หูดหงอนไก่

เมื่อพูดถึงเชื้อ HPV หลายคนอาจจะนึกถึงโรคมะเร็งปากมดลูก แต่ที่จริงแล้วเชื้อ HPV ยังทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ได้อีกด้วย แม้จะไม่อันตรายเท่าโรคมะเร็งปากมดลูกแต่หูดหงอนไก่ทำให้เกิดความรำคาญ และความไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน และชีวิตคู่ ทั้งนี้หากดูแลรักษาไม่ดีก็อาจทำให้เกิดแผลและติดเชื้อลุกลามได้

สารบัญบทความ

หูดหงอนไก่ (Genital warts) คืออะไร?

โรคหูดหงอนไก่ (Anogenital Warts) หรือหูดอวัยวะเพศ เกิดจากการติดเชื้อ Human Papilloma Virus (HPV) ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญของการเกิด หูดหงอนไก่ แต่เชื้อ HPV ที่มักทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่คือชนิดที่ 6 และ 11 ซึ่งไม่ทำให้เกิดมะเร็ง โรคหูดหงอนไก่มักติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยตัวหูดจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูน กดไม่เจ็บ ขนาดตั้งแต่ 2 มิลลิเมตร ถึง 5 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ บางครั้งมีลักษณะเป็นติ่งเนื้อยื่นออกมาจากบริเวณอวัยวะเพศหรือบริเวณใกล้เคียงคล้ายนิ้วมือ

หูดหงอนไก่อาการเป็นอย่างไร

หูดหงอนไก่อาการเป็นอย่างไร

โรคหูดหงอนไก่เมื่อติดเชื้อแล้วมักไม่มีอาการ หรือในบางรายอาจมีอาการคันบริเวณที่มีหูดหงอนไก่ปรากฎขึ้น ลักษณะโดยทั่วไปที่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น 

  • ตัวหูดหงอนไก่มีลักษณะเป็นติ่งเนื้อสีเดียวกับผิวหนัง หรือาจมีสีชมพูอ่อน แดง หรือสีน้ำตาล
  • หูดมีลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำยื่นออกมาเป็นตุ่มเล็ก ๆ หลาย ๆ ตุ่มจากผิวหนัง มีขนาดตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรไปจนถึงหลายเซนติเมตร
  • บริเวณที่มักพบหูดหงอนไก่ ได้แก่ รอบปากช่องคลอด ปากมดลูก ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ ฝีเย็บ ใต้หนังหุ้มปลายองคชาติ บริเวณองคชาติที่ขลิบแล้ว รอบทวารหนัก รูทวารหนัก และถุงอัณฑะ 
  • หากหูดมีการติดเชื้ออาจมีหนอง คัน และมีกลิ่นได้
  • หูดหงอนไก่สามารถพบได้ทั้งในวัยเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย ทั้งเพศชาย เพศหญิง เพศทางเลือก โดยจะพบได้บ่อยมากขึ้นในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

ปรึกษาเรื่องหูดหงอนไก่กับคุณหมอแอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีค่าจัดส่งยา

ผู้ที่เสี่ยงเป็นหูดหงอนไก่

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อทั้งชาย-หญิง และเพศเดียวกัน ทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก และปาก 
  • ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน เปลี่ยนคู่นอนบ่อย 
  • การจูบ การสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
  • การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน หรือของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ 
  • การเข้าห้องน้ำสาธารณะ 
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน 
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่จะเกิดความเสี่ยงเป็นโรคหูดหงอนไก่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

สาเหตุของหูดหงอนไก่

HPV คืออะไร

เชื้อไวรัส Human Papilloma Virus หรือ HPV คือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นปัจจัยที่สำคัญของการเกิดโรคหูดหงอนไก่ และมะเร็งปากมดลูก สามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย เชื้อ HPV นั้นมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่พบว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งคือ สายพันธุ์ 16 และ 18

ผู้ที่ติดเชื้อ HPV นั้นมักไม่มีอาการ และเชื้อสามารถพัฒนารุนแรงจนกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ สามารถติดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง และยังพบว่า 3 ใน 4 ของประชากรเคยสัมผัสเชื้อ HPV มาแล้ว เชื้อ HPV นี้สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส การมีเพศสัมพันธ์ต่างเพศและการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก การมีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน โดยเชื้อ HPV จะอยู่ในน้ำคัดหลั่งของช่องคลอด หรือน้ำปัสสาวะ โดยแพร่เชื้อผ่านรอยแตกหรือแผลบริเวณเยื่อบุที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อ HPV สามารถแพร่เชื้อสู่ลูกในระหว่างการคลอดทางช่องคลอดได้

หูดหงอนไก่ติดต่อกันได้อย่างไร

หูดหงอนไก่นั้นติดต่อผ่านการสัมผัส เนื่องจากเชื้อไวรัสจะอยู่ในสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย น้ำปัสสาวะ น้ำเมือกจากช่องคลอดและทวารหนัก ซึ่งหากสัมผัสสารคัดคลั่งจากผู้ที่ติดเชื้ออาจทำให้เรารับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัวได้ สำหรับกิจกรรมที่มักทำให้เสี่ยงต่อการรับเชื้อ เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อทั้งชาย-หญิง และเพศเดียวกัน ทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก ปาก การมีคู่นอนหลายคน การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ การจูบ การสัมผัส การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือการเข้าห้องน้ำสาธารณะต่อจากผู้ที่ติดเชื้อ HPV เป็นต้น

หูดหงอนไก่มีอาการแทรกซ้อนไหม

อาการแทรกซ้อนหูดหงอนไก่

โดยทั่วไปแล้วเชื้อ HPV ที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่จะไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อ HPV หลายสายพันธุ์และมีการติดเชื้อ HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีตกขาวมากผิดปติ และอาจเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งองคชาต หรือมะเร็งทวารหนักได้ในอนาคตได้

สำหรับอาการแทรกซ้อนของโรคหูดหงอนไก่ที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งที่อาจพบได้ เช่น อาการคันระคายเคือง อักเสบ ติดเชื้อแบคทีเรีย มีเลือดออกหรือปวดบริเวณหูด นอกจากนี้อาจพบว่าผิวหนังหรือเยื่อบุผิวที่เป็นหูดหงอนไก่มีสีที่เข้มขึ้นหรือจางลงได้หลังการรักษา และในกรณีที่ใช้วิธีการผ่าตัดรักษาหูดหงอนไก่ก็อาจจะพบรอยแผลเป็นนูนตามมาได้

การวินิจฉัยหูดหงอนไก่

แพทย์จะพิจารณาดูลักษณะของรอยโรคว่ามีลักษณะอย่างไร ใกล้เคียงกับลักษณะและอาการของโรคหูดหงอนไก่หรือไม่ ในรายที่รอยโรคไม่ชัดเจนแพทย์อาจใช้การตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy) ร่วมด้วย

วิธีรักษาหูดหงอนไก่

ปัจจุบันมียารักษาหูดหงอนไก่รวมถึงวิธีรักษาหลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคด้วย ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม 

  • ทายา ยาทาหูดหงอนไก่เป็นวิธีการรักษาหนึ่งที่หลายคนสนใจ แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อทายาที่บริเวณรอยโรคทุก 1 สัปดาห์ ซึ่งยาที่ใช้เป็นสารละลายเข้มข้นเพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์และทำให้เซลล์ฝ่อไปในที่สุด โดยทั่วไปแล้วหูดหงอนไก่มักจะมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ จนหายไปหลังทายา 2-3 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของรอยโรคด้วย การทายานี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น 
  • จี้ไฟฟ้า การรักษาโรคหูดหงอนไก่ด้วยการจี้ไฟฟ้าคือการใช้อุปกรณ์หัวจี้ที่ให้ความร้อนสูงจี้บริเวณที่มีหูดขึ้นเพื่อกำจัดหูดให้หายไป 
  • จี้เย็นด้วยไนโตรเจนเหลว การรักษาหูดหงอนไก่ด้วยวิธีนี้คือการใช้ความเย็นจี้เพื่อยับยั้งการเติบโตของหูดและทำให้หูดหลุดออกไป 
  • ผ่าตัด หากพบว่าผู้ป่วยมีหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา แพทย์อาจพิจารณาใช้การผ่าตัดเพื่อกำจัดเอาหูดออกรวมถึงผ่าเอาชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ

ปรึกษาเรื่องการรักษาหูดหงอนไก่กับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง ไม่มีค่าจัดส่งยา

หากเป็นหูดหงอนไก่ ดูแลตนเองอย่างไร

เมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคหูดหงอนไก่ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วนเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง โดยเบื้องต้นผู้ป่วยควรดูแลรักษาตัวเองดังนี้

  • หากรู้สึกปวด หรือไม่สบายบริเวณหูด สามารถแช่น้ำอุ่นวันละ 10-15 นาทีได้
  • ทำความสะอาดหูดด้วยน้ำอุ่น งดเว้นการขัดถูเพื่อลดการระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาอื่น ๆ นอกจากยาที่สั่งโดยแพทย์เท่านั้น
  • ดูแลบริเวณหูดให้แห้งเพื่อลดการอับชื้นอยู่เสมอ

วิธีป้องกันหูดหงอนไก่

วิธีป้องกันโรคหูดหงอนไก่
  • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี สำหรับ ช่วงอายุ 26-45 ปี หรือหญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ให้พิจารณาในการฉีดวัคซีนเป็นราย ๆ ไป โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนหลายคน และการสูบบุหรี่
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
  • ตรวจภายในเป็นประจำทุกปีเพื่อหาโรคทางนรีเวชอื่น ๆ และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับหูดหงอนไก่

หูดหงอนไก่เกิดซ้ำได้หรือไม่?

หูดหงอนไก่เมื่อหายแล้วสามารถเกิดซ้ำได้ถึงร้อยละ 30-70 ภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อไวรัสที่ยังคงอยู่ในร่างกาย การรักษาที่อาจไม่ได้ผลดีพอ หรือการติดเชื้อซ้ำจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นต้น

ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ ควรรักษาหูดหงอนไก่อย่างไร?

หากผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค ตำแหน่ง ขนาด และจำนวน เพื่อรักษาให้หายก่อนถึงกำหนดคลอด แพทย์อาจพิจารณาใช้การผ่าคลอดเพื่อหลีกเลี่ยงแพร่เชื้อจากแม่สู่ทารก

 

สอบถามเรื่องอื่น ๆ กับคุณหมอ 

สรุปเรื่องหูดหงอนไก่

โรคหูดหงอนไก่อาจไม่ได้อันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความมั่นใจและรำคาญได้ และหากดูแลรักษาความสะอาดไม่ดีอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อพบความผิดปกติและตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี ปรึกษาเรื่องหูดหงอนไก่กับ BeDee ได้ทุกวัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเภสัชกรจาก BDMS พร้อมให้คำปรึกษา สะดวก ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS 

 

Content powered by BeDee’s experts

นพ.เมธาพันธ์ กิจพรธีรานันท์

สูตินรีแพทย์

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

  1. Sindhuja, T., Bhari, N., & Gupta, S. (2022). Asian guidelines for condyloma acuminatum. Journal of infection and chemotherapy : official journal of the Japan Society of Chemotherapy28(7), 845–852. https://doi.org/10.1016/j.jiac.2022.03.004
  2. Sugai, S., Nishijima, K., & Enomoto, T. (2021). Management of Condyloma Acuminata in Pregnancy: A Review. Sexually transmitted diseases48(6), 403–409. https://doi.org/10.1097/OLQ.0000000000001322
  3. Grennan D. (2019). Genital Warts. JAMA321(5), 520. https://doi.org/10.1001/jama.2018.20181
บทความที่เกี่ยวข้อง

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง ในปัจจุบันมีผู้คนหลากหลายที่มีความสนใจในการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศ การเทคฮอร์

Key Takeaways โรคซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสสารคัดคลั่งของผู้ติดเชื้อ  มักพบแผลริมแข็ง กดแล้วไม่เจ็บบริเวณอวัยวะเพศ  หากปล่อยไว้นานอาการอาจหายไปจนผู้ป่วยคิดว่าหายเป็นปกติ แต่เชื้อยังแฝ