Key Takeaways วิธีแก้นอนไม่หลับผู้สูงอายุมีหลายวิธี ควรเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแทนการพึ่งยานอนหลับ หากผู้สูงอายุนอนไม่หลับควรลุกมาทำกิจกรรมเบา ๆ เช่น อ่านหนังสือ ดื่มนมอุ่น ยืดเส้นยืดสายเล็กน้อย หากพบว่าผู้สูงอายุมีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรัง นอนหลับ ๆ
ภูมิแพ้อากาศ ป้องกันและรักษาอย่างไรดี?
Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
Key Takeaways
- ภูมิแพ้อากาศเป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศมากกว่าปกติ
- อาการที่พบได้ เช่น คัดจมูก หายใจลำบาก น้ำมูกไหลเป็นสีใส ๆ หรือไหลลงคอ จามบ่อยติดกันหลายครั้ง คันในจมูก คันตา หรือคันในลำคอ ตาแดง น้ำตาไหล
- ภูมิแพ้อากาศวิธีรักษาในปัจจุบันคือการทานยาแก้แพ้รักษาตามอาการ หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หรือรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด
ทำความรู้จัก ภูมิแพ้อากาศคืออะไร?
ภูมิแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis) คือโรคภูมิแพ้ประเภทหนึ่ง เป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศมากกว่าปกติ โดยทั่วไปมักเกิดจากสารที่สูดเข้าไป เช่น ฝุ่นละออง PM 2.5 เกสรดอกไม้ เชื้อรา ไรฝุ่น หรือขนสัตว์ อาการของภูมิแพ้อากาศสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในฤดูกาลเฉพาะ (Seasonal Allergic Rhinitis) หรือเกิดตลอดทั้งปี (Perennial Allergic Rhinitis)
BeDee Tips: เป็นภูมิแพ้อากาศกินอะไรดี? อ่านเพิ่มเติมเลย!
ภูมิแพ้อากาศอาการเป็นอย่างไร?
ภูมิแพ้อากาศอาการในแต่ละบุคคลนั้นอาจมีความแตกต่างและความรุนแรงที่ไม่เหมือนกัน โดยส่วนใหญ่แล้วอาการภูมิแพ้อากาศที่สามารถพบได้ เช่น
- คัดจมูก
- หายใจลำบาก
- น้ำมูกไหล สีน้ำมูกเป็นสีใส น้ำมูกไหลลงคอ
- จามบ่อย จามติดกันหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเจอสภาพอากาศเย็นหรือเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้
- คันในจมูก คันตา คันหรือระคายเคืองในลำคอ
- ตาแดงน้ำตาไหล
ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้อากาศรุนแรง มีอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
ภูมิแพ้อากาศทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
นอกจากอาการทั่วไปแล้ว โรคภูมิแพ้อากาศยังอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รบกวนต่อคุณภาพชีวิตตามมาได้ อาการแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น
ไซนัสอักเสบ
ภูมิแพ้อากาศอาจทำให้เกิดการอักเสบของโพรงไซนัสจากการอุดตันในโพรงจมูกเรื้อรัง ทำให้อาจมีการติดเชื้อได้ง่าย อาการที่พบบ่อยคือปวดบริเวณใบหน้า คัดจมูกเรื้อรัง น้ำมูกข้น และปวดศีรษะ
หูชั้นกลางอักเสบ
ภูมิแพ้สามารถส่งผลต่อหูชั้นกลางได้เนื่องจากร่างกายของเรามีท่อยูสเตเชียน (Eustachian Tube) ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างโพรงจมูกกับหูส่วนกลาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการคัดจมูก อาจทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูกและส่งผลต่อหูชั้นกลาง ทำให้หูชั้นกลางอักเสบตามมาได้
นอนกรน
ผู้ที่มีปัญหาภูมิแพ้อากาศ มีการติดขัดของทางเดินหายใจบริเวณจมูกเรื้อรังสามารถทำให้เกิดอาการนอนกรนได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว
วิธีรักษาภูมิแพ้อากาศ
ถึงแม้ว่าโรคภูมิแพ้อากาศจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถบรรเทาอาการลงได้ด้วยวิธี เช่น
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เราเกิดอาการภูมิแพ้ เช่น ทำความสะอาดบ้าน กำจัดฝุ่นอย่างสม่ำเสมอ ใช้เครื่องกรองอากาศ หลีกเลี่ยงเกสรดอกไม้ ปิดหน้าต่างในช่วงที่มีละอองเกสรแพร่กระจายเยอะ สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่นอกบ้านในช่วงที่มีมลภาวะทางอากาศมาก ในกรณีที่มีสัตว์เลี้ยง ควรดูแลความสะอาดของสัตว์เลี้ยง อาบน้ำและแปรงขนสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ
- ใช้ยาเพื่อลดอาการ
ยาแก้แพ้ (Antihistamines) เพื่อลดอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล และคันจมูกคันตา ยาพ่นจมูกกลุ่มสเตียรอยด์ (Nasal Corticosteroids) เพื่อช่วยลดการอักเสบในโพรงจมูก ยารับประทานจะสามารถเห็นผลได้ในเวลาอันรวดเร็ว ในส่วนของยาพ่นจมูกอาจต้องใช้เวลาซักระยะหนึ่งถึงจะเริ่มเห็นผล โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะจ่ายยาทั้งสองแบบในการรักษาควบคู่กันไป
- ฉีดวัคซีนโรคภูมิแพ้ (Immunotherapy)
วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือแพ้สารที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น ไรฝุ่นหรือเกสรดอกไม้ วิธีการคือ แพทย์จะตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ อาจจะโดยการเจาะเลือดหรือทดสอบทางผิวหนัง หากพบสารก่อภูมิแพ้นั้นแล้ว แพทย์จะฉีดสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณน้อย ๆ เข้าทางผิวหนัง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายปรับตัว วิธีนี้ต้องมีแพทย์เฉพาะทางควบคุมอย่างใกล้ชิดและต้องใช้ระยะเวลาถึงจะเห็นผล
- ล้างจมูก
การใช้น้ำเกลือล้างจมูกจะช่วยทำความสะอาด ชะล้างสิ่งสกปรก ฝุ่น สารก่อภูมิแพ้และน้ำมูกที่คั่งอยู่ในโพรงจมูก ทำให้ผู้ป่วยหายใจสะดวก วิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกและคันจมูก
ภูมิแพ้อากาศป้องกันอย่างไร?
หลายคนสงสัยว่าภูมิแพ้อากาศแก้ยังไงเพราะสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอากาศนั้นหลีกเลี่ยงได้ยาก นอกจากการรักษาด้วยวิธีการข้างต้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้คือการป้องกันการเกิดภูมิแพ้ควบคู่กันไปด้วยวิธีการดังนี้
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นและไรฝุ่น ด้วยการดูแลความสะอาดภายในบ้าน ใช้เครื่องกรองอากาศ ใช้ปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนกันไรฝุ่น หมั่นซักเครื่องนอนด้วยน้ำร้อน ปิดหน้าต่างและประตูในช่วงที่มีเกสรเยอะ
- สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปข้างนอกบ้าน หากมีมลภาวะทางอากาศมาก เช่น ฝุ่น PM2.5
- ในกรณีที่แพ้ขนสัตว์ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง
- อาบน้ำและแปรงขนสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอมฉีดตัว น้ำหอม สเปรย์ปรับอากาศ หรือสารเคมีที่มีกลิ่นฉุน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงความเครียด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีวิตามินซี
ภูมิแพ้อากาศรักษายังไงดี? ปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก ส่งยาถึงที่
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการภูมิแพ้อากาศ
1. โรคภูมิแพ้อากาศรักษาหายไหม?
โรคภูมิแพ้อากาศเป็นภาวะเรื้อรังที่เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ หรือขนสัตว์ แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน แต่สามารถควบคุมและบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีการ เช่น การทานยาแก้แพ้ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เป็นต้น
2. ภูมิแพ้อากาศติดต่อไหม
โรคภูมิแพ้อากาศไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นโรคที่เกิดจากการตอบสนองผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งเป็นปัญหาภายในร่างกายของผู้ป่วยเองไม่ใช่โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน
ภูมิแพ้อากาศหากมีอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์
ปัจจุบันโรคภูมิแพ้อาจหลีกเลี่ยงได้ยากโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองที่มีฝุ่น มลภาวะในอากาศมาก อาจทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบทุกวันจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต หากมีอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรับมือและวิธีการรักษาที่เหมาะสม
ปรึกษาหมอออนไลน์ นักกำหนดอาหาร พยาบาล และปรึกษาเภสัชกร ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน ส่งยาและสินค้าถึงที่ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
พญ. วิภาดา พิพัฒน์วัชรา
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Website, N. (2024h, September 11). Allergic rhinitis. nhs.uk. https://www.nhs.uk/conditions/allergic-rhinitis/
Hay fever – Symptoms and causes. (n.d.). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hay-fever/symptoms-causes/syc-20373039
Hay fever (Rhinitis) | Symptoms & Treatment | ACAAI Public Website. (2023, February 21). ACAAI Patient. https://acaai.org/allergies/allergic-conditions/hay-fever/