ยาลดไขมัน

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติเป็นสภาวะที่เกิดจากการมีความไม่สมดุลกันของไขมันชนิดต่าง ๆ ภายในกระแสเลือด ได้แก่ การมีปริมาณมีคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ หรือ ไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ในกระแสเลือดสูงเกินไป และการมีไขมันชนิดดี (HDL) ที่ต่ำเกินไป สภาวะดังกล่าวสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการรับประทานอาหารจำพวกของมัน ของทอดบ่อยครั้ง อาหารที่มีน้ำตาลสูง การดื่มแอลกอร์ฮอล์ การสูบบุหรี่ เป็นต้น มาทำความรู้จักยาลดไขมันในเลือดแต่ละชนิด ข้อควรระวังในการรับประทานยา และผลข้างเคียงของยาลดไขมันในเลือด รวมถึงวิธีการดูแลตนเองควบคู่กับการใช้ยาลดไขมันในเลือด

สารบัญบทความ

ยาลดไขมัน คือ

ยาลดไขมันในเลือด คือ ยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะระดับไขมันในเลือดผิดปกติ หรือ ภาวะ Dyslipidemia ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของไขมันชนิดต่าง ๆ ภายในกระแสเลือด ไม่ว่าจะเป็นคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันชนิดไม่ดี (LDL) และไขมันชนิดดี (HDL) ซึ่งการมีสภาวะระดับไขมันในเลือดผิดปกติที่ไม่สามารถควบคุมได้ และไม่ได้รับการรักษา สามารถนำไปสู่โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นการใช้ยาลดไขมันในเลือดจะช่วยรักษาสภาวะระดับไขมันในเลือดที่ผิดปกติและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

อาการแบบใดควรใช้ยาลดไขมัน

 

จากแนวทางการรักษาโรคไขมันในเลือดผิดปกติโดย ESC/EAS Guidelines ปี 2019 แนะนำว่าผู้ป่วยที่มีระดับ LDL หรือไขมันไม่ดีตั้งแต่ 190 mg/dL ขึ้นไปและไม่สามารถควบคุมระดับไขมันในเลือดได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ควรได้รับยาลดไขมัน นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มี LDL ในเลือดสูงเกิน 190 mg/dL หรือผู้ป่วยที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจสูง แพทย์จะพิจารณาเริ่มให้ยาลดไขมันในเลือดให้แก่ผู้ป่วย

 

ประเภทของยาลดไขมัน

ยาลดไขมันมีกี่แบบ

ยาลดไขมันในเลือดสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มตามกลไกการออกฤทธิ์ของยา ได้แก่

1. ยากลุ่มสแตติน (Statins)

ยากลุ่มสแตตินหรือที่รู้จักกันในนาม “ยาลดคอเลสเตอรอล” จะไปยับยั้งเอนไซม์ที่ช่วยในการสังเคราะห์คอเรสเตอรอลในร่างกาย เมื่อคอเลสเตอรอลลดลงจะส่งผลให้ระดับไขมันที่ไม่ดีกับร่างกาย (LDL) และระดับไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดลดลงตามไปด้วย ตัวอย่างยาที่อยู่ในกลุ่มสแตติน ได้แก่ 

  • ยาซิมวาสแตติน เช่น Bestatin ®, Zimmex ®, Zimva ®,
  • ยาโรซูวาสแตติน เช่น Crestatin ®, Otagil ®, Rovas ®, Vivacor ®,
  • ยาอะทอร์วาสแตติน เช่น Xarator ®, Chlovas ®, Atorsan ®, Atorvin ®
  • ยาพิทาวาสแตติน เช่น Pitasor ®
  • ยาพราวาสแตติน เช่น Mevalotin ®
  • ยาฟลูวาสแตติน เช่น Lescol XL ®

3. ยากลุ่มเรซิน (Resins)

ยากลุ่มเรซิน หรือ ไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ (Bile acid sequestrants) ออกฤทธิ์ลดไขมันโดยการจับกับน้ำดีในทางเดินอาหาร ป้องกันการดูดซึมกลับของน้ำดีเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลกระตุ้นให้ตับดึงคอเลสเตอรอลเข้าสู่เซลล์ตับมากขึ้น ระดับคอเลสเตอรอลและ LDL ในกระเเสเลือดจึงลดลงได้ ตัวอย่างยาในกลุ่มเรซิน ได้แก่ 

  • ยาคอเลสไทรามีน
  • ยาคอเลสติพอล

4. ยากลุ่มอิเซททิไมบ์ (Ezetimibe)

ยาอิเซททิไมบ์ ออกฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) ในเลือด โดยยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลที่ลำไส้ ยาลดไขมันนี้มักจะใช้ร่วมกับยาในกลุ่มสแตติน ตัวอย่างยาที่มีส่วนประกอบของยาอิเซททิไมบ์ เช่น Ezetrol ®, Ezentia ®, Mibeaz ®, Co-Ezetimibe TEVA ®, Atozet ®, Vytirin ®

5. ยากลุ่มไนอะซิน (Niacin)

ยาลุ่มไนอะซิน หรือ กรดไนอะซิน เป็นอนุพันธุ์ของวิตามินบี 3 ในขนาดสูง ออกฤทธิ์ลดไขมันโดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ตับและเนื้อเยื่อไขมัน มีผลช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) และเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลที่ดี (HDL) ในเลือด ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Niaspan ®

คำแนะนำการใช้ยาลดไขมัน

  • การใช้ยาลดไขมัน ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งและปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของเภสัชกร เพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและปลอดภัยต่อตนเอง 
  • หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ยาประจำตัว และประวัติแพ้ยา ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบเพื่อป้องกันการทำปฎิกิริยาระหว่างยาแต่ละชนิดที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ 
  • ไม่ควรแบ่งยาให้ผู้อื่น หรือรับยาลดไขมันของผู้อื่นมารับประทาน เนื่องจากสภาวะของผู้ป่วยแต่ละรายเหมาะสมกับขนาดและตัวยาที่แตกต่างกัน 
  • กรณีลืมรับประทานยาลดไขมัน ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าหากใกล้กับการรับประทานยาครั้งต่อไป ให้ผู้ป่วยรับประทานยาครั้งถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า 
  • หากผู้ป่วยใช้ยาแล้วเกิดผื่นตามร่างกาย หายใจลำบาก ปากบวม คอบวม ตาบวม และริมฝีปากบวมซึ่งเป็นอาการแสดงของการแพ้ยา ผู้ป่วยควรหยุดยาและพบแพทย์โดยทันที 
  • หากผู้ป่วยรับประทานยาลดไขมันแล้วมีอาการปวดกล้ามเนื้อร่วมกับปัสสาวะสีเข้มเหมือนน้ำล้างเนื้อ ควรหยุดยาและพบแพทย์โดยทันที

วิธีดูแลตัวเองควบคู่กับการใช้ยาลดไขมัน

ดูแลตัวเองคู่กับการใช้ยาลดไขมัน

วิธีการดูแลตัวเองควบคู่กับการใช้ยาลดไขมันในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระดับไขมันในเลือดเพื่อป้องกันการเกิดโรคทางหัวใจและหลอดเลือด สามารถทำได้ดังนี้ 

  1. ไม่ควรสูบบุหรี่ในทุกรูปแบบ ทั้งบุหรี่แบบปกติ บุหรี่ไฟฟ้า และรูปแบบอื่น ๆ 
  2. รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ เช่น น้ำมันพืช ปลา อะโวคาโด
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวสูง ได้แก่ น้ำมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู หนังและส่วนติดไขมันสัตว์ เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ เนย นม และผลิตภัณฑ์จากนมแบบชนิดไขมันเต็มส่วน 
  4. เน้นการรับประทานอาหารจำพวกธัญพืช ผัก ผลไม้ ปลา และข้าวไม่ขัดสีมากขึ้น 
  5. ออกกำลังกาย 30 – 60 นาทีต่อครั้ง อย่างน้อย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือ 3.5 – 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 
  6. ควบคุมน้ำหนักให้ค่า BMI อยู่ระหว่าง 20-25 กก/ตร.ม. และเส้นรอบเอวไม่เกิน 90 ซ.ม. ในผู้ชาย และ ไม่เกิน 80 ซ.ม. ในผู้หญิง

คำถามพบบ่อย

1.ไม่ควรรับประทานยาลดไขมันคู่กับยาหรืออาหารอะไรบ้าง?

ยาที่ไม่ควรรับประทานคู่กับยาลดไขมัน คือ

– ยาต้านไวรัส HIV

– ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด

– ยาต้านเชื้อราบางชนิด

อาหารที่ไม่ควรรับประทานคู่กับยาลดไขมันในเลือด คือ

– เซนต์จอห์นเวิร์ต เกรปฟรุ๊ต แปะก๊วย พริกไทยดํา ทับทิม และ ส้มโอ

ยาและอาหารที่กล่าวมาข้างต้นจะยับยั้งการทำลายยาลดไขมันในร่างกายซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้

2. ควรรับประทานยาลดไขมันเวลาใด?

ยาลดไขมันในเลือดควรรับประทานก่อนนอน เนื่องจากโดยปกติแล้ว ร่างกายคนเราจะมีการสร้างโคเลสเตอรอลสูงที่สุดในช่วงเวลากลางคืน

3. ยาลดไขมันต้องรับประทานตลอดชีวิตหรือไม่?

ยาลดไขมันไม่จำเป็นต้องรับประทานตลอดชีวิต หากผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไขมันต่ำ ควบคุมน้ำหนักและระดับไขมันในเลือดได้โดยไม่ต้องใช้ยา แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาด้วยตนเอง การลดยาไขมันในเลือดควรได้รับการพิจารณาจากแพทย์

4. สตรีตั้งครรภ์ควรรับประทานยาลดไขมันชนิดใด? 

สตรีตั้งครรภ์สามารถรับประทานยาลดไขมันในกลุ่มเรซินซึ่งเป็น Bile Acid Sequestrant เนื่องจากยากลุ่มนี้ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ และไม่สามารถผ่านรกได้ แต่อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้ลดการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมันได้ ดังนั้นแพทย์อาจสั่งจ่ายวิตามินดีเสริมให้แก่ผู้ป่วยได้ 

อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ใช้ยาลดไขมันกลุ่มอื่น ๆ ในผู้ป่วยตั้งครรภ์ ยกเว้นแพทย์พิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้

5. การรับประทานยาลดไขมันเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการกล้ามเนื้อพังจริงหรือไม่? 

การรับประทานยาลดไขมันในขนาดปกติสามารถใช้รักษาได้อย่างปลอดภัย แต่ต้องระมัดระวังในการใช้ ไม่รับประทานร่วมกับยาหรืออาหารที่ยับยั้งการทำลายยาลดไขมันในร่างกาย เพราะอาจทำให้ระดับยาในเลือดสูงเกินระดับที่ปลอดภัยและทำลายกล้ามเนื้อได้

6. สามารถซื้อยาลดไขรับประทานเองได้หรือไม่?

ในการเริ่มรักษาโรคไขมันในเลือดสูงนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ก่อนเพื่อตรวจวัดระดับไขมันในเลือดและค่าอื่น ๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควรเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและจ่ายยาที่เหมาะสมกับโรคและร่างกายผู้ป่วยมากที่สุด ในกรณีที่ผู้ป่วยรับยาบางส่วนจากโรงพยาบาลหรือต้องการซื้อยาเพิ่มเติม สามารถซื้อยากับเภสัชกรโดยแจ้งตัวยา ขนาด ปริมาณ และจำนวนที่รับประทาน ยาและวิตามินอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงยาที่แพ้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัดและไม่ควรปรับยาเองโดยเด็ดขาด

 

สอบถามเรื่องยากับเภสัชกรได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน ไม่มีค่าใช้จ่าย!

สรุปเรื่องยาลดไขมัน

ยาลดไขมันสามารถทำปฏิกิริยากับยาอื่น ๆ ได้หลากหลายซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรแจ้งโรคประจำตัว และยาที่ใช้อยู่แก่แพทย์และเภสัชกรทุกครั้งเพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัย นอกจากการใช้ยาลดไขมันในการรักษาสภาวะไขมันผิดปกติในเลือดแล้ว ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามคำแนะนำข้างต้นร่วมด้วย เพื่อให้การรักษาสภาวะไขมันในเลือดผิดปกติและการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

 

 

Content powered by BeDee Expert

 ภญ. จิรนันท์ โชติธรรมนาวี

เภสัชกร

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

Mach, F., Baigent, C., Catapano, A. L., Koskinas, K. C., Casula, M., Badimon, L., Chapman, M. J., De Backer, G., Delgado, V., Ference, B. A., Graham, I., Halliday, A., Landmesser, U., Mihaylova, B., Pedersen, T. R., Riccardi, G., Richter, D. J., Sabatine, M. S., Taskinen, M., Simpson, I. (2019). 2019 ESC/EAS Guidelines for the management of dyslipidaemias: lipid modification to reduce cardiovascular risk. European Heart Journal, 41(1), 111–188. https://doi.org/10.1093/eurheartj/ehz455 

สมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย. (๒๕๕๙). แนวทางเวชปฏิบัติการใช้ยารักษาภาวะไข

มันผิดปกติ เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด พ.ศ. ๒๕๕๙. ปทุมธานี: ราชวิทยาลัย

อายุรแพทย์แห่งประเทศไทย. 

Which medicines lower “Bad” (LDL) cholesterol? (2004, December 7). WebMD. https://www.webmd.com/cholesterol-management/cholesterol-lowering-medication 

UpToDate. (n.d.). UpToDate. https://www.uptodate.com/contents/high-cholesterol-and-lipid-treatment-options-beyond-the-basics/print 

How healthy lifestyles and cholesterol medications can work together to improve heart health. (2021, March 11). News. https://www.hsph.harvard.edu/news/hsph-in-the-news/how-healthy-lifestyles-and-cholesterol-medications-can-work-together-to-improve-heart-health/

ปรึกษาการใช้ยาลดไขมันที่ไหนดี

ซื้อยาลดไขมัน

ปรึกษาและซื้อยาลดไขมันกับเภสัชกรที่ BeDee ได้ทุกวัน มั่นใจคุณภาพยา สะดวก ไม่ต้องเดินทาง แอปพลิเคชัน BeDee มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาและเภสัชกรมากประสบการณ์จากเครือ BDMS พร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งยาถึงมือทุกวัน สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

บทความที่เกี่ยวข้อง

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง “ยาเบาหวาน” หรือยารักษาโรคเบาหวาน คือ ยาที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหว

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง ปัจจุบันมีวิธีการคุมกำเนิดที่ได้ประสิทธิภาพมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “ยาคุมฉุกเฉิน” ที่มีไว้เพื่อป