Key Takeaway ถ่ายเป็นเลือดเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ทางเดินอาหาร ลำไส้ใหญ่ ริดสีดวงทวาร หากถ่ายเป็นเลือดจากอาการท้องผูกอาการอาจหายเองได้ ถ่ายเป็นเลือดเป็น ๆ หาย ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม สารบัญบทความ ถ่ายเป็นเลือดคืออะไร ถ่า
รู้จักพยาธิตัวตืด สายอาหารดิบต้องระวัง !
Disclaimer: ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงการให้ข้อมูลทั่วไป ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
Key Takeaways
- พยาธิตัวตืดคือพยาธิประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเส้นแบนยาวคล้ายริบบิ้น
- พบได้ในเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้รับการปรุงสุก เช่น เนื้อหมูดิบหรือเนื้อวัวดิบ ผักและผลไม้ที่ได้รับการปนเปื้อนและล้างไม่สะอาดก่อนนำมาบริโภค
- หากมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ปวดท้อง ไม่สบายท้อง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ถ่ายออกมาเป็นปล้องพยาธิ ควรรีบปรึกษาแพทย์ ไม่ควรหาซื้อยาถ่ายพยาธิมาทานเอง
พยาธิตัวตืดคืออะไร แบ่งออกเป็นกี่ประเภท?
พยาธิตัวตืด (Tapeworm) คือพยาธิประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเส้นแบนยาวคล้ายริบบิ้น มักอาศัยอยู่ในลำไส้ของสัตว์และมนุษย์ คอยดูดซึมสารอาหารจากลำไส้ซึ่งอาจทำให้สัตว์หรือมนุษย์ที่พยาธิเกาะอาศัยอยู่เกิดภาวะขาดสารอาหารและมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา พยาธิตัวตืดพบได้โดยเฉพาะในเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุกก่อนนำมาบริโภค เช่น เนื้อหมูดิบหรือเนื้อวัวดิบ หรือผักและผลไม้ที่ได้รับการปนเปื้อนและล้างไม่สะอาดก่อนนำมาบริโภค พยาธิตัวตืดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
พยาธิตัวตืดวัว (Taenia Saginata)
พยาธิตัวตืดวัว หรือ Taenia Saginata มักพบในเนื้อวัวดิบหรือเนื้อวัวกึ่งสุบกึ่งดิบ ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืดวัวอาจมีอาการปวดท้องอาหารไม่ย่อย ท้องอืดเป็น ๆ หาย ๆ อาจมีการถ่ายปล้องพยาธิออกมาทางอุจจาระ
พยาธิตัวตืดหมู (Taenia Solium)
พยาธิตัวตืดหมู หรือ Taenia Solium พบในหมูหรือเนื้อหมูกึ่งสุกกึ่งดิบ การติดเชื้อพยาธิตืดหมูอาจเกิดได้สองแบบคือ
- พยาธิตัวตืดหมูเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยและอาศัยอยู่ในลำไส้ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด แบบเดียวกับพยาธิตืดวัว
- พยาธิตืดหมูเจริญไปเป็นถุงน้ำ (Cysticercosis) ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อ รวมถึงสมองได้
พยาธิตัวตืดเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
พยาธิตัวตืด (Tapeworm) สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดเจือปน โดยมากมักเกิดจากการทานอาหารดิบ เช่น ลาบหมูดิบ ลาบวัวดิบ หลู้ ซอยจุ๊ ก้อยดิบ หรือแหนมดิบ เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้มักจะไม่ถูกปรุงสุกหรือผ่านความร้อนอย่างเพียงพอทำให้ไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิยังคงมีชีวิตอยู่
เมื่อเราดื่มหรือทานอาหารข้างต้นเข้าไป ไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดจะเข้าสู่ระบบย่อยอาหารและพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็ก หรือฝังตามเนื้อเยื่อของร่างกายในกรณีของพยาธิตืดหมู ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ท้องอืดเรื้อรัง ปวดท้อง และอาจมีการถ่ายปล้องพยาธิออกมาทางอุจจาระได้
สามารถอ่านเกี่ยวกับพยาธิชนิดอื่นได้ที่ : พยาธิเส้นด้าย
อาการของโรคพยาธิตัวตืดเป็นอย่างไร?
อาการของโรคพยาธิตัวตืดสามารถแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะของการติดเชื้อ และจำนวนของพยาธิที่อยู่ในร่างกาย อาการที่พบได้ทั่วไป เช่น
- ท้องอืด แน่นท้อง เป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นเรื้อรัง
- ปวดท้อง ไม่สบายท้อง
- เบื่ออาหาร
- อ่อนเพลีย
- ถ่ายปล้องพยาธิออกมาทางอุจจาระ
สงสัยว่าอาจมีอาการพยาธิ ปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก เป็นส่วนตัว ส่งยาถึงที่
การวินิจฉัยพยาธิตัวตืด
สำหรับวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิตัวตืดนั้นสามารถทำได้ด้วยการตรวจอุจจาระเพื่อตรวจหาพยาธิหรือไข่ของพยาธิในอุจจาระ นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการซักประวัติและตรวจร่างกายทั่วไปเพิ่มเติมด้วย หากไม่แน่ใจอาการควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยาถ่ายมารับประทานเอง เนื่องจากขนาดยารับประทานต้องได้รับการคำนวณอย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงอาจต้องมีการตรวจติดตามอาการเพื่อประเมินผลการรักษา
วิธีรักษาพยาธิตัวตืดทำอย่างไร?
โดยทั่วไปแล้ววิธีรักษาพยาธิตัวตืดหรือวิธีกำจัดพยาธิตัวตืดจะใช้การรักษาด้วยยาเป็นหลัก ซึ่งยาที่ใช้รักษาโดยส่วนใหญ่แล้ว มีดังนี้
ยา Praziquantel
ยารักษาพยาธิตัวตืดที่นิยมใช้กันอย่างมาก ตัวยา Praziquantel จะไปรบกวนการเคลื่อนไหวของพยาธิตัวตืดในลำไส้ ทำให้พยาธิหลุดออกจากผนังลำไส้และถูกขับออกทางอุจจาระในที่สุด การทานยาต้องเป็นไปตามขนาดที่แพทย์กำหนด ยาชนิดนี้ไม่สามารถฆ่าไข่พยาธิได้
ยา Niclosamide
ยา Niclosamide เป็นยารักษาพยาธิตัวตืดอีกชนิดหนึ่ง ตัวยาจะเข้าไปหยุดการเจริญเติบโตของพยาธิและทำให้พยาธิถูกขับออกจากร่างกาย
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไม่ควรหาซื้อยาถ่ายพยาธิมารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเนื่องจากจำเป็นต้องทราบชนิดของพยาธิก่อนจึงจะสามารถจ่ายยาให้เหมาะสมได้
วิธีป้องกันโรคพยาธิตัวตืด
วิธีป้องกันโรคพยาธิตัวตืดนั้นเบื้องต้นคือการรักษาความสะอาดและการรับประทานที่ถูกสุขลักษณะ โดยทั่วไปแล้วสามารถป้องกันการติดเชื้อพยาธิได้ด้วยวิธีดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่หลังจากเข้าห้องน้ำ ก่อนการประกอบอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก
- รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น ตัดเล็บให้สั้น ล้างมือทุกครั้งก่อนนำอาหารเข้าปาก
- รับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด ปรุงสุก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานของดิบ เช่น เนื้อสัตว์ดิบ ของหมักดอง ลาบดิบ ก้อย หรือปลาร้า เป็นต้น
- ล้างผักสดและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
- หากมีความเสี่ยง เช่น ชอบรับประทานเนื้อสัตว์ดิบเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ และตรวจอุจจาระ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการพยาธิตัวตืด
1. พยาธิตัวตืดทำให้มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
โดยทั่วไปแล้วการติดเชื้อพยาธินั้นอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แต่พยาธิบางชนิด เช่น พยาธิตัวตืดหมู (Taenia Solium) สามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่ออวัยวะอื่น เช่น กล้ามเนื้อ หรือสมอง ภาวะนี้เรียกว่า Cysticercosis หรือการเกิดซีสต์ของพยาธิในสมอง ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ หรือ บางรายอาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น ปวดหัวเรื้อรัง ชัก ซึ่งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
พยาธิตัวตืดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตราย
การติดเชื้อพยาธิทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ไม่สบายท้อง เบื่ออาหาร หรือหากปล่อยไว้อาจรุนแรงและพยาธิกระจายไปยังสมองจนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
ปรึกษาหมอออนไลน์ นักกำหนดอาหาร พยาบาล และปรึกษาเภสัชกรแบบไม่มีค่าใช้จ่ายบนแอป BeDee ได้ทุกวัน ส่งยาและสินค้าถึงที่ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
พญ. วิภาดา พิพัฒน์วัชรา
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Tapeworm infection – Symptoms and causes. (n.d.). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tapeworm/symptoms-causes/syc-20378174
About human tapeworm. (2024, June 13). Human Tapeworm (Taeniasis). https://www.cdc.gov/taeniasis/about/index.html
Felman, A. (2024, January 12). Everything you need to know about tapeworms. https://www.medicalnewstoday.com/articles/170461