอาการที่เกิดขึ้นเพื่อแยกระหว่างหลอดลมอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง รวมถึงประวัติสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การสัมผัสสารระคายเคือง หรือโรคประจำตัว เช่น หอบหืดหรือถุงลมโป่งพอง หรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น


นอกจากนี้แพทย์จะตรวจร่างกายด้วยการฟังเสียงปอดเพื่อประเมินเสียงหวีดหรือเสียงผิดปกติในปอด ในกรณีที่การวินิจฉัยยังไม่ชัดเจนหรือมีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง แพทย์อาจส่งเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray) เพิ่มเติม

วิธีรักษาหลอดลมอักเสบ

โรคหลอดลมอักเสบวิธีรักษานั้นขึ้นอยู่กับประเภทของโรคและสาเหตุของอาการ การรักษาควรได้รับการดูแลจากแพทย์ฺร่วมกับการดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงโดยมีแนวทางดังนี้

 

  1. การรักษาหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและสามารถหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้

 

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ 
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และควันบุหรี่
  • ใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ไข้ยาแก้ปวด หรือยาแก้ไอ
  • ในกรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียอาจใช้ยาปฏิชีวนะ 
  • ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา

 

  1. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังโดยมากมักเกี่ยวข้องกับการสัมผัสสารระคายเคือง เช่น การสูบบุหรี่ หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้

 

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงสารระคายเคือง
  • ออกกำลังกายและฟื้นฟูสมรรถภาพปอด
  • ใช้ยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น
  • ในกรณีที่มีอาการรุนแรงแพทย์อาจจ่ายยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อลดการอักเสบในปอด ลดการบวมและการสร้างสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจ
  • ใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน
  • ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา

วิธีป้องกันหลอดลมอักเสบ

ป้องกัน หลอดลมอักเสบ

วิธีป้องกันโรคหลอดลมอักเสบนั้นคือการดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยทั่วไปแล้วสามารถทำได้ดังนี้

 

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัส ควันบุหรี่ ฝุ่น หรือมลพิษทางอากาศ
  • งดสูบบุหรี่
  • สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นหากอยู่ในพื้นที่ ๆ มีมลภาวะ
  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) ทุกปี
  • ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ (Pneumococcal Vaccine) โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ โปรตีน และอาหารที่มีวิตามินซีสูง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจล เป็นเวลาอย่างน้อย 15 – 20 วินาที
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วย เช่น ไข้หวัด หรือโรคทางเดินหายใจ
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยลดมลพิษในบ้าน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาที / สัปดาห์

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการหลอดลมอักเสบ

1. โรคหลอดลมอักเสบหายเองได้ไหม?

โดยปกติแล้วโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสหวัดทั่วไปซึ่งอาการมักดีขึ้นเองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ อาจใช้ยารักษาตามอาการร่วมกับการดูแลตัวเอง เช่น ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อน และหลีกเลี่ยงสารระคายเคือง

 

ในขณะที่โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังนั้นไม่สามารถหายเองได้ ตัวโรคมักเกิดจากการระคายเคืองในหลอดลมอย่างต่อเนื่อง เช่น การสูบบุหรี่ หรือการสัมผัสมลพิษในระยะยาว มักพบในโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องได้รับการดูแลและรักษาอย่างต่อเนื่อง

2. หลอดลมอักเสบไม่ควรทานอะไร?

อาหารที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารมัน อาหารทอด อาหารหวานจัด ขนมหวาน หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง อาหารรสจัดเพราะอาจกระตุ้นอาการไอหรือทำให้ระคายคอ รวมถึงน้ำแข็ง หรือน้ำเย็นจัด อาหารที่ควรรับประทาน ได้แก่ อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ซุป หรือข้าวต้ม ผักและผลไม้สดที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง หรือมะละกอ เพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและ ควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอในแต่ละวัน โดยควรจิบน้ำอุ่นระหว่างวันเรื่อย ๆ

หลอดลมอักเสบรีบปรึกษาแพทย์ก่อนอาการเรื้อรัง 

หลอดลมอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยและต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและหาสาเหตุของการเกิดโรคเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรได้เลยที่นี่ 

 

BeDee พบหมอเฉพาะทางเครือ BDMS ได้ทันที ไม่ต้องรอคิว ส่งยาทั่วไทย มั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูล

 

สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

Content powered by BeDee Expert

นพ. จิติศักดิ์ พูนศรีสวัสดิ์
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ป้องกัน และอาชีวเวชศาสตร์

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

Bronchitis – Symptoms and causes. (n.d.). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/bronchitis/symptoms-causes/syc-20355566


American Lung Association. (n.d.-c). Acute Bronchitis Symptoms, Causes & Risk Factors. www.lung.org. Retrieved January 6, 2025, from https://www.lung.org/lung-health-diseases/lung-disease-lookup/bronchitis/symptoms-diagnosis-treatment


Key, A. P. (2024d, March 8). Bronchitis. WebMD. Retrieved January 6, 2025, from https://www.webmd.com/lung/understanding-bronchitis-basics


Patient education: Acute bronchitis in adults (Beyond the Basics). (2024, November 25). www.uptodate.com. Retrieved January 6, 2025, from https://www.uptodate.com/contents/acute-bronchitis-in-adults-beyond-the-basics

บทความที่เกี่ยวข้อง

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง Key Takeaways วัณโรคเทียม (NTM) คือเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Mycobacterium ที่ไม่ใช่เชื้อที่ก่อให้

Key Takeaways นอนกรนเกิดได้จากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคอ้วน ภูมิแพ้ หรือผู้ที่มีปัญหาโครงสร้างใบหน้าหรือจมูกผิดรูป  การรักษาอาการนอนกรนควรได้รับการวินิจฉัยสาเหตุการเกิดอาการของแต่ละคนเพื่อทำการรักษาต่อไปอย่างเหมาะสม การนอนกรนส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีว