“ภูมิแพ้” โรคยอดฮิตของคนในปัจจุบัน เราอาจพบว่าคนใกล้ตัวหรือแม้แต่ตัวเราเองอย่างน้อยต้องมีอาการแพ้อะไรบางอย่าง เช่น ภูมิแพ้อากาศ ภูมิแพ้ผิวหนัง แพ้ฝุ่น แพ้ขนแมว แพ้ครีม แพ้เครื่องสำอาง หรือภูมิแพ้อาหาร บางรายอาจเกิดอาการแพ้เพียงเล็กน้อย เช่น เป็นผื่นค
กรดไหลย้อนแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว เช็กสัญญาณเตือนและวิธีรักษา
กรดไหลย้อน โรคที่พบได้บ่อยมากขึ้นเนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทั้งผู้ที่มีโรคเครียด ขาดการออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายน้อย รับประทานอาหารแล้วนอนทันที ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกรดไหลย้อนมากขึ้น สร้างความยากลำบากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ปัจจุบันมีบริการปรึกษาหมอออนไลน์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาโรคกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อน (GERD) คือ
โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease หรือ GERD) คือภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร ซึ่งมีสาเหตุจากกรดในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อนกลางอกตั้งแต่บริเวณลิ้นปี่ลามขึ้นมาที่หน้าอกและลำคอ เรอมีกลิ่นเปรี้ยว อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นโดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก นอนหงาย โน้มตัวไปข้างหน้า หรือการยกของหนัก เป็นต้น
อาการกรดไหลย้อน
อาการของโรคกรดไหลย้อนที่สังเกตได้ เช่น
- รู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ แสบร้อนกลางอกหรือเจ็บแสบกลางอกหลังรับประทานอาหาร
- มีอาหารย้อนขึ้นมาในปากและคอ
- รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและลำคอ
- จุกเสียด แน่นท้องบริเวณลิ้นปี่
สาเหตุกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อนเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- หลอดอาหารมีการบีบตัวผิดปกติ ทำให้อาหารที่รับประทานเข้าไปผ่านหลอดอาหารได้ช้า หรือทำให้อาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาค้างอยู่ที่หลอดอาหารนานกว่าปกติ
- กระเพาะอาหารมีการบีบตัวผิดปกติทำให้อาหารตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนาน ส่งผลให้เกิดโอกาสที่กรดจะไหลย้อนจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากกว่าเดิม
- หูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่ทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนมีความผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม สูบบุหรี่ การใช้ยาบางชนิด เป็นต้น
- ความรู้สึกของหลอดอาหารไวกว่าปกติ
- เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารเสร็จแล้วนอนทันที หรือผู้ที่มีโรคเครียด หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
ผู้ที่เสี่ยงเป็นกรดไหลย้อน
ผู้ที่มีพฤติกรรมดังต่อไปนี้อาจเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อน
- รับประทานอาหารแล้วนอนทันที
- รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา
- ผู้ที่ดื่มสุรา น้ำอัดลม สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
- รับประทานอาหารรสจัด เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัด รวมถึงอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ
- ผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ความแตกต่างระหว่างกรดไหลย้อนและโรคกระเพาะ
หลายครั้งผู้ป่วยอาจสับสนระหว่างอาการของโรคกระเพาะอาหารและโรคกรดไหลย้อน ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารมักจะมีอาการปวดแน่นท้อง แสบท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ ท้องอืด อุจจาระเป็นสีดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด แต่จะไม่มีอาการแสบร้อนกลางอกหรือเจ็บแสบกลางอกขึ้นมาถึงบริเวณลำคอเหมือนกับผู้ป่วยกรดไหลย้อน ทั้งนี้ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยอาการเพิ่มเติมอีกครั้งเพื่อความชัดเจน
การวินิจฉัยกรดไหลย้อน
การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนนั้นแพทย์จะพิจารณาอาการเบื้องต้นจากผู้ป่วย ในกรณีที่ต้องการตรวจเชิงลึกเพื่อความแม่นยำมากขึ้นอาจใช้การตรวจเหล่านี้เพิ่มเติมร่วมด้วย
- การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
- การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร
- การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง
- การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
- การตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร
วิธีรักษากรดไหลย้อน
กรดไหลย้อนมีแนวทางการรักษาทั่วไปดังนี้
- การรักษาด้วยยา เช่น การรับประทานยาเคลือบกระเพาะอาหาร ยาลดกรดในกระเพาะ เป็นต้น
- การผ่าตัด แพทย์อาจใช้การรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานานแล้วไม่สามารถควบคุมอาการหรือหยุดยาได้ หรือกรณีที่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาเป็นเวลานานได้และเกิดผลข้างเคียงจากยา
ปรึกษาวิธีการรักษากรดไหลย้อนกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีค่าจัดส่งยา
กรดไหลย้อน ทานอะไรได้บ้าง
อาหารที่ควรทานสำหรับผู้เป็นกรดไหลย้อน
- อาหารไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา ไก่ ไข่ขาว นมไขมันต่ำ น้ำเต้าหู้
- อาหารที่มีกากใยสูง เช่น ธัญพืช ผัก ผลไม้ โดยผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ผลไม้ที่ไม่มีกรด เช่น กล้วย แตงโม แคนตาลูป แอปเปิ้ล พีช ลูกแพร์ อะโวคาโด เป็นต้น
- อาหารที่มีไขมันดี เช่น อโวคาโด ปลาแซลมอน ถั่ว แฟลกซ์ซีด น้ำมันมะกอก น้ำมันงา หรือน้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น
- ดื่มน้ำขิงอุ่น ๆ เพราะขิงจะช่วยขับลม กระตุ้นการทำงานของลำไส้ ลดอาการท้องอืด
อาหารที่ไม่ควรทานสำหรับผู้เป็นกรดไหลย้อน
- อาหารหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจัด เช่น ส้ม องุ่น มะนาว มะเขือเทศ สับปะรด น้ำส้มสายชู ฯลฯ
- อาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอด อาหารมัน อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ นม เนย ชีส ไอศกรีม หรือไขมันจากเนื้อสัตว์ เป็นต้น
- อาหารรสเผ็ด
- เครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ
- แอลกอฮอล์ สุรา ไวน์ ค็อกเทล หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
- อาหารหมักดอง ผลไม้ดอง ปลาร้า ผักกาดดอง ผลไม้แช่อิ่ม กิมจิ
- ผักดิบ
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อนมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เมื่อป่วยหรือแม้แต่ยังไม่ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อนควรปฏิบัติดังนี้
- ไม่นอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จ ควรเว้นระยะเวลารับประทานอาหารเย็นอย่างน้อย 3 ชั่วโมงแล้วจึงเข้านอน
- ออกกำลังกายและปรับพฤติกรรมการกินไม่ให้น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต เปปเปอร์มินต์
- ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ปริมาณมาก
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
- พยายามไม่เครียด ทำจิตใจให้สบาย
- นอนยกศีรษะสูงขึ้นประมาณ 15 เซนติเมตรและนอนในท่าตะแคงซ้ายหากมีอาการ
วิธีป้องกันกรดไหลย้อน
- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต เปปเปอร์มินต์
- แบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ
- ไม่ควรรับประทานอาหารเสร็จแล้วนอนทันที ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงแล้วจึงเข้านอน
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
- นอนยกศีรษะสูงให้ช่วงลำตัวสูงขึ้น
- สวมเสื้อผ้าสบาย ๆ ไม่สวมเสื้อผ้ารัดแน่น
- หลีกเลี่ยงความเครียด
- ออกกำลังกายและควบคุมอาหารไม่ให้น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกรดไหลย้อน
ซื้อยาแก้กรดไหลย้อนทานเองได้ไหม?
ยารักษากรดไหลย้อนบ้างประเภทนั้นผู้ป่วยสามารถหาซื้อเองได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้งเพื่อรับคำแนะนำการใช้ยา ผลข้างเคียง และข้อจำกัดการใช้ยา รวมถึงวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประเภทที่ส่งผลทำให้เกิดกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อนรักษาหายไหม?
โรคกรดไหลย้อนสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการปรับพฤติกรรมร่วมกับการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับตัวผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาและแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์และเภสัชกร
ถ้าไม่รักษากรดไหลย้อนจะมีผลเสียอะไรตามมา?
โรคกรดไหลย้อนหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอย่างเหมาะสมอาจพัฒนากลายเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายอย่างโรคมะเร็งได้ เมื่อสังเกตพบว่ามีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์และเภสัชกรโดยด่วยเพื่อไม่ให้อาการลุกลามจนยากต่อการรักษา
ทำไมคุณแม่ตั้งครรภ์มักเป็นกรดไหลย้อน?
หญิงตั้งครรภ์เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มักเป็นโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากระบบภายในร่างกายรวมถึงฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงตั้งครรภ์ กล่าวคือเมื่อบริเวณช่องท้องของคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้นเนื่องจากการเจริญเติบโตของทารกจะทำให้เกิดการกด ดัน หรือเบียดกระเพาะอาหารของคุณแม่ซึ่งจะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย
สรุปเรื่องกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อนเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ซึ่งโดยมากเป็นพฤติกรรมของคนเราในปัจจุบันที่อาจหลีกเลี่ยงได้ยากและต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไป
ถึงแม้ว่าโรคกรดไหลย้อนจะไม่อันตรายถึงชีวิตแต่สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วย หากปล่อยไว้นานก็ยากต่อการรักษาและอาจเกิดอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร ทำให้เกิดเป็นแผลในกระเพาะ เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบ หรืออาจเกิดแผลและเลือดออกบริเวณหลอดอาหารเรื้อรัง หากไม่แน่ใจอาการควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
Content powered by BeDee expert
ภญ.ณัชชา นาวีนวคุณ
เภสัชกร
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Katz PO, Dunbar KB, Schnoll-Sussman FH, Greer KB, Yadlapati R, Spechler SJ. ACG Clinical Guideline for the Diagnosis and Management of Gastroesophageal Reflux Disease. Am J Gastroenterol. 2022 Jan 1;117(1):27-56. doi: 10.14309/ajg.0000000000001538. PMID: 34807007; PMCID: PMC8754510.
Website, N. (2023, May 4). Heartburn and acid reflux. nhs.uk. https://www.nhs.uk/conditions/heartburn-and-acid-reflux/
รักษาโรคกรดไหลย้อนที่ไหนดี
มีอาการไหลย้อนต้องรีบรักษา! ปรึกษาหมอออนไลน์หรือปรึกษาเภสัชกร ที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษา เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS