การใช้ยาโรคหัวใจเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคหัวใจ แต่โรคหัวใจมีหลายชนิด การใช้ยาก็อาจแตกต่างกันตามอาการที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาโรคหัวใจได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ความรู้เกี่ยวกับยาโรคหัวใจจึงมีความสำคัญ ในบทความนี้ทาง BeDee เราขอแนะนำยาโรค
รู้จักยาลดความดันโลหิต วิธีทาน และข้อควรระวัง
Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
“โรคความดันโลหิตสูง” เป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) รายงานว่ามีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงอยู่ถึงหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากความดันเลือดสูง เช่น โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การตรวจร่างกาย ทานยาลดความดันอย่างถูกต้อง ปรับแนวทางการดำเนินชีวิตทั้งการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรักษาค่าความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ตามคำแนะนำของแพทย์ ล้วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
โรคความดันโลหิตสูง คืออะไร
โรคความดันโลหิตสูง คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงนั้นจะอ้างอิงจากค่าความดันโลหิตที่วัดได้จากสถานพยาบาลเป็นหลัก เมื่อมีค่าความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยผู้ป่วยที่มีค่าความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะไตเสื่อม มากกว่าผู้ที่มีค่าความดันโลหิตปกติ
ยาลดความดัน คืออะไร
ยาลดความดันโลหิต คือยาที่ใช้เพื่อลดความดันโลหิตในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยาลดความดันโลหิตยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว และช่วยป้องกันการทำงานของไตไม่ให้เสื่อมได้อีกด้วย
ประเภทยาลดความดัน
ยาลดความดันโลหิต สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่ม Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors (ACEIs), Angiotensin Receptor Blockers (ARBs), Beta-Blockers, Calcium-Channel Blockers (CCBs) และยาขับปัสสาวะ ซึ่งผู้ใช้ยาลดความดันควรรู้จักชนิดของยาที่รับประทานและอาการข้างเคียงของยาที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในขณะใช้ยา และสามารถแจ้งข้อมูลกับแพทย์ได้อย่างถูกต้องหากเกิดปัญหาหรือข้อสงสัยระหว่างการใช้ยา
1. ยายับยั้งการสร้างแองจิโทเทนซิน (Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors; ACEIs)
สารแองจิโอเทนซิน ทู (Angiotensin II) เป็นสารที่ช่วยเพิ่มความดันโลหิต ทำให้เลือดไหลเวียนในหลอดเลือดได้อย่างปกติ ในทางตรงกันข้าม สารนี้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ดังนั้นจึงมีการคิดค้นยาที่ยับยั้งการสร้างสารแองจิโอเทนซิน ทู เพื่อช่วยควบคุมให้ความดันโลหิตอยู่ในช่วงที่เหมาะสม
ยากลุ่ม ACEIs มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ใช้สร้างสารแองจิโอเทนซิน ทู (Angiotensin Converting Enzymes) ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ลดการคั่งของเกลือโซเดียมและน้ำในร่างกาย และลดการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยรวมจึงทำให้ความดันโลหิตลดลงได้
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Perindropril (เพอรินโดพริล)
2. ยายับยั้งตัวรับแองจิโทเทนซิน (Angiotensin Receptor Blockers; ARBs)
ยากลุ่ม ARBs เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ในการลดความดันโลหิต เนื่องจากยาสามารถการยับยั้งการทำงานของสารแองจิโอเทนซิน ทู ผ่านทางการยับยั้งที่ตัวรับ ทำให้สารนี้ไม่สามารถออกฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิตได้ ข้อดีอย่างหนึ่งของยากลุ่ม ARBs คือ มีอาการไอจากการใช้ยาน้อยกว่ายากลุ่ม ACEIs
3. ยาปิดกั้นตัวรับเบต้า (ฺBetablockers)
ยาลดความดันโลหิตกลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า จะออกฤทธิ์โดยการปิดกั้นระบบประสาทอัตโนมัติที่หัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตและชีพจรลดลง
4. ยาปิดกั้นแคลเซียมเข้าสู่เซลล์ (Calcium Channel Blockers; CCBs)
ยากลุ่ม CCBs จะออกฤทธิ์ลดความดันโลหิต โดยการปิดกั้นไม่ให้แคลเซียมเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อที่ระบบหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อรอบหลอดเลือดคลายตัวและหลอดเลือดขยายตัวในที่สุด
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Lercanidipine (เลอคานิดิพีน)
5. ยาขับปัสสาวะ (Diuretics)
ยาขับปัสสาวะจะเพิ่มการขับเกลือและน้ำออกจากร่างกาย ทำให้ปริมาตรเลือดและความดันโลหิตภายในหลอดเลือดลดลง ยาขับปัสสาวะจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ตามตำแหน่งการออกฤทธิ์ที่ไต ดังนี้
5.1. ยากลุ่ม Loop diuretics ออกฤทธิ์ที่บริเวณท่อไตส่วนต้น เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการขับปัสสาวะ
5.2. ยากลุ่ม Thiazides ออกฤทธิ์ที่บริเวณท่อไตส่วนปลาย เป็นยาที่มีประสิทธิภาพรองลงมาในการขับปัสสาวะ เช่น HCTZ (ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์)
เนื่องจากยาในกลุ่มที่ 5.1 และ 5.2 จะมีผลเพิ่มการขับโพแตสเซียมออกจากร่างกายด้วย ผู้ใช้ยาจึงอาจมีระดับโพแตสเซียมในเลือดต่ำได้
5.3. ยาขับปัสสาวะที่ไม่ทำระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เนื่องจากยามีผลช่วยกักเก็บโพแทสเซียมไว้ในร่างกาย
ผลข้างเคียงยาลดความดัน
ผลข้างเคียงของยาลดความดันโลหิตที่พบได้บ่อยของยาแต่ละกลุ่มมีดังนี้
กลุ่มยาลดความดัน | ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย |
ยายับยั้งการสร้างแองจิโทเทนซิน (Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors; ACEIs) | - ไอแห้ง เวียนหัว ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ไม่จำเป็นต้องหยุดยาทันที - คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร - ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียน วูบ ชา |
ยายับยั้งตัวรับแองจิโทเทนซิน (Angiotensin Receptor Blockers; ARBs) | - เวียนศีรษะ (เกิดได้น้อยกว่ายากลุ่ม ACEI) - ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียน วูบ ชา |
ยาปิดกั้นตัวรับเบต้า (ฺBetablockers) | - ความดันในเลือดต่ำ หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ มึนงง อ่อนเพลีย (ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของการรับประทานยา ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกอ่อนเพลีย แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น) - หายใจลำบาก ควรระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยโรคหอบหืด |
ยาปิดกั้นแคลเซียมเข้าสู่เซลล์ (Calcium Channel Blockers; CCBs) | - ปวดหัว ใจสั่น คลื่นไส้ ปวดท้อง อ่อนเพลีย - มือบวม ขาบวม ข้อเท้าบวม แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยไม่จำเป็นต้องหยุดยาทันที |
ยาขับปัสสาวะ (Diuretic) | - ปวดหัว คลื่นไส้ ท้องเสีย - อาการของภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ได้แก่ ตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัสสาวะลำบาก |
วิธีการใช้ยาลดความดัน
การเลือกใช้ยาลดความดันโลหิตชนิดใดชนิดหนึ่งใน 5 กลุ่มข้างต้นนี้ให้ประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิต และลดอัตราการเกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ใกล้เคียงกัน แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาลดความดันโลหิตจากโรคร่วมต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยมีอยู่นอกเหนือจากโรคความดันโลหิตสูง และพิจารณาจากข้อห้ามต่าง ๆ ของการใช้ยาแต่ละชนิดด้วย คำแนะนำของการรับประทานยาลดความดันโลหิตมีดังนี้
- รับประทานยาลดความดันโลหิตอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ และพบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ
- ควรรับประทานยาลดความดันโลหิตในเวลาเดียวกันทุกวันหรือตามที่แพทย์แนะนำ
- ไม่ปรับเพิ่ม ลด หรือหยุดยาด้วยตัวเอง
- หากลืมรับประทานยาให้รับประทานทันทีที่นึกได้ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่าในมื้อถัดไป
วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการความดันโลหิตสูง
การปรับเปลี่ยนการพฤติกรรมในแต่ละวันเป็นพื้นฐานการควบคุมความดันโลหิตในผู้ป่วยทุกรายควบคู่กับการรับประทานยาลดความดันโลหิต โดยมีวิธีการดูแลตัวเองดังนี้
- ควบคุมน้ำหนัก ควรลดน้ำหนักให้ดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5 – 22.9 กก./ม2 เส้นรอบเอวผู้ชายไม่เกิน 36 นิ้ว (90 เซนติเมตร) และผู้หญิงไม่เกิน 32 นิ้ว (80 เซนติเมตร)
- ปรับรูปแบบอาหารที่รับประทาน ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา และผลไม้รสหวานน้อย
- จำกัดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหาร หลีกเลี่ยงการเติมน้ำปลา ซีอิ้ว เต้าเจี้ยว และผงชูรสในอาหาร
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
- จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
- เลิกสูบบุหรี่
- รับประทานยาลดความดันต่อเนื่องสม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัด
- วัดความดันโลหิตด้วยตัวเองที่บ้านโดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติเพื่อลดความผิดพลาดจากภาวะ White Coat Hypertension หรือภาวะที่ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติเมื่อเห็นบุคลากรสาธารณสุขที่ใส่เสื้อกาวน์สีขาว
วิธีวัดความดันด้วยตนเอง
- การวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน ควรวัดความดันโลหิตวันละ 2 ช่วง 4 ครั้ง คือ
– ช่วงเช้า ภายใน 1 ชั่วโมงหลังตื่นนอน ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนรับประทานยาลดความดันโลหิตโดยวัด 2 ครั้ง ห่างกัน 1 นาที
– ก่อนนอน วัด 2 ครั้ง ห่างกัน 1 นาที
- วัดความดันในท่านั่ง ควรนั่งเก้าอี้แบบมีพนักพิง หลังพิงพนักเก้าอี้ เท้าสองข้างวางราบกับพื้น ห้ามนั่งไขว่ห้าง นั่งพักให้ผ่อนคลายเป็นเวลา 2 นาทีก่อนเริ่มวัดความดัน
- วางแขนข้างที่จะวัดความดันในระดับเดียวกับหัวใจ
- เลือกใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติที่ได้มาตรฐานและแม่นยำ
- ขณะวัดความดันโลหิต งดพูดคุย งดกำมือ งดเคลื่อนไหวร่างกาย
- เมื่อสิ้นสุดการวัดบนหน้าจอของเครื่องวัดจะแสดงตัวเลขทั้ง 3 ค่า คือ ค่าความดันโลหิตตัวบน ค่าความดันโลหิตตัวล่าง และ ชีพจร ควรบันทึกค่าความดันโลหิตลงสมุดบันทึกทุกครั้งเพื่อติดตามอาการ
- แนะนำให้วัดความดันโลหิตติดต่อกันเป็นเวลา 3-7 วัน หรืออย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนมาพบแพทย์
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาลดความดัน
ยาลดความดันกินก่อนหรือหลังอาหาร?
ยาความดันโลหิตส่วนใหญ่ควรรับประทานหลังอาหาร ทั้งนี้มียาความดันโลหิตบางชนิดเช่นกันที่แนะนำให้รับประทานก่อนอาหารขณะท้องว่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้วิธีการใช้ยาของผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันได้ตามรูปแบบของความดันโลหิต เช่น บางคนมักจะความดันสูงโลหิตช่วงก่อนนอน แพทย์ก็จะแนะนำให้รับประทานยาลดความดันโลหิตก่อนนอน ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องอ่านฉลากยา และรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ทุกครั้ง
ทานยาลดความดันแล้วความดันไม่ลด ทำอย่างไร?
การรับประทานยาลดความดันโลหิตต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต นอกจากรับประทานยาลดความดันแล้ว ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต เช่น ลดน้ำหนัก คุมอาหาร ออกกำลังกาย ร่วมด้วย
ต้องทานยาลดความดันนานแค่ไหน?
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง รวมถึงภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ดังนั้นการควบคุมความดันโลหิตให้ได้ตามเป้าหมาย ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยในการรับประทานยา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง การจะหยุดยาความดันได้หรือไม่นั้นขึ้นกับการประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดรับประทานยาลดความดันโลหิตเอง
ไม่มีอาการผิดปกติ ต้องทานยาความดันต่อเนื่องไหม?
แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไรก็ควรรับประทานยายาความดันโลหิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแล สมอง และภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
สรุปเรื่องยาลดความดัน
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องใช้ยาลดความดันโลหิตอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การควบคุมความดันโลหิตได้ดีจะช่วยลดความเสี่ยงต่อของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองได้ นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยไม่ควรแลกเปลี่ยน ปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มลดยาเอง ควรรับประทานยาตามขนาดที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่งทุกครั้ง
Content powered by BeDee Expert
ภญ. วุฒิรัต ธรรมวุฒิ
เภสัชกร
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
- สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. (2562) แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2562 2019 Thai Guidelines on The Treatment of Hypertension. สมาคม.
- Furosemide: Adverse effects. (2023). IBM Micromedex (College of DuPage Library ed.). Retrieved July 20, 2023.
- Amlodipine: Adverse effects. (2023). IBM Micromedex (College of DuPage Library ed.). Retrieved July 20, 2023.
- Atenolol: Adverse effects. (2023). IBM Micromedex (College of DuPage Library ed.). Retrieved July 20, 2023.
- Enalapril: Adverse effects. (2023). IBM Micromedex (College of DuPage Library ed.). Retrieved July 20, 2023.
ซื้อยาลดความดัน ที่ไหนดี
รึกษาและซื้อยาลดความดันโลหิตกับเภสัชกรที่ BeDee ได้ทุกวัน มั่นใจคุณภาพยา สะดวก ไม่ต้องเดินทาง แอปพลิเคชัน BeDee มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาและเภสัชกรมากประสบการณ์จากเครือ BDMS พร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งยาถึงมือทุกวัน สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS