โรคแพนิค

เวลาที่เรากังวลมาก ๆ คงเคยได้ยินคำว่า “อย่าแพนิค” จริง ๆ แล้วโรคแพนิคนั้นมีอาการเป็นอย่างไร อันตรายมากแค่ไหน แล้วเราเข้าข่ายเป็นโรคแพนิคแล้วหรือยัง ลองมาทำความเข้าใจโรคแพนิคให้ละเอียดกัน

สารบัญบทความ

โรคแพนิค คือ

“โรคแพนิค” (Panic Disorder) หรือโรคตื่นตระหนกจัดเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง เกิดจากการที่ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยมักจะรู้สึกกลัว วิตกกังวล กระวนกระวายใจ ตื่นตระหนกตกใจขึ้นมาทันทีโดยไม่มีสาเหตุ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยมักมีอาการกลัวถึงขีดสุดภายใน 10 นาที และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น มักจะคงอยู่ไม่เกิน 20 – 30 นาที 

สาเหตุของโรคแพนิค

โรคแพนิคเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  1. สาเหตุทางด้านร่างกาย ผู้ป่วยมีปัญหาจากการทำงานของสมองหรือความผิดปกติจากสารสื่อประสาท เช่น นอร์อิพิเนฟริน ซีโรโทนิน และ GABA เป็นต้น ระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเธติกตอบสนองมากเกินไป ปรับตัวต่อสิ่งกระตุ้นเดิม ๆ ได้ช้า ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง หรือสารบางชนิด 

  2. สาเหตุทางด้านกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยที่มีญาติใกล้ชิดเป็นโรคแพนิคมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคแพนิค 4-8 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น

  3. สาเหตุทางด้านจิตใจและสังคม ผู้ป่วยมักประสบกับเหตุการณ์เครียดในชีวิตก่อนที่จะเกิดอาการแพนิค และมักเกิดความเครียดจากเหตุการณ์นั้น ๆ มากกว่าคนทั่วไป หรือผู้ที่ถูกแยกจากแม่ตั้งแต่ช่วงเด็ก ๆ คนที่เคยถูกทารุณกรรมทางกาย และทางเพศ มักจะเป็นโรคแพนิคมากกว่าคนทั่วไป

อาการโรคแพนิค

อาการแพนิค

โรคแพนิคมีอาการทั่วไปที่พบได้บ่อยดังนี้

  • ใจสั่น ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก
  • ปั่นป่วนภายในท้อง
  • มือสั่น ตั่วสั่น
  • เหงื่อออกมาก หนาวๆ ร้อน ๆ
  • หายใจถี่ หายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม
  • วิงเวียน โคลงเคลง รู้สึกตัวลอย คล้ายจะเป็นลม
  • รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะกลัวตาย
  • ควบคุมตัวเองไม่ได้ 
  • อยู่คนเดียวไม่ได้
 
สงสัยโรคแพนิคอย่าปล่อยไว้รีบปรึกษาจิตแพทย์ที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง 
 

การวินิจฉัยโรคแพนิค

อาการแพนิคแอทแท็ค (Panic Attack) มีความแตกต่างจากโรคแพนิค คนที่มีอาการแพนิคแอทแท็คไม่จำเป็นต้องเป็นโรคแพนิคเสมอไป อาการนี้สามารถพบได้ในโรคต่างๆ นอกจากโรคแพนิคได้ เช่น โรคกลัวสังคม (Social Anxiety Disorder) โรคกลัวเฉพาะอย่าง (Specific Phobia) โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นต้น 

 

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคแพนิค ตาม DSM-5 หรือ คู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) ฉบับที่ 5 ซึ่งเป็นคู่มือจิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ใช้ในอ้างอิงและวินิจฉัยภาวะความผิดปกติทางจิตของผู้ป่วย โดยคู่มือนี้ถูกรวบรวมและเผยแพร่โดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) มีดังนี้

 

1. มีอาการแพนิคแอทแท็ค ซ้ำ ๆ โดยแพนิคแอทเท็คนี้จะมีอาการกลัว หรืออึดอัดเป็นอย่างมาก ทันทีทันใด กลัวถึงจุดสูงสุดภายในไม่กี่นาที และมีอาการดังนี้อย่างน้อย 4 อาการ

1.1 ใจสั่น หัวใจเต้นแรง หรือหัวใจเต้นเร็ว

1.2 เหงื่อแตก

1.3 ตัวสั่น 

1.4 มีความรู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก หายใจไม่สุด

1.5 รู้สึกเหมือนจะสำลัก

1.6 เจ็บแน่นหน้าอก

1.7 คลื่นไส้ หรือไม่สบายท้อง

1.8 รู้สึกเวียนศีรษะ หวิวๆ เหมือนจะเป็นลม

1.9 หนาวสั่น หรือรู้สึกร้อน

1.10 ตัวชา เป็นได้ทั้งอาการตึง ๆ ไม่รู้สึกอะไร หรือซ่า ๆ

1.11 รู้สึกเหมือนไม่ใช่ตัวเอง รู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ในความเป็นจริง

1.12 กลัวที่จะเสียการควบคุม รู้สึกเหมือนจะเป็นบ้า

1.13 กลัวตาย

 

2.จะต้องมีอาการแพนิคแอทแท็ค อย่างน้อย 1 ครั้ง และจะมีอาการดังนี้อย่างน้อย 1 ใน 2 ข้อ อย่างน้อย 1 เดือน

2.1 กังวล หรือกระวนกระวายใจตลอดที่จะมีอาการแพนิคแอทแท็คซ้ำ หรือกังวลผลที่จะตามมา เช่น กลัวจะเสียการควบคุม เป็นโรคหัวใจ หรือจะเป็นบ้า

2.2 มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากเกิดแพนิคแอทแท็ค เช่น ไม่ออกกำลังกาย หรือหลีกเลี่ยงสถานที่ที่ทำให้เกิดอาการแพนิคแอทแท็ค

 

3.อาการเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคทางกาย เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ ผลข้างเคียงของยา หรือจากการใช้สารเสพติด

 

4.ไม่สามารถอธิบายได้จากโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น มีอาการแพนิคแอทแท็คจากโรคกลัวสังคม โรค Specific phobia โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือโรควิตกกังวลต่อการแยกจาก เป็นต้น

การรักษาโรคแพนิค

รักษาโรคแพนิค

ผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิค หลังจากได้รับการรักษาจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งการรักษาหลักที่ได้ผล ได้แก่ การรับประทานยา การทำจิตบำบัดชนิด Cognitive Behavioral Therapy (CBT) หรือการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม การทำครอบครัวบำบัด และกลุ่มบำบัด จะช่วยทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวปรับตัวต่อโรคได้ดี นอกเหนือจากนี้แพทย์จะให้ความรู้เกี่ยบกับโรคแพนิคให้ผู้ป่วยเข้าใจโรคที่เป็นว่าไม่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ ชี้แจงให้ทราบถึงสาเหตุของโรค อาการโดยทั่วไป การวินิจฉัยโรค และแผนการรักษา เพิ่มทักษะการผ่อนคลาย ทำให้ผู้ป่วยสามารถคาดการณ์และรับมือกับโรคได้

รักษาโรคแพนิคด้วยจิตบำบัด

การทำจิตบำบัดชนิด Cognitive Behavioral Therapy (CBT) หรือการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม เป็นการรักษาที่ได้ผลที่สุด และดีกว่าการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว นักจิตบำบัดจะมุ่งเน้นไปที่การปรับความเชื่อกับอาการทางกายที่เกิดขึ้น ฝึกให้คนไข้สามารถปรับมุมมองที่มีต่อความรู้สึกกลัวและโรคแพนิคว่าแท้จริงแล้วไม่ได้อันตรายและน่ากลัวอย่างที่คิด เน้นให้คนไข้ค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมและค่อย ๆ เผชิญกับความกลัวของตนเองทีละน้อย สิ่งสำคัญคือการฝึกให้ผู้ป่วยรับมือกับอาการแพนิคเมื่ออาการกำเริบขึ้น สอนให้คนไข้ใช้เทคนิคการผ่อนคลายด้วยวิธีต่างๆ เช่น การหายใจช้า ๆ เพื่อให้คนไข้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

รักษาโรคแพนิคด้วยยา

การรักษาโรคแพนิคด้วยยาจะช่วยลดอาการได้ดี ในขณะที่การรักษาควบคู่กับการทำจิตบำบัดชนิด CBT จะได้ผลดีที่สุด องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริการะบุว่า ผู้ป่วยควรรับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 8-12 เดือน หากอาการดีขึ้นผู้ป่วยควรค่อย ๆ ลดยาตามคำสั่งของแพทย์ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

สำหรับกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคแพนิคมีดังนี้

ยาต้านเศร้ากลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs) เป็นยาหลักที่สามารถนำมาใช้รักษาโรคแพนิคได้ทุกตัว 

ยาคลายกังวล กลุ่ม Benzodiazepine เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็วที่สุด และสามารถใช้ได้ระยะยาวโดยที่คนไข้ไม่ติดยา ในขณะที่แพทย์บางท่านอาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานเฉพาะเวลามีอาการ เนื่องจากมีงานวิจัยบางงานพบว่าอาจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการพึ่งพาต่อยาได้ อย่างไรก็ตามพบว่ามีผู้ป่วยที่พึ่งพาต่อยา มีไม่มากนักนี้ไม่มากนัก จึงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานเป็นระยะเวลานาน อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยอาการดีขึ้น ควรค่อย ๆ ลดปริมาณยา

นอกจากนี้ยังมียากลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้รักษาโรคแพนิคได้ เช่น Tricyclic และ Tetracyclic Drugs และกลุ่ม Monoamine Oxidase Inhibitors

 

ปรึกษาการรักษาโรคแพนิคกับจิตแพทย์ที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง

 

 

วิธีการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคแพนิค

ผู้ป่วยโรคแพนิคสามารถดูแลตัวเองได้เบื้องต้นเพื่อช่วยบรรเทาหรือลดอาการแพนิคที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยวิธีดังนี้

  • ฝึกการผ่อนคลายด้วยวิธีต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น หายใจเข้าออกช้า ๆ 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน น้ำอัดลม เพราะอาจกระตุ้นอาการแพนิคได้
  • ไม่ใช้ใช้สารเสพติด
  • ฝึกมองโลกในแง่บวก เพื่อลดความวิตกกังวล ฟุ้งซ่าน 

หากพบผู้ที่มีอาการแพนิค รับมือด้วย ALGEE

algee รับมือโรคแพนิค

หากพบผู้ป่วยที่มีอาการแพนิคเราสามารถใช้เทคนิค “ALGEE” ซึ่งเทคนิคนี้ได้รับการแนะนำโดย กรมอนามัย รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เพื่อรับมือกับอาการแพนิคของผู้ป่วยได้ ด้วยวิธีดังนี้

A (Approach) ประเมินสถานการณ์เพื่อเข้าถึงผู้ป่วย

ประการแรกที่สำคัญคือเราต้องมีสติจึงจะเข้าไปช่วยเหลือคนไข้ได้ ผู้ใกล้ชิดต้องประเมินและช่วยเหลือสถานการณ์แพนิคที่เกิดขึ้น และประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหรือความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง รวมถึงสังเกตสัญญาณบ่งบอกถึงความเจ็บปวดหรือความวิตกกังวลอย่างมากของผู้ป่วย

L (Listen) รับฟัง

พยายามรับฟังผู้ป่วยโดยต้องไม่ตัดสิน ไม่ต่อว่าคำพูดของผู้ป่วยซึ่งอาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงกว่าเดิมได้ แต่ต้องเน้นการรับฟัง แสดงให้ผู้ป่วยเห็นว่าเราพร้อมรับฟังและช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ

G (Give) ให้กำลังใจ

ให้ความมั่นใจผู้ป่วย สนับสนุนและให้คำแนะนำและกำลังใจกับผู้ป่วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย

E (Encourage Professional Help) ช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา

สนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้ป่วยขอความช่วยเหลือหรือรับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น

E (Encourage Other Supports) สนับสนุนผู้ป่วยในด้านอื่น ๆ 

สนับสนุนเรื่องอื่น ๆ กับผู้ป่วย เช่น อยู่เป็นเพื่อนผู้ป่วย สนับสนุนให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ตนเองชื่นชอบ หากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อผ่อนคลาย รับฟังและให้กำลังใจผู้ป่วย เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องทำตามเทคนิคเรียงตามลำดับทีละขั้นตอน สามารถปฏิบัติแต่ละเทคนิคไปพร้อม ๆ กันได้ เช่นการประเมินสถานการณ์ รับฟังผู้ป่วยและให้คำแนะนำไปพร้อม ๆ กัน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นโดยเร็วที่สุด

คำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับโรคแพนิค

โรคแพนิคอันตรายไหม?

โรคแพนิคเป็นโรคเกี่ยวกับ ระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานผิดปกติ ไม่ได้เกิดจากโรคทางกายอื่นๆ ดังนั้นโรคนี้ไม่เป็นอันตราย และผู้ป่วยจะไม่เสียชีวิตจากโรคนี้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรคทางกายออกก่อนที่จะวินิจฉัยโรคแพนิคจริง ๆ เนื่องจากโรคหัวใจ หรือโรคปอด ที่อาจมีอาการคล้ายกันนี้ิ อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้

ยารักษาแพนิคมีผลข้างเคียงไหม?

ยารักษาโรคแพนิคสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มยาต้านเศร้า SSRIs และยาคลายกังวลกลุ่ม Benzodiazepine

ยาต้านเศร้า จะพบผลข้างเคียงในช่วงแรกของการรับประทานยา โดยเฉพาะใน 1 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นผลข้างเคียงจะค่อย ๆ ดีขึ้นหากรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ผลข้างเคียงของยาต้านเศร้าที่พบบ่อย ได้แก่ คลื่นไส้ มีอาการทางระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ ทำให้น้ำหนักลด ปวดศีรษะ ปากแห้ง มีปัญหาการนอน ทั้งง่วงนอน หรือนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย มือสั่น หรือมีปัญหาเรื่องเพศ 

ยาคลายกังวลกลุ่ม Benzodiazepine ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ง่วงนอน ซึม เหนื่อยล้า เวียนศีรษะ เซ พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ขี้ลืม สับสน ตกใจง่าย กังวลมากขึ้น 

โรคแพนิครักษาหายไหม?

โรคแพนิคสามารถรักษาและหายได้แต่ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้กลายเป็นโรคเรื้อรัง และรักษายากขึ้นเรื่อย ๆ จากงานวิจัยพบว่า เมื่อติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง พบว่าผู้ป่วยประมาณร้อยละ 30-40 ไม่มีอาการในระยะยาว ประมาณร้อยละ 50 เมื่อติดตามระยะยาวจะมีอาการหลงเหลือเพียงเล็กน้อย ไม่กระทบชีวิตอย่างชัดเจน และประมาณร้อยละ 10-20 จะยังคงมีอาการในระยะยาว 

 

สอบถามเรื่องโรคแพนิคด้านอื่น ๆ กับจิตแพทย์

สรุปเรื่องโรคแพนิค

โรคแพนิคถึงแม้จะดูเป็นโรคที่ไม่อันตรายถึงชีวิตแต่สร้างอุปสรรคในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก โรคแพนิคสามารถรักษาได้ ปัจจุบันการรักษาโรคทางจิตเวชมีหลากหลายช่องทางให้คนไข้ได้เลือกทั้งการมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือการพูดคุยกับแพทย์เบื้องต้นผ่านช่องทางออนไลน์สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง 

 

Content powered by BeDee’s experts

พญ.มัญชุกร ลีละตานนท์

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

 

  • Sadock, B. J., Sadock, V. A., & Ruiz, P. (2015). Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry: Behavioral sciences/clinical psychiatry (11th ed.). Wolters Kluwer Health.

โรคแพนิครักษาที่ไหนดี

รักษาโรคแพนิคที่ไหนดี

BeDee มีทีมจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษาทุกวัน สะดวก ไม่ต้องเดินทาง เพียงทำนัดล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน BeDee ตามเวลาที่คุณสะดวก ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากเครือ BDMS พร้อมช่วยเหลือคุณทุกวัน สอบถามเพิ่มเติม Line Official @BeDeebyBDMS

บทความที่เกี่ยวข้อง

หมดแพชชั่น ภาวะที่รู้สึกหมดความชื่นชอบ หมดความสนใจ ความตื่นเต้น หลงใหล รู้สึกเบื่อหน่าย หมดแรงที่จะทำในสิ่งที่เราเคยชื่นชอบ เคยทำแล้วมีความสุข หมดแพชชั่นอันตรายไม่แพ้โรคทางจิตเวชอื่น ๆ จนอาจทำให้เมื่อรู้ตัวอีกทีอาจกลายเป็นภาวะ Burnout Syndromeหรือโรค

Key Takeaways Introvert คือคนที่มักจะชอบการเก็บตัว รู้สึกสบายใจเมื่อได้อยู่คนเดียวหรือทำงานคนเดียว Introvert เกิดขึ้นได้จากพันธุกรรม สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู และประสบการณ์ บางคนที่มีบุคลิกภาพผสมระหว่าง Introvert และ Extrovert เรียกว่า Ambivert สารบัญบ