Key Takeaway โรคเซ็บเดิร์มมักเกิดบริเวณที่มีการผลิตน้ำมันบนผิวหนังอย่างมาก เช่น เซ็บเดิร์มที่หน้า เซ็บเดิร์มหนังศีรษะ เซ็บเดิร์มที่จมูก ผู้ป่วยเซ็บเดิร์มมักพบผิวลอกเป็นขุย หรือเป็นแผ่นสีขาว บริเวณหัวคิ้ว ข้างจมูก ใบหู รอบปาก หนังศีรษะ มีอาการปวด คั
สิวอักเสบคืออะไร? รวมวิธีดูแลรักษาแบบครบจบ
Key Takeaways
- สิวอักเสบเกิดจากแบคทีเรีย Cutibacterium Acnes หรือ Propionibacterium Acnes (P.acnes) เจริญเติบโตอยู่ในตุ่มสิว
- ควรรักษาความสะอาดใบหน้า ใช้ผลิตภัณฑ์อ่อนโยน ไม่แกะ บีบ หรือสัมผัสบริเวณที่เป็นสิวอักเสบ
- สิวอักเสบมักมีอาการบวมแดง ปวดสิว เจ็บสิว หากสิวอักเสบขึ้นไม่หยุดควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาลดสิวอักเสบและรับการรักษาที่เหมาะสม
สิวอักเสบคืออะไร?
สิวอักเสบ (Inflammatory Acne) คือ สิวอุดตันโดยมีแบคทีเรีย Cutibacterium Acnes หรือที่รู้จักกันในชื่อ Propionibacterium Acnes (P.acnes) เจริญเติบโตอยู่ในตุ่มสิว P.acnes จะดึงเม็ดเลือดขาวเข้ามาในตุ่มสิว ทำให้เกิดการอักเสบ และยังมีเอนไซม์ช่วยในการย่อยน้ำมัน (Sebum) ในตุ่มสิวให้กลายเป็นกรดไขมันที่มีฤทธิ์ส่งผลให้เกิดสิวอักเสบอีกด้วย
ปรึกษาปัญหา ผิวแพ้ง่าย และวิธีรักษาสิวอักเสบกับคุณหมอที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก ส่งสินค้าถึงบ้าน
สิวอักเสบสาเหตุเกิดจากอะไร?
สิวอักเสบเกิดจากหลายสาเหตุหลัก ๆ ดังนี้
- การผลิตน้ำมันมากเกินไป (Sebum) ต่อมไขมันในผิวหนังผลิตน้ำมันมากเกินไป ทำให้รูขุมขนอุดตัน
- การสะสมของเซลล์ผิวที่ตายแล้ว เซลล์ผิวที่ตายแล้วสะสมอยู่ในรูขุมขน ทำให้เกิดการอุดตัน
- การเติบโตของแบคทีเรีย แบคทีเรียที่ชื่อว่า Propionibacterium acnes เจริญเติบโตในรูขุมขนที่อุดตัน ทำให้เกิดการอักเสบ
- ฮอร์โมน ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง เช่น ในช่วงวัยรุ่นหรือช่วงมีประจำเดือน อาจทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น
- ปัจจัยภายนอก ความเครียด อาหารที่มีน้ำตาลสูง หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่ทำให้ผิวระคายเคืองก็เป็นสาเหตุได้
สิวอักเสบมักจะเป็นการอักเสบที่รูขุมขนที่อุดตัน ทำให้เกิดอาการบวมแดง และอาจเจ็บปวด หากอาการสิวอักเสบเป็นมากควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสม
ประเภทของสิวอักเสบมีกี่ประเภท
สิวอักเสบแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้
1. สิวหัวหนอง
สิวหัวหนอง (Pustules) เป็นสิวอักเสบที่มีหนองอยู่บริเวณหัวสิว มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดง มีหนองสีขาวหรือสีเหลืองอยู่ตรงกลาง มักจะเจ็บเมื่อสัมผัส
2. สิวตุ่มแดง
สิวตุ่มนูนแดง (Papules) เป็นสิวอักเสบที่มีลักษณะเป็นตุ่มแดงขนาดเล็ก ไม่มีหนอง แต่มักมีการอักเสบและเจ็บเล็กน้อย
3. สิวหัวช้าง
สิวหัวช้าง (Nodules) เป็นสิวที่เกิดจากการอักเสบใต้ผิวหนังชั้นลึก มีขนาดใหญ่ แข็ง และเจ็บมาก มักเกิดขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อและการอักเสบในระดับลึก
4. สิวซีสต์
สิวซีสต์ (Cysts) เป็นสิวที่รุนแรงที่สุด มีขนาดใหญ่และอาจเกิดเป็นถุงหนองใต้ผิวหนัง สัมผัสโดนแล้วเจ็บมาก และมีโอกาสสูงที่จะเกิดแผลเป็นหลังจากหาย
วิธีการรักษาสิวอักเสบควรทำอย่างไร?
การรักษาสิวอักเสบให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสม ดังนี้
1. ติดแผ่นดูดซับสิวอักเสบ
หลายคนเมื่อเป็นสิวมักจะเลือกติดแผ่นดูดซับสิว แผ่นดูดซับจะช่วยดูดซับหนองและน้ำเหลืองจากสิว ทำให้สิวยุบและลดการอักเสบได้เร็วขึ้น และยังช่วยป้องกันไม่ให้บริเวณที่เป็นสิวสัมผัสกับสิ่งสกปรกหรือแบคทีเรียจากมือของเราหรือสิ่งแวดล้อมภายนอก
2. Benzoyl Peroxide
Benzoyl Peroxide มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวโดยเฉพาะแบคทีเรีย Propionibacterium acnes (P. acnes) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการอักเสบและการเกิดสิว Benzoyl Peroxide ช่วยลดการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้รูขุมขนอุดตันและก่อให้เกิดสิวทำให้สิวอักเสบลดลงและหายเร็วขึ้น
การใช้ Benzoyl Peroxide ควรเริ่มด้วยความเข้มข้นต่ำก่อน เช่น 2.5% หรือ 5% เพื่อให้ผิวปรับตัว และควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากอาจทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองได้ในบางราย
3. Retinoids
ในกรณีที่เป็นสิวในระดับเล็กน้อยไม่รุนแรง เช่น สิวผด สิวอุดตัน สามารถทายารักษาสิวกลุ่ม Retinoids (เรตินอล) เพื่อบรรเทาอาการสิวเบื้องต้นได้ เรตินอลเป็นกลุ่มของสารที่มีอนุพันธ์ของวิตามิน A ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาสิวโดยการเร่งการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไปจากผิวหนัง ทำให้รูขุมขนไม่อุดตัน ลดโอกาสการเกิดสิวใหม่ นอกจากนี้เรตินอลยังมีคุณสมบัติในการลดการอักเสบของผิวหนัง ช่วยควบคุมการผลิตน้ำมันส่วนเกินบนผิวหนังซึ่งช่วยให้สิวอักเสบลดลงและหายเร็วขึ้น
การใช้เรตินอลควรเริ่มด้วยปริมาณเล็กน้อยและควรใช้ในช่วงกลางคืน เนื่องจากเรตินอลทำให้ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น และควรใช้ร่วมกับครีมกันแดดในระหว่างวันเพื่อป้องกันการระคายเคือง
4. ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
สำหรับสิวอักเสบในระดับปานกลางถึงมากสามารถใช้ยาทาปฏิชีวนะแต้มเฉพาะจุดที่เป็นร่วมด้วย ทั้งนี้ไม่ควรใช้เฉพาะยาปฏิชีวนะเดี่ยว ๆ เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการดื้อยาได้ หากเป็นสิวในระดับรุนแรงแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะหรือกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอชนิดรับประทานร่วมด้วย แนะนำให้ปรึกษาการใช้ยากับเภสัชกรเพิ่มเติม
5. ปรึกษาแพทย์
หากพบว่าสิวอักเสบรุนแรงขึ้นหรือทายาแล้วไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าจริง ๆ แล้วสิวของเราคือสิวประเภทใดและควรรักษาแบบใดเพื่อให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
BeDee Tips: รู้จักกรด AHA ช่วยรักษาสิว มีประโยชน์ต่อผิวอย่างไร อ่านเลย
ปรึกษาการใช้ยารักษาสิวอักเสบกับเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน ไม่มีค่าปรึกษา
ดูแลผิวอย่างไรเมื่อเป็นสิวอักเสบ
รับมือกับสิวอักเสบได้ไม่ยาก ดูแลผิวตามง่าย ๆ ตาม Steps ที่ใครก็ทำได้ ทำตามนี้เลย!
- รักษาความสะอาดใบหน้าหรือส่วนที่เกิดสิวให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้เกิดการหมักหมมของเหงื่อและความมัน หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าในช่วงที่เป็นสิวมากเพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันและทำให้สิ่งสกปรกสะสมได้
- ทายา ครีมรักษาสิว หรือรับประทานยารักษาสิวตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ
- ไม่ซื้อยาฮอร์โมน ยาคุมกำเนิด หรือยาสเตียรอยด์มารับประทานเองโดยเด็ดขาด
แชร์เคล็ดลับ วิธีการป้องกันไม่ให้เป็นสิวอักเสบ ควรทำอย่างไร?
ไม่อยากเป็นสิวอักเสบ ป้องกันเลยกับเคล็ดลับดี ๆ ที่เราได้รวบรวมมาให้ ดังนี้
- ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องสำอางที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขน (non-comedogenic) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดสิว
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้า หรือการจับสิว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของแบคทีเรียและการเกิดสิวอักเสบ
- ซักหมอน ปลอกหมอน ผ้าขนหนู และทำความสะอาดโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถสะสมเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวได้
- เลือกครีมกันแดดที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขนและทาเป็นประจำทุกวัน แม้ว่าจะไม่ได้ออกไปข้างนอก เพราะแสงแดดสามารถทำให้ผิวระคายเคืองและทำให้สิวแย่ลง
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้ที่มีวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารมัน หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการมาก ๆ ซึ่งอาจทำให้ผิวมันและเป็นสิว
- ดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดวัน เพื่อช่วยให้ผิวชุ่มชื้นและช่วยในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย
- ความเครียดสามารถกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่อาจทำให้สิวเกิดขึ้นได้ การจัดการความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ หรือโยคะ จะช่วยลดโอกาสการเกิดสิวอักเสบ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรนอนดึก เพราะการนอนดึกทำให้ร่างกายเกิดความเครียดมากขึ้น และกระบวนการซ่อมแซมฟื้นฟูสภาพผิวทำงานได้ไม่เต็มที่ ทั้งยังทำให้ฮอร์โมนในร่างกายหลั่งผิดปกติ มีผลต่อการเกิดสิวอักเสบ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิวอักเสบ
1. สิวอักเสบควรบีบไหม?
เมื่อเป็นสิวอักเสบการบีบสิวอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียและหนองกระจายลึกลงไปในผิว ทำให้การอักเสบรุนแรงขึ้นและเกิดสิวใหม่ได้ และหากมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้บีบสิวไม่สะอาดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและทำให้สิวลุกลามหรือรุนแรงขึ้น เกิดแผลเป็น รอยแดง รอยบวมได้ การปรึกษาแพทย์ผิวหนังเป็นวิธีจัดการสิวอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
2. วิธีทำให้สิวยุบ
การทำให้สิวอักเสบยุบนั้นควรเริ่มจากการดูแลผิวหน้า ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน ใช้ยาทาตามที่แพทย์หรือเภสัขกรแนะนำ
3. สิวอักเสบกี่วันหาย?
ระยะเวลาที่สิวอักเสบจะหายขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดของสิว ความรุนแรงของการอักเสบ และวิธีการรักษา โดยทั่วไปแล้วสิวขนาดเล็กที่มีการอักเสบไม่รุนแรงอาจหายไปภายใน 3-7 วันหากได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม แต่หากสิวที่มีขนาดใหญ่หรือสิวซีสต์ (Cystic Acne) อาจใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษา
สรุปสิวอักเสบ ปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาอย่างเหมาะสม
หลายครั้งที่เราดูแลสิวเอง ซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาใช้เองแล้วไม่ได้ผล สิวไม่หายสักที บางครั้งอาการแย่ลงอาจเป็นเพราะการรักษาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ตรงจุดกับปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้ได้รับการรักษาหรือยาที่เหมาะสม ตรงกับปัญหาผิวของเรา
ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เป็นส่วนตัวสูง พร้อมจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
พญ.จิรภัทร สุริยะชัยสวัสดิ์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Inflammatory acne. (2024, May 1). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/22765-inflammatory-acne
DermNet. (2023, June 14). Inflammatory lesions in acne. DermNet®. https://dermnetnz.org/topics/inflammatory-lesions-in-acne
Leung, A. K., Barankin, B., Lam, J. M., Leong, K. F., & Hon, K. L. (2021). Dermatology: how to manage acne vulgaris. Drugs in context, 10, 2021-8-6.