ยาคลายเครียด

Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

สารบัญบทความ

Key Takeaways

  • ยาคลายเครียดมีหลากหลายกลุ่มแต่ละกลุ่มมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป การเลือกใช้ขึ้นกับความเหมาะสมกับอาการและปัญหาสุขภาพของแต่ละบุคคล
  • ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงหรือเกิดการพึ่งพายาในระยะยาว
  • นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีปัญหาด้านจิตใจ มีความเครียด ความกังวล สามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิกได้ทุกวัน

ยาคลายเครียดคืออะไร?

ยาคลายเครียดคือ

ปัจจุบันมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อจิตใจของผู้คน เช่น วิกฤติเศรษฐกิจหรือการปรับตัวหลังโควิด-19 ความเครียดที่เกิดจากแรงกดดันจากการทำงานหรือปัญหาส่วนตัว ซึ่งสามารถนำไปสู่โรควิตกกังวล หรือโรคเครียดตามมา นอกจากการรับมือกับปัญหาเหล่านี้โดยการดูแลสุขภาพจิตแล้ว การรับคำปรึกษาจากคุณหมอผ่านช่องทางออนไลน์ก็เป็นทางเลือกที่ดีและสะดวกอีกทางหนึ่ง โดยหมออาจพิจารณาสั่งจ่ายยาเพื่อบรรเทาความเครียดและความกังวลตามความเหมาะสมของแต่ละคน

กลุ่มยาคลายเครียดเป็นยากลุ่มยาที่สามารถช่วยลดความเครียดและปรับสมดุลทางจิตใจได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคเครียดสะสมหรือมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) หรือโรคซึมเศร้า (Depression) ยาคลายเครียดคลายกังวลมีหลากหลายกลุ่มออกฤทธิ์โดยการปรับการทำงานของสารเคมีในระบบประสาทซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึก ส่งผลให้ลดความกังวลและความตึงเครียด ปรับสมดุลอารมณ์ หรือช่วยให้นอนหลับดีขึ้น เป็นต้น

รู้จักกลุ่มยาคลายเครียดมีกี่ประเภท?

ยาคลายเครียดมีหลายประเภท ซึ่งแต่ละกลุ่มมีจุดเด่น กลไกการออกฤทธิ์ และข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อนใช้ยาทุกครั้ง

ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines)

ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) เป็นยาที่พบบ่อยในการใช้เป็นยาแก้เครียด ลดอาการวิตกกังวล และเป็นยาคลายเครียดที่ช่วยทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น โดยยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกผ่อนคลายและลดความตึงเครียดในสมอง มีทั้งแบบออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ โดยคำนึงถึงระดับความรุนแรงของอาการ โรคประจำตัว อายุ และปัจจัยอื่น ๆ

อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ฝันร้ายหรือทำให้สับสน หลงลืม จำเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ได้ ยานี้ควรระมัดระวังเป็นพิเศษในผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคตับหรือโรคไต ยากลุ่มนี้จึงมักจะทานช่วงก่อนนอน และการใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันผลข้างเคียงและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาในระยะยาว

ยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors; SSRIs)

ยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ หรือ ยากลุ่มยับยั้งการเก็บกลับของเซโรโทนินอย่างจำเพาะ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors; SSRIs) ทำงานโดยการยับยั้งการดูดกลับ (Reuptake) ของเซโรโทนินเพียงชนิดเดียวที่เซลล์ประสาทโดยไม่กระทบต่อสารสื่อประสาทชนิดอื่น ๆ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่เกิดจากปฏิกิริยากับระบบต่าง ๆ ในสมอง ส่งผลให้สมองสามารถปรับสมดุลอารมณ์ แก้เครียดและลดความวิตกกังวลได้ดีขึ้น

 

ทั้งนี้อาการข้างเคียงพบได้โดยทั่วไปของยาแก้เครียดกลุ่มนี้ได้แก่ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องเสีย ปากแห้ง นอนไม่หลับ หรือความต้องการทางเพศลดลง นอกจากนี้ควรระมัดระวังการใช้ยาในกลุ่ม SSRIs ร่วมกับยาอื่น โดยเฉพาะการใช้ร่วมกับยาที่มีผลต่อระดับเซโรโทนิน เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะเซโรโทนินซินโดรม ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นควรแจ้งแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรทุกครั้งหากมีกินยาประจำอื่นอยู่ด้วย

ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก [Tricyclic antidepressants (TCAs)]

ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก หรือกลุ่มทีซีเอ (TCAs) เป็นกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้าออกฤทธิ์โดยการปรับสมดุลสารสื่อประสาทในสมอง เช่น เซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ช่วยปรับอารมณ์ แก้เครียด ลดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล 

ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการซึมเศร้าและลดความวิตกกังวลได้ดี โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการเรื้อรังหรือรุนแรง แต่อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น การง่วงนอน ปากแห้ง ท้องผูก หรืออาการข้างเคียงที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

ยากลุ่มอื่นๆ

ยาเอทิโฟซีน (Etifoxine) เป็นยากลุ่ม Nonbenzodiazepines (Non-BZD) มีฤทธิ์ทำให้คลายกังวลและช่วยบรรเทาความเครียดโดยไม่ทำให้เกิดการง่วงซึมและเดินเซ ซึ่งแตกต่างจากยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ยาเอทีโฟซีนออกฤทธิ์ผ่านกลไกการกระตุ้นการทำงานของระบบ GABA-A (Gamma-Aminobutyric Acid – A) ส่งผลทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคลายกังวล และลดอาการวิตกกังวล ทั้งนี้อาการง่วงซึมที่เป็นอาการข้างเคียงก็ยังสามารถพบได้จากการกินยาเอทิโฟซีน และควรระมัดระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยที่มีโรคตับหรือโรคไตบกพร่องรุนแรง และผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดร้ายแรง


BeDee Tips: ดู 10 วิธีจัดการความเครียด ทำง่าย ช่วยรับมือการเรียน การทำงาน อ่านเลย!

ข้อควรระวังในการใช้ยาคลายเครียด

ยาคลายเครียด ควรระวัง

การใช้ยาคลายเครียดหรือยาต้านวิตกกังวล (Anxiolytics) เป็นวิธีหนึ่งในการจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวล อย่างไรก็ตามการใช้ยาเหล่านี้ต้องระมัดระวัง เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงหรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้ ผู้ป่วยมีสิ่งที่ควรคำนึงถึงดังนี้

  1. ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
    การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หรืออาจทำให้เกิดความเคยชินต่อยาหรือเกิดการพึ่งพิงยาได้ เช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ซึ่งอาจมีผลอื่นต่อสุขภาพหากใช้ในระยะยาวหรือใช้ในขนาดที่ไม่เหมาะสม
  2. ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
    ยาคลายเครียดบางประเภทอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงนอน เวียนศีรษะ หรือมีปัญหาด้านการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูกหรือท้องเสีย ยาบางประเภทอาจส่งผลกระทบต่อสมาธิและความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิสูง หากมีอาการผิดปกติหรือสงสัยว่าเกิดผลข้างเคียงขึ้นหลังการกินยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม
  3. การใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น
    การใช้ยาคลายเครียดร่วมกับยาอื่น ๆ อาจทำให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยา (Drug-Drug Interaction) ซึ่งอาจทำให้ยามีประสิทธิภาพมากเกินไปหรือน้อยเกินไป หรือเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น
  4. การใช้ยาในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว
    ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต หรือโรคหัวใจ ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากยาบางชนิดสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะเหล่านี้ หรืออาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงขึ้นได้
  5. การหยุดยา
    ยาคลายเครียดบางชนิด เช่น กลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) อาจทำให้เกิดการพึ่งพิงยาได้หากใช้ต่อเนื่องในระยะยาว การหยุดยาอย่างรวดเร็วอาจทำให้เกิดอาการขาดยา (Withdrawal Symptoms) เช่น อาการวิตกกังวลเพิ่มขึ้น หรืออาจเกิดอาการชักในบางกรณี ดังนั้นการหยุดยาควรทำภายใต้การแนะนำของแพทย์

 

ปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก เป็นส่วนตัว 

ส่งยาถึงที่ ไม่มีค่าจัดส่ง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาคลายเครียด

1. ซื้อยาคลายเครียดกินเองได้ไหม?

ไม่แนะนำให้ซื้อยามากินเองโดยไม่ผ่านแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากแพทย์จะพิจารณาความเหมาะสมของการใช้ยา รวมถึงการเลือกยาที่เหมาะสมกับอาการและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจมีอยู่ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้การปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญช่วยให้ผู้ป่วยได้รับวิธีการรักษาที่เหมาะสม เช่น การบำบัดทางจิตวิทยาหรือการปรับพฤติกรรมร่วมด้วย

2. กินยาคลายเครียดทุกวันได้ไหม?

ยาคลายเครียดบางประเภทอาจส่งผลทำให้เกิดการพึ่งพายาได้หากใช้ในระยะยาว ส่วนยาแก้เครียดบางประเภทที่อยู่ในกลุ่มยาต้านซึมเศร้าหรือผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย นอกเหนือจากความเครียดก็สามารถใช้ในระยะยาวได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น

3. ยาคลายเครียดอันตรายไหม?

การทานยาให้ปลอดภัยควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ แต่การใช้ยานอกเหนือจากคำแนะนำหรือการหยุดยาอย่างกะทันหันอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ ดังนั้นไม่ควรปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือหยุดยาด้วยตนเอง ผู้ป่วยจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง

4. กินยาคลายเครียดร่วมกับยาชนิดอื่นได้ไหม?

หากผู้ป่วยมียาประจำที่รับประทานอยู่ หรือจำเป็นต้องใช้ยาคลายเครียดร่วมกับยาชนิดอื่นจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง เนื่องจากยาบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงหากรับประทานร่วมกัน

การทานยาคลายเครียดต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

การใช้ยาโดยไม่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญมีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะกลุ่มยาคลายวิตกกังวล ทั้งนี้นอกจากการทานยาแล้วผู้ป่วยยังควรหาวิธีการจัดการความเครียดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การปรึกษาแพทย์จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิก การทำจิตบำบัด เพื่อสร้างสุขภาพใจที่แข็งแรงในระยะยาว ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรได้เลยที่นี่ 

 

BeDee พบหมอเฉพาะทางเครือ BDMS ได้ทันที ไม่ต้องรอคิว ส่งยาทั่วไทย มั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

Content powered by BeDee Expert

ภก. ธวัชชัย กิจการพัฒนาเลิศ
เภสัชกร

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

Garakani, A., Murrough, J. W., Freire, R. C., Thom, R. P., Larkin, K., Buono, F. D., & Iosifescu, D. V. (2020). Pharmacotherapy of Anxiety Disorders: Current and Emerging Treatment Options. Frontiers in psychiatry, 11, 595584. https://doi.org/10.3389/fpsyt.2020.595584


Cleveland Clinic medical. (2023). Anxiolytics: What They Are, Uses, Side Effects & Types.. Retrieved from https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/24776-anxiolytics


Outhoff, K. (2011). The pharmacology of anxiolytics : review. SA Pharmaceutical Journal, 78(1), 24-29. doi:doi:10.10520/EJC82499


Nemeroff, C. B. (2003). Anxiolytics: past, present, and future agents. Journal of Clinical Psychiatry, 64, 3-6.

Argyropoulos, S. V., Sandford, J. J., & Nutt, D. J. (2000). The psychobiology of anxiolytic drugs: Part 2: pharmacological treatments of anxiety. Pharmacology & Therapeutics, 88(3), 213-227. doi:https://doi.org/10.1016/S0163-7258(00)00083-8

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคไบโพลาร์กับโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่พบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน บางคนที่เราเห็นยิ้มแย้ม อารมณ์ดี แต่ก็อาจจะป่วยด้วยกลุ่มโรคทางจิตเวช ที่เรียกว่า Smiling depression ได้เช่นกัน    ด้วยสังคมปัจจุบันที่มีความเครียดสูง ปัจจ

แบบประเมินความเครียดเป็นเครื่องมือคัดกรองโรคเครียดรูปแบบหนึ่ง เวลาที่เราเครียดเรามักประเมินความเครียดในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็สังเกตจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่นนอนไม่หลับ, ปวดหัวเรื้อรัง, กรดไหลย้อน, ท้องอืด เป็นต้น หรือประเมินควา