Key Takeaway โรคเซ็บเดิร์มมักเกิดบริเวณที่มีการผลิตน้ำมันบนผิวหนังอย่างมาก เช่น เซ็บเดิร์มที่หน้า เซ็บเดิร์มหนังศีรษะ เซ็บเดิร์มที่จมูก ผู้ป่วยเซ็บเดิร์มมักพบผิวลอกเป็นขุย หรือเป็นแผ่นสีขาว บริเวณหัวคิ้ว ข้างจมูก ใบหู รอบปาก หนังศีรษะ มีอาการปวด คั
รู้จัก “ผื่นคัน” แต่ละประเภทและวิธีการรักษา ผื่นคันอย่างถูกวิธี
“ผื่นคัน” เป็นอาการผิดปกติทางผิวหนัง สามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภท ในปัจจุบันผิวของเรามีแนวโน้มที่จะระคายเคืองได้ง่ายมากขึ้นด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ฝุ่น ควัน มลภาวะ รวมถึงสารเคมีต่าง ๆ ที่เราต้องเผชิญในแต่ละวัน ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้อาจทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดผื่นคันตามตัว ผื่นขึ้นหน้า เกิดผื่นคันเกาแล้วลามจนน่าหนักใจ มาทำความรู้จักผื่นคันแต่ละประเภท สาเหตุ พร้อมวิธีรักษาผื่นคันกันเลย
ผื่นคัน คืออะไร
“ผื่นคัน” หรือผื่นแพ้เป็นลักษณะอาการทางผิวหนังอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่เกิดการอักเสบบริเวณผิวหนัง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิวหรือลักษณะผิว (color or texture) ในลักษณะบวม แดง มีผื่น และรู้สึกคันได้ ซึ่งเกิดจากการระคายเคืองหลังสัมผัสปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น อากาศ ฝุ่น น้ำ อาหาร สารเคมี เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว เสื้อผ้า ไรฝุ่น ขนสัตว์ หรือสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ร่างกายเกิดการแพ้จนทำให้ระคายเคือง เกิดตุ่มแพ้ง่ายหรือผื่นคันตามมาได้
สาเหตุของผื่นคัน
สาเหตุของผื่นคันนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้ดังนี้
- ผื่นคันที่เกิดจากแมลงสัตว์กัดต่อย
- โรคทางผิวหนังต่าง ๆ เช่น ลมพิษ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผิวแห้ง ผิวแพ้ง่าย สะเก็ดเงิน กลาก เกลื้อน ผิวแห้ง ผื่นระคายสัมผัส หรืออีสุกอีใส เป็นต้น
- โรคภูมิแพ้ เช่น ผื่นแพ้อากาศ ฝุ่น อย่างเช่นฝุ่น PM 2.5 น้ำ อาหาร สารเคมี เครื่องสำอาง ครีมบำรุง เสื้อผ้า ไรฝุ่น ขนสัตว์ หรือสิ่งอื่น ๆ
- โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า เครียด
- การตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดผื่นคันบริเวณหน้าท้อง หรือต้นขา
- ผลจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดบางชนิด
- การรักษามะเร็งบางชนิด เช่น การได้รับยาเคมีบำบัด การฉายรังสี การปลูกถ่ายไขกระดูก
- โรคทางระบบประสาท เช่น โรคงูสวัด เบาหวาน ปลายประสาทอักเสบ
- มีพยาธิในร่างกาย
หากยังไม่สามารถหาสาเหตุที่มาของผื่นได้ ควรรีบพบแพทย์อย่าปล่อยไว้นาน
ประเภทของผื่นคัน
ผื่นคันมีหลายรูปแบบตามสามารถแบ่งประเภทผื่นคันได้ดังนี้
1. ผื่นลมพิษ (Urticaria)
ผื่นลมพิษ (Urticaria) มีลักษณะเป็นผื่นนูนแดง เป็นปื้น สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกายทั้งลำตัว แขน ขา หรือใบหน้า มักจะหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง และมักพบในช่วงวัยตั้งแต่ 20 – 40 ปี ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการหายใจไม่ออกร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุเพิ่มเติม
2. ผื่นแบบมีจุดเลือด (Vasculitis)
ผื่นแบบมีจุดเลือดมักมีลักษณะเป็นลายเส้นเลือดฝอยแตก เป็นผื่นแดง นูน มักพบบริเวณขา บางรายอาจไม่ทราบสาเหตุการเกิดผื่น อย่างไรก็ตามพบว่ากลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Autoimmune Disease) เช่น โรคเอสแอลอี วัณโรค เชื้อแบคทีเรียบางประเภท และเชื้อไวรัสตับอักเสบ เป็นสาเหตุของการเกิดผื่นแบบมีจุดเลือดได้เช่นกัน
3. ผื่นพองตุ่มใส มีน้ำด้านใน (Vesiculobullous Eruption)
ผื่นคันประเภทนี้มีลักษณะเป็นผื่นคันที่เป็นตุ่มและมีน้ำใส ๆ อยู่ด้านในกระจายทั่วลำตัว ผื่นพองตุ่มใสมักเกิดขึ้นจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อต้านตนเอง Autoimmune Bullous Disease
- พันธุกรรม
- การแพ้ยา
- การติดเชื้อ เช่น เริม อีสุกอีใส
- การสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการแพ้และระคายเคือง เช่น สารเคมี
- การเสียดสีที่ผิวหนัง
- โรคบางอย่าง โรคเบาหวาน โรคอะไมลอยด์โดสิส (Amyloidosis) และโรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria)
4. ผื่นแดงคัน (Morbilliform)
เป็นผื่นคันที่พบได้บ่อย มีลักษณะเป็นผื่นแดงหรือตุ่มใสขึ้นตามตัวร่วมกับอาการคัน มักมีสาเหตุมาจากแมลงสัตว์กัดต่อย โรคผิวหนัง สัมผัสกับสารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ เครื่องสำอาง แพ้ฝุ่น แพ้ยา เป็นต้น
นอกจากการสัมผัสปัจจัยภายนอก ปัจจัยในเรื่องความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอ ยังเป็นสาเหตุของการเกิดผื่นคันประเภทนี้ได้เช่นกัน หากเกิดผื่นแดงคันควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุต่อไป
5. ผื่นแดง เป็นเส้นใย (Livedo Reticularis)
ผื่นคันประเภทนี้มีลักษณะเป็นผื่นจ้ำเลือด มีลายเป็นร่างแหกระจายทั่วขา ใบหน้า มือ เท้า ก้น มักเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ป่วยอยู่ในสภาพอากาศที่หนาวจัด ผื่นประเภทนี้มักไม่ทำให้เจ็บปวดและสามารถหายได้เอง ทั้งนี้อาการใกล้เคียงกันนี้อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ
6. ผื่นตุ่มใส แข็ง (Dyshidrotic Eczema)
ผื่นคันชนิดตุ่มใสแข็ง มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสมักพบบริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ผู้ป่วยจะรู้สึกคัน และมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ มักจะกลับมาเป็นซ้ำ หากเกาอย่างรุนแรงอาจทำให้แผลเกิดการติดเชื้อได้ ผื่นตุ่มใสมักเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี สาเหตุที่พบเกิดจากความเครียด โรคภูมิแพ้ หรือการสัมผัสสารเคมีมากเกินไป เช่น แอลกอฮอล์ น้ำหอม สบู่ เป็นต้น
อาการผื่นคันแบบไหนที่ควรพบแพทย์ทันที
อย่านิ่งนอนใจผื่นคัน หากมีอาการดังนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
- รู้สึกคันมากจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทำให้นอนไม่หลับ หรือใช้ชีวิตปกติได้อย่างยากลำบาก
- มีผื่นร่วมกับมีอาการปวดอย่างรุนแรง
- มีผื่นเป็นตุ่มน้ำใสบริเวณรอบดวงตา ปากหรือบริเวณอวัยวะเพศ
- บริเวณที่เป็นผื่นมีหนองร่วมด้วย
- เป็นผื่นคันนานกว่า 2 สัปดาห์
- เป็นผื่นคันโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีผื่นร่วมกับภาวะมีไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด
การวินิจฉัยผื่นคัน
การวินิจฉัยผื่นคันนั้นแพทย์จะซักประวัติและอาการของผู้ป่วยเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นคัน บางรายแพทย์อาจพิจารณาให้ทำการทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง (Patch Test) โดยการป้ายตัวอย่างสารที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ไว้บนแผ่นหลังเพื่อทดสอบว่าสารตัวไหนก่อให้เกิดการแพ้บนผิวหนัง หรืออาจทำการทดสอบการแพ้ด้วยการตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
การรักษาผื่นคัน
วิธีแก้ผื่นคันนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของผื่นคัน โดยทั่วไปแล้วแพทย์อาจให้การรักษาเบื้องต้นดังนี้
- รับประทานยาแก้แพ้ แก้คัน (Antihistamine) หรือรับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid)
- ทายาบรรเทาอาการคัน เช่น ยาทาแก้ผื่นคัน ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยาทากลุ่มที่มีเมนทอล (Menthol) เป็นส่วนผสมเพื่อลดอาการคัน ทั้งนี้การเลือกใช้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากการเลือกใช้ยาอาจแตกต่างกันตามลักษณะอาการหรือตามบริเวณที่เป็น รวมถึงชนิดผิวหนังที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
- หากมีอาการผิวแห้งมากเกิดการระคายเคือง ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงให้ความชุ่มชื้นผิว ปราศจากน้ำหอมและแอลกอฮอล์
วิธีป้องกันผื่นคัน
- ไม่เปลี่ยนสกินแคร์หรือเครื่องสำอางบ่อย ๆ เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพ้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ วิธีหนึ่งที่สามารถทดสอบการแพ้ได้คือการทาผลิตภัณฑ์ที่ท้องแขนหรือหลังทิ้งไว้ประมาณ 48 ชั่วโมงก่อนใช้ เพื่อดูว่ามีผื่นแพ้หรือรอยแดงเกิดขึ้นหรือไม่
- ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพื่อผิวบอบบางแพ้ง่ายโดยเฉพาะ
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นเพราะจะทำให้ผิวแห้งคัน
- ทาออยล์หรือโลชันหลังอาบน้ำเสร็จเป็นประจำเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว
- หลีกเลี่ยงการเกาเมื่อเกิดผื่นคันเพราะอาจทำให้เกิดแผลจนทำให้ติดเชื้อได้
- ไม่ควรอยู่ในที่ ๆ มีอากาศหนาวและแห้งตลอดเวลา
- ซักทำความสะอาด เปลี่ยนปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน และผ้าเช็ดตัวเป็นประจำ
สรุปเรื่องผื่นคัน
ผื่นคันเป็นปัญหาน่าหนักใจของใครหลายคน ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตและอาจกระทบต่อการพักผ่อน ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน หากไม่ได้รับการรักษาให้ตรงจุดก็ยิ่งใช้เวลาในการรักษานานหลายเดือนจนกว่าอาการจะดีขึ้น BeDee มีทีมแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญและเภสัชกร พร้อมให้คำปรึกษาออนไลน์ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
ภญ.สิริยาภรณ์ รักษาเชื้อ
เภสัชกร
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
WebMD. Rashes. สืบค้น 4 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/common-rashes
MedlinePlus. Rash evaluation. สืบค้น 4 กรกฎาคม 2566. จาก https://medlineplus.gov/lab-tests/rash-evaluation/
American cancer society. Skin Rash. สืบค้น 4 กรกฎาคม 2566. จาก
https://www.cancer.org/cancer/managing-cancer/side-effects/hair-skin-nails/skin-rash.html
NHS inform. Hives. สืบค้น 4 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/skin-hair-and-nails/hives