คุณกำลังประสบปัญหาไอเรื้อรัง ไอไม่หายสักที จนรบกวนคนรอบข้างหรือไม่? อาการไอเรื้อรังเป็นปัญหาที่อาจดูเพียงแค่น่ารำคาญแต่ในความเป็นจริงอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคอันตรายที่ควรรับการรักษาโดยเร็ว หากคุณหรือคนรอบข้างมีอาการไอเรื้อรัง กินยาแก้ไอแล้วก็ยังไม่ดี
ไซนัสอักเสบ สังเกตอาการเสี่ยงพร้อมวิธีป้องกันและรักษาก่อนเรื้อรัง
ไซนัสอักเสบ หนึ่งในโรคระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยและสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย มีอาการคล้ายไข้หวัดและภูมิแพ้ทำให้หลายคนอาจเกิดความสับสนระหว่างไซนัสอักเสบ ไข้หวัดและภูมิแพ้ได้ เมื่อแยกอาการได้ยากหลายคนจึงคิดไปเองว่าคงไม่ได้เป็นไซนัสอักเสบและปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจนก่อให้เกิดไซนัสอักเสบเรื้อรังไปเสียแล้ว
หากเริ่มมีอาการคัดจมูก ลมหายใจมีกลิ่นร่วมกับอาการปวดบริเวณใบหน้ารอบจมูก เช่น โหนกแก้ม ระหว่างลูกตา หน้าผาก อาจสงสัยได้ว่ามีอาการไซนัสอักเสบ แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางโรคหู คอ จมูกเพื่อรับการตรวจ วินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี
ไซนัสอักเสบคืออะไร
เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับไซนัสอักเสบมากขึ้น ควรทำความเข้าใจ “ไซนัส” ก่อน
ไซนัส (Paranasal Sinuses) คือ โพรงที่เต็มไปด้วยอากาศอยู่บริเวณใบหน้าและฐานกะโหลกศีรษะติดต่อกับจมูก ภายในไซนัสจะมีเยื่อบาง ๆ บุอยู่ภายในเช่นเดียวกับช่องปาก ไซนัสมีทั้งหมด 4 คู่และมีชื่อเรียกเฉพาะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของไซนัส ได้แก่
- ไซนัสหน้าผาก (Frontal sinus) คือไซนัสที่อยู่บริเวณหน้าผาก มีลักษณะรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล สามารถนำมาเป็นตัวแยกอัตลักษณ์เฉพาะบุคคลได้เหมือนกับลายนิ้วมือ
- ไซนัสข้างหัวตา (Ethmoid sinus) คือไซนัสที่อยู่ข้างหัวตา มีลักษณะเป็นโพรงอากาศเล็ก ๆ อยู่รวมกัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือไซนัสหัวตาส่วนหน้าและไซนัสหัวตาส่วนหลัง
- ไซนัสโหนกแก้ม (Maxillary sinus) คือไซนัสที่อยู่บริเวณโหนกแก้ม มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาไซนัสทั้ง 4 ชนิด
- ไซนัสฐานสมอง (Sphenoid sinus) คือไซนัสที่อยู่ในกระดูกบริเวณฐานสมอง มีอวัยวะสำคัญหลายชนิดอยู่ใกล้เคียงกับไซนัสฐานสมอง อาทิ ต่อมใต้สมอง, เส้นเลือดแดงใหญ่, ก้านสมอง เป็นต้น
ไซนัสมีหน้าที่สำคัญอยู่หลายประการ ยกตัวอย่างเช่น
- ช่วยปรับสภาพอากาศที่หายใจเข้าไปให้เหมาะสมกับร่างกาย
- ช่วยในเรื่องการรับกลิ่น
- ช่วยให้การเปล่งเสียงมีความกังวานขึ้น
- ช่วยลดน้ำหนักของกะโหลกศีรษะ
- ทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันไม่ให้กะโหลกศีรษะหรือลูกตาได้รับความเย็นหรือความร้อนมากเกินไปจากการหายใจในที่มีสภาวะอุณหภูมิที่รุนแรง
- ช่วยปรับความดันอากาศภายในโพรงจมูกให้เหมาะสม
- ช่วยลดความรุนแรงขณะเกิดอุบัติเหตุกระแทก ปกป้องอวัยวะสำคัญภายในกะโหลกศีรษะได้มากขึ้น
ภายในกายวิภาคของไซนัสจะมีเยื่อบุผิวหรือที่เรียกกว่าเยื่อบุไซนัสทำหน้าที่ในการสร้างสารคัดหลั่งเพื่อขับสิ่งสกปรกแปลกปลอม ลดโอกาสการติดเชื้อและเยื่อบุไซนัสนี้ยังสามารถสร้างก๊าซไนตริกออกไซด์ (Nitricoxide) ภายในโพรงจมูกมากกว่าสภาพแวดล้อมทั่วไป ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ทำให้ภายในโพรงไซนัสมีลักษณะที่ปลอดเชื้อนั่นเอง
ถึงแม้ว่าร่างกายเราจะมีระบบป้องกันการติดเชื้อภายในโพรงไซนัสอย่างดีแล้วก็ตาม แต่เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลงก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเป็นไข้หวัดทำให้เกิดการบวมและการคั่งของสารคัดหลั่ง ก่อให้เกิดการอักเสบ อีกทั้งการบวมภายในโพรงจมูกยังทำให้รูระบายของไซนัสถูกปิดไป ไม่สามารถระบายสารคัดหลั่งออกมาได้จนกลายเป็นไซนัสอักเสบในที่สุด
ปรึกษาอาการไซนัสอักเสบกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีค่าจัดส่งยา
อาการไซนัสอักเสบ
อาการไซนัสอักเสบใกล้เคียงกับไข้หวัดและภูมิแพ้ เช่น เป็นไข้, ปวดศีรษะ, น้ำมูกไหล และมีเสมหะ แต่ก็มีอาการเฉพาะบางอย่างที่สามารถทำให้แยกอาการไซนัสออกจากอาการทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ได้ เช่น
- มีอาการคัดจมูก หายใจเข้าออกลำบาก : ขณะเป็นไซนัสอักเสบ ภายในโพรงจมูกจะมีอาการบวมทำให้ปิดช่องทางเข้าออกของอากาศจึงหายใจได้อย่างลำบาก
- น้ำมูกมีสีเหลืองหรือเขียวข้น : ไซนัสอักเสบเป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อ สารคัดหลั่งอย่างน้ำมูกจึงมีสีเขียวหรือเหลืองที่เป็นลักษณะเฉพาะของน้ำมูกที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น : เนื่องจากการอักเสบติดเชื้อและการคั่งของสารคัดหลั่งภายในโพรงไซนัสทำให้เกิดการสะสมและส่งกลิ่นเหม็นขณะหายใจ
- ปวดศีรษะ โหนกแก้ม หน้าผาก หัวตา : ปกติภายในโพรงไซนัสตำแหน่งต่าง ๆ จะมีลักษณะเป็นช่องว่างที่มีเพียงอากาศ แต่เมื่อมีสารคัดหลั่งคั่งอยู่ภายในโพรงไซนัสและก่อให้เกิดการอักเสบจึงทำให้เกิดอาการปวดบริเวณที่มีโพรงไซนัส เช่น โหนกแก้ม หน้าผาก หัวตาและศีรษะได้
ประเภทของไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทตามระยะเวลาและความถี่ในการเกิดโรค
1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (acute sinusitis)
ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน มีระยะเวลาเกิดโรคอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ส่วนมากมักเกิดร่วมกับอาการไข้หวัดและมีการติดเชื้อในโพรงไซนัส หากอาการไซนัสอักเสบเฉียบพลันเกิดจากไวรัสอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เองเมื่อภูมิคุ้มกันดีขึ้น แต่หากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียอาจมีระยะเวลาดำเนินโรคนานและจำเป็นต้องได้รับการรักษา
2. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic sinusitis)
ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีระยะเวลาเกิดโรคอยู่มากกว่า 12 สัปดาห์ติดต่อกัน ส่วนมากอาการไซนัสอักเสบเรื้อรังมักเกิดจากภูมิแพ้ที่ทำให้โพรงจมูกบวมไปปิดกั้นไม่ให้ของเหลวในโพรงไซนัสไหลออกจนเกิดการอักเสบ
สาเหตุของไซนัสอักเสบ
มีหลายสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคไซนัสอักเสบไม่ใช่เพียงแค่เป็นหวัดอย่างเดียวเท่านั้น แล้วไซนัสอักเสบเกิดจากอะไรได้บ้าง?
- การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสภายในโพรงจมูกที่เกิดขึ้นหลังจากอาการไข้หวัด
- การติดเชื้อภายในโพรงจมูกเนื่องจากการสำลักน้ำ
- การอักเสบภายในโพรงจมูกจากโรคภูมิแพ้
- มีความผิดปกติของโครงสร้างภายในจมูก เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด, กระดูกที่ข้างโพรงจมูกมีขนาดใหญ่, มีเนื้องอกในโพรงจมูก ทำให้ช่องโพรงไซนัสถูกปิดกั้นและระบายสารคัดหลั่งได้ยากกว่าปกติ
- ความผิดปกติภายในช่องปากส่วนบน เช่น ฟันผุ, การติดเชื้อที่รากฟัน ทำให้ผนังกั้นระหว่างช่องปากและไซนัสโหนกแก้มบางจนเชื้อสามารถทะลุไปยังไซนัสโหนกแก้มได้ง่าย
- มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในจมูกเป็นเวลานาน มักพบในเด็กเล็กหรือผู้ป่วยที่ใส่สายให้อาหารหรือท่อช่วยหายใจที่โพรงจมูก
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากไซนัสอักเสบ
ปกติแล้วโรคไซนัสอักเสบสามารถทุเลาและหายได้ภายในไม่กี่สัปดาห์หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี แต่อย่างไรก็ตามไซนัสอักเสบเป็นภาวะที่เกิดจากติดเชื้อ ทำให้มีโอกาสที่เชื้อจะลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ และก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ ดังนี้
- การติดเชื้อลุกลามไปยังดวงตา : หากเกิดการติดเชื้ออักเสบที่บริเวณไซนัสข้างหัวตาซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้ลูกตาไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้อาจทำให้เชื้อลุกลามไปยังลูกตา ทำให้เนื้อเยื่อรอบดวงตาอักเสบ และถ้าการติดเชื้อรุนแรงอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
- การติดเชื้อลุกลามไปยังสมอง : การติดเชื้อที่ไซนัสข้างหัวตา, ไซนัสหน้าผาก และไซนัสฐานสมองสามารถลุกลามไปยังสมองได้เนื่องจากโพรงไซนัสเหล่านี้อยู่ใกล้กับสมองหลายส่วน เช่น สมองส่วนหน้า, ต่อมใต้สมอง, เส้นประสาทสมอง เป็นต้น เมื่อเชื้อลุกลามมายังสมองอาจทำให้เกิดโรคทางสมองหลายอย่าง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ฝีในสมอง ซึ่งอาจทำอันตรายถึงชีวิต
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากไซนัสอักเสบเป็นอันตรายและอาจร้ายแรงถึงชีวิต แต่โอกาสที่การอักเสบจะพัฒนาจนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายเหล่านี้มีไม่มากนักหากได้รับการตรวจ วินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกวิธี ดังนั้นหากพบอาการผิดปกติที่สงสัยว่ามีภาวะไซนัสอักเสบควรจะเข้าพบแพทย์โดยเร็วจะดีที่สุด
การตรวจและวินิจฉัยไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบสามารถตรวจและวินิจฉัยได้หลายวิธี เริ่มต้นแพทย์จะซักประวัติเบื้องต้นว่ามีอาการอย่างไรบ้าง หากมีอาการต้องสงสัยว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบ เช่น ปวดบริเวณโหนกแก้มข้างจมูก, ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น แพทย์อาจตรวจโดยการส่องดูด้านหลังคอ, กดบริเวณไซนัส และอาจตรวจด้วยเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อให้วินิจฉัยได้แม่นยำยิ่งขึ้น เช่น การตรวจด้วยการส่องกล้อง, การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
วิธีรักษาไซนัสอักเสบ
เมื่อรู้ตัวแล้วว่าเป็นไซนัสอักเสบ คุณอาจสงสัยว่าไซนัสอักเสบรักษายังไง? ไซนัสอักเสบหายเองได้ไหม? มีวิธีรักษาไซนัสด้วยตัวเองหรือไม่? ซึ่งคำตอบของคำถามเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการอักเสบของไซนัสและความรุนแรงของโรค
หากพบแพทย์เฉพาะทางแล้วได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไซนัสอักเสบแพทย์มักจะใช้การรักษาด้วยยาพร้อมกับแนะนำให้ดูแลตนเองเป็นหลัก เช่น การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อ, ใช้ยาพ่นจมูกลดอาการบวมในโพรงจมูก, ให้ยาลดน้ำมูก เป็นต้น หากอาการไซนัสอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อให้เพิ่มด้วย และอาจบรรเทาอาการคัดจมูก ปวดในโพรงไซนัสด้วยตนเองโดยการรักษาระดับความชื้นในห้องให้เหมาะสมรวมถึงการประคบร้อนบริเวณจมูกและหน้าผาก
แต่หากอาการไซนัสอักเสบรุนแรงหรือเรื้อรังแพทย์อาจพิจารณารักษาไซนัสอักเสบด้วยการผ่าตัด โดยมีข้อบ่งชี้ดังนี้
- ผู้ป่วยผ่านการรักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือกลับมาเป็นซ้ำบ่อย ๆ
- ภายในโพรงจมูกมีความผิดปกติทางโครงสร้างและทำให้เกิดไซนัสอักเสบได้บ่อย เช่น ริดสีดวงจมูก, มีเนื้องอกภายในโพรงจมูก, ผนังกั้นจมูกคด เป็นต้น
ยารักษาไซนัสอักเสบ
การรักษาไซนัสอักเสบมักเป็นการรักษาด้วยยาเป็นหลัก หากอาการไซนัสอักเสบเกิดจากไวรัสหรือภูมิแพ้ก็จะเน้นใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดน้ำมูก, ยาพ่นจมูก เพื่อลดอาการบวมภายในโพรงจมูกและลดปริมาณสารคัดหลั่งภายในโพรงไซนัสลง
แต่หากอาการไซนัสอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อในการรักษา โดยยาปฏิชีวนะเองมีหลายประเภท แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาจากความรุนแรงของอาการไซนัสอักเสบ เช่น ยายาฆ่าเชื้อทั่วไป และหากมีอาการรุนแรงหรือได้รับการรักษาไปแล้วอาการไม่ดีขึ้นแพทย์อาจเปลี่ยนเป็นยากลุ่มที่ออกฤทธิ์กว้างขึ้น เช่น Cephalosporins, Fluoroquinolones, Macrolides เป็นต้น
เพื่อให้การรักษาไซนัสอักเสบให้ผลดียิ่งขึ้นควรจะดูแลตนเองด้วยการล้างจมูกเป็นประจำเพื่อลดสิ่งสกปรกและสารคัดหลั่งที่คั่งค้างอยู่ภายในโพรงจมูกด้วยการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ช้อปน้ำเกลือพร้อมจัดส่งใน 90 นาที*
การป้องกันไซนัสอักเสบ
คุณสามารถดูแลตนเองเพื่อป้องกันการเกิดไซนัสอักเสบซ้ำด้วยวิธีดังนี้
- เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ลดโอกาสการติดเชื้อไข้หวัดซึ่งเป็นสาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดไซนัสอักเสบ
- งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น สถานที่ที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง ไรฝุ่นบนที่นอน ขนแมว พรมในห้องนอน และอื่น ๆนอกจากนี้เครื่องสำอางและอาหารก็มีส่วนทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้เช่นกัน
- รักษาความชื้นภายในอากาศให้เหมาะสม หากอากาศแห้งเกินไปให้ใช้เครื่องทำความชื้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับร่างกาย
- หมั่นล้างจมูกด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อเป็นประจำ ลดการสะสมของสิ่งสกปรกภายในโพรงจมูก
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากอาจทำให้เยื่อบุช่องจมูกและไซนัสบวม รูเปิดของไซนัสอุดตัน จนทำให้อาการไซนัสอักเสบกำเริบขึ้น
ไซนัสอักเสบต่างจากไข้หวัดอย่างไร
ไซนัสอักเสบและไข้หวัดมีอาการที่ใกล้เคียงกัน เช่น ปวดหัว, คัดจมูก, น้ำมูกไหล และในบางครั้งก็อาจมีอาการไอหรือไข้ร่วมด้วย แต่ไซนัสอักเสบจะมีอาการที่แตกต่างจากไข้หวัด สามารถสังเกตได้ เช่น ไซนัสอักเสบลมหายใจจะมีกลิ่นเหม็น, น้ำมูกและเสมหะมีสีเหลืองหรือเขียวข้นมาก, ปวดบริเวณโหนกแก้ม รอบดวงตา หน้าผาก ซึ่งหากเป็นไข้หวัดทั่วไปมักจะไม่มีอาการเหล่านี้
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบหายเองได้หรือไม่?
หากอาการไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันและมีอาการไม่รุนแรงมาก อาการจะค่อย ๆ ทุเลาลงภายใน 2-4 สัปดาห์ ระหว่างนี้สามารถดูแลตนเองได้ด้วยการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อเพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรกและเชื้อโรคในโพรงจมูก หากมีอาการปวดบริเวณใบหน้าสามารถใช้การประคบร้อนลดอาการปวดได้เช่นกัน และหากมีอาการคัดจมูกหรือมีไข้สามารถซื้อยาลดน้ำมูกหรือยาลดไข้พาราเซตามอลจากร้านขายยาได้โดยไม่ต้องพบแพทย์
แต่อย่างไรก็ตามหากลองดูแลรักษาไซนัสอักเสบด้วยตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างตรงจุด
ไซนัสอักเสบเป็นกี่วันจึงจะหาย?
สำหรับไซนัสอักเสบเฉียบพลันมักจะใช้เวลารักษาประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่หากเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังมักจะใช้เวลารักษานานถึง 12 สัปดาห์ และมีโอกาสเป็นซ้ำได้เรื่อย ๆ
ปรึกษาเรื่องอื่น ๆ กับคุณหมอ
สรุปไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบมีอาการที่คล้ายกับโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบนอย่างไข้หวัดหรือภูมิแพ้ ทำให้หลายคนอาจปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และนำมาสู่อาการไซนัสอักเสบเรื้อรังที่รักษาได้ยากกว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเรื้อรังแนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมจะเป็นการดีที่สุด
ปรึกษาหมอออนไลน์หรือปรึกษาเภสัชกร ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษา เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
**ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่และเงื่อนไขการจัดส่ง อ่านเพิ่มเติม คลิก
Content Powered by BeDee Expert
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Battisti AS, Modi P, Pangia J. Sinusitis. [Updated 2023 Mar 2]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2023 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470383/
Gillespie, C. (2023, May 19). 9 Ways to Get Rid of a Sinus Infection, Plus Tips for Prevention. Healthline. https://www.healthline.com/health/how-to-get-rid-of-sinus-infection
Sinus Infection (Sinusitis). (2019, August 27). Centers for Disease Control and Prevention. https://www.cdc.gov/antibiotic-use/sinus-infection.html
WebMD Editorial Contributors. (2023, February 22). What Is Sinusitis? WebMD. https://www.webmd.com/allergies/sinusitis-and-sinus-infection