Key Highlight หมดไฟในการทำงาน วิธีแก้อย่างหนึ่งคือการเปลี่ยนบรรยากาศ ลาพักร้อน ออกไปเที่ยวสถานที่ใหม่ ๆ ช่วงวันเสาร์อาทิตย์ หมดไฟในการทำงาน วิธีแก้ไขที่สำคัญที่สุดเลยก็คือการแบ่งเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนให้เหมาะสม หากรู้สึกหมดไฟ การออกกำลังกายจะช่วยให้
CBT จิตบำบัดเพื่อการปรับความคิดและพฤติกรรม
Key Takeaways
- ปัญหาทางด้านจิตใจนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากวิธีการคิด หรือรูปแบบการรับมือที่ไม่เหมาะสม
- CBT คือวิธีการทำจิตบำบัดที่เน้นในการปรับความคิด และพฤติกรรม ผ่านการพูดคุย เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความคิดหรือการรับรู้ที่อาจบิดเบือนไปจากความเป็นจริง
- CBT ใช้ได้ดีกับโรคหลายอย่าง เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล แพนิค รวมถึงบุคลทั่วไปที่มีปัญหาด้านจิตใจ
รู้จัก CBT คืออะไร
Cognitive Behavior Therapy (CBT) คือ วิธีการทำจิตบำบัดรูปแบบหนึ่ง ที่เน้นในการปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรม ผ่านการพูดคุย เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความคิด ความเชื่อ หรือการรับรู้ที่อาจบิดเบือนไปจากความเป็นจริงของตนเอง มีเป้าหมายเพื่อจัดการกระบวนการคิด พฤติกรรม และอารมณ์ที่เป็นปัญหาให้เป็นไปตามความเป็นจริง ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับปัญหาทางจิตใจและพฤติกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย CBTเป็นแนวคิดที่เชื่อว่า ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม และร่างกาย ของมนุษย์นั้นมีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นการมีความคิด อารมณ์ พฤติกรรม หรืออาการทางกายเชิงลบสามารถดักจับคุณไว้ในวงจรเชิงลบได้ ซึ่งหากเราสามารถเข้าไปปรับแก้ที่ด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของด้านอื่น ๆ อีกด้วย
มีคำถามเรื่องการทำ CBT และปัญหาสุขภาพใจปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิกที่แอป BeDee ได้ทุกวัน สะดวก เป็นส่วนตัว
หลักการบำบัด CBT เป็นอย่างไร?
หลักการสำคัญเบื้องต้นของ CBT คือ รูปแบบความคิด อารมณ์ พฤติกรรม และร่างกายนั้นมีความเชื่อมโยงส่งผลต่อกันและกัน ตัวอย่างเช่น การมีความคิดเชิงลบสามารถนำไปสู่ความรู้สึกและการกระทำเชิงลบ แต่หากผู้ป่วยสามารถปรับความคิด การรับรู้ใหม่ที่เป็นไปในเชิงบวก หรือเป็นไปตามความเป็นจริงมากขึ้นนั้นจะนำไปสู่ความรู้สึกเชิงบวกและพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมมากขึ้นได้
ปัญหาทางด้านจิตใจนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากวิธีการคิด หรือรูปแบบการรับมือที่ไม่เหมาะสม หากผู้ป่วยสามารถเรียนรู้วิธีการคิด การรับมือกับปัญหาได้อย่างเหมาะสมจะช่วยบรรเทาอาการ และสามารถช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เทคนิค CBT ที่ถูกนำมาใช้ในการบำบัดนั้นมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับการประเมินของนักบำบัดว่าปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคนนั้นเหมาะกับวิธีการแบบใด โดยตัวอย่างวิธีการที่ใช้ในการบำบัด เช่น
Cognitive Techniques (เทคนิคที่ใช้ในการจัดการความคิด)
- Downward Arrow Technique : คือ การถามเพื่อขุดค้นความคิด และความเชื่อที่ซ่อนอยู่
- Socratic Questioning : คือ การใช้คำถามต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นกระบวนการคิด และนำไปสู่การค้นพบคำตอบด้วยตนเอง
- Eliciting Thought : คือ การตระหนัก หรือรับรู้ถึงความคิดที่เกิดขึ้น
- Pros & Cons : คือ การเปรียบเทียบข้อดี -ข้อเสียของความคิด
- Cognitive Distortion : เป็นรูปแบบความคิดที่บิดเบือน โดยนักบำบัดจะเป็นผู้ช่วยผู้ป่วยในการค้นหาความคิด การรับรู้ที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง เพื่อฝึกการรับรู้ และตระหนักถึงความคิดที่ทำให้เกิดปัญหาเพื่อนำไปสู่ทางออกที่ง่ายขึ้น
Behavioral Techniques (เทคนิคที่ใช้ในการจัดการพฤติกรรม)
- Exposure Therapy คือการจำลองสถานการณ์เพื่อให้ผู้ป่วยได้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว หรือสิ่งที่พยายามหลีกเลี่ยง เพื่อทำให้เกิดความชิน และลดระดับความรู้สึกกลัว
- Role-Play คือการแสดงบทบาทสมมุติช่วยในการเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ในอนาคต หรือช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความคิดความรู้สึกของตนเอง และผู้อื่นที่เกิดขึ้นต่อสถานการณ์
- Behavioral Experiments คือการทำการทดลองทางพฤติกรรมเพื่อพิสูจน์ความคิด และความเชื่อของผู้ป่วย
โดยวิธีการหรือเทคนิคต่าง ๆ ใน CBT นี้จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหาทางออกจากปัญหาได้ด้วยตนเอง (Guided Discovery) โดยมีนักบำบัดเป็นเพียงผู้นำทางเท่านั้น
BeDee Tips: วิธีจัดการความเครียด ทำอย่างไรได้บ้าง อ่านเพิ่มเติมเลย
CBT สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตใดได้บ้าง
มีหลายงานวิจัยพบว่าโรคทางจิตเวชที่ใช้การบำบัดด้วย CBT แล้วได้ผลดี เช่น
- โรคซึมเศร้า Major Depression
- โรควิตกกังวลทั่วไป Generalized Anxiety Disorder
- โรคแพนิค Panic Disorder
- โรคกลัวสังคม Social Phobia
- โรคทางจิตใจที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด Substance Abuse
- โรคการกินผิดปกติ Eating Disorders
- โรคย้ำคิดย้ำทำ OCD (Obsessive Compulsive Disorder)
- โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder)
- บุคลิกภาพแปรปรวน Personality Disorders
- ไบโพลาร์ Bipolar Disorder
นอกจากนี้การบำบัดแบบ CBT ยังสามารถใช้กับบุคคลปกติทั่วไปที่มีปัญหาอารมณ์และจิตใจ ให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้เช่นกัน
การบำบัดแบบ CBT VS การเข้าพบจิตแพทย์ ต่างกันอย่างไร?
CBT คือ จิตบำบัดด้วยการพูดคุยเพื่อจัดการปัญหาที่ผู้ป่วยเผชิญโดยไม่ใช้ยา และไม่มีการตรวจวินิจฉัยโรคทางจิตเวชใด ๆ แต่จะใช้วิธีการและเทคนิคต่าง ๆ ตามตัวอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นในการทำให้ผู้ป่วยได้เข้าใจถึงปัญหาทางด้านพฤติกรรม อารมณ์ และความคิดของตนเอง เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ นอกจากนี้การบำบัดแบบ CBT ผู้ป่วยจะได้ฝึกฝนวิธีเข้าใจสาเหตุที่มาของปัญหาทางด้านอารมณ์ ความคิดของตนเอง และผู้อื่น รวมทั้งวิธีในการรับมือต่อความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้อย่างเหมาะสม
ส่วนการเข้าพบจิตแพทย์นั้น จิตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและตรวจประเมินโรคทางจิตเวชเพื่อวางแผนการรักษาโรคทางจิตเวชโดยจะเน้นไปที่การใช้ยา หรือเครื่องมือทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยในกรณีที่พบการทำงานที่ผิดปกติของสารเคมีในสมองเพื่อให้สารเคมีเกิดความสมดุล และกลับมาทำงานได้อย่างปกติ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจิตแพทย์ ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้การกินยาร่วมกับการทำจิตบำบัด
การทำจิตบำบัดแบบ CBT มีข้อดี-ข้อจำกัดอะไรบ้าง
ข้อดีและข้อจำกัดของการทำจิตบำบัดแบบ CBT มีดังต่อไปนี้
ข้อดีของการทำ CBT
- CBT เป็นการบำบัดที่ส่งผลดีต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยแบบระยะยาว เนื่องจากในการบำบัดนั้นผู้ป่วยจะได้ฝึกทักษะการปรับมุมมอง วิธีการคิด และพฤติกรรมการแสดงออก ถึงแม้การบำบัดจะสิ้นสุดลงแต่ผู้ป่วยก็ยังสามารถนำวิธีที่ได้เรียนรู้ในการบำบัดไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
- ผู้ป่วยจะได้ฝึกวิธีการคิด และหาทางออกของปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยมีนักบำบัดเป็นเสมือนผู้นำทางเท่านั้น
- ไม่จำเป็นต้องมีอาการหนักก็สามารถเข้ารับการบำบัดแบบ CBT ได้ ในบุคคลปกติทั่วไปที่ต้องการเพิ่มความสามารถในการรับมือต่ออารมณ์ หรือความคิดของตนเอง เพื่อการใช้ชีวิตประจำวัน การบำบัดแบบ CBT นั้นช่วยให้คุณสามารถพัฒนา และมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้เช่นกัน
ข้อจำกัดของการทำ CBT
- ความร่วมมือของผู้ป่วยนั้นมีผลต่อการบำบัด CBT อย่างมาก หากผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควรก็อาจไม่เหมาะกับการบำบัดรูปแบบนี้
- บางเทคนิคของ CBT จะเน้นให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว หรือหลีกหนีมาตลอดชีวิต ซึ่งหากผู้ป่วยไม่เปิดใจก็อาจส่งผลต่อความล่าช้าในการบำบัด หรือไม่สามารถไปสู่เป้าหมายของการบำบัดได้ ทั้งนี้การเผชิญหน้านั้นนักบำบัดจะมีการเตรียมพร้อม รวมทั้งประเมินความพร้อมผู้ป่วยในเรื่องความปลอดภัยก่อนที่จะถึงขั้นการเผชิญหน้าเสมอ
- เนื่องจากผู้ป่วยได้พบนักบำบัดเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อเดือน ในการบำบัดแต่ละครั้งจะมีการบ้านเพื่อให้ผู้ป่วยได้นำกลับไปฝึก หรือทบทวนต่อนอกห้องบำบัดซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ป่วยที่ไม่ต้องการทำการบ้าน หรือฝึกฝนต่อด้วยตนเอง
ขั้นตอนการบำบัดแบบ CBT ทำอย่างไร
การบำบัดแบบ CBT แบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงหลัก ดังนี้
– Early Stages
o CBT Assessment (การประเมิน)
o Goal-Setting (การตั้งเป้าหมายในการบำบัด)
o Socializing Client to CBT (การให้ความรู้ผู้ป่วยเกี่ยวกับหลักการของ CBT และกระบวนการบำบัด)
– Middle Stage
o การจัดการกับปัญหาของผู้ป่วยที่ตั้งเป้าหมายร่วมกัน
– Late Stage
o Relapse Prevention (การป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ)
o Termination of Therapy (การสิ้นสุดการบำบัด)
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ CBT
1. การทำจิตบำบัด CBT ต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไรถึงจะเห็นผล?
การรักษาด้วย CBT โดยทั่วไปผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการบำบัดทุก ๆ 1-2 สัปดาห์เป็นเวลาต่อเนื่องกันประมาณ 6-18 ครั้ง โดยแต่ละครั้งใช้เวลาในการบำบัดประมาณ 50-60 นาที ซึ่งระยะเวลาในการบำบัดนั้นขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการในแต่ละบุคคล ความสม่ำเสมอในการเข้ารับการบำบัด และความร่วมมือในการบำบัด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเริ่มเห็นผลในการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ 2-3 เดือนหลังเข้ารับการบำบัด
2. เข้ารับการทำจิตบำบัด CBT โดยไม่ต้องใช้ยาได้ไหม?
โดยทั่วไปการบำบัดแบบ CBT นั้นจะไม่ใช้ยาในการบำบัด แต่ใช้การพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและ พฤติกรรมที่เป็นปัญหา ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางสามารถใช้การบำบัด CBT เพียงอย่างเดียวได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจิตแพทย์ในการวินิจฉัยและตรวจประเมินร่วม
3. หากต้องการเข้ารับการบำบัดแบบ CBT ต้องไปที่ไหน?
ผู้ที่สนใจสามารถทำนัดออนไลน์ได้ที่แอปพลิเคชัน BeDee เรามีนักจิตวิทยาคลินิกเฉพาะทางด้านการบำบัดแบบ CBT สามารถทำนัดหมายตามเวลาที่คุณสะดวก สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง
สรุปการบำบัด CBT ปรึกษาได้ทุกวันที่ BeDee
Cognitive Behavior Therapy (CBT) เป็นวิธีการทำจิตบำบัดเฉพาะบุคคลเน้นในการปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรม ผ่านการพูดคุยเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความคิด ความเชื่อหรือการรับรู้ที่อาจบิดเบือนไปจากความเป็นจริงของตนเอง ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับปัญหาทางจิตใจและพฤติกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เป็นส่วนตัวสูง พร้อมจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
กันตา จิระมงคล
นักจิตวิทยาคลินิก
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร. (2565). Structuring CBT Session. ใน ศศิธร พิทยรัตน์เสถียร (บ.ก.), Basic Skills in CBT(พิมพ์ครั้ง3). (น. 67-77). สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Raypole, C. & Marcin, A. (2023). Cognitive Behavioral Therapy: What Is It and How Does It Work?.Healthline.https://www.healthline.com/health/cognitive-behavioral-therapy#types-of-cbt
American Psychological Association. (2017). What is Cognitive Behavioral Therapy?. Clinical Practice Guideline for the Treatment of Posttraumatic Stress Disorder. https://www.apa.org/ptsd-guideline/patients-and-families/cognitive-behavioral