สะดุ้งตื่น

Key Takeaways

  • สะดุ้งตื่นเกิดจากการกระตุกของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วในขณะที่ร่างกายของเรากำลังจะเข้าสู่ภาวะหลับลึก ทำให้เราสะดุ้งตื่นขึ้นมาชั่วขณะ 
  • อาการสะดุ้งตื่นสามารถพบได้ในคนทั่วไป แต่มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
  • หากมีปัญหาสะดุ้งตื่นบ่อย นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท ควรปรึกษาแพทย์
สารบัญบทความ

อาการสะดุ้งตื่นคืออะไร? 

หลายคนอาจจะเคยนอนหลับในตอนกลางคืนแล้วก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาหรือกําลังจะหลับแล้วสะดุ้งทำให้นอนไม่หลับจริง ๆ แล้วอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกคืออะไร เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร อันตรายหรือไม่ มาทำความรู้จักอาการนี้เลย

 

 

อาการ “สะดุ้งตื่น” หรือ “Hypnic Jerk” หรือ Sleep Start คือการกระตุกหรือการหดตัวของของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว (Myoclonic Muscle Contraction) มักเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อแขน และขา ในขณะที่ร่างกายของเรากำลังจะเข้าสู่ภาวะหลับลึก การกระตุกนี้อาจทำให้เราตื่นขึ้นมาชั่วขณะ และบางครั้งก็อาจรู้สึกเหมือนกำลังตกจากที่สูง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ อาการทางร่างกายอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมด้วย เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วขึ้น เหงื่อออก เป็นต้น

 

 

มีปัญหาการนอนหลับ ชอบตื่นกลางดึก ปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก ส่งยาถึงที่

สาเหตุของอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกเกิดจากอะไร?

สาเหตุของอาการสะดุ้งตื่น

อาการสะดุ้งตื่นเกิดจากการกระตุกของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วในขณะที่ร่างกายของเรากำลังจะเข้าสู่ภาวะหลับลึก ซึ่งการกระตุกของกล้ามเนื้อคาดว่ามาจากการสื่อสารของระบบประสาทที่อาจทำงานผิดพลาด ส่งผลให้ร่างกายกระตุกหรือสะดุ้งตื่นนั่นเอง อย่างไรก็ตามอาการนี้ไม่ได้เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่หากอาการเกิดขึ้นบ่อยอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับ อารมณ์ สมาธิ และการเรียนหรือการทำงานได้

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการสะดุ้งตื่น

อาการสะดุ้งตื่นนั้นแม้จะพบได้ในคนทั่วไปส่วนใหญ่ และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ แต่ก็มีปัจจัยบางประการที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ซึ่งหากเราหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้นได้ก็อาจช่วยให้อาการสะดุ้งตื่นแล้วนอนไม่หลับเกิดขึ้นน้อยลง ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการสะดุ้งตื่น เช่น 

  • ความเครียด หากเรามีความเครียดหรือโรคเครียดอาจทำให้สมองยังคงทำงานขณะที่เรากำลังจะหลับซึ่งทำให้เกิดการสะดุ้งตื่น
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนสูงหรือดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ส่งผลต่อการนอนหลับ กระตุ้นให้เกิดอาการนอนแล้วสะดุ้ง 
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ การอดนอน
  • การออกกำลังกายอย่างหนักก่อนนอน ทำให้ร่างกายและระบบประสาทตื่นตัวซึ่งอาจทำให้สะดุ้งตื่น
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับสามารถทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนและทำให้หลับแล้วสะดุ้งตื่น


ความสำคัญทางการแพทย์ประการหนึ่งคือ ต้องแยกจากภาวะความผิดปกติหรือโรคอื่น ๆ เช่น การชัก (Seizures, Nonepileptic Seizures) การหดเกร็งของกล้ามเนื้อผิดปกติ กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome (RLS)) ซึ่งการสะดุ้งตื่นจะแตกต่างจากความผิดปกติอื่น ๆ คืออาการจะเกิดขึ้นช่วงขณะที่ร่างกายของเรากำลังจะเข้าสู่ภาวะหลับลึก และมักไม่พบความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เมื่อแก้ไขสาเหตุหลักแล้วอาการจะดีขึ้นได้เอง

วิธีแก้ไขอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกมีอะไรบ้าง?

วิธีแก้ไขอาการสะดุ้งตื่น

อาการสะดุ้งตื่นก่อให้เกิดปัญหาการนอนหลับ บางคนสะดุ้งตื่นเวลาเดิมทุกวันสะดุ้งตื่นแล้วนอนไม่หลับทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดอาการหงุดหงิด ไม่สดชื่นในตอนเช้า อาการสะดุ้งตื่นกลางดึก วิธีแก้สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยวิธีเหล่านี้ 

1. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่

วิธีแก้อาการตื่นกลางดึกอย่างแรกคือหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ชา หรือ แม้แต่ช็อกโกแลต ที่มีสารคาเฟอีน (Caffeine) สูงโดยเฉพาะในช่วงบ่ายหรือเย็น ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าสารคาเฟอีนสามารถคงอยู่ในร่างกายได้นานถึง 6 ชั่วโมง คำแนะนำคือไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนการนอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ช่วงบ่ายหรือเย็น เนื่องจากคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายตื่นตัวและนอนหลับไม่สนิท นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากในบุหรี่มีสารนิโคติน (Nicotine) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นประสาททำให้หลับยากทั้งผู้ที่สูบบุหรี่โดยตรง (Active Smoker) หรือผู้ที่รับกลิ่นควันบุหรี่จากผู้อื่นอยู่บ่อย ๆ (Passive Smoker)

2. หลีกเลี่ยงการทานมื้อหนักก่อนนอน

การทานมื้อเย็นหรือมื้อดึกก่อนนอนจะทำให้ระบบย่อยทำงานหนัก รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืด จุก แน่น และทำให้นอนหลับยาก และนอนหลับไม่สนิทได้ ควรเว้นระยะเวลาหลังจากทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงแล้วจึงค่อยเข้านอนเพื่อช่วยให้ร่างกายได้ย่อยอาหาร ลดโอกาสการเกิดกรดไหลย้อนและการสะดุ้งตื่นกลางดึก

3. ผ่อนคลายก่อนเข้านอน

ใช้เวลาผ่อนคลายอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน งดเล่นโทรศัพท์มือถือ ดูโทรทัศน์ หรือใช้คอมพิวเตอร์ก่อนนอน เนื่องจากแสงสีฟ้าจากหน้าจอจะทำให้เรารู้สึกตื่นตัว นอนหลับยาก นอกจากนี้การเสพสื่อต่าง ๆ ก่อนนอนยังทำให้สมองของเราคิดไม่หยุดและรู้สึกตึงเครียดอีกด้วย ลองหันมาอ่านหนังสือแทนการใช้หน้าจอ

4. จัดห้องนอนให้ เงียบ เย็น และ มืดสนิท

การจัดระเบียบห้องนอนเป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหานอนไม่หลับ นอนหลับไม่ได้คุณภาพ หรืออาการสะดุ้งตื่นได้ เช่น การปรับสีของผนังห้อง ผ้าปูที่นอน ม่านกันแสง รวมถึงอุณหภูมิในห้องนอนควรจะเย็นพอดี ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป ควรเลือกโทนสีของห้องนอนเป็นโทนมืดเพื่อให้ในตอนกลางคืนมีแสงเข้าห้องนอนน้อยที่สุด เพราะแสงอาจกระตุ้นให้ร่างกายตื่นจนทำให้นอนหลับไม่สนิท

5. เข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาสม่ำเสมอ

พยายามเข้านอน และตื่นเป็นเวลา โดยเริ่มจากการกำหนดเวลาตื่นตอนเช้า และพยายามตื่นให้ตรงเวลา ไม่ว่าวันที่เริ่มปรับเวลานอนจะนอนดึกแค่ไหนก็ไม่ควรทดเวลาตื่นสาย ให้พยายามฝืนตื่นตามเวลาให้ได้มากที่สุด การเข้านอนและตื่นเป็นเวลาจะช่วยให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพมากขึ้น

6. ฝึกเทคนิคผ่อนคลายความเครียด

เช่น การฝึกหายใจเข้าออก ฝึกสมาธิ การใช้จินตภาพบำบัดคือการหลับตาแล้วจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในที่ที่เงียบสงบ เช่น ชายหาด ป่าเขา หรือสถานที่ที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับได้ดีขึ้น

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการสะดุ้งตื่น

1. อาการสะดุ้งตื่นกลางดึกอันตรายไหม?

การสะดุ้งตื่นกลางดึกนั้นไม่ได้เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่กลับส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับของเรา ยิ่งถ้าใครที่มีอาการกลางดึกบ่อย ๆ จะทำให้เมื่อตื่นเช้ามารู้สึกไม่สดชื่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลต่ออารมณ์คือทำให้หงุดหงิด เหนื่อยล้า ไม่มีสมาธิในการทำงาน ใครที่มีอาการบ่อย ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างเหมาะสม

2. ฝันร้ายจนสะดุ้งตื่น อยากนอนต่อควรทำอย่างไร?

หากมีอาการสะดุ้งตื่นหรือฝันร้ายแล้วสะดุ้งตื่นอยากนอนหลับต่อแต่ก็นอนไม่หลับไม่ควรฝืน หลายคนอาจคิดว่าการข่มตานอนจะช่วยทำให้ง่วงไปเอง แต่ความจริงแล้วอาจจะทำให้เรานอนไม่หลับไปทั้งคืนเลยก็ได้ ดังนั้นถ้านอนไม่หลับจริง ๆ ควรลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเบา ๆ เช่นอ่านหนังสือ วาดรูปง่าย ๆ ยืดเส้นยืดสายเล็กน้อย แต่ไม่ควรเล่นโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตเพื่อทำให้ง่วง เนื่องจากแสงสีฟ้าจากแสงหน้าจอโทรศัพท์ จะกระตุ้นสมองทำให้หลับยาก

สะดุ้งตื่นบ่อย มีปัญหาการนอนหลับ รีบปรึกษาคุณหมอ

นอนแล้วสะดุ้งตื่นบ่อยเคลิ้มหลับแล้วสะดุ้ง อาจไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่กลับส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับ เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตในตอนกลางวันเพราะตื่นขึ้นมารู้สึกไม่สดชื่น รู้สึกเพลีย เพราะนอนหลับไม่พอ หากมีปัญหามีปัญหาในการนอนหลับสามารถปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee ได้ทุกวัน

 

ปรึกษาหมอออนไลน์ นักกำหนดอาหาร พยาบาล และปรึกษาเภสัชกรแบบไม่มีค่าใช้จ่ายบนแอป BeDee ได้ทุกวัน ส่งยาและสินค้าถึงที่ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS 

 

Content powered by BeDee Expert

นพ. จิติศักดิ์ พูนศรีสวัสดิ์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ป้องกัน และอาชีวเวชศาสตร์

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการไข้หวัดใหญ่ คือ อาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัส “ไข้หวัดใหญ่” (Influenza Virus) โดยผู้ติดเชื้อมักมีอาการปวดหัว, ไอ, เจ็บคอ, คัดจมูก, มีน้ำมูก, รู้สึกอ่อนเพลีย และมีไข้ อาการของไข้หวัดใหญ่ถือเป็นอาการที่พบได้บ่อยในฤดูฝน (ช่วงเดือนมิถุนายน-ตุล

ค่าความดันโลหิตเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยบ่งบอกถึงสุขภาพของเราอย่างหนึ่ง หากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ การวินิจฉัยและติดตามอาการ อย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมค่าความดันโลหิตให้อยู่ในเป้าหมาย